บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน: การส่งเสริมและปกป้องครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู (2022)
“บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน” ครอบครัวนิรันดร์ สื่อการเรียนการสอนสำหรับครู
บทที่ 27 สื่อการเรียนการสอนสำหรับเตรียมเข้าชั้นเรียน
การส่งเสริมและปกป้องครอบครัวอันเป็นหน่วยพื้นฐานของสังคม
ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ดแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “โลกต้องรู้สิ่งที่ถ้อยแถลง [เรื่องครอบครัว] สอนเพราะครอบครัวคือหน่วยพื้นฐานของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการปกครองของเรา ดังที่วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทราบ ครอบครัวจะเป็นหน่วยพื้นฐานในอาณาจักรชั้นสูงด้วย” (“สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งยั่งยืนที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2005, 50) ขณะตรึกตรองบทบาทพื้นฐานของครอบครัวในสังคมและในนิรันดร ให้พิจารณาว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อส่งเสริมและปกป้องครอบครัว
หมวดที่ 1
อิทธิพลใดกำลังเป็นเหตุให้ครอบครัวแตกสลาย?
ปัจจัยหลายอย่างกำลังบั่นทอนครอบครัวในสังคมยุคใหม่ เพราะพระเจ้าทรงรักและทรงต้องการอวยพรเรา พระองค์จึงตรัสผ่านศาสดาพยากรณ์ให้เตือนเราเรื่องอันตรายเหล่านี้และอื่นๆ ศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้ายเตือนว่า “การแตกสลายของครอบครัวจะนำภัยพิบัติมาสู่ตัวบุคคล ประชาคม และประชาชาติดังที่ศาสดาพยากรณ์ในสมัยโบราณและปัจจุบันพยากรณ์ไว้” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก,” ChurchofJesusChrist.org)
หลักฐานยืนยัน “การแตกสลายของครอบครัว” มีอยู่รอบตัวเรา ตัวอย่างเช่น เราเห็น
-
การอยู่กินโดยไม่แต่งงาน เด็กเกิดนอกสมรส และครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่ตัวคนเดียวเพิ่มขึ้น
-
การแต่งงานและอัตราการเกิดลดลง
-
ความดาษดื่นของการทำแท้ง การหย่าร้าง การกระทำทารุณกรรม และความผิดปกติในชีวิตครอบครัว และ
-
นโยบายสาธารณะและสื่อที่บ่อนทำลายครอบครัว
(ดู บรูซ ซี. ฮาเฟน, “The Proclamation on the Family: Transcending the Cultural Confusion,” Ensign, Aug. 2015, 54; ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “จงปกป้องเด็กๆ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2012, 43; “การหย่าร้าง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 87; จูลี บี. เบค, “การสอนหลักคำสอนเรื่องครอบครัว,” เลียโฮนา, มี.ค. 2011, 34)
อัครสาวกเปาโลเตือนเรื่องอันตรายที่จะอยู่ในวันเวลาสุดท้าย
เอ็ลเดอร์บรูซ ดี. พอร์เทอร์อดีตสาวกเจ็ดสิบพูดถึงหนึ่งเหตุผลที่ชายและหญิงกลายเป็นคน “เห็นแก่ตัว” (2 ทิโมธี 3:2):
การแตกสลายของหลายล้านครอบครัวส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะสื่อและวัฒนธรรมยอดนิยมพากันสรรเสริญการแสวงหาเพื่อตัว: ตนอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับข้อผูกมัดทางสังคมหรือทางศีลธรรม มีอิสระในการแสวงหาเป้าหมายอะไรก็ตามที่ตนเลือกตราบใดที่เป้าหมายนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายต่อผู้ที่มุ่งแสวงหาสิ่งต่างๆ เพื่อตนเอง (“Defending the Family in a Troubled World,” Ensign, June 2011, 15)
หมวดที่ 2
ฉันมีความรับผิดชอบอะไรต่อการส่งเสริมและปกป้องครอบครัว?
ฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองให้หน้าที่นี้: “เราเรียกร้องประชาชนพลเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐบาลผู้มีความรับผิดชอบทุกหนแห่งให้ส่งเสริมการวางมาตรการเหล่านั้นเพื่อธำรงและเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวในฐานะหน่วยพื้นฐานของสังคม” (“ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก”)
มีหลายวิธีที่เราสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ให้ลุล่วง พิจารณาแนวคิดบางอย่างต่อไปนี้:
-
พยายามเสริมสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวตนเอง
-
เรียนรู้ปัญหาคุกคามครอบครัวตรงที่ท่านอยู่
-
สนับสนุนหรือปกป้องผู้นำทางการเมือง องค์กร และนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมครอบครัว
-
ใช้โซเชียลมีเดียส่งเสริมค่านิยมอันดีของครอบครัว
-
มองหาโอกาสแบ่งปันคำสอนพระกิตติคุณและความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับครอบครัว
สภาพการณ์ของครอบครัวเราไม่ต้องสมบูรณ์แบบ เราก็ส่งเสริมหรือปกป้องครอบครัวได้ โลกต้องการเสียงของเราไม่ว่าสภาพการณ์ของครอบครัวเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ขณะรับใช้ในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญ ประธานบอนนี่ แอล. ออสคาร์สันสอนว่า:
เราต้องปกป้องอย่างอาจหาญต่อหลักคำสอนที่ได้รับการเปิดเผยของพระเจ้าที่อธิบายเรื่องการแต่งงาน ครอบครัว บทบาทแห่งสวรรค์ของชายหญิง และความสำคัญของบ้านในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์—แม้เมื่อโลกกำลังตะโกนใส่หูเราว่าหลักธรรมเหล่านี้ล้าสมัย มีข้อจำกัด หรือไม่เข้ากับเหตุการณ์อีกต่อไป ทุกคนไม่ว่าสถานภาพการแต่งงานจะเป็นอย่างไรหรือมีลูกกี่คนสามารถเป็นผู้ปกป้องแผนของพระเจ้าที่อธิบายไว้ในถ้อยแถลงเกี่ยวกับครอบครัวได้ (“ผู้ปกป้องถ้อยแถลงครอบครัว,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 15)
อาจมีหลายครั้งที่ท่านรู้สึกกลัวไม่กล้าส่งเสริมหรือปกป้องครอบครัวเพราะการต่อต้านที่ท่านประสบ พิจารณาว่าท่านจะดึงพลังมาจากการกระทำของแม่ทัพโมโรไนและชาวนีไฟผู้ที่กล้าลุกขึ้นต่อต้านการรุกรานของชาวเลมันเพื่อ “รักษาผืนแผ่นดินของพวกเขา, และบ้านของพวกเขา, และภรรยา, และลูกๆ ของพวกเขา” (แอลมา 43:9)
หมวดที่ 3
ฉันจะมั่นใจมากขึ้นได้อย่างไรในการพูดคุยกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับคำสอนของพระเจ้าเรื่องครอบครัว?
ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์แห่งฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่าคำสอนในถ้อยแถลงเรื่องครอบครัว “แตกต่างชัดเจนจากกฎหมาย ขนบธรรมเนียม และการสนับสนุนในปัจจุบันของโลกที่เราอาศัยอยู่” (“แผนและถ้อยแถลง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 29) ตลอดชีวิตท่านท่านน่าจะได้สนทนาหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัวกับคนที่มีทัศนะต่างจากท่าน ในเวลาเช่นนั้นจงอย่าปะทะ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:30) แต่พยายามเป็น “ผู้ติดตามที่มีใจสงบสุขของพระคริสต์” (โมโรไน 7:3; ดูข้อ 4–5 ด้วย) และ “[พูด] ความจริงด้วยความรัก” (เอเฟซัส 4:15)
เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเกี่ยวกับการทำตามแบบอย่างของพระเยซูคริสต์ในการตอบโต้คนที่อาจต่อต้านความเชื่อของเรา:
การโต้ตอบในวีถีแห่งความเป็นเหมือนพระคริสต์ไม่สามารถเขียนบทพูดหรือมีสูตรตายตัว พระผู้ช่วยให้รอดทรงโต้ตอบในวิธีที่แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์ เมื่อพระองค์ทรงเผชิญหน้ากับกษัตริย์เฮโรดผู้ชั่วร้าย พระองค์ทรงนิ่งเงียบ เมื่อพระองค์ทรงยืนอยู่ต่อหน้าปีลาตประองค์ทรงแสดงประจักษ์พยานที่เรียบง่ายและทรงพลังถึงความเป็นพระเจ้าและจุดประสงค์ของพระองค์ การเผชิญหน้ากับนักแลกเงินตราผู้กำลังทำให้พระวิหารแปดเปื้อนอยู่นั้น พระองค์ทรงใช้ความรับผิดชอบจากเบื้องบนพิทักษ์รักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เมื่อถูกยกขึ้นบนกางเขนพระองค์ทรงเอื้อนเอ่ยพระวจนะโต้ตอบแบบชาวคริสต์อันหาที่เปรียบมิได้ “พระบิดาเจ้าข้า ขอทรงยกโทษพวกเขาเพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไร” (ลูกา 23:34)
บางคนเข้าใจผิดคิดว่าการตอบสนองเช่นการนิ่งเงียบ ความสุภาพอ่อนน้อม ให้อภัย และแสดงประจักษ์พยานเป็นความเฉยเฉื่อยหรืออ่อนแอ แต่การ “รักศัตรู [ของเรา] อวยพรผู้ที่สาปแช่ง [เรา] ทำดีต่อผู้ที่เกลียดชัง [เรา] และสวดอ้อนวอนเพื่อพวกเขาผู้ที่ใช้ [เรา] อย่างมุ่งร้าย และข่มเหง [เรา]” (มัทธิว 5:44) ต้องใช้ศรัทธา ความเข้มแข็ง และเหนือสิ่งอื่นใด ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์ (“ความกล้าหาญแบบชาวคริสต์: คุณค่าแห่งความเป็นสานุศิษย์,” เลียโฮนา, พ.ย. 2008, 92)
พิจารณาว่าหลักธรรมต่อไปนี้จะช่วยท่านได้อย่างไรขณะท่านพูดคุยกับคนอื่นๆ เกี่ยวกับการแต่งงานและครอบครัว:
-
ทำตามพระวิญญาณ พระวิญญาณจะทรงช่วยให้ท่านรู้ว่าต้องพูดอะไรและไม่พูดอะไร (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 100:5–6) อิทธิพลของพระองค์จะช่วยให้ท่านควบคุมอารมณ์ของท่านด้วย (ดู โมเสส 5:22–23)
-
ตั้งใจฟัง เอาใจใส่เต็มที่กับคนที่กำลังพูด อย่าขัดจังหวะพวกเขาหรือคิดคำตอบในใจขณะพวกเขาพูด เพื่อเข้าใจสิ่งที่พวกเขาพูดไปแล้วท่านสามารถสามารถถามคำถามเพื่อให้พวกเขาชี้แจงหรือสรุปสิ่งที่ท่านได้ยินพวกเขาพูด
-
พยายามสร้างสะพานเชื่อมความเข้าใจ อย่ายอมให้ความแตกต่างของท่านบดบังสิ่งที่ท่านมีเหมือนๆ กัน ขณะพูดคุยกัน ให้มองหาจุดยืนร่วมกันและต่อยอด
-
แบ่งปันคำสอนของพระเจ้าในภาษาที่เรียบง่าย ชัดเจน และไม่ชวนวิวาท หลีกเลี่ยงคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เฉพาะสมาชิกของศาสนจักร (ดู David A. Edwards, “Communication Breakdown,” New Era, Oct. 2012, 32–33) แต่ใช้คำและวลีที่ถูกต้อง ช่วยเพิ่มความเข้าใจ และส่งเสริมความปรารถนาดี ตอบให้กระชับเสมอ ให้ความรักเติมเต็มหัวใจท่านเพื่อน้ำเสียงของท่านจะอ่อนโยน
-
แสดงประจักษ์พยานที่บริสุทธิ์และเรียบง่าย ประจักษ์พยานของท่านไม่จำเป็นต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “ฉันเป็นพยาน …” แต่ท่านสามารถพูดทำนองนี้ “ชีวิตฉันได้รับพรเพราะ …” “ฉันรู้สึก …” หรือ “นี่สำคัญต่อฉันเพราะ …”
-
เมื่อท่านไม่เห็นด้วย ก็ไม่ต้องอารมณ์เสีย จงสุขุมเยือกเย็นและเคารพเพื่อท่านจะสามารถช่วยสร้างมิตรภาพและไม่สร้างศัตรู ท่านสามารถแสดงออกว่าท่านเคารพมุมมองของอีกฝ่าย ขณะยอมรับเช่นกันว่าท่านทั้งสองอาจเห็นไม่ตรงกันบางเรื่อง จำไว้ว่าวิญญาณของความขัดแย้งจะทำให้พระวิญญาณบริสุทธิ์จากไป (ดู 3 นีไฟ 11:29)