กิจการ 11, 15
พระผู้ช่วยให้รอดทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ผ่านการเปิดเผย
พระเยซูตรัสกับอัครสาวกของพระองค์ว่าจะมีการสั่งสอนพระกิตติคุณไปทุกประชาชาติ แต่การทำเช่นนี้จะต้องเปลี่ยนประเพณีชาวยิวที่ยึดถือกันมานาน เนื่องด้วยการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระเยซู จึงต้องทำการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ผ่านการเปิดเผย เจตนาของบทเรียนนี้คือทำให้ท่านเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ผ่านการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์อย่างไร
คำถามของเพื่อน
สมมติว่าเพื่อนต่างศาสนาคนหนึ่งเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อของท่านเรื่องศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคปัจจุบัน ถึงแม้เพื่อนจะเชื่อเรื่องศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกในพระคัมภีร์ไบเบิลแต่เขาไม่ยอมรับแนวคิดที่ว่าทุกวันนี้พระผู้เป็นเจ้าทรงทำงานผ่านท่านเหล่านั้น เขาถามท่านว่า “พระเยซูตรัสกับศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกอย่างไร?”
-
ท่านมั่นใจเพียงใดว่าท่านสามารถตอบคำถามนี้ได้?
-
ท่านจะพูดอะไรกับเพื่อนของท่าน?
แม้จะมีวิธีตอบหลายวิธีแต่ กิจการ 11 และ 15 แสดงให้เห็นสองวิธีที่พระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์ผ่านการเปิดเผย
การเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์
หลังจากนิมิตและประสบการณ์ของเปโตรกับโครเนลิอัส (ดู กิจการ 10) เขาเดินทางไปเยรูซาเล็มและสอนความจริงที่เปิดเผยใหม่เหล่านี้ให้กับผู้นำศาสนจักรคนอื่นๆ
หลังจากมาถึงเยรูซาเล็ม เปโตรเล่าเรื่องนิมิตและประสบการณ์ของเขากับโครเนลิอัส (ดู กิจการ 11:1–18)
อ่าน กิจการ 11:4–18 เพื่อดูว่าท่านเห็นพระผู้เป็นเจ้าทรงนำทางศาสนจักรอย่างไร
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากเรื่องราวนี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์?
จากประสบการณ์ของเปโตร เราเรียนรู้ว่า พระเยซูคริสต์ทรงกำกับดูแลศาสนจักรของพระองค์โดยการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ซึ่งเป็นอัครสาวกอาวุโส
-
การรู้ความจริงนี้จะช่วยเสริมสร้างประจักษ์พยานของท่านในพระเยซูคริสต์และศาสดาพยากรณ์ของพระองค์ได้อย่างไร?
-
ทำไมท่านจึงเชื่อว่าทุกวันนี้ศาสนจักรได้รับการนำทางโดยการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์ของพระเจ้า?
การเปิดเผยผ่านสภา
อีกตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดประทานการเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกของพระองค์อยู่ใน กิจการ 15
ผู้สอนศาสนาชื่อเปาโลกับบารนาบัสสอนและให้บัพติศมาคนต่างชาติจำนวนมาก ชาวยิวที่นับถือศาสนาคริสต์บางคนมายังเมืองอันทิโอกและสอนว่าชายต่างชาติที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสต้องถือปฏิบัติกฎของโมเสสโดยการเข้าสุหนัตนอกเหนือจากการดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณที่สอนโดยพระเยซูคริสต์และอัครสาวกของพระองค์ (ดู กิจการ 15:1, 5; ดู คู่มือพระคัมภีร์, “เข้าสุหนัต (การ),” scriptures.ChurchofJesusChrist.org ด้วย)
อ่าน กิจการ 15:2 เพื่อดูว่าเปาโลกับบารนาบัสพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างไร
-
ท่านคิดว่าเหตุใดเปาโลกับบารนาบัสจึงขอการนำทางจากผู้นำศาสนจักรที่เยรูซาเล็ม?
ความจริงอย่างหนึ่งที่เห็นใน กิจการ 15 คือ โดยการปรึกษาหารือกันและการแสวงหาการเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้า ผู้นำศาสจักรจึงได้รับการดลใจเกี่ยวกับปัญหาที่แก้ไขยาก ขณะเปโตรและผู้นำศาสนจักรท่านอื่นปรึกษาหารือกัน พวกเขาได้รับการนำทางจากพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาส่งจดหมายแจ้งสมาชิกศาสนจักรเรื่องการตัดสินใจที่ได้รับการดลใจว่าคนต่างชาติที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตและเชื้อเชิญให้คนเหล่านั้นเชื่อฟังพระบัญญัติข้ออื่นๆ
สภาคือคนกลุ่มหนึ่งที่มารวมกันเพื่อสนทนาเรื่องสำคัญและวิธีตอบสนองเรื่องเหล่านั้น เพื่อเข้าใจมากขึ้นว่าสภาทำงานอย่างไรในศาสนจักร ให้อ่านข้อมูลต่อไปนี้จาก คู่มือทั่วไป:
ผู้นำ [ของสภา] กระตุ้นให้สมาชิกพูดอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา ภูมิหลัง อายุ ประสบการณ์ และมุมมองที่หลากหลายของสมาชิกสภาทำให้สภามีคุณภาพมากขึ้น สมาชิกให้ข้อเสนอแนะ และฟังกันด้วยความเคารพ ขณะพยายามรู้พระประสงค์ของพระเจ้า วิญญาณของการดลใจและความเป็นหนึ่งเดียวกันจะเกิดขึ้น
(คู่มือทั่วไป: การรับใช้ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย, 4.4.3, ChurchofJesusChrist.org)
-
ท่านจะสรุปอย่างไรว่าสภาในศาสนจักรคืออะไร?
สภาเยรูซาเล็ม
อ่าน กิจการ 15:6–15, 22–28 เพื่อมองหาหลักฐานยืนยันส่วนต่างๆ ของสภา คัดลอกแผนภูมิต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ในคอลัมน์ด้านขวาให้เขียนคำหรือวลีจากข้อที่สอดคล้องกับวลีในคอลัมน์ด้านซ้าย
ดำเนินงานภายใต้กุญแจฐานะปุโรหิต | |
มุ่งเน้นประโยชน์ของบุคคลและครอบครัว | |
ให้สมาชิกสภาได้พูด | |
นำไปสู่เอกภาพ |
ผู้นำยุคปัจจุบันใช้สภาเชื้อเชิญการนำทางของพระเจ้าในเรื่องต่างๆ ของศาสนจักรเช่นกัน ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน แบ่งปันดังนี้:
เมื่อเราประชุมสภาของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง ห้องประชุมของเรากลายเป็นห้องของการเปิดเผย พระวิญญาณสถิตที่นั่นอย่างชัดแจ้ง ขณะแก้ไขปัญหาซับซ้อน ขั้นตอนที่น่าตื่นเต้นเผยออกมาขณะอัครสาวกแต่ละท่านแสดงความคิดและความเห็นอย่างเสรี แม้เราจะมีมุมมองต่างกันตอนแรก แต่เรารู้สึกรักกันเสมอ เอกภาพของเราช่วยให้เรามองเห็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อศาสนจักรของพระองค์
ในการประชุมของเรา เราไม่ใช้เสียงส่วนใหญ่! เราฟังกันและพูดคุยกันร่วมกับการสวดอ้อนวอนจนเราเป็นหนึ่งเดียวกัน จากนั้นเมื่อเราเห็นพ้องต้องกันแล้ว อิทธิพลที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวของพระวิญญาณบริสุทธิ์ทำให้รู้สึกตื่นเต้นมาก! เราประสบสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธรู้เมื่อท่านสอนว่า “โดยเอกภาพของความรู้สึกเราจะมีพลังร่วมกันกับพระผู้เป็นเจ้า” [คำสอนของประธานศาสนจักร: โจเซฟ สมิธ (2007), 425] สมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดหรือโควรัมอัครสาวกสิบสองจะไม่ใช้เพียงดุลพินิจที่ดีที่สุดของตนตัดสินใจให้ศาสนจักรของพระเจ้า!
(รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “การเปิดเผยสำหรับศาสนจักร การเปิดเผยสำหรับชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 95)
เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่?
การเปิดเผยต่อผู้นำศาสนจักร
ในคำปราศรัยเรื่อง “หลักคำสอนของพระคริสต์” เอ็ลเดอร์ดี.ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองใช้เรื่องราวที่บันทึกไว้ใน กิจการ 11 และ 15 สอนเกี่ยวกับการเปิดเผยต่อผู้นำศาสนจักร ท่านอาจจะศึกษาคำปราศรัยทั้งเรื่องหรือดูวีดิทัศน์ต่อไปนี้ตั้งแต่ช่วงเวลา 6:10 ถึง 11:34
ตัวอย่างของการเปิดเผยต่อเนื่องมีอะไรบ้าง?
เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับการเปิดเผยที่ได้รับสำหรับศาสนจักร ดู “The Blessings of Continuing Revelation to Prophets and Personal Revelation to Guide Our Lives” ตั้งแต่ช่วงเวลา 4:55 ถึง 6:42 ที่ ChurchofJesusChrist.org
เอ็ลเดอร์คุกสอนด้วยว่าศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกได้รับการดลใจจากพระวิญญาณและการเปิดเผยโดยตรงจากพระผู้ช่วยให้รอด ดู “Prepare to Meet God” ตั้งแต่ช่วงเวลา 13:37 ถึง 14:15
สภาจะทำงานในครอบครัวได้อย่างไร?
ประธานเอ็ม.รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับสภาครอบครัวในคำปราศรัยของท่านเรื่อง “สภาครอบครัว” (เลียโฮนา, พ.ค. 2016, 63–65)