2010–2019
หลักคำสอนของพระคริสต์
เมษายน 2012


15:14

หลักคำสอนของพระคริสต์

ในศาสนจักรทุกวันนี้เช่นเดียวกับสมัยโบราณ การสถาปนาหลักคำสอนของพระคริสต์หรือการแก้ไขความคลาดเคลื่อนทางหลักคำสอนเป็นเรื่องของการเปิดเผยศักดิ์สิทธิ์

เราขอแสดงความขอบคุณและความรักอย่างสุดซึ้งต่อซิสเตอร์เบค ซิสเตอร์ออล์เรด ซิสเตอร์ธอมพ์สัน และคณะกรรมการสมาคมสงเคราะห์

ระยะนี้เราเห็นสาธารณชนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในความเชื่อของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เรายินดีเพราะถึงอย่างไรพันธกิจพื้นฐานของเราคือสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หรือหลักคำสอนของพระองค์ไปทั่วโลก (ดู มัทธิว 28:19–20; คพ. 112:28) แต่เราต้องยอมรับว่ายังมีคนสับสนบ้างเกี่ยวกับหลักคำสอนของเราและวิธีสถาปนาหลักคำสอนนั้น นั่นคือเรื่องที่ข้าพเจ้าต้องการพูดในวันนี้

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนหลักคำสอนของพระองค์ในความเรืองโรจน์แห่งเวลา อัครสาวกของพระองค์ต่อสู้อย่างหนักเพื่อปกปักรักษาหลักคำสอนนั้นจากการโจมตีของจารีตและปรัชญาผิดๆ สาส์นในพันธสัญญาใหม่อ้างอิงหลายเหตุการณ์ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการละทิ้งความเชื่อครั้งรุนแรงและแพร่หลายได้เริ่มขึ้นแล้วในช่วงอัครสาวกปฏิบัติศาสนกิจ1

หลายศตวรรษต่อมาได้รับความสว่างไสวด้วยรังสีแห่งแสงพระกิตติคุณเป็นครั้งคราวจนกระทั่งรุ่งอรุณเจิดจ้าของการฟื้นฟูเริ่มทอแสงส่องโลกในศตวรรษที่ 19 พระกิตติคุณอันครบถ้วนบริบูรณ์ของพระคริสต์กลับมาบนแผ่นดินโลกอีกครั้ง วันอันรุ่งโรจน์นี้เริ่มต้นเมื่อพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาและพระบุตรที่รักของพระองค์ พระเยซูคริสต์ เสด็จมาหาโจเซฟ สมิธหนุ่มใน “ลำแสง … เหนือความเจิดจ้าของดวงอาทิตย์” (โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:16) ทรงเริ่มสิ่งที่จะกลายเป็นการเปิดเผยซึ่งหลั่งไหลมาพร้อมกับพลังอำนาจและสิทธิอำนาจแห่งสวรรค์

ในการเปิดเผยเหล่านี้เราพบสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแก่นหลักคำสอนของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ซึ่งสถาปนาขึ้นอีกครั้งบนแผ่นดินโลก พระเยซูทรงนิยามหลักคำสอนนั้นด้วยถ้อยคำเหล่านี้ดังบันทึกไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน: พยานหลักฐานอีกเล่มหนึ่งของพระเยซูคริสต์

“นี่คือหลักคำสอนของเรา, และมันคือหลักคำสอนซึ่งพระบิดาประทานให้เรา; และเราเป็นพยานถึงพระบิดา, และพระบิดาทรงเป็นพยานถึงเรา, และพระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็นพยานถึงพระบิดาและเรา; และเราเป็นพยานว่าพระบิดาทรงบัญชามนุษย์ทั้งปวง, ทุกแห่งหน, ให้กลับใจและเชื่อในเรา.

“และผู้ใดที่เชื่อในเรา, และรับบัพติศมา, ผู้เดียวกันนั้นจะได้รับการช่วยให้รอด; และพวกเขาเป็นผู้ที่จะสืบทอดอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดก.

“และผู้ใดที่ไม่เชื่อในเรา, และไม่รับบัพติศมา, จะต้องอัปมงคล.

“… และผู้ใดที่เชื่อในเราย่อมเชื่อในพระบิดาด้วย; และแก่ผู้นั้นพระบิดาจะทรงเป็นพยานถึงเรา, เพราะพระองค์จะเสด็จมาเยือนเขาด้วยไฟและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ …

“ตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้ว, เรากล่าวแก่เจ้า, ว่านี่คือหลักคำสอนของเรา, และผู้ใดที่สร้างอยู่บนนี้ย่อมสร้างอยู่บนศิลาของเรา, และประตูแห่งนรกจะเอาชนะพวกเขาไม่ได้” (3 นีไฟ 11:32–35, 39)

นี่คือข่าวสารของเรา ศิลาที่เราสร้างอยู่บนนั้น รากฐานของทุกสิ่งในศาสนจักร เฉกเช่นสิ่งทั้งปวงที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า หลักคำสอนนี้บริสุทธิ์ ชัดเจน และง่ายแก่ความเข้าใจ—แม้กระทั่งสำหรับเด็ก เราเชื้อเชิญด้วยใจยินดีให้คนทั้งปวงรับข่าวสารนั้น

ในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย “เราเชื่อทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยมาแล้ว, ทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเปิดเผยขณะนี้, และเราเชื่อว่าพระองค์จะยังทรงเปิดเผยเรื่องสำคัญและยิ่งใหญ่อีกหลายเรื่องเกี่ยวกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (หลักแห่งความเชื่อข้อ 9) หมายความว่าถึงแม้เราจะยังไม่รู้อีกมาก แต่ความจริงและหลักคำสอนที่เราได้รับมาถึงเราโดยการเปิดเผยจากสวรรค์และจะมีมาอย่างต่อเนื่อง ในบางประเพณีความเชื่อ นักศาสนศาสตร์อ้างสิทธิอำนาจในการสอนเทียบเท่ากับผู้นำทางศาสนา และประเด็นหลักคำสอนอาจกลายเป็นข้อถกเถียงทางความคิดระหว่างกัน บ้างหันไปพึ่งสภาส่งเสริมความสามัคคีในหมู่ชาวคริสต์แห่งยุคกลางกับหลักความเชื่อของพวกเขา บางแห่งเน้นหนักที่ความเป็นเหตุเป็นผลของนักศาสนศาสตร์หลังยุคอัครสาวก หรือเรื่องอรรถปริวรรตศาสตร์ (ศาสตร์แห่งการตีความ) และนัยวิเคราะห์เกี่ยวกับพระคัมภีร์ไบเบิล เรายกย่องความรู้ทางวิชาการที่ขยายความเข้าใจ แต่ในศาสนจักรทุกวันนี้เช่นเดียวกับสมัยโบราณ การสถาปนาหลักคำสอนของพระคริสต์หรือการแก้ไขความคลาดเคลื่อนทางหลักคำสอนเป็นเรื่องของการเปิดเผยศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ผู้ที่พระเจ้าทรงประสาทอำนาจอัครสาวก2

ในปี 1954 ประธานเจ. รูเบ็น คลาร์ก จูเนียร์ ซึ่งเวลานั้นเป็นที่ปรึกษาในฝ่ายประธานสูงสุด อธิบายถึงวิธีที่หลักคำสอนเป็นที่รู้ในศาสนจักรและบทบาทสำคัญสูงสุดของประธานศาสนจักร เมื่อพูดถึงสมาชิกในฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง ท่านกล่าวว่า “[เรา] พึง [ระลึกเสมอ] ว่าเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่บางคนได้รับมอบหมายการเรียกพิเศษ ท่านเหล่านั้นมีของประทานพิเศษ ท่านได้รับการสนับสนุนเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย ทำให้ท่านได้รับการประสาทพรพิเศษทางวิญญาณเกี่ยวกับการสอนผู้คนของท่าน ท่านมีสิทธิ พลังอำนาจ และสิทธิอำนาจที่จะประกาศพระดำริและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าต่อผู้คนของพระองค์ โดยกระทำภายใต้พลังอำนาจและสิทธิอำนาจสูงสุดของประธานศาสนจักร เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่บางคนไม่ได้รับการประสาทพรพิเศษทางวิญญาณนี้รวมถึงสิทธิอำนาจที่ครอบคลุมถึงการสอน พวกเขาจึงมีข้อจำกัด และข้อจำกัดด้านพลังอำนาจและสิทธิอำนาจในการสอนนั้นเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่และสมาชิกคนอื่นๆ ทุกคนในศาสนจักร เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับการประสาทพรทางวิญญาณเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย นอกจากนี้ ดังที่เพิ่งกล่าวมา ประธานศาสนจักรมีการประสาทพรพิเศษทางวิญญาณเพิ่มเติมในแง่นี้ เพราะท่านเป็นศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยสำหรับทั้งศาสนจักร”3

พระผู้ช่วยให้รอดททรงเปิดเผยพระประสงค์และหลักคำสอนแก่ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยอย่างไร พระองค์อาจทรงใช้ผู้ส่งสารหรือทรงกระทำด้วยพระองค์เอง พระองค์อาจตรัสด้วยสุรเสียงของพระองค์หรือเสียงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์—อันเป็นการสื่อสารระหว่างพระวิญญาณกับวิญญาณซึ่งอาจแสดงออกในคำพูดหรือความรู้สึกที่สื่อความเข้าใจได้ยิ่งกว่าคำพูด (ดู 1 นีไฟ 17:45; คพ. 9:8) พระองค์อาจทรงสื่อสารกับผู้รับใช้ของพระองค์โดยตรงหรือกระทำในสภา (ดู 3 นีไฟ 27:1–8)

ข้าพเจ้าจะอ้างเรื่องราวสองเรื่องจากพันธสัญญาใหม่ เรื่องแรกเป็นการเปิดเผยโดยตรงต่อหัวหน้าศาสนจักร ช่วงต้นหนังสือกิจการ เราพบว่าอัครสาวกของพระคริสต์ประกาศข่าวสารพระกิตติคุณในบรรดาชาวยิวเท่านั้น โดยดำเนินตามแบบแผนการปฏิบัติศาสนกิจของพระเยซู (ดู มัทธิว 15:24) แต่ต่อมาตามกำหนดเวลาของพระเจ้า ถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ในเมืองยัฟฟา เปโตรฝันเห็นสัตว์หลายชนิดจากสวรรค์ลงมายังแผ่นดินโลกใน “ผ้าผืนใหญ่ทั้งสี่มุม” (กิจการ 10:11) และได้รับบัญชาให้ “ฆ่ากิน” (กิจการ 10:13) เปโตรลังเลเนื่องจากสัตว์บางตัวมี “มลทิน” ตามกฎของโมเสส และเปโตรไม่เคยฝ่าฝืนบัญญัตินั้น กระนั้นก็ตาม พระสุรเสียงตรัสกับเปโตรในฝันว่า “[สิ่ง] ซึ่งพระเจ้าได้ทรงชำระแล้วอย่าว่าเป็นของต้องห้าม” (กิจการ 10:15)

ความหมายของความฝันนี้ชัดเจนเมื่อไม่นานหลังจากนั้น ชายหลายคนที่ส่งมาจากโครเนลิอัสนายร้อยชาวโรมันไปถึงตึกที่พักของเปโตรพร้อมกับขอให้มาสอนนายของพวกเขา โครเนลิอัสรวบรวมญาติพี่น้องและมิตรสหายได้กลุ่มใหญ่ เมื่อพบว่าคนเหล่านั้นตั้งตารอฟังข่าวสารของท่าน เปโตรจึงกล่าวว่า

“พระเจ้าได้ทรงสำแดงแก่ข้าพเจ้าแล้วว่าไม่ควรเรียกคนหนึ่งคนใดว่าเป็นที่ห้ามหรือมลทิน …

“… ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่าพระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด

“แต่คนใดๆ ในทุกชาติที่เกรงกลัวพระองค์ และประพฤติตามทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์” (กิจการ 10:28, 34–35; ดู ข้อ 17–24 ด้วย)

“เมื่อเปโตรยังกล่าวคำเหล่านั้นอยู่ พระวิญญาณบริสุทธิ์ก็เสด็จลงมาสถิตกับคนทั้งปวงที่ฟังพระวจนะนั้น

“ฝ่ายพวก [ที่มากับเปโตร] ก็ประหลาดใจ เพราะว่าพระเจ้าได้ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ลงมาบนคนต่างชาติด้วย

“… เปโตรจึงย้อนถามว่า

“ใครอาจจะห้ามคนเหล่านี้ที่ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เหมือนเราโดยมิให้เขารับบัพติศมาด้วยน้ำได้” (กิจการ 10:44–47)

ด้วยประสบการณ์และการเปิดเผยที่เปโตรได้รับ พระเจ้าทรงปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติของศาสนจักรและทรงเปิดเผยความเข้าใจทางหลักคำสอนให้สมบูรณ์มากขึ้นแก่สานุศิษย์ของพระองค์ ด้วยเหตุนี้การสั่งสอนพระกิตติคุณจึงขยายออกไปยังบรรดามนุษยชาติอย่างทั่วถึง

ต่อมาในหนังสือกิจการ เราพบอีกเรื่องหนึ่งค่อนข้างเกี่ยวข้องกัน เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าการเปิดเผยเรื่องหลักคำสอนอาจเกิดขึ้นในสภาอย่างไร มีข้อโต้เถียงเกิดขึ้นว่าควรยึดถือการเข้าสุหนัตที่กำหนดไว้ในกฎของโมเสสเป็นพระบัญญัติข้อหนึ่งในพระกิตติคุณและศาสนจักรของพระคริสต์หรือไม่ (ดู กิจการ 15:1, 5) “ฝ่ายอัครทูตกับผู้ปกครองทั้งหลายจึงได้ประชุมปรึกษากันในเรื่องนั้น” (ดู กิจการ 15:6) บันทึกของเราเกี่ยวกับการประชุมนี้ไม่สมบูรณ์ แต่เราทราบว่าหลังจาก “โต้แย้งกันมากแล้ว” (กิจการ 15:7) เปโตรซึ่งเป็นอัครสาวกอาวุโสยืนขึ้นและประกาศสิ่งที่พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ยืนยันกับท่าน ท่านเตือนความทรงจำสภาว่าเมื่อพระกิตติคุณเริ่มสั่งสอนในบรรดาคนต่างชาติที่ยังไม่ได้เข้าสุหนัตในบ้านของโครเนลิอัส พวกเขาได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์เฉกเช่นผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสชาวยิวที่ผ่านการเข้าสุหนัตมาแล้ว ท่านบอกว่าพระผู้เป็นเจ้า “ไม่ทรงถือเราถือเขา แต่ทรงชำระใจเขาให้บริสุทธิ์โดยความเชื่อ

“ถ้าอย่างนั้นทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้า โดยวางแอกบนคอของพวกสาวก ซึ่งบรรพบุรุษของเราหรือตัวเราเองก็ดีแบกไม่ไหว

“แต่เราเชื่อว่าเราเองก็รอดโดยพระคุณของพระเยซูคริสตเจ้าเหมือนอย่างเขา” (กิจการ 15:9–11; ดู ข้อ 8 ด้วย)

หลังจากนั้น เปาโล บารนาบัส และอาจมีคนอื่นๆ พูดสนับสนุนคำประกาศของเปโตร ยากอบเสนอให้เริ่มดำเนินการตามคำตัดสินนั้นโดยออกจดหมายไปยังศาสนจักร และสภา “พร้อมใจกัน” เห็นชอบ (กิจการ 15:25; ดู ข้อ 12–23 ด้วย) ในจดหมายประกาศการตัดสินใจของสภา บรรดาอัครสาวกกล่าวว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์และข้าพเจ้าทั้งหลายก็เห็นชอบ” (กิจการ 15:28) หรืออีกนัยหนึ่ง การตัดสินใจนี้มาจากการเปิดเผยจากเบื้องบนผ่านทางพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์

ปัจจุบันแบบแผนเดียวกันนี้ดำเนินอยู่ในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ ประธานศาสนจักรอาจประกาศหรือตีความหลักคำสอนตามการเปิดเผยที่ท่านได้รับ (ดู ตัวอย่างเช่น คพ. 138) อรรถาธิบายเชิงหลักคำสอนอาจมาผ่านทางสภาร่วมระหว่างฝ่ายประธานสูงสุดกับโควรัมอัครสาวกสิบสอง (ดู ตัวอย่างเช่น ข้อประกาศอย่างเป็นทางการ 2) ข้อหารือในสภามักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระคัมภีร์มาตรฐาน คำสอนของผู้นำศาสนจักร ตลอดจนวิธีปฏิบัติในอดีต แต่ท้ายที่สุด เฉกเช่นในศาสนจักรสมัยพันธสัญญาใหม่ วัตถุประสงค์มิได้อยู่ที่ความเป็นเอกฉันท์ในบรรดาสมาชิกสภาเท่านั้นแต่อยู่ที่การเปิดเผยจากพระผู้เป็นเจ้าด้วย นั่นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทั้งเหตุผลและศรัทธาเพื่อให้ทราบถึงพระดำริและพระประสงค์ของพระเจ้า4

ในขณะเดียวกัน พึงระลึกว่าคำแถลงทุกอย่างที่มาจากผู้นำศาสนจักรไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันใช่ว่าต้องประกอบด้วยหลักคำสอนเสมอไป เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันในศาสนจักรว่าคำแถลงที่ผู้นำคนหนึ่งพูดในวาระเดียวมักเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว แม้จะพิจารณามาดีแล้วก็ตาม มิได้เจตนาให้เป็นทางการหรือผูกมัดศาสนจักรโดยรวมแต่อย่างใด ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “ศาสดาพยากรณ์ [เป็น] ศาสดาพยากรณ์ก็ต่อเมื่อเขา [กำลัง] ทำหน้าที่ศาสดาพยากรณ์”5 ประธานคลาร์กให้ข้อสังเกตดังที่อ้างอิงก่อนหน้านี้ว่า

“สมัยเด็กคุณพ่อเล่าเรื่องง่ายๆ ให้ข้าพเจ้าฟังเกี่ยวกับประเด็นนี้ ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าด้วยสิทธิอำนาจอะไร แต่เรื่องนี้อธิบายประเด็นดังกล่าว ท่านเล่าว่าในช่วงระทึกใจเกี่ยวกับการมาของกองกำลัง [จอห์นสัน] อาร์มี บราเดอร์ บริคัมสั่งสอนผู้คนในการประชุมช่วงเช้า โอวาทดังก้องไปด้วยการท้าทายกองกำลังที่กำลังใกล้เข้ามาพร้อมทั้งประกาศเจตนารมณ์ที่จะต่อต้านและขับไล่พวกนั้นกลับไป ในการประชุมช่วงบ่ายท่านลุกขึ้นกล่าวว่าเมื่อเช้านี้บริคัม ยังก์พูด แต่ต่อไปนี้พระเจ้าจะตรัส จากนั้นท่านจึงกล่าวคำปราศรัยในทำนองตรงกันข้ามกับสิ่งที่พูดในช่วงเช้า …

“… ศาสนจักรจะรู้ได้ด้วยประจักษ์พยานจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ประทานให้สมาชิกว่าขณะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่กำลังพูดมุมมองของท่าน ท่าน‘ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์’หรือไม่ และในที่สุดแล้วความรู้นั้นจะเป็นที่ประจักษ์”6

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธยืนยันบทบาทสำคัญยิ่งของพระผู้ช่วยให้รอดในหลักคำสอนของเราด้วยถ้อยคำแจ้งชัดประโยคเดียวว่า “หลักธรรมพื้นฐานของศาสนาเราคือประจักษ์พยานของอัครสาวกและศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ว่าพระองค์สิ้นพระชนม์ ทรงถูกฝัง ทรงคืนพระชนม์อีกครั้งในวันที่สาม และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ เรื่องอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเราล้วนเป็นเพียงส่วนประกอบของเรื่องดังกล่าว”7 ประจักษ์พยานของโจเซฟ สมิธเกี่ยวกับพระเยซูคือพระองค์ทรงพระชนม์ “เพราะ [ท่าน] เห็นพระองค์, แม้ทางพระหัตถ์ขวาของพระผู้เป็นเจ้า; และ [ท่าน] ได้ยินเสียงรับสั่งคำพยานว่าพระองค์ทรงเป็นพระองค์เดียวที่ถือกำเนิดจากพระบิดา” (คพ. 76:23; ดู ข้อ 22 ด้วย) ขอให้ทุกท่านที่ได้ยินหรือได้อ่านข้อความนี้จงแสวงหาพยานเดียวกันถึงพระลักษณะของความเป็นพระผู้เป็นเจ้า การชดใช้ และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ผ่านการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ จงยอมรับหลักคำสอนของพระองค์โดยกลับใจ รับบัพติศมา รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ปฏิบัติตามกฎและพันธสัญญาแห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ตลอดชีวิตท่าน

เนื่องในโอกาสการฉลองอีสเตอร์ที่ใกล้จะมาถึง ข้าพเจ้าขอกล่าวคำพยานส่วนตัวว่าพระเยซูแห่งนาซาเร็ธทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระเมสสิยาห์พระองค์นั้นแห่งคำพยากรณ์สมัยโบราณ พระองค์คือพระคริสต์ผู้ทรงทนทุกข์ในเกทเสมนี สิ้นพระชนม์บนกางเขน ทรงถูกฝัง และทรงฟื้นขึ้นอีกครั้งในวันที่สาม ทรงเป็นพระเจ้าผู้ฟื้นคืนพระชนม์ โดยผ่านพระองค์เราทุกคนจะฟื้นคืนชีวิต โดยพระองค์ผู้ที่ยินยอมจะได้รับการไถ่และความสูงส่งในอาณาจักรสวรรค์ของพระองค์ นี่คือหลักคำสอนของเรา ซึ่งยืนยันพยานหลักฐานก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และกล่าวย้ำอีกครั้งในยุคสมัยเรา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู นีล เอ. แมกซ์เวลล์, “From the Beginning,” Ensign, พ.ย. 1993, 18–19.“ยากอบประณาม ‘สงครามและ … การทะเลาะวิวาทกันใน” ศาสนจักร (ยากอบ 4:1) เปาโลคร่ำครวญเกี่ยวกับ ‘การแตกก๊กแตกเหล่า’ ในศาสนจักรและการที่ ‘สุนัขป่าอันร้าย’ จะไม่ละเว้น ‘ฝูงแกะ’ (1 คร. 11:18; กิจการ 20:29–31) ท่านรู้ว่าการละทิ้งความเชื่อกำลังจะเกิดขึ้นและเขียนจดหมายถึงชาวเธสะโลนิกาว่าการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูจะไม่เกิดขึ้น ‘จนกว่าจะมีการทรยศเสียก่อน’ และแนะนำเพิ่มเติมว่า ‘อำนาจ … นอกกฎหมายนั้นก็เริ่มทำงานอยู่แล้ว’ (2 ธส. 2:3, 7)“ท้ายจดหมาย เปาโลยืนยันความแพร่หลายอย่างทั่วถึงของการทรยศดังกล่าวว่า ‘คนทั้งปวงที่อยู่ในแคว้นเอเชียนั้นต่างก็ผละไปจากข้าพเจ้าหมด’ (2 ทธ. 1:15)  …“การผิดประเวณีและการนับถือรูปเคารพอย่างแพร่หลายทำให้เหล่าอัครสาวกเป็นกังวล (ดู 1 คร. 5:9; อฟ. 5:3;ยูดา 1:7) ยอห์นและเปาโลต่างรำพันว่าจะมีอัครสาวกปลอมเกิดขึ้น (ดู 2 2 คร. 11:13; วว. 2:2) ศาสนจักรอยู่ในวงล้อมโจมตีอย่างเห็นได้ชัด บางคนไม่เพียงแต่ตกไปเท่านั้นแต่ยังต่อต้านอย่างเปิดเผยด้วย ครั้งหนึ่งเปาโลยืนคร่ำครวญคนเดียวว่า ‘เขาได้ละทิ้งข้าพเจ้าไปหมด’ (2 ทธ. 4:16) ท่านประณามผู้ที่ ‘พลิกบ้านคว่ำทั้งครัวเรือนให้เสียไป’ เช่นกัน (ทิตัส 1:11)“ผู้นำในท้องที่บางคนกบฎต่อต้าน เห็นได้จากผู้ที่รักในยศฐาบรรดาศักดิ์ปฏิเสธไม่ต้อนรับอัครสาวก (ดู 3 ยน. 1:9–10)“ไม่น่าแปลกใจที่ประธานบริคัม ยังก์ให้ข้อสังเกตว่า ‘มีผู้กล่าวว่าฐานะปุโรหิตถูกนำไปจากศาสนจักร แต่ไม่ใช่เช่นนั้น ศาสนจักรต่างหากที่ไปจากฐานะปุโรหิต’ (ใน Journal of Discourses, 12:69)”ดังที่เอ็ลเดอร์แมกซ์เวลล์กล่าวไว้ ในที่สุด “เหตุผล ซึ่งเป็นจารีตเชิงปรัชญาของชาวกรีกก็เข้าครอบงำจนแทนที่ความเชื่อถือที่มีต่อการเปิดเผย ซึ่งผลคงเกิดเร็วขึ้นจากการที่ชาวคริสต์ผู้มีเจตนาดีต้องการทำให้ความเชื่อของตนอยู่ในกระแสหลักของวัฒนธรรมร่วมสมัย …“… ขอให้เราระมัดระวังเกี่ยวกับการเห็นว่าศาสนศาสตร์ที่ได้รับการเปิดเผยเป็นเพียงสิ่งที่คนทั่วไปในปัจจุบันถือว่าจริง” (Ensign, พ.ย. 1993, 19–20)

  2. อัครสาวกและศาสดาพยากรณ์ เช่น โจเซฟ สมิธประกาศพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า แต่นอกเหนือจากนั้นเราเชื่อว่าชายหญิงทั่วไปและแม้กระทั่งเด็กยังสามารถเรียนรู้และได้รับการนำทางจากการดลใจศักดิ์สิทธิ์อันเป็นผลจากการสวดอ้อนวอนและการศึกษาพระคัมภีร์ เฉกเช่นยุคสมัยของอัครสาวกสมัยโบราณ สมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ได้รับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งช่วยให้เกิดการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับพระบิดาบนสวรรค์ หรืออีกนัยหนึ่งคือการเปิดเผยส่วนตัว (ดู กิจการ 2:37–38) ในวิธีนี้ ศาสนจักรจึงกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่ยึดถือคำมั่นสัญญาและมีวุฒิภาวะทางวิญญาณ ซึ่งศรัทธาของพวกเขามิได้มืดบอดทว่ามองเห็น—โดยมีพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์คอยบอกและยืนยัน นี่ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกทุกคนพูดแทนศาสนจักรหรือสามารถนิยามหลักคำสอนของศาสนจักรได้ ทว่าสมาชิกแต่ละคนสามารถได้รับการนำทางจากสวรรค์เพื่อรับมือการท้าทายและโอกาสต่างๆ ในชีวิตตนเอง

  3. เจ. รูเบ็น คลาร์ก จูเนียร์, When Are Church Leaders’ Words Entitled to Claim of Scripture?” Church News, 31 ก.ค. 1954, 9–10; ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 28:1–2, 6–7, 11–13 ด้วย

  4. การเตรียมพร้อมและคุณสมบัติต่างๆ ที่ผู้ร่วมสภาต้องมีได้แก่ “ความชอบธรรม …, ความบริสุทธิ์, และความนอบน้อมแห่งใจ, ความอ่อนโยนและความอดกลั้น, … ศรัทธา, และคุณธรรม, และความรู้, ความยับยั้งตน, ความอดทน, ความเป็นเหมือนพระผู้เป็นเจ้า, ความกรุณาฉันพี่น้องและจิตกุศล”“เพราะสัญญาคือ, หากสิ่งเหล่านี้มีมากมายในพวกเขา พวกเขาจะไม่ไร้ผลในความรู้เรื่องพระเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:30–31)

  5. โจเซฟ สมิธ, ใน History of the Church, 5:265.

  6. เจ. รูเบ็น คลาร์ก จูเนียร์, “Church Leaders’ Words,” 10. จากเรื่องที่บิดาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับบริคัม ยังก์ ประธานคลาร์กเขียนต่อว่า:“ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ข้าพเจ้าถือว่านั่นแสดงให้เห็นหลักธรรมข้อที่ว่า—แม้แต่ประธานศาสนจักรเองก็ยังไม่ ‘ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์’ เสมอไปเมื่อท่านปราศรัยกับผู้คน เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องหลักคำสอน (โดยปกติมักเป็นเรื่องเชิงคาดเดา) ซึ่งประธานศาสนจักรและผู้คนในเวลาต่อมารู้สึกว่าผู้พูดไม่ได้ ‘รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์’ ขณะประกาศหลักคำสอนดังกล่าว“ศาสนจักรจะรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อใดที่การผจญภัยสำรวจของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ในหลักธรรมหลักคำสอนเชิงคาดเดาเป็นไปตามข้อกำหนดเชิงนโยบายที่ว่าผู้ประกาศถ้อยคำนั้นต้อง ‘ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์’ ศาสนจักรจะรู้ได้ด้วยประจักษ์พยานจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ที่ประทานให้สมาชิกว่าขณะเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่กำลังพูดมุมมองของท่าน ท่าน ‘ได้รับการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์’ หรือไม่ และในที่สุดแล้วความรู้นั้นจะเป็นที่ประจักษ์” (“Church Leaders’ Words,” 10)

  7. คำสอนของประธานศาสนาจักร:โจเซฟ สมิธ (2007), 52