2021
ความเมตตา: บางสิ่งที่คนทั้งโลกต้องการ
สิงหาคม 2021


ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว

ความเมตตา: บางสิ่งที่คนทั้งโลกต้องการ

การมีเมตตาทำให้เราสามารถช่วยโลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ทีละเล็กทีละน้อย

เด็กชายกางร่มให้เด็กที่อายุน้อยกว่า

ภาพถ่ายจาก Getty Images

เมื่อถึงเวลาต้องให้พรแก่อมีเลีย ลูกสาวของผม มีพรหลายอย่างที่ผมอยากจะรวมเอาไว้ในการให้พรเธอ ขณะที่ผมกำลังไตร่ตรองไว้ล่วงหน้าว่าจะพูดอะไร ผมรู้สึกว่าควรอวยพรให้เธอเติบโตขึ้นมาอย่างแข็งแรงและมีสุขภาพดี ผมรู้สึกได้รับการดลใจให้อวยพรเธอเช่นกันว่าชีวิตของเธอจะมีศูนย์รวมอยู่ที่พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

ขณะที่ผมยืนจับมือกันเป็นวงกลมในการประชุมศีลระลึกและเริ่มให้พรลูกสาวตัวน้อย ผมได้รับการแบ่งปันถึงสิ่งเหล่านี้และความประทับใจทางวิญญาณอื่นๆ ทันใดนั้น ผมรู้สึกว่าต้องเพิ่มบางสิ่งบางอย่างเข้าไปในการให้พร ผมรู้สึกประหลาดใจที่การกระตุ้นเตือนนี้มาถึงผมอย่างแรงกล้า

ผมพูดกับอมีเลียในอ้อมแขนว่า “ถึงบางครั้งผู้คนจะไม่เมตตาลูก แต่พ่อขออวยพรให้ลูกทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและเป็นผู้ที่มีเมตตาอยู่เสมอ”

ตั้งแต่นั้นมา ผมก็คิดมากเกี่ยวกับพรส่วนนี้ของอมีเลีย ผมตระหนักว่าความเมตตาไม่ใช่สิ่งที่ผมปรารถนาจะให้ลูกสาวเพียงเท่านั้น ความเมตตาเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกต้องการ บ่อยครั้งที่ดูเหมือนว่าจะเกิดความเกรี้ยวกราดและไม่คำนึงถึงคนอื่นได้ทุกหนทุกแห่ง แต่ต่อไปนี้คือวิธีบางส่วนที่เราสามารถทำให้โลกรอบตัวเรามีความเมตตามากขึ้นได้เล็กน้อย

1. มีเมตตากับผู้อื่นแม้ท่านจะไม่เห็นด้วยกับพวกเขา

ดูฟีดข่าวล่าสุดของท่าน แล้วคงใช้เวลาไม่นานท่านก็จะได้เห็นผู้คนแสดงความไม่มีเมตตาต่อกัน บางคนถือว่าผู้ที่มีมุมมองต่างจากตนเป็นคนที่ไร้เดียงสา คนหลงผิด หรือถึงขนาดเป็นคนชั่วร้ายเลยทีเดียว พวกเขาเหล่านั้นทำเหมือนว่าไม่มีพื้นที่สำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากตนเอง และการเคารพในมุมมองของคนอื่นๆ มักถูกมองว่าเป็นความอ่อนแอ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ผู้ติดตามพระคริสต์ควรเป็นแบบอย่างของการเป็นพลเมืองดี เราพึงรักทุกคน เป็นผู้ฟังที่ดี และแสดงความห่วงใยต่อความเชื่ออันจริงใจของพวกเขา แม้ว่าเราไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ควรหยาบคาย”1

การมีเมตตาโดยไม่คำนึงถึงความคิดเห็นของเราสามารถช่วยให้เรามองหาสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของกันและกันและรู้สึกเชื่อมโยงกันมากขึ้นได้

2.ให้ความสำคัญกับการมีเมตตาที่บ้าน

ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองเคยกล่าวไว้ว่า “เฉกเช่นทองเกล็ดเล็กๆ ที่สั่งสมตามกาลเวลาจนเป็นสมบัติก้อนโต การกระทำเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่ายจากความเมตตาและการรับใช้จะสั่งสมในชีวิตเราจนเราเปี่ยมด้วยความรักที่มีต่อพระบิดาบนสวรรค์ การอุทิศตนต่องานของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ ความรู้สึกสงบและปีติจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราแสดงน้ำใจต่อกัน”2

บ้านที่เปี่ยมด้วยความเมตตาคือสถานที่แห่งความรัก ความเมตตาสงสาร และความอบอุ่น ในช่วงชีวิตที่ยากลำบาก ความเมตตาจะทำให้ครอบครัวรู้สึกมั่นใจ เข้าใจ และห่วงใย ความเมตตาจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งหากเราต้องการสร้างบ้านที่สงบสุขและเปี่ยมด้วยความรัก

3. มีความอดทนต่อผู้อื่นและต่อตัวท่านเองเมื่อเกิดข้อผิดพลาด

เมื่อคนรอบข้างทำสิ่งที่เราไม่พอใจ เราก็ยังสามารถเลือกที่จะอดทนและมีเมตตาต่อพวกเขาได้ เช่นเดียวกับที่เราอยากให้พวกเขาปฏิบัติต่อเรา เราสามารถเลือกที่จะมีเมตตาเมื่อคนที่เรารักและห่วงใยละทิ้งสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์จะทรงประสงค์ให้เราทำได้เช่นกัน

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่าหน้าที่ของเรา “คือรักพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนบ้าน [ของเรา]” หากเราทำเช่นนั้น “พระผู้เป็นเจ้าจะทรงทำปาฏิหาริย์ผ่านท่านเพื่อเป็นพรแก่บุตรธิดาอันล้ำค่าของพระองค์”3

เราต้องมีเมตตาต่อตนเองด้วย เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “ในฐานะบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราไม่ควรลดค่าและให้ร้ายตัวเราเอง ราวกับว่าการทำร้ายตนเองจะทำให้เรากลายเป็นบุคคลที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการให้เราเป็น”4 ทุกคนสมควรที่จะได้รับความอดทนและความมีเมตตา รวมถึง ตัวท่านด้วย

4. เมื่อคนอื่นไม่มีความเมตตา ถึงอย่างไรท่านก็ต้องมีความเมตตา

บางครั้งผู้คนจะปฏิบัติต่อเราอย่างไร้ความเมตตา เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เราต้องพยายามมีเมตตาต่อไปแม้จะยากลำบากเพียงใดก็ตาม

พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่า “จงรักศัตรูของท่าน และจงอธิษฐานเพื่อบรรดาคนที่ข่มเหงพวกท่าน” (มัทธิว 5:44)

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมให้คนอื่นปฏิบัติไม่ดีต่อเราอย่างไรก็ได้ การรักษาขอบเขตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญเสมอ แต่เราควรพยายามปฏิบัติต่อบุคคลแต่ละคนเหมือนลูกของพระบิดาบนสวรรค์ และพึงระลึกว่าทุกคนมีปัญหาหลายเรื่องที่เราไม่รู้

ท่านอาจช่วยให้พวกเขาเปลี่ยนไปได้โดยยื่นมือช่วยเหลือด้วยความเมตตาและรับใช้ผู้ที่ไม่มีเมตตา แต่ถึงพวกเขาจะไม่เปลี่ยนไปเลย การแสดงความเมตตาก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับท่านอยู่ดี การ​เลือก​ที่​จะ​มี​เมตตาจะ​ทำ​ให้ท่าน​หลุด​พ้น​จาก​ความ​ไม่มีเมตตาของ​คน​อื่น ทั้งยังช่วยให้ท่านค้นพบวิธีช่วยเหลือคนรอบข้างและประสบความสุขไปด้วย

ทำตามวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

มีหลายวิธีที่ทำให้เราเรียนรู้ที่จะเมตตามากขึ้น แต่วิธีที่ดีที่สุดคือการมองไปที่พระผู้ช่วยให้รอดและทำตามแบบอย่างของพระองค์

พระองค์ทรงแสดงความเมตตาในทุกสิ่งที่พระองค์ตรัสและทำ หากเราให้ความสำคัญกับคนอื่นและแสดงออกด้วยความเมตตา แม้แต่กับผู้ที่ไม่มีความเมตตา เราสามารถช่วยให้โลกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้ทีละเล็กทีละน้อย

เมื่อเราทำตามแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดและใส่ใจผู้อื่น เราจะพบโอกาสในการเข้าถึงผู้คนที่ต้องการความเมตตา เราจะใกล้ชิดพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นและเพิ่มพูนความรักความเมตตามากขึ้นเมื่อเรารับใช้ผู้อื่น เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวว่า “เมื่อเรามองผ่านเลนส์พระกิตติคุณ เรารับรู้ว่าเราเช่นกันที่อยู่ภายใต้การเฝ้าดูแลของผู้ดูแลที่ทรงมีการุณยธรรม ผู้ทรงปฏิบัติต่อผู้อื่นในความเมตตากรุณาและวิญญาณบำรุงเลี้ยง”5

ดังนั้นผมจึงเชิญท่านมาร่วมกับอมีเลียเพื่อช่วยกันแผ่เมตตาและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวันของใครสักคน! ดังที่ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) กล่าวไว้ว่า “ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้และจะเกิดขึ้นเมื่อมีความเมตตา ความเคารพ และความรัก”6

อ้างอิง

  1. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “รักผู้อื่นและอยู่ร่วมกับผู้ที่แตกต่าง,” เลียโฮนา, พ.ย. 2014, 27.

  2. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “พบปีติผ่านการรับใช้ด้วยความรัก,” เลียโฮนา, พ.ค. 2011, 61.

  3. ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “งานเผยแผ่ศาสนา: แบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 17.

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, “เพราะฉะนั้นพวกท่านจงเป็นคนดีพร้อม—ในที่สุด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 40.

  5. แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “ใจผูกพันกัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 23.

  6. กอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์, “ต้องการความเมตตามากขึ้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 73.