ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของแผน
บทเรียนสี่บทที่เราสามารถเรียนรู้ได้จาก “ความล้มเหลว” ซึ่งเกิดขึ้นมากที่สุดในพระคัมภีร์
อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ดูเหมือนจะหนักไปทางประกาศ “มหากาพย์ความล้มเหลว”—ตั้งแต่ความล้มเหลวจากการลอกเลียนแบบ Pinterest ไปจนถึงวีดิทัศน์ของคนที่ตีลังกากลับหลังพลาด เราอาจปรารถนาจะรู้เท่านั้นว่าเราไม่โดดเดี่ยวเมื่อเราพยายามสุดความสามารถแล้วแต่ดูเหมือนไม่ดีพอ มีอีกวิธีหนึ่งที่จะรู้ว่าไม่โดดเดี่ยว
ถ้าท่านรู้สึกเหมือนวันของท่านเต็มไปด้วยความล้มเหลว ให้มองหากำลังใจจากพระคัมภีร์ พระคัมภีร์เต็มไปด้วยความพยายามที่ไม่สมบูรณ์แบบของคนที่ยอดเยี่ยมมากบางคน ต่อไปนี้เป็นบทเรียนบางบทของพวกเขาที่สามารถช่วยให้ท่านตระหนักว่าท่านอาจจะทำได้ดีกว่าที่ท่านคิด
1. ศรัทธาไม่ได้หยุดความล้มเหลว แต่ทำให้ความล้มเหลวมีความหมาย
นีไฟเปี่ยมด้วยศรัทธาเมื่อเขากับพี่ๆ กลับไปเอาแผ่นจารึกทองเหลือง แต่นั่นก็ไม่ได้ปกป้องพวกเขาจากตวามล้มเหลวอย่างน่าสังเวช—สองครั้ง (ดู 1 นีไฟ 3) แต่ศรัทธาของเขาขณะเผชิญความล้มเหลวช่วยเปลี่ยนความล้มเหลวเป็นการเตรียมรับความสำเร็จ ความล้มเหลวขณะเผชิญหน้ากับเลบันก่อนหน้านั้นช่วยเตรียมนีไฟให้จำเลบันได้ ปลอมตัวเป็นเขา พบบ้านของเขา และเอาบันทึกศักดิ์สิทธิ์มาได้หรือไม่ เราไม่รู้แน่ชัด แต่เรารู้ว่าความสำเร็จในอนาคตของเรามักจะเป็นผลของสิ่งที่เราเรียนรู้จากความล้มเหลวในอดีต
2. พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดว่าเราจะล้มเหลวและทรงวางแผนล่วงหน้า
หลังจากโจเซฟ สมิธทราบว่าต้นฉบับพระคัมภีร์มอรมอนหายไป 116 หน้า เขาร้องว่า “หายไปหมดแล้ว!”1 เขารู้ว่าเขาผิดพลาด เขารู้ว่าเขาจะถูกตำหนิและแม้กระทั่งถูกขับออก แต่ไม่ได้หายไปหมด พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดไว้แล้วราว 2,000 ปีก่อนว่าโจเซฟจะล้มเหลวและทรงเตรียมรับสิ่งนี้
ในทำนองเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงคาดไว้นานแล้วก่อนสร้างโลกว่าเราจะล้มเหลว2 แต่พระองค์ทรงสามารถเปลี่ยนความผิดพลาดของเราเป็นพร (ดู โรม 8:28) พระองค์ทรงจัดเตรียมพระผู้ช่วยให้รอดทั้งนี้เมื่อความล้มเหลวของเราเกี่ยวข้องกับบาป เราสามารถกลับใจ โดยยอมให้เรา “เรียนรู้จากประสบการณ์ [ของเรา] โดยไม่ถูกกล่าวโทษ”3
3. อย่ายอมแพ้ เรามองไม่เห็นความสำเร็จของเราเสมอไป
อบินาไดได้รับเรียกให้สั่งสอนการกลับใจแก่ผู้คน หากอบินาไดวัดความสำเร็จของตนจากจำนวนคนที่กลับใจ เขาอาจเชื่อไปจนตายว่าเขาล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ครั้งแรกที่เขาเตือนผู้คนของกษัตริย์โนอาห์ให้กลับใจ เขาถูกปฏิเสธและหนีรอดมาได้อย่างหวุดหวิด (ดู โมไซยาห์ 11:20–29) แทนที่จะยอมแพ้ เขาพยายามอีกครั้ง โดยรู้ว่าเขาอาจจะถูกสังหารได้—และเขาก็ถูกสังหาร
แต่เพราะเขาไม่ยอมแพ้ ผู้คนจึงกลับใจในที่สุด (ดู โมไซยาห์ 21:33) นอกจากนี้แอลมายังได้เปลี่ยนใจเลื่อมใส สอนและให้บัพติศมาคนจำนวนมาก และจัดตั้งศาสนจักรในหมู่ชาวนีไฟด้วย ลูกหลานของแอลมานำศาสนจักร และบางครั้งนำประเทศชาติ จนถึงการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ โดยทำให้หลายพันคนเปลี่ยนใจเลื่อมใส รวมทั้งชาวเลมันส่วนใหญ่ด้วย (ดู ฮีลามัน 5:50) คนๆ หนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ขณะเผชิญความล้มเหลวสามารถทำให้เกิดผลดีเหลือเชื่อ
4. บางครั้งการแก้ปัญหาสำคัญน้อยกว่าการเรียนรู้จากปัญหา
ออลิเวอร์ เกรนเจอร์เคยชินกับการมีอำนาจสั่งการให้ทำสิ่งต่างๆ ก่อนเข้ารวมศาสนจักรในทศวรรษ 1830 เขาเป็นนายอำเภอ ผู้พันของกลุ่มทหารอาสา และนักเทศน์ที่มีใบอนุญาตในศาสนจักรของเขา หลังจากเข้าร่วมศาสนจักร เขารับใช้งานเผยแผ่สองครั้งและเป็นสมาชิกของสภาสูงเคิร์ทแลนด์ แต่จากนั้นโจเซฟมอบงานที่แทบไม่มีทางทำได้ให้ออลิเวอร์จัดการเรื่องธุรกิจของผู้นำศาสนจักรที่ถูกขับไล่ออกจากเคิร์ทแลนด์4
ออลิเวอร์รู้สึกเหมือนล้มเหลว เขาจึงไปหาโจเซฟและได้ยินพระเจ้าตรัสว่า “เรานึกถึงผู้รับใช้ของเรา ออลิเวอร์ เกรนเจอร์; … และเมื่อเขาตกเขาจะลุกขึ้นอีก, เพราะการเสียสละของเขาจะศักดิ์สิทธิ์ต่อเรายิ่งกว่าการเพิ่มพูนของเขา” (คพ. 117:12–13) เราเรียนรู้จากออลิเวอร์ว่าผลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมองหาไม่ใช่เพื่อให้เรามาพบทางออกที่เหมาะกับความท้าทายของเราเสมอไป แต่เพื่อให้เราเติบโตจากการเผชิญความท้าทาย
ความก้าวหน้าอาจเกิดขึ้นยาก
เราอยู่ที่นี่เพื่อเรียนรู้และเติบโต แต่การเติบโตไม่เกิดขึ้นหากปราศจากการตรงกันข้าม เราทุกคนล้วนทำผิดพลาด ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว แต่ “จุดหมายของเราไม่ได้ตัดสินจากจำนวนครั้งที่เราสะดุดล้ม แต่จากจำนวนครั้งที่เราลุกขึ้น ปัดฝุ่นออก และเดินต่อ ”5