“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)
“บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน,” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 10 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน
ใน บทที่ 6 เราเรียนรู้ว่าการแต่งงานได้รับแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนด้วยว่าการแต่งงานซีเลสเชียลเป็น “รูปแบบสูงสุดและยั่งยืนที่สุดของการแต่งงานที่พระผู้สร้างของเราจะทรงมอบให้ลูกๆ ของพระองค์ได้” นำ “ความสุขมาให้มากกว่าความสัมพันธ์แบบอื่น” (“การแต่งงานอาณาจักรชั้นสูง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 115, 116) ขณะที่ท่านศึกษาเนื้อหานี้ ให้พิจารณาความรู้สึกของท่านเองเกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์และสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อดำเนินชีวิตให้มีค่าควรแก่การแต่งงานนิรันดร์
หมวดที่ 1
เหตุใดฉันจึงควรพยายามที่จะมีการแต่งงานนิรันดร์?
เมื่อท่านนึกถึงการแต่งงานของคนที่ท่านรู้จัก ท่านอาจสงสัยว่าการแต่งงานในพระวิหารแตกต่างจากการแต่งงานทางโลกอย่างไร
เราเชื่อว่า “แผนแห่งความสุขจากพระผู้เป็นเจ้าทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดำเนินต่อไปหลังความตาย” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org) ความสัมพันธ์ในครอบครัวนิรันดร์เกิดขึ้นได้ด้วยพระเยซูคริสต์ ประธานเนลสันสอนว่า “การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ … ทำให้ทุกคนฟื้นคืนชีวิตได้จริงและทำให้คนที่กลับใจจากบาป คนที่รับศาสนพิธีและพันธสัญญาสำคัญและรักษาสิ่งเหล่านั้นได้รับชีวิตนิรันดร์” (“ดึงพลังของพระเยซูคริสต์เข้ามาในชีวิตเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2017, 40) ในยุคสุดท้าย พระเจ้าทรงฟื้นฟูสิทธิอำนาจ ศาสนพิธี และพันธสัญญาที่ทำให้การแต่งงานนิรันดร์ได้รับการสถาปนา
ตามที่ใช้ใน ข้อ 2 คำว่า ใหม่ หมายความว่าพันธสัญญาดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูใหม่ในสมัยการประทานของเรา พันธสัญญายังเป็นนิจเนื่องจากพันธสัญญาเป็นนิรันดร์และมีอยู่นับแต่ “ก่อนการวางรากฐานของโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:5) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงทำไว้กับอับราฮัมและซาราห์ ผู้เป็นภรรยาของเขาเมื่อนานมาแล้ว
เราเรียนรู้จากคู่มือพระคัมภีร์ว่า “ตอนแรกอับราฮัมได้รับพระกิตติคุณโดยการบัพติศมา (ซึ่งเป็นพันธสัญญาแห่งความรอด) จากนั้นเขาได้รับการประสาทฐานะปุโรหิตที่สูงขึ้น และเขาเข้าสู่การแต่งงานซีเลสเชียล (ซึ่งเป็นพันธสัญญาแห่งความสูงส่ง) จึงได้รับการรับรองว่าเขาจะมีการเพิ่มพูนนิรันดร์ [ลูกหลานนับไม่ถ้วน]” (Bible Dictionary, “Abraham, covenant of”)
พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมว่า “เราจะทวีเชื้อสายของเจ้าให้มากขึ้น ดังดวงดาวในท้องฟ้า และดังเม็ดทรายบนฝั่งทะเล” (ปฐมกาล 22:17) การแต่งงานซีเลสเชียลรวมพรของ “[การ] มีบุตรธิดาใน … รัศมีภาพซีเลสเชียล” (โจเซฟ สมิธ, ในประวัติ, 1838–1856 [Manuscript History of the Church], volume D-1, 1551 [josephsmithpapers.org])
พระเจ้าทรงสัญญากับอับราฮัมเพิ่มเติมว่า พรเหล่านี้ทั้งหมดจะมอบให้ลูกหลานมรรตัยของเขา (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:29–31; อับราฮัม 2:6–11) ส่วนพันธสัญญาของอับราฮัมเกี่ยวกับการแต่งงานนิรันดร์และการเพิ่มพูนนิรันดร์ได้รับการต่อใหม่กับแต่ละคนที่เข้าสู่ “พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 131:2) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราได้รับคำสัญญาถึงพรเช่นเดียวกับอับราฮัมโดยผ่านศาสนพิธีผนึกการแต่งงาน
เมื่อชายและหญิงได้รับการผนึกในพระวิหาร พวกเขาทำพันธสัญญาศักดิ์สิทธิ์กับพระผู้เป็นเจ้าและต่อกัน พันธสัญญานี้รวมถึงพันธสัญญาที่จะคงความซื่อสัตย์ต่อกันและต่อพระผู้เป็นเจ้า ดำเนินชีวิตในวิธีเหมือนพระคริสต์ ให้เกียรติพันธสัญญาพระกิตติคุณทั้งหมดที่พวกเขาทำ ขยายเผ่าพันธุ์และจงมีลูกดกทวีมากขึ้นจนเต็มแผ่นดิน
พิจารณาความหมายของภาพนี้ตามที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญาของการแต่งงานนิรันดร์ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในพันธสัญญานี้ไว้ดังนี้
พระเจ้าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นจุดรวมสัมพันธภาพของการแต่งงานในด้านพันธสัญญา ขอให้สังเกตวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงวางพระองค์ตรงปลายยอดของสามเหลี่ยมรูปนี้ โดยหญิงอยู่ที่มุมฐานด้านหนึ่งและชายอยู่ที่มุมฐานอีกด้านหนึ่ง ตอนนี้ขอให้พิจารณาว่าเกิดอะไรขึ้นในสัมพันธภาพระหว่างชายกับหญิงเมื่อพวกเขาแต่ละคน “มาหาพระคริสต์” และพยายามรับการทำให้ “ดีพร้อมในพระองค์” (โมโรไน 10:32) เนื่องจากและโดยผ่านพระผู้ไถ่ ชายและหญิงเข้าใกล้กันมากขึ้น (ดู “การแต่งงานเป็นสิ่งจำเป็นในแผนนิรันดร์ของพระองค์,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2006, 54)
หมวดที่ 2
ฉันต้องทำการเลือกอะไรบ้างเพื่อให้การแต่งงานของฉันเป็นนิรันดร์?
พระเจ้าทรงเปิดเผยว่า หากชายและหญิงไม่แต่งงานตามกฎของพระองค์ (เข้าสู่พันธสัญญาใหม่และเป็นนิจของการแต่งงาน) และโดยสิทธิอำนาจของพระองค์ การแต่งงานของพวกเขาจะ “ไม่มีผลบังคับเมื่อพวกเขาตาย” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:15) แต่การผนึกในพระวิหารเท่านั้นก็ไม่ได้เป็นหลักประกันการแต่งงานนิรันดร์เช่นกัน
ท่านอาจเคยสังเกตใน ข้อ 19 ว่าการแต่งงานในพระวิหารต้อง “ผนึก … โดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา” จึงจะเป็นนิรันดร์ เราเรียนรู้จากคู่มือพระคัมภีร์ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา (กิจการของอัครทูต 2:33) พระองค์ทรงยืนยันการกระทำที่ชอบธรรม ศาสนพิธี และพันธสัญญาของมนุษย์ดังเป็นที่ยอมรับต่อพระผู้เป็นเจ้า พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญาเป็นพยานต่อพระบิดาว่าได้ปฏิบัติศาสนพิธีแห่งความรอดอย่างถูกต้องและรักษาพันธสัญญาที่เกี่ยวข้องกัน” (“พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา,” scriptures.ChurchofJesusChrist.org)
เมื่อคู่สมรส “ปฏิบัติตามพันธสัญญา [นี้]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19) พระวิญญาณบริสุทธิ์ในบทบาทของพระองค์ในฐานะพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์แห่งคำสัญญา ยืนยันกับพระผู้เป็นเจ้าว่าพวกเขารักษาพันธสัญญา และการแต่งงานของพวกเขาจะกลายเป็นนิรันดร์ เพื่อ “ปฏิบัติตามพันธสัญญา [นี้]” คู่สมรสทั้งสองต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของพันธสัญญาการผนึกอย่างซื่อสัตย์ เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับความสำคัญของการให้เกียรติพันธสัญญาเหล่านี้:
ดังที่สอนในพระคัมภีร์นี้ [หลักคำสอนและพันธสัญญา 132:19] ข้อผูกพันนิรันดร์มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะผลจากพันธสัญญาแห่งการผนึกที่เราทำในพระวิหารเท่านั้น การดำเนินชีวิตของเราในชีวิตนี้จะเป็นตัวชี้ให้เห็นว่าเราจะเป็นอย่างไรในนิรันดรทั้งหมดที่จะมาถึง เพื่อจะได้รับพรแห่งการผนึกที่พระบิดาบนสวรรค์ของเราประทานแก่เรา เราต้องรักษาพระบัญญัติและดำเนินชีวิตในทางที่ครอบครัวของเราปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตกับเราในนิรันดร (ดู “ครอบครัวนิรันดร์,” เลียโฮนา, ม.ค. 1997, 75)
เราอาจดูแบบอย่างของพระเยซูคริสต์เพื่อพยายามเป็นคนดีที่สุดที่เราเป็นได้และรักษาพันธสัญญาของเรา ดังที่เอ็ลเดอร์โรนัลด์ เอ. ราสแบนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า
พระผู้ช่วยให้รอดของเราพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีเยี่ยมในการทำและรักษาสัญญากับพันธสัญญา พระองค์เสด็จมาบนแผ่นดินโลกโดยสัญญาจะทำตามพระประสงค์ของพระบิดา พระองค์ทรงสอนหลักธรรมพระกิตติคุณด้วยวาจาและการกระทำ พระองค์ทรงชดใช้บาปให้เราเพื่อเราจะมีชีวิตอีกครั้ง พระองค์ทรงรักษาสัญญาของพระองค์ทุกข้อ
… การรักษาสัญญาไม่ใช่นิสัย แต่เป็นอุปนิสัยของการเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์ …
คำถามของข้าพเจ้าวันนี้คือ เรารักษาสัญญาและพันธสัญญาของเราหรือไม่ หรือบางทีเป็นเพียงคำมั่นสัญญาครึ่งๆ กลางๆ ทำอย่างไม่ใส่ใจ เพราะฉะนั้นจึงฝ่าฝืนได้ง่าย? (“รักษาสัญญาและพันธสัญญาของเรา,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 53, 54)