เซมินารี
กาลาเทีย 6


กาลาเทีย 6

“ใครหว่านอะไรลง ก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น”

ภาพ
ผู้หญิงกับเด็กหญิงเก็บเกี่ยวและทำสวนในเอกวาดอร์

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่าการพยายามดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์จะนำท่านไปสู่เป้าหมายนิรันดร์หรือไม่? เปาโลเขียนถึงวิสุทธิชนในแคว้นกาลาเทียเพื่อช่วยให้พวกเขารับรู้ว่าวิธีดำเนินชีวิตในแต่ละวันของเรากำหนดว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงอวยพรเราด้วย “ชีวิตนิรันดร์” หรือไม่ (กาลาเทีย 6:8) บทเรียนนี้จะช่วยให้ท่านรับรู้การกระทำที่ท่านต้องทำเพื่อบรรลุเป้าหมายนิรันดร์ของท่าน

เป้าหมายนิรันดร์

เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแบ่งปันบทสนทนาอันน่าจดจำที่ท่านเคยมีกับเยาวชนชายคนหนึ่ง

ดูวีดิทัศน์เรื่อง “เลือกอย่างฉลาด” ที่ ChurchofJesusChrist.org ตั้งแต่รหัสเวลา 3:03 ถึง 4:52 หรืออ่านข้อความต่อไปนี้ ดูว่าเป้าหมายของเยาวชนชายคนนี้คืออะไรและเขาอาจจะมีความเข้าใจผิดอะไรบ้างเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก ได้รับเรียกเป็นโควรัมอัครสาวกสิบสองเมื่อ 6 ตุลาคม ปี 2007

เมื่อเร็วๆ นี้ข้าพเจ้าพบชายวัยรุ่นหน้าตาดีคนหนึ่ง เป้าหมายของเขาคือไปรับใช้งานเผยแผ่ เรียนต่อ แต่งงานในพระวิหาร มีครอบครัวที่ซื่อสัตย์และเป็นสุข ข้าพเจ้าพอใจมากกับเป้าหมายของเขา แต่ระหว่างสนทนาต่อ เห็นชัดว่าความประพฤติและการเลือกของเขาไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมาย ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขาต้องการรับใช้งานเผยแผ่จริงๆ และกำลังหลีกเลี่ยงการล่วงละเมิดร้ายแรงที่จะขัดขวางไม่ให้เขาได้รับใช้ ทว่าความประพฤติในแต่ละวันไม่ได้เตรียมเขาให้พร้อมรับความท้าทายทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และทางวิญญาณที่เขาจะพบเจอ เขาไม่ได้ฝึกทำงานหนัก เขาไม่จริงจังกับการเรียนหรือเซมินารี เขามาโบสถ์แต่ไม่อ่านพระคัมภีร์มอรมอน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่กับวิดีโอเกมและโซเชียลมีเดีย ดูเหมือนเขาจะคิดว่าการแสดงตนเป็นผู้สอนศาสนาก็เพียงพอแล้ว

(เควนทิน แอล. คุก, “เลือกอย่างฉลาด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 47)

  • เยาวชนชายผู้นี้อาจจะเข้าใจอะไรผิดเกี่ยวกับการบรรลุเป้าหมายของตน?

ในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน ให้เขียนเป้าหมายที่ท่านจะถือว่ามีความสำคัญชั่วนิรันดร์ ลองคิดดูว่าเหตุใดท่านต้องการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ไตร่ตรองว่าความประพฤติในแต่ละวันของท่านอาจจะนำท่านเข้าใกล้หรือออกห่างจากเป้าหมายนิรันดร์ที่สำคัญเหล่านี้อย่างไร ขณะศึกษาให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้การกระทำประจำวันของท่านสอดคล้องมากขึ้นกับผลลัพธ์สำคัญนิรันดร์ที่ท่านปรารถนา

กฎแห่งการเก็บเกี่ยว

วิสุทธิชนในกาลาเทียเจอคำสอนเท็จที่ชักนำหลายคนให้หลงผิด (ดู กาลาเทีย 1:6–9) บางคนเชื่อและสอนหลักคำสอนเท็จว่าคนต่างชาติที่เปลี่ยนใจเลื่อมใสต้องเข้าสุหนัตจึงจะรอด (ดู กาลาเทีย 6:12; กิจการ 15:1) หลายคนเชื่อผิดๆ ว่าพระคุณของพระคริสต์ทำให้ตนมีเสรีภาพในการทำบาป (ดู กาลาเทีย 5:13) หลังจากกล่าวถึงความเชื่อผิดๆ เหล่านี้และกระตุ้นวิสุทธิชนให้ช่วยเหลือผู้หลงผิดทางวิญญาณแล้ว เปาโลสอนความจริงที่สำคัญเพื่อช่วยให้ผู้คนเข้าใจผลกระทบจากการกระทำของตน

อ่าน กาลาเทีย 6:7–8 มองหาความจริงที่เปาโลสอนซึ่งสามารถส่งผลต่อการกระทำประจำวันของเราได้ โปรดทราบว่า การหว่าน หมายถึงการปลูกและ การเก็บเกี่ยว หมายถึงการเก็บรวบรวมพืชผล

  • ท่านจะอธิบายคำสอนของเปาโลด้วยคำพูดของท่านเองว่าอย่างไร?

ความจริงข้อหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้จาก กาลาเทีย 6:7 คือ บุคคลหนึ่งหว่านอะไรลง ก็จะเก็บ‍เกี่ยวสิ่ง‍นั้น บางครั้งแนวคิดนี้เรียกว่ากฎแห่งการเก็บเกี่ยว

  • ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของความจริงนี้ในชีวิตท่านหรือในชีวิตผู้อื่น?

  • การเข้าใจความจริงนี้จะส่งผลต่อการตัดสินใจในชีวิตท่านอย่างไร?

คำสอนของแอลมาที่ให้กับโคริแอนทอนบุตรชายของเขาในพระคัมภีร์มอรมอนสามารถช่วยให้เราเข้าใจความหมายอันเป็นนิรันดร์ของกฎแห่งการเก็บเกี่ยวได้ดีขึ้น หรือที่แอลมาเรียกว่า “แผนแห่งการนำกลับคืน” อ่าน แอลมา 41:3–6, 10–15 เพื่อมองหาความจริงที่ช่วยให้ท่านเข้าใจคำสอนของเปาโลดีขึ้น

  • คำหรือวลีใดบ้างจากข้อเหล่านี้ที่ท่านเห็นว่าสำคัญ? เพราะเหตุใด?

  • หลังจากทบทวนสิ่งที่แอลมาสอนโคริแอนทอนแล้ว คำสอนนี้ประยุกต์ใช้ได้อย่างไรกับถ้อยคำของเปาโลที่ว่า “เพราะว่าใครหว่านอะไรลง ก็จะเก็บเกี่ยวสิ่งนั้น”? (กาลาเทีย 6:7)

  • คำสอนที่ท่านได้ศึกษามาจนถึงวันนี้ช่วยให้ท่านเข้าใจอะไรเกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์?

คำเชื้อเชิญของเปาโลถึงชาวกาลาเทีย

เปาโลสรุปคำสอนของเขาเกี่ยวกับกฎแห่งการเก็บเกี่ยวด้วยคำเชื้อเชิญ อ่าน กาลาเทีย 6:9–10 เพื่อมองหาสิ่งที่เปาโลเชื้อเชิญให้วิสุทธิชนทำ

  • ท่านคิดว่า “อย่าให้เราเมื่อยล้าในการทำดี” หมายความว่าอย่างไร? (กาลาเทีย 6:9)

  • พระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของเรื่องนี้อย่างไร?

  • ท่านคิดว่าเปาโลหมายความว่าอย่างไรเมื่อเขาพูดว่าเราจะเก็บเกี่ยว “ในเวลาอันสมควร” (กาลาเทีย 6:9) เมื่อเรามุ่งมั่นทำดีเพื่อผู้อื่น? เหตุใดจึงสำคัญที่ต้องเข้าใจเรื่องนี้?

การประยุกต์ใช้สิ่งที่ท่านเรียนรู้

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกระตุ้นเราให้คิดว่าการเลือกแต่ละอย่างของเราจะนำเราไปที่ใด (ดู “สิ่งนี้จะนำไปสู่จุดใด?,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 60–62)

เพื่อประยุกต์ใช้คำแนะนำนี้จากประธานโอ๊คส์ ให้ทำกิจกรรมต่อไปนี้

1. เพื่อประยุกต์ใช้คำแนะนำนี้จากประธานโอ๊คส์ ให้ทำกิจกรรมต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน รวมเฉพาะส่วนของแผนภูมิที่ไม่เป็นส่วนตัวเกินกว่าจะแบ่งปัน

สร้างแผนภูมิทำนองนี้:

สิ่งที่ท่านหว่าน (การกระทำที่ท่านทำเป็นประจำ)

สิ่งที่่ท่านเก็บเกี่ยวหรือคาดว่าจะเก็บเกี่ยวในอนาคต (การกระทำเหล่านี้จะนำไปสู่สิ่งใด)

ทางด้านซ้ายให้เขียนรายการสิ่งที่ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ทำหรืออยากเริ่มทำเป็นประจำ

ทางด้านขวาให้เขียนสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าจะเป็นผลลัพธ์ของการทำสิ่งเหล่านั้นเป็นประจำ คิดถึงผลลัพธ์ที่ท่านจะคาดหวังหากท่านทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำๆ เป็นประจำนานหนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หนึ่งปี ห้าปี หรือแม้ชั่วชีวิตของท่าน

ไตร่ตรองการกระตุ้นเตือนใดก็ตามที่ท่านได้รับจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ขณะศึกษาในวันนี้ ใต้แผนภูมิของท่านให้เขียนสิ่งที่ที่ท่านรู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ปรับเปลี่ยนในชีวิตท่านซึ่งจะช่วยให้ท่านมีคุณสมบัติเหมาะจะรับพรที่ท่านปรารถนามากขึ้น พระผู้เป็นเจ้าจะทรงช่วยเหลือท่านขณะท่านพยายามสุดความสามารถ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17)

เลือกได้: ต้องการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือไม่? 

กาลาเทีย 6:8 บุคคลที่ “หว่านสิ่งที่ตอบสนองพระวิญญาณ” หรือ “หว่านสิ่งที่ตอบสนองเนื้อหนังของตน” หมายความว่าอย่างไร?

เอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรส แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของเอ็ลเดอร์ยูลิซีส ซวาเรส แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสอง

การหว่านในพระวิญญาณหมายความว่าความคิด คำพูด และการกระทำทั้งหมดของเราต้องยกเราขึ้นถึงระดับความศักดิ์สิทธิ์ของพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรา อย่างไรก็ตาม พระคัมภีร์กล่าวถึงเนื้อหนังว่าเป็นธรรมชาติทางกายหรือทางเนื้อหนังของมนุษย์ปุถุชนซึ่งทำให้ผู้คนได้รับอิทธิพลจากความลุ่มหลง ความปรารถนา ความอยาก และแรงผลักดันของเนื้อหนังแทนที่จะมองหาการดลใจจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ ถ้าเราไม่ระวัง อิทธิพลเหล่านั้นผนวกกับแรงกดดันของความชั่วร้ายในโลกอาจทำให้เรามีพฤติกรรมหยาบคายและไม่ยั้งคิดซึ่งอาจกลายเป็นอุปนิสัยส่วนหนึ่งของเรา เพื่อหลีกเลี่ยงอิทธิพลที่ไม่ดีเหล่านั้น เราต้องทำตามที่พระเจ้าทรงสอนศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับการหว่านในพระวิญญาณอย่างต่อเนื่อง: “ดังนั้น, อย่าเบื่อหน่ายในการทำดี, เพราะเจ้ากำลังวางรากฐานของงานอันสำคัญยิ่ง และจากสิ่งเล็กน้อย บังเกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 64:33)

(ยูลิซีส ซวาเรส, “อยู่ในแดนของพระเจ้า!,” เลียโฮนา, พ.ค. 2012, 39)

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า:

ภาพ
ภาพครึ่งตัวอย่างเป็นทางการของประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ถ่ายเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018

หากเราหมกมุ่นอยู่กับยาเสพติดหรือสื่อลามกอนาจาร หรือความชั่วอื่นๆ ที่อัครสาวก [เปาโล] เรียกว่าหว่านสิ่งที่ตอบสนองเนื้อหนัง กฎนิรันดร์บอกว่าเราจะเก็บเกี่ยวความเน่าเปื่อยไม่ใช่ชีวิตนิรันดร์ นั่นคือความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า และความเมตตาจะขโมยความยุติธรรมไม่ได้ หากกฎนิรันดร์ถูกฝ่าฝืน จะต้องรับโทษที่ติดมากับกฎนั้น การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดชดเชยโทษบางอย่าง แต่การชำระความสกปรกของคนบาปด้วยความเมตตาจะเกิดขึ้นหลังจากการกลับใจเท่านั้น (ดู แอลมา 42:22–25) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยาวนานและเจ็บปวดสำหรับบาปบางอย่าง

(ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “อย่าถูกหลอก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2004, 57)

ความพยายามเล็กๆ น้อยๆ จะเปลี่ยนชีวิตฉันและชีวิตผู้อื่นได้อย่างไร?

ดู “Of Seeds and Soils” ตั้งแต่รหัสเวลา 7:06 ถึง 9:11 เพื่อดูตัวอย่างการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่เปลี่ยนชีวิตหลายร้อยคน วีดิทัศน์เรื่องนี้มีอยู่ที่ ChurchofJesusChrist.org

พิมพ์