ดำเนินชีวิต“ราวกับว่า” สัญญาของพระผู้เป็นเจ้าสัมฤทธิผลแล้ว
วลีง่ายๆ ช่วยให้ดิฉันมองเห็นวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงรักษาสัญญาของพระองค์รวมถึงปิตุพรของดิฉัน แม้ว่าดิฉันจะยังไม่ได้ประสบกับสัญญาเหล่านั้นในตอนนี้
บ างครั้งการมีมุมมองนิรันดร์อาจรู้สึกเหมือนเป็นพร และ คำสาปได้ แม้ว่าดิฉันได้รับการปลอบโยนเมื่อรู้ว่าสิ่งต่างๆ จะเป็นไปด้วยดีในที่สุด แต่นิรันดรก็รู้สึกเหมือนต้องรอคอยนานมาก เอ็ลเดอร์นีล เอ. แม็กซ์เวลล์ (1926–2004) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์อยู่ในปัจจุบันอันเป็นนิรันดร์ ที่ซึ่งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ตลอดเวลา”1 คำสอนนี้ทำให้ดิฉันคิดว่าพระผู้เป็นเจ้าไม่เพียงทรงเห็นว่าดิฉันกำลังรอสัญญาอยู่ในตอนนี้ แต่ยังเห็นผลของการเกิดสัมฤทธิผลของสัญญาเหล่านั้นในนิรันดรด้วย แม้ดิฉันไม่มีสามีหรือลูกบนโลกนี้ในปัจจุบัน แต่พระองค์ทรงมองดิฉันเป็นภรรยาและแม่ แม้ดิฉันแสดงความอ่อนแอและเปราะบางของมนุษย์ในแต่ละวัน แต่พระองค์ทรงเห็นว่าดิฉันเป็นสัตภาวะที่ได้รับรัศมีภาพและดีพร้อม และเพราะว่าพระองค์ทรงเห็นดิฉันในบทบาทนิรันดร์เหล่านั้น ดิฉันจึงสามารถมองไปข้างหน้าและดำเนินชีวิต “ราวกับ” (เจรอม 1:11) สิ่งเหล่านั้นได้บังเกิดขึ้นแล้ว
การมีชีวิต “ราวกับ” นั้นต้องมีความเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระผู้รักษาสัญญา ขณะที่ “ผู้รักษาสัญญา” ไม่ใช่วลีจากพระคัมภีร์ แต่ก็กลายเป็นหนึ่งในคำอธิบายที่ดิฉันชื่นชอบเกี่ยวกับพระองค์ พระคัมภีร์เป็นหนังสือแห่งคำสัญญา พระวิหารอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์คือพระนิเวศน์แห่งสัญญา พันธสัญญาของดิฉันกับพระองค์คือสัญญาส่วนตัวของดิฉัน งานของพระองค์เป็นงานแห่งคำสัญญา และพระองค์ทรงเป็นผู้รักษาสัญญาที่พร้อมเทพรลงมาบนผู้คนของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 109:21) พระองค์ทรงระลึกถึงราเชล ทรงปลดปล่อยเดวิด ทรงเลี้ยงอาหารสตรีแห่งศาเรฟัท ทรงนำทางลูกหลานอิสราเอลไปยังดินแดนแห่งคำสัญญาและทรงเริ่มต้นฟื้นฟูพระกิตติคุณของพระองค์ที่สัญญาไว้เป็นเวลานาน และที่สำคัญที่สุดคือ พระองค์ทรงส่งพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์เพื่อทรง “ทำให้เกิดความเป็นอมตะและชีวิตนิรันดร์ของมนุษย์”(โมเสส 1:39) แท้จริงแล้ว ตลอดพระคัมภีร์ “พระเจ้าได้ทรงเปิดเผยพระองค์เองและพระอุปนิสัยอันสมบูรณ์แบบของพระองค์… เพื่อทำให้ความนึกคิดของมนุษย์มั่นใจในพระองค์โดยไม่ต้องสงวนท่าที” (Bible Dictionary, “Faith”)
เพราะพระผู้เป็นเจ้าคือพระผู้เป็นเจ้าแห่งสัญญา จึงเป็นเรื่องยากสำหรับดิฉันที่จะทำความเข้าใจว่าเหตุใดสัญญาบางประการจึงยังไม่เกิดสัมฤทธิผลในชีวิตของดิฉัน ดิฉันรู้จักคนอื่นๆ ที่รู้สึกคล้ายกันเมื่อทบทวนปิตุพรของตน หรือพิจารณาพรฐานะปุโรหิตอื่นๆ และการกระตุ้นเตือนจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ แล้วเราจะดำเนินชีวิต “ราวกับ” สัญญาเหล่านั้นเกิดสัมฤทธิผลแล้วได้อย่างไร? ดิฉันอยากจะแบ่งปันแนวคิดสามประการดังนี้
1. พิจารณาถึงความหลากหลายของสัญญา
หนึ่งในกุญแจในการเชื่อว่าพระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นพระผู้รักษาสัญญาคือ การตระหนักถึงความหลากหลายของสัญญาที่พระองค์ทรงให้ไว้กับเรา สัญญาบางประการอาจดูเหมือนว่าน่าตื่นเต้นหรือมีความสำคัญมากกว่าสัญญาอื่น และมักเป็นสัญญาที่เราปักใจไว้ แม้เราตระหนักว่าสัญญาหลายประการเหล่านี้จะไม่บรรลุในชีวิตนี้ แต่เราหวังว่าจะได้รับบางส่วนของสัญญาในความเป็นมรรตัยและดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์เพื่อสักวันหนึ่งจะได้รับสัมฤทธิผลของสัญญาเหล่านั้น ตัวอย่างเช่นเราตั้งตาคอยการได้รับ “การฟื้นคืนชีวิต … มีแก่มนุษย์ทั้งปวง” (2 นีไฟ 9:22) ปีติของการนำ “จิตวิญญาณเดียวมาหา [พระองค์]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 18:15) การปลดปล่อยจาก “หนามในเนื้อ” (2 โครินธ์ 12:7) การแต่งงานและครอบครัวนิรันดร์ และท้ายที่สุดคือความสูงส่งและการกลายเป็นเหมือนพระบิดาพระมารดาบนสวรรค์ของเรา2
สัญญาอื่นๆ อาจเป็นสัญญาเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่าย และบางครั้งอาจถูกมองข้าม สัญญาเหล่านี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะค้นหาปีติในความเป็นมรรตัย และรวมถึงสิ่งต่างๆ อย่างการมี “พระวิญญาณ [ของพระคริสต์] อยู่กับ [พวกเรา]” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77) การรู้ว่า “การมีพระคุณของ [พระองค์] ก็เพียงพอ” (2 โครินธ์ 12:9) การประสบกับ “สันติสุขในโลกนี้” หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:23) และการ “มีความสุขได้ภายใต้สภาวการณ์ทุกรูปแบบ”3 พระคริสต์ทรงสัญญาว่า “เราจะไม่ละทิ้งท่านทั้งหลายไว้ให้เปล่าเปลี่ยว เราจะมาหาท่าน” (ยอห์น 14:18)
สัญญาของพระองค์ไม่มีที่สิ้นสุดเช่นเดียวกับพลังอำนาจและความรักของพระองค์ ขณะที่เราใช้เวลาในการรับรู้ถึงสิ่งที่พระองค์ทรงสัญญาไว้อย่างเต็มที่มากขึ้น เราสามารถเพิ่มโอกาสที่เราจะได้เห็นการเกิดสัมฤทธิผลของสัญญาของพระองค์ได้มากขึ้น ดังนั้นให้วางใจพระองค์มากขึ้นในฐานะพระผู้รักษาสัญญา
2. จำพระหัตถ์ของพระองค์ได้
ดิฉันคิดว่ามีหลายครั้งในชีวิตที่ดิฉันให้ความสนใจกับสัญญาที่ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากกว่าหรือสัญญาที่เฉพาะเจาะจงที่ดิฉันหวังไว้ จนทำให้ดิฉันพลาดสิ่งที่พระเจ้าทรงทำให้ดิฉันในปัจจุบัน เรามักหาหลักฐานของสิ่งที่เรากำลังมองหา หากเรามองหาการเกิดสัมฤทธิผล เราจะได้เห็นการอยู่เป็นเพื่อนของพระเจ้าในวันเวลาของเรา เราจะเห็นประตูที่พระองค์ทรงเปิดไว้ให้เรา เราจะเห็น “การรับรอง” (แอลมา 58:11) ที่พระองค์ทรงส่งมาให้เรา
วิธีหนึ่งที่ดิฉันเรียนรู้ในการเห็นความเป็นเพื่อนของพระองค์มาจากประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุด ท่านสอนเกี่ยวกับการจดบันทึกประจำวันว่าเราได้เห็นพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงยื่นออกมาอวยพรเราในแต่ละวันอย่างไร4 การใคร่ครวญและการบันทึกทุกวันอาจทำให้ดิฉันเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าหนึ่งสิ่ง ด้วยการทำเช่นนี้ ดิฉันเริ่มเห็นว่าพระเจ้าทรงดำเนินอยู่กับดิฉันทุกวันและทรงทำให้สัญญาเกิดสัมฤทธิผลมากกว่าที่ดิฉันจะจินตนาการได้
เราอาศัยอยู่ในโลกที่หลายๆ คนให้ความสนใจกับ สิ่งที่ขาด ในชีวิตของตน พวกเราหลายคนเริ่มวันใหม่ด้วยความคิดที่ว่าเรายังไม่ดีพอและสิ้นสุดวันด้วยความรู้สึกว่าเราบกพร่อง เราอาจรู้สึกว่าเรามีเวลา เงิน พลังงาน ความกล้าหาญ ความหวัง ศรัทธา และสิ่งอื่นๆ ไม่พอ มุมมองเช่นนี้ทำให้ยากที่จะเห็นการเกิดสัมฤทธิผลของสัญญาใดๆ
เพลงสวด “As Now We Take the Sacrament” เขียนไว้ว่า “เราใคร่ครวญพระคุณอันยั่งยืน จิตกุศลอันไร้ขอบเขตของพระองค์”5 หลายปีมาแล้วที่การเตรียมตัวของดิฉันสำหรับศีลระลึกมุ่งเน้นไปที่ความผิดพลาดที่ดิฉันทำเมื่อสัปดาห์ก่อนๆ และ สิ่งที่ขาด ที่ดิฉันแสดงออกมา สิ่งเดียวที่ดิฉันมองเห็นคือความห่างไกลของดิฉันต่อการเป็นเหมือนพระคริสต์ หลังจากพระวิญญาณทรงสอนดิฉันด้วยเนื้อเพลงเหล่านี้ ดิฉันก็เริ่มมุ่งเน้นว่าดิฉันเห็น “พระคุณอันยั่งยืน” และ “จิตกุศลอันไร้ขอบเขต” ของพระองค์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างไร ขณะที่ดิฉันคิดทบทวน ดิฉันเห็นการเกิดสัมฤทธิผลของสัญญา ดิฉันเห็นว่า พระองค์ทรง มาอยู่กับดิฉัน พระองค์ทรง ปลอบโยน ให้กำลังใจ และทำให้ดิฉันเข้มแข็ง พระองค์ทรง รักษาสัญญาของพระองค์
3. ช่วยพระองค์รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับผู้อื่น
คริสต์มาสเมื่อสองปีก่อน ดิฉันมีประสบการณ์มากมายที่ทำให้ดิฉันเข้าใจอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงความปรารถนาที่พระองค์จะทรงทำให้สัญญาที่มีต่อบุตรธิดาของพระองค์เกิดสัมฤทธิผล แทนที่จะต้องทนทุกข์กับเทศกาลวันหยุดอันเดียวดายอีกครั้ง ดิฉันตัดสินใจว่าจะพยายามเป็นเครื่องมือของพระองค์ในทุกวิถีทางที่พระองค์ทรงต้องการให้ดิฉันเป็น ดังนั้นในแต่ละวันดิฉันจึงถามพระองค์ว่ามีใครที่ต้องการรู้สึกถึงความรักของพระองค์ในวันนั้น และดิฉันจะแบ่งปันความรักนั้นแทนพระองค์ได้ดีที่สุดอย่างไร โดยผ่านพระวิญญาณบริสุทธิ์ ดิฉันเห็นสิ่งอัศจรรย์และรู้สึกถึงปีติที่ได้เป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์ในการทำให้สัญญาเล็กๆ น้อยๆ และเรียบง่ายบางอย่างเกิดสัมฤทธิผล ดิฉันจะสวดอ้อนวอนต่อไปทุกวันเพื่อเป็นเครื่องมือนั้นให้แก่พระองค์
เมื่อเราเลือกที่จะวางใจพระผู้เป็นเจ้าและดำเนินชีวิต “ราวกับ” สัญญาเกิดสัมฤทธิผลแล้ว เราจะพบความเข้มแข็งที่จะลุกออกจากเตียง ดำเนินชีวิตอย่างมีศรัทธา และรอคอยอย่างอดทนแม้จะรู้สึกว่าทำได้ยาก เหมือนกับซาราห์ เราเลือกที่จะ “[ตัดสินว่า] พระองค์ผู้ทรงสัญญานั้นซื่อสัตย์” (ฮีบรู 11:11) เหมือนกับอับราฮัม เราแสวงหาที่จะ “ไม่ได้ [หวั่นไหวแคลงใจ] ในพระสัญญาของพระเจ้า” (โรม 4:20) ขณะที่ “แม้ดูว่าจะหมดหวังแล้ว แต่ [ยังคง] เชื่อ” (โรม 4:18)
การดำเนินชีวิตอย่าง “ราวกับ” อาจดูไม่เหมือนกันสำหรับแต่ละคน สำหรับดิฉันหมายความว่า ดิฉันจะกลับใจอย่างรวดเร็วและเป็นประจำ และวางใจว่าความพยายามของดิฉันกำลังช่วยให้ดิฉันกลายเป็นเหมือนพระองค์ ดิฉันรักษาพันธสัญญาที่ดิฉันทำไว้แล้ว โดยทราบว่าการเลือกที่ดิฉันทำตอนนี้จะเป็นพรให้สามีและครอบครัวของดิฉัน ดิฉันร้องขอความเข้มแข็ง “ไม่ใช่… ชะงักอยู่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:18) จากความเดียวดาย และดิฉันมองหาโอกาสในการหนุนใจผู้อื่น ดิฉันสร้างบ้านในตอนนี้ที่ดิฉันจะรู้สึกดีกับการเลี้ยงดูลูกๆ
การวางใจในสัญญาของพระองค์ไม่ใช่ทางเลือกที่ง่ายเสมอไป การรอคอยพระเจ้าต้องอาศัยศรัทธาในพระเยซูคริสต์ซึ่งบางครั้งอาจรู้สึกมากเกินกว่าที่เราจะรับไหว แต่แอลมาเป็นพยานว่า “เพราะพระองค์จะทรงทำตามสัญญาของพระองค์ทั้งหมดซึ่งพระองค์จะทรงทำกับลูก, เพราะพระองค์ทรงทำตามสัญญาของพระองค์ซึ่งทรงทำกับบรรพบุรุษเรามาแล้ว” (แอลมา 37:17) สัญญาของพระผู้เป็นเจ้านั้นแน่นอน ดิฉันทราบดีว่าพระผู้ช่วยให้รอดจะประทานความช่วยเหลือและการสนับสนุนใดๆ ก็ตามที่เราต้องการ เมื่อเราพยายามรู้จักและวางใจพระบิดาบนสวรรค์ของเรา ผู้จะทรงพิสูจน์ “พระวจนะของพระองค์… ในทุกสิ่ง” (แอลมา 25:17) เพราะในความเป็นจริง “ไม่มีพระเจ้าองค์ไหนเหมือนพระองค์ ในฟ้าสวรรค์เบื้องบน หรือที่แผ่นดินเบื้องล่าง ผู้ทรงรักษาพันธสัญญา และสำแดงความรักมั่นคงแก่ผู้รับใช้ของพระองค์ ผู้ดำเนินอยู่เฉพาะพระพักตร์พระองค์ด้วยสุดใจ” (1 พงศ์กษัตริย์ 8:23)