คนหนุ่มสาว
การเล็งเห็นสิ่งที่ดีในตัวเราเอง
ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา
ท่านจะนิยามของประทานแห่งการเล็งเห็นว่าอย่างไร? เมื่อไม่นานมานี้ ดิฉันพลาดจุดประสงค์สำคัญประการหนึ่งจากของประทานนี้โดยสิ้นเชิง
ตลอดชีวิต ดิฉันนิยามของประทานแห่งการเล็งเห็นว่าเป็นความสามารถในการแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องจากสิ่งที่ผิด ความจริงจากความผิดพลาด แม้ว่านั่นจะเป็นส่วนสำคัญของของประทาน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันเรียนรู้ว่ามีอะไรมากกว่านั้น
ฉันพบสิ่งล้ำค่าในเชิงอรรถของคำปราศรัยที่กล่าวไว้ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2020 ผู้พูดคนหนึ่งอ้างอิงประธานสตีเฟน แอล. ริชาร์ดส์ (1879–1959) อดีตที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดซึ่งกล่าวว่า “การเล็งเห็นแบบสูงสุดคือสิ่งที่สังเกตเห็นในผู้อื่นและเป็นสิ่งที่เผยให้คนเหล่านั้นทราบถึงคุณสมบัติที่ดีกว่าและความดีที่มีอยู่ในตัวพวกเขา”1
ฟังดูคล้ายบทกวีใช่ไหม
พระวิญญาณบริสุทธิ์สามารถช่วยให้เราเปิดเผยความดี ที่มีอยู่ในตัว ของผู้อื่น ความจริงของคำพูดนั้นเป็นสิ่งพิเศษสำหรับดิฉันมากจนดิฉันอยากเรียนรู้ให้มากขึ้น ดิฉันพบว่าเอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนเช่นกันว่า ของประทานแห่งการเล็งเห็นช่วยให้เรา “พบและนำความดีที่อาจแฝงอยู่ในตัวเราออกมา”2
นับตั้งแต่การค้นพบนี้ ดิฉันตระหนักว่าส่วนนี้ในของประทานแห่งการเล็งเห็นมีความสำคัญเพียงใด เราต้องหาคุณสมบัติที่ดีในตัวเราเองเพื่อที่เราจะพัฒนาคุณสมบัตินั้นได้ ขณะที่เราทำ เราจะรู้สึกและปฏิบัติตนเหมือนบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นจากที่เป็น (ดู เพลงสดุดี 82:6; โมไซยาห์ 5:7; โมโรไน 7:19)
แล้วเราจะเริ่มค้นหาสิ่งที่ดีในตัวเราเองได้อย่างไร? ต่อไปนี้เป็นวิธีเริ่มต้นสองสามวิธี
มุ่งเน้นไปที่การใช้จุดแข็งของท่านเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่น
เป็นความจริงตามหลักคำสอนที่ทุกคนมีของประทานบางอย่างจากพระผู้เป็นเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:11) และไม่ใช่เรื่องเสียเวลาที่จะนึกถึงของประทานเหล่านั้น อันที่จริง พระผู้เป็นเจ้าทรงขอให้เราทำเช่นนั้น! พระคัมภีร์สอนให้เราแสวงหา “ของประทานที่ดีที่สุดอย่างตั้งใจจริง โดยจำไว้เสมอว่าสิ่งเหล่านี้ให้ไว้เพื่ออะไร” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 46:8; เน้นตัวเอน)
เมื่อเราตระหนักถึงของประทานหรือพรสวรรค์ของเรามากขึ้น เราควรหาวิธีใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อรับใช้ผู้อื่น
วิธีหนึ่งในการระบุของประทานของท่านคือการถามคนที่ท่านไว้ใจ! ถามพวกเขาว่าจุดแข็งของท่านคืออะไร ถ้าท่านเป็นเหมือนดิฉัน ท่านอาจคิดว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องเคอะเขิน แต่จำไว้ว่า นี่ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ สิ่งนี้เกี่ยวกับการหาอุปนิสัยหรือคุณลักษณะส่วนตัวที่ท่านมีเพื่อมอบให้พี่น้องร่วมโลก (ดู โมไซยาห์ 8:18)
ตัวอย่างเช่น เพื่อนบ้านใจดีคนหนึ่งเคยบอกดิฉันว่าดิฉันมีของประทานสำหรับช่วยให้ผู้อื่นอุ่นใจ แทนที่จะคิดว่าความคิดเห็นนั้นเป็นเพียงคำชมอย่างสุภาพ ดิฉันกลับเริ่มเฝ้าดูของประทานนั้นในชีวิต ขณะที่ดิฉันทำเช่นนั้น ดิฉันก็ตระหนักว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงสามารถช่วยให้ดิฉันใช้ทักษะทางสังคมเพื่อผูกมิตรกับผู้อื่นและเป็นพรแก่ชีวิตผู้อื่นมากกว่าชีวิตของดิฉันเอง
ท่านสามารถตั้งใจเลือกใช้ของประทานเพื่อเป็นพรแก่ผู้อื่นด้วยการตระหนักถึงของประทานของท่าน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:18)
ศึกษาปิตุพรของท่าน
ปิตุพรยังเป็นแหล่งที่ดีสำหรับการได้เห็นของประทานที่ไม่เหมือนใครซึ่งพระเจ้าประทานให้ เอ็ลเดอร์แลร์รีย์ อาร์.ลอว์เร็นซ์ สมาชิกเกียรติคุณแห่งสาวกเจ็ดสิบกล่าวว่า “พระวิญญาณจะแสดงให้เราเห็นความอ่อนแอของเรา แต่พระองค์จะทรงสามารถแสดงให้เราเห็นความเข้มแข็งของเราด้วย … เมื่อเราอ่านปิตุพรของเรา เราจะจําได้ว่าพระบิดาบนสวรรค์ ทรงทราบศักยภาพแห่งสวรรค์ของเรา”3
การศึกษาปิตุพรช่วยให้ท่านมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาลักษณะที่สามารถช่วยให้ท่านบรรลุศักยภาพของท่านได้
ในกรณีของดิฉัน ดิฉันมักจะนึกประเภทของมารดาที่ดิฉันหวังว่าจะเป็นในสักวันหนึ่ง โดยที่ไม่รู้ตัว ดิฉันจมอยู่กับความคิดว่าการเป็นแม่ที่ดีต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีระเบียบ และสวย ขนมซินนามอนโรลของเธอจะต้องดีที่สุดในสมาคมสงเคราะห์วอร์ด แม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะดี แต่การศึกษาปิตุพรของดิฉันได้แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงประสงค์ให้ดิฉันเป็นแม่ที่ใจดีและมีจิตกุศล สำหรับดิฉันแล้ว คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์เหล่านั้นเป็นลักษณะที่ดิฉันควรกระตือรือร้นพัฒนามากที่สุด
จดจำและไตร่ตรองในช่วงศีลระลึก
ศีลระลึกเป็นช่วงเวลาที่ต้องนึกถึงพระผู้ช่วยให้รอด ทั้งยังเป็นเวลาไตร่ตรองถึงความก้าวหน้าของท่านในการเป็นเหมือนพระองค์ด้วย ขณะที่ท่านพยายามค้นหาลักษณะที่ดีโดยธรรมชาติของท่าน การมองย้อนกลับไปในความสำเร็จ ประสบการณ์ และการพบปะทางสังคมของแต่ละสัปดาห์ สามารถช่วยให้ท่านเห็นช่วงเวลาที่ของประทานของท่านแสดงให้ประจักษ์
ประธานเฮนรี บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ขณะท่านสำรวจชีวิตตนระหว่างศาสนพิธีศีลระลึก ข้าพเจ้าหวังว่าความคิดท่านจะไม่เพียงจดจ่อกับสิ่งที่ท่านทำผิดแล้วเท่านั้น แต่จดจ่อกับสิ่งที่ท่านทำถูกด้วย—ชั่วขณะที่ท่านรู้สึกว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระผู้ช่วยให้รอดพอพระทัยท่าน ท่านอาจจะใช้เวลาสักครู่ระหว่างศีลระลึกทูลขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยให้ท่านเห็นสิ่งเหล่านี้”4
คำถามที่ท่านอาจถามตัวท่านเองหรือพระผู้เป็นเจ้าในช่วงศีลระลึกมีดังนี้
-
ในสัปดาห์นี้ฉันทำตามแบบอย่างของพระคริสต์อย่างไร?
-
ฉันรับใช้ใคร?
-
ในสัปดาห์นี้ฉันรู้สึกถึงพระวิญญาณเมื่อใด? เพราะเหตุใด?
-
คุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ข้อใดที่ฉันพยายามพัฒนา? ฉันทำได้แค่ไหนแล้ว?
-
มีอะไรในชีวิตที่ฉันควรสวดอ้อนวอนขอความช่วยเหลือบ้าง?
-
มีคนที่ฉันต้องให้อภัยหรือไม่?
-
ปัญหาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาใหญ่หรือเล็กที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงช่วยฉันในสัปดาห์นี้คืออะไร?
การไตร่ตรองคุณความดีของพระผู้เป็นเจ้าและประเมินชีวิตของดิฉันในช่วงรับศีลระลึกแทนที่จะมุ่งสนใจแต่ความล้มเหลวและข้อบกพร่องช่วยให้ฉันวางใจในพระองค์
ขยายการเรียกของท่าน
เราได้รับการเรียกด้วยเหตุผลบางอย่าง แม้ว่าเราจะไม่รู้เหตุผลในตอนแรกก็ตาม
ครั้งหนึ่งดิฉันได้รับเรียกเป็นฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ของวอร์ดผู้ใหญ่โสด ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้เริ่มรับใช้ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ดิฉันก็รู้สึกท้อแท้ ดิฉันไม่เห็นการเติบโตทางวิญญาณใดๆ ในผู้คนที่ดิฉันพยายามปฏิบัติศาสนกิจด้วยเลย ความพยายามของดิฉันในการไปเยี่ยมสอนและผูกมิตรดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ
ในวันอาทิตย์วันหนึ่ง ดิฉันรู้สึกเหมือนขาดของประทานฝ่ายวิญญาณที่จะช่วยให้ใครบางคนปฏิบัติศาสนกิจได้ดี การสวดอ้อนวอนของดิฉันในช่วงศีลระลึกวันนั้นคือขอให้รู้สึกมั่นใจว่าสามารถปฏิบัติศาสนกิจในการเรียกนี้ได้ ดิฉันรู้สึกประทับใจที่ได้ขอพรฐานะปุโรหิต
ดิฉันพบกับอธิการ และเมื่อเขาวางมือบนศีรษะของดิฉัน สิ่งแรกที่เขาพูดกับดิฉันคือ “พระบิดาบนสวรรค์ทรงซาบซึ้งในความกรุณาที่เธอแสดงต่อผู้อื่น”
พระวิญญาณแผ่ซ่านในตัวและดิฉันรู้สึกมั่นใจว่าพระเจ้าพอพระทัยในความพยายามของดิฉัน ดิฉันรู้สึกว่าดิฉัน มี ของประทานส่วนหนึ่งที่จำเป็นในการปฏิบัติศาสนกิจด้วยความรัก ดิฉันวัดผลความล้มเหลวแทนที่จะเป็นความสำเร็จ
การเรียกของท่านเป็นโอกาสที่ดีในการค้นหาและใช้ของประทานฝ่ายวิญญาณ
ท่านสามารถเริ่มได้เดี๋ยวนี้
เราไม่จำเป็นต้องรอเพื่อเริ่มต้นเผยสิ่งดีๆ ในตัวเราเอง
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า
“บางครั้งเรารู้สึกผิดหวังเพราะเราไม่มี ‘มากขึ้น’ ในบางสิ่ง—วิญญาณเข้มแข็งขึ้น น่าเคารพมากขึ้น ฉลาดขึ้น สุขภาพดีขึ้น รวยขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น หรือเก่งขึ้น …
“ข้าพเจ้าเรียนรู้จากชีวิตของข้าพเจ้าเองว่าเราไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใด ‘มากขึ้น’ จึงจะเริ่มเป็นคนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ให้เราเป็น”5
เราสามารถเริ่มจากการสวดอ้อนวอน ทูลพระบิดาบนสวรรค์ว่าตอนนี้ท่านรู้สึกอย่างไรและต้องการให้ตนเองรู้สึกอย่างไร ทูลขอของประทานแห่งการเล็งเห็นเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้ท่านเห็นความดีที่มีมาแต่กำเนิดของท่าน ช่วงเวลาที่หอมหวานที่สุดในชีวิตของดิฉันมาจากการกล่าวคำสวดอ้อนวอนเหล่านี้ ดิฉันเชื่อว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงกระตือรือร้นที่จะช่วยให้เราเห็นทุกสิ่งที่พระองค์ทรงเห็น
เนื่องจากอัตลักษณ์ของเราคือบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า เราถูกลิขิตมาเพื่อความยิ่งใหญ่ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 78:17) เรา สามารถ รู้สิ่งนั้นด้วยตัวเราเองโดยผ่านของประทานแห่งการเล็งเห็น