1 เธสะโลนิกา 4–5
เวลาที่พระคริสต์จะเสด็จกลับแผ่นดินโลก
ท่านมีคำถามหรือความคิดอะไรบ้างเมื่อนึกถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์? ในสาส์นฉบับแรกถึงชาวเธสะโลนิกา บทที่ 4–5 อัครสาวกเปาโลสอนรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดและวิธีที่เราจะเตรียมรับ บทเรียนนี้มุ่งหมายจะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นและท่านจะเตรียมรับเวลาที่พระเยซูคริสต์เสด็จกลับแผ่นดินโลกได้อย่างไร
คำถามเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์
ใช้เวลาสักครู่ดูรูปภาพตอนต้นบทเรียนแล้วคิดคำตอบของคำถามต่อไปนี้:
-
ท่านรู้เรื่องใดบ้างเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์?
-
ท่านไม่รู้เรื่องใดบ้าง?
วิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกามีคำถามเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดเช่นกัน ตามคำสอนของเปาโลในบทเหล่านี้ พวกเขาอาจถามคำถามเช่น “คนที่เรารักที่เสียชีวิตไปแล้วจะฟื้นคืนชีวิตเมื่อใด?” “การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นเมื่อใด?” หรือ “เราจะเตรียมตัวให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?” บางทีท่านอาจมีคำถามคล้ายๆ กัน กิจกรรมการศึกษาต่อไปนี้จะตอบคำถามเหล่านี้
กิจกรรมการศึกษา 1: จะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่มีชีวิตอยู่และคนตายในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์?
อ่าน 1 เธสะโลนิกา 4:13–18 เพื่อหาข้อคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดกับคนชอบธรรมเมื่อพระเยซูเสด็จมาอีกครั้ง บันทึกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้เสียชีวิตและผู้มีชีวิตอยู่ในการเสด็จมาครั้งที่สอง (คำว่า “ล่วงหลับ” และ “หลับ” หมายถึงผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว) อาจเป็นประโยชน์ถ้าอ่านงานแปลของโจเซฟ สมิธ 1 Thessalonians 4:15, 17 (ใน verse 15, footnote a, และ verse 17, footnote a)
-
อะไรสำคัญต่อท่านในข้อเหล่านี้?
ต่อจากนั้นให้อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:96–98 เพื่อหาข้อคิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ (ท่านอาจต้องการอ่าน ข้อ 99–101 เพื่อเรียนรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ไม่ยอมรับพระเยซูคริสต์ในชีวิตนี้)
-
ท่านได้รับข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้าง?
ความจริงข้อหนึ่งที่ท่านอาจระบุได้คือ วิสุทธิชนที่ซื่อสัตย์ผู้สิ้นชีวิตก่อนการเสด็จมาครั้งที่สองจะฟื้นคืนชีวิตเมื่อพระคริสต์เสด็จมาอีกครั้ง
คำว่า “รับขึ้นไป” (1 เธสะโลนิกา 4:17) หมายถึงคนชอบธรรมมารวมกันพบพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์เสด็จมา
เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันดังนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว:
ไม่มีสิ่งใดทำให้ข้าพเจ้าปรารถนาจะพูดถึงพระคริสต์มากไปกว่าการนึกภาพพระองค์เสด็จกลับมา แม้เราไม่รู้ว่าพระองค์จะเสด็จมาเมื่อใด แต่เหตุการณ์ที่พระองค์เสด็จกลับมาจะน่าทึ่ง! พระองค์จะเสด็จมาในหมู่เมฆแห่งสวรรค์ในความสง่างามและรัศมีภาพกับทวยเทพศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดของพระองค์ ไม่ใช่แค่เทพไม่กี่องค์ แต่เป็นทวยเทพศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมด ของพระองค์ นี่ไม่ใช่เครูบแก้มแดงวาดโดยราฟาเอลที่เราเห็นในการ์ดวาเลนไทน์ นี่คือทวยเทพจากหลายศตวรรษ เทพที่ส่งมาปิดปากสิงโต มาเปิดประตูคุก มาประกาศการประสูติของพระองค์ที่เฝ้ารอมานาน มาปลอบโยนพระองค์ในเกทเสมนี มาให้ความเชื่อมั่นแก่สานุศิษย์ของพระองค์ ณ การเสด็จขึ้นสวรรค์ของพระองค์ และมาเริ่มการฟื้นฟูพระกิตติคุณอันเรืองโรจน์
ท่านนึกภาพตอนถูกรับขึ้นไปพบพระองค์ออกไหม ไม่ว่าจะด้านนี้หรืออีกด้านหนึ่งของม่าน? นั่นคือคำสัญญาของพระองค์กับคนชอบธรรม ประสบการณ์น่าอัศจรรย์นี้จะประทับอยู่ในจิตวิญญาณเราตลอดไป
(ดู นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “เราพูดถึงพระคริสต์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 91)
หากท่านเลือกกิจกรรมการศึกษาข้อนี้ ให้บันทึกคำตอบของท่านสำหรับคำถามต่อไปนี้:
ใช้เวลาจินตนาการว่าจะเป็นเช่นไรหากท่านถูกนับอยู่ในบรรดาคนชอบธรรม ณ การเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด
-
ท่านอาจจะมีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไรในวันนั้น? ท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อทราบว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงประสงค์ให้ท่านมาสมทบกับพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จมา? การจินตนาการถึงวันในอนาคตนั้นส่งผลต่อท่านวันนี้อย่างไร?
ใน 1 เธสะโลนิกา 4:18 เปาโลกระตุ้นวิสุทธิชนให้ “หนุนใจกันด้วยถ้อยคำเหล่านี้”
-
คำสอนของเปาโลหนุนใจท่านอย่างไร? คำสอนเหล่านั้นหนุนใจในสภาวการณ์ที่ท่านอาจจะพบเจอในอนาคตอย่างไร?
กิจกรรมการศึกษา 2: การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นเมื่อใด?
ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์จะเกิดขึ้นเมื่อใดหรือว่าท่านจะพร้อมหรือไม่? วิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาน่าจะมีคำถามแบบบนั้นเหมือนกัน
อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:1–3 และมองหาอุปมาที่เปาโลใช้อธิบายเวลาที่พระเยซูจะเสด็จกลับมาแผ่นดินโลก
-
ท่านพบอะไรบ้าง?
-
อุปมาของเปาโลเรื่องขโมยที่มาในเวลากลางคืนกับหญิงที่กำลังจะคลอดลูกสอนอะไรท่านเกี่ยวกับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอด?
อ่าน เธสะโลนิกา 5:4–6 และมองหาความจริงที่เปาโลสอนเกี่ยวกับการเตรียมรับการเสด็จมาครั้งที่สอง เปรียบเทียบคำสอนเหล่านี้กับ หลักคำสอนและพันธสัญญา 106:4–5
-
ท่านได้ข้อคิดอะไรบ้าง?
ความจริงข้อหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จากคำสอนของเปาโลคือ ถ้าเรามุ่งมั่นจะเป็น “ลูกของความสว่าง” โดยติดตามพระเยซูคริสต์ เราจะพร้อมเมื่อพระองค์เสด็จมา
หากท่านเลือกกิจกรรมการศึกษานี้ ให้บันทึกรายการที่ท่านทำตามคำแนะนำในย่อหน้าถัดไป
อ่าน 3 นีไฟ 18:24; หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:23–25; 88:67–68 เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีต่างๆ ที่พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้เราเป็นลูกของความสว่าง เขียนสิ่งที่ท่านพบลงในสมุดบันทึกการศึกษาที่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีเป็นลูกของความสว่าง
-
ท่านกำลังอัญเชิญความสว่างของพระเจ้าเข้ามาในชีวิตท่านอย่างไร? ท่านจะอัญเชิญความสว่างของพระองค์เข้ามาในชีวิตท่านมากขึ้นได้อย่างไร?
กิจกรรมการศึกษา 3: เราจะเตรียมตัวให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร?
เปาโลสรุปสาส์นฉบับแรกของเขาถึงชาวเธสะโลนิกาโดยให้คำแนะนำว่าวิสุทธิชนจะพร้อมพบพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นในการเสด็จมาครั้งที่สองได้อย่างไร
อ่าน 1 เธสะโลนิกา 5:14–22 และดูว่าท่านได้ข้อคิดอะไรบ้างเกี่ยวกับการเตรียมตัวให้พร้อม เปิดรับความคิดว่าคำสอนใดอาจจะช่วยท่านได้มากเป็นพิเศษ
หากท่านเลือกกิจกรรมการศึกษาข้อนี้ ให้ตอบคำถามต่อไปนี้และบันทึกพระคัมภีร์อ้างโยงที่ท่านเลือก
-
คำสอนเหล่านี้คำสอนใดมีความหมายต่อท่านมากที่สุด? เพราะเหตุใด?
หาพระคัมภีร์หนึ่งหรือสองข้อช่วยให้ท่านเข้าใจคำสอนที่ท่านเลือกลึกซึ้งขึ้น (ท่านอาจจะใช้เชิงอรรถหรือค้นดูหัวข้อใน คู่มือพระคัมภีร์ เพื่อช่วยท่านหาข้อพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง)
-
พระเยซูคริสต์ทรงช่วยท่านมาแล้วอย่างไร หรือพระองค์จะทรงช่วยท่านอย่างไรให้พร้อมรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์? ท่านเรียนรู้อะไรได้บ้างเกี่ยวกับพระองค์จากสิ่งนี้?
ใคร่ครวญความจริงที่ท่านเรียนรู้วันนี้และสิ่งที่ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ทำซึ่งจะช่วยให้ท่านพร้อมมากขึ้นและตื่นเต้นที่จะได้พบพระผู้ช่วยให้รอดอีกครั้ง บันทึกความคิดของท่านลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน
เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?
1 เธสะโลนิกา 5:2 เวลาของการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจะเปรียบเทียบกับขโมยที่มาในเวลากลางคืนได้อย่างไร?
เอ็ลเดอร์บรูซ อาร์. แมคคองกี (1915–1985) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่าขโมยที่มาในเวลากลางคืนมักจะมา “โดยไม่คาดคิดและไม่มีการเตือน” (Doctrinal New Testament Commentary [1973], 3:54) แนวเทียบนี้แสดงให้เห็นว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระผู้ช่วยให้รอดจะทำให้บางคนประหลาดใจ
1 เธสะโลนิกา 5:21 เปาโลหมายความว่าอย่างไรเมื่อพูดว่า “จงพิสูจน์ทุกสิ่ง สิ่งดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น”?
เปาโลเชิญชวนวิสุทธิชนชาวเธสะโลนิกาให้ “พิสูจน์ทุกสิ่ง”—หมายถึงตรวจสอบหรือทดสอบความจริงเพื่อจะได้เข้าใจว่าดีหรือชั่ว—และ “สิ่งดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น” ในฐานะสมาชิกของศาสนจักร เราได้รับการสอนไม่เพียงให้เรียนรู้พระกิตติคุณเท่านั้น แต่ให้ไตร่ตรอง สวดอ้อนวอน และเข้าใจให้ได้ด้วย (ดู 3 นีไฟ 17:1–3; หลักคำสอนและพันธสัญญา 68:25–26) จากนั้นเราต้องยึดมั่นและซื่อสัตย์ต่อสิ่งดีที่เราเข้าใจ