2022
ความสุภาพเรียบร้อย: เป็นมากกว่าเรื่องเสื้อผ้า
มิถุนายน 2022


คนหนุ่มสาว

ความสุภาพเรียบร้อย: เป็นมากกว่าเรื่องเสื้อผ้า

มีหลายอย่างให้เน้นเรื่องความสุภาพเรียบร้อยภายนอก แล้วความสุภาพเรียบร้อยภายในเล่า?

โปรไฟล์ของเยาวชนหญิงคนหนึ่ง

พวกเราหลายคนโตมากับการเรียนรู้เรื่องความสุภาพเรียบร้อยในโบสถ์ และเห็นชัดว่าทำไม—ความสุภาพเรียบร้อยจึงเป็นหลักธรรมสำคัญของพระกิตติคุณที่สามารถช่วยเราควบคุมความคิดและการกระทำของเรา รวมถึงการนำเสนอตนเองด้วย ในการเรียนรู้วิธีนำหลักธรรมพระกิตติคุณข้อนี้และข้อที่เกี่ยวข้องมาใช้ในชีวิตจะทำให้เราเป็นเหมือนพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นได้

ขณะโตเป็นผู้ใหญ่เราอาจได้รับการสอนว่าความสุภาพเรียบร้อยเกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น คำสอนเรื่องความสุภาพเรียบร้อยอาจเน้นแต่เรื่องเสื้อผ้าที่เปิดเผยร่างกายมากเกินไปหรือแง่มุมอื่นของการนำเสนอตนเองที่อาจจะสุดโต่ง เช่น การเจาะร่างกาย รอยสัก ทรงผม หรือการแต่งกายทั่วไป แต่ความสุภาพเรียบร้อยไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าหรือสิ่งที่เห็นภายนอกเท่านั้น—รวมถึงสิ่งที่อยู่ภายในด้วย

ความสุภาพเรียบร้อยมีนิยามว่า “เจตคติของความอ่อนน้อมถ่อมตนและความเหมาะสม ในเครื่องแต่งกาย บุคลิกภาพภายนอก ภาษา และความประพฤติ ถ้าท่านสุภาพเรียบร้อย ท่านจะไม่ดึงความสนใจมาที่ตนเองมากเกินไป แต่ท่านจะพยายาม ‘ถวาย​พระ‍เกียรติ​แด่​พระ‍เจ้า​ด้วย​ร่าง‍กาย​ของ​‍ท่าน’ (1 โครินธ์ 6:20; ดู ข้อ 19 ด้วย)”1

ถ้าเราเข้าใจและดำเนินชีวิตตามนิยามที่สมบูรณ์มากขึ้นนี้ โดยมีเจตคติของการพยายามถวายพระเกียรติแด่พระผู้เป็นเจ้า ความสุภาพเรียบร้อยจะกลายเป็นสิ่งที่เราใช้วัดการกระทำ ทั้งหมด ของเราได้—ไม่ใช่แค่สิ่งที่เราเลือกสวมใส่

คำมั่นสัญญาภายในเรา

ภาพโปรไฟล์ของหลายๆ คน

ซิสเตอร์อีเลน เอส. ดัลตัน อดีตประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่า “ความสุภาพเรียบร้อยครอบคลุมมากยิ่งกว่ารูปลักษณ์ภายนอก เป็นสภาพของใจ เป็นการแสดงออกภายนอกของความรู้และคำมั่นสัญญาภายใน เป็นการแสดงให้เห็นว่าเราเข้าใจอัตลักษณ์ของเราในฐานะ [บุตรธิดา] ของพระผู้เป็นเจ้า เป็นการแสดงให้เห็นว่าเรารู้ว่าพระเจ้าทรงคาดหวังให้เราทำอะไร เป็นการประกาศการรักษาพันธสัญญาของเรา”2

ดังนั้นถ้าการแต่งกายสุภาพเรียบร้อยเป็นภาพสะท้อนภายนอกของคำมั่นสัญญาภายในว่าจะดำเนินชีวิตอย่างสุภาพเรียบร้อย แล้วเราจะพัฒนาคำมั่นสัญญาภายในอย่างไร?

หนึ่ง เราสามารถทำให้ตนเองเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าเราเป็นใคร พันธสัญญาของเรามีความหมายอะไรต่อเรา และความศักดิ์สิทธิ์ของร่างกายเรา และเราจะไม่ลืมเหตุผลจริงๆ ของการเลือกแต่งกายสุภาพเรียบร้อยได้ ความสุภาพเรียบร้อยเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตตามแบบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงต้องการ

เราอาจจะเริ่มโดยถามตนเองว่า “ฉันจะรู้สึกสบายใจกับรูปลักษณ์ภายนอกของฉันหรือไม่ถ้าฉันอยู่ในที่ประทับของพระเจ้า?” เราสามารถพิจารณาสิ่งต่างๆ เช่นภาษาพูดและพฤติกรรมของเราในทำนองเดียวกันได้: “ท่านอาจจะถามตัวท่านเองว่า … ‘ฉันจะพูดจาแบบนี้หรือเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ไหมถ้าพระเจ้าทรงอยู่ที่นั่น?’ คำตอบที่ซื่อสัตย์ของท่านต่อคำถามเหล่านี้จะนำท่านให้ทำการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในชีวิตท่าน”3

ซิสเตอร์แคโรล เอฟ. แมคคองกี อดีตที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานเยาวชนหญิงสามัญสอนว่า

“ความสุภาพเรียบร้อยในเครื่องแต่งกาย รูปลักษณ์ภายนอก ความคิด และความประพฤติเป็นพยานส่วนตัวต่อพระเจ้าว่าเราถวายเกียรติพระองค์และว่าเรา ‘เบิกบาน’ ในพันธสัญญาที่เราทำไว้ในศาสนพิธีฐานะปุโรหิตอันศักดิ์สิทธิ์ …

“การเลือกประจำวันที่เราทำเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ คำที่เราพูด ความคิดที่เราคิด ภาพที่เราดู เพลงที่เรายอมให้เข้ามาในบ้านเรา และสื่อที่เราอนุญาตให้เข้ามาในความนึกคิดและใจเรา และความประพฤติในที่สาธารณะและที่รโหฐาน—ทั้งหมดนั้น—สะท้อนว่าเราให้เกียรติพันธสัญญานั้นดีเพียงใด”4

เราอาจจะจดจ่อที่แง่มุมหนึ่งของความสุภาพเรียบร้อยมากไปจนเราไม่พิจารณาด้วยซ้ำว่าเราไม่สุภาพเรียบร้อยในด้านอื่นหรือไม่ นอกจากการแต่งกายแล้ว เรากำลังดู อ่าน ฟัง หรือพูดและขบขันเกี่ยวกับอะไรกับเพื่อนๆ ของเรา? ท่านอาจจะสุภาพเรียบร้อยภายนอกแต่ยังไม่สุภาพเรียบร้อยภายใน

มีพฤติกรรมมากมายที่เราอาจไม่ตระหนักว่าไม่สอดคล้องกับหลักธรรมเรื่องความสุภาพเรียบร้อย รวมถึงการซุบซิบนินทา ตัดสินหรือกีดกันคนอื่น หยิ่งยโสหรืออวดดี สบถหรือใช้คำพูดหยาบคาย ทำตัวหยาบหรือไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ และอิจฉาริษยา ลักษณะนิสัยและพฤติกรรมเหล่านี้ละเมิดพระบัญญัติที่ไม่ใช่ความสุภาพเรียบร้อย เช่น พระบัญญัติให้รักเพื่อนบ้านและเลิกตัดสิน แต่แสดงให้เห็นเช่นกันว่าเราขาดความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนโยน และความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า—ซึ่งทั้งหมดนี้เชื่อมโยงกับความสุภาพเรียบร้อย

ความสุภาพเรียบร้อยภายในอาจจะเป็นความคิดใหม่สำหรับเรา แต่เราสามารถเปลี่ยนกรอบความคิดได้และเริ่มมองจุดประสงค์เบื้องหลังที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงขอให้เราสุภาพเรียบร้อยในทุกเรื่อง พระองค์ทรงต้องการให้เรามุ่งเน้นสิ่งที่เราทำได้เพื่อเติบโตทางวิญญาณ รับใช้ผู้อื่น แสดงน้ำใจ และมีความคิดที่บริสุทธิ์ พระองค์ทรงต้องการให้เราใช้ร่างกายไม่ใช่เป็นเครื่องประดับแต่เป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระองค์แทน5

วิธีที่เราสอนเรื่องความสุภาพเรียบร้อย

เมื่อเข้าใจถ่องแท้มากขึ้นว่าความสุภาพเรียบร้อยเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง เราย่อมสอนหลักธรรมนี้ให้ผู้อื่นได้ดีขึ้น

เราสามารถสอนได้ว่าความสุภาพเรียบร้อยเกี่ยวข้องกับคำมั่นสัญญาภายในต่อพระเยซูคริสต์และช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจวิธีพัฒนาคำมั่นสัญญาเช่นนั้น

เราสามารถอธิบายได้ว่าความสุภาพเรียบร้อยไม่ควรทำให้เรารู้สึกอับอายเกี่ยวกับร่างกายเรา ความสุภาพเรียบร้อยไม่เกี่ยวกับการปกปิดร่างกายเพราะร่างกายเราไม่ดีแต่กำเนิด—แต่ที่จริงแล้วตรงกันข้าม เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลส์ (1932–2017) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “เมื่อเรารับรู้ว่าร่างกายเราเป็นของประทานและเมื่อเราเข้าใจพันธกิจที่ร่างกายช่วยให้เราบรรลุ เราย่อมปกป้องและให้เกียรติร่างกายด้วยการกระทำและการแต่งกายของเรา”6

เราสามารถทำให้แน่ใจได้ว่าเราสอนเรื่องความสุภาพเรียบร้อยอย่างเท่าเทียมกันทั้งกับเด็กชายและเด็กหญิง ชายและหญิง และเราสามารถแบ่งปันความจริงได้ว่าเราเป็นผู้มีสิทธิ์เสรี “ที่จะกระทำ … และมิถูกกระทำ” (2 นีไฟ 2:26)—ฉะนั้นเมื่อเราแวดล้อมไปด้วยความสุภาพเรียบร้อยของโลก เราย่อมมีพลังควบคุมตนเองและไม่ใส่ใจกับความคิดที่ไม่เหมาะสม แต่เราสามารถมีความสงสารคนอื่นๆ และทำสุดความสามารถได้ด้วยเพื่อช่วยกันรักษาความคิดและการกระทำให้อยู่ในแนวเดียวกับที่พระผู้เป็นเจ้าทรงขอจากเรา

สุดท้าย เราสามารถสอนได้ว่าไม่ควรใช้ความสุภาพเรียบร้อยเป็นเครื่องมือตัดสินผู้อื่น เราควรให้ความสำคัญกับการรัก ต้อนรับ และยอมรับผู้อื่นมากกว่าการทำให้คนบางคนรู้สึกแย่กับการแต่งกายของพวกเขา เมื่อเราให้ความสำคัญอันดับแรกกับการช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจคุณค่าและอัตลักษณ์อันสูงส่งของพวกเขา พวกเขาจะเริ่มปฏิบัติหลักธรรมเรื่องความสุภาพเรียบร้อยในชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ—ทั้งภายในและภายนอก

การสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า

เมื่อเรามุ่งเน้นการเป็นคนสุภาพเรียบร้อย ภายใน เราจะสามารถรู้สึกถึงอิทธิพลของพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตเราได้ดีขึ้น เอ็ลเดอร์เฮลส์สอนว่า “สุภาพเรียบร้อยคืออ่อนน้อมถ่อมตน และการเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนอัญเชิญพระวิญญาณให้อยู่กับเรา”7 พระวิญญาณจะทรงนำทางเราให้รู้ว่าต้องสวมใส่อะไร พูดอะไร และทำอะไรเพื่อสุภาพเรียบร้อยอยู่เสมอในทุกๆ ด้าน

พระคัมภีร์สอนเราว่าเรา “เป็นพงศ์พันธุ์ที่ทรงเลือกสรร เป็นพวกปุโรหิตหลวง เป็นประชาชาติบริสุทธิ์ เป็นชนชาติบริสุทธิ์ เป็นประชากรอันเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้า เพื่อให้ [เรา] ประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ ผู้ได้ทรงเรียก [เรา] ให้ออกมาจากความมืดเข้าไปสู่ความสว่างอันมหัศจรรย์ของพระองค์” (1 เปโตร 2:9) เราสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าในการกระทำและรูปลักษณ์ภายนอกที่สุภาพเรียบร้อยของเรา ความสุภาพเรียบร้อยไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเสื้อผ้าเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับการวางตัวให้สมกับงานที่เราได้รับเรียกให้ทำด้วย

แน่นอนว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีพร้อมของเราในความอ่อนโยนและความสุภาพเรียบร้อยในชีวิตทุกด้าน พระองค์ทรงชี้ไปทางพระบิดาเสมอในฐานะแหล่งพลังของพระองค์ ไม่ใช่พระองค์เอง พระองค์ทรงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าในทุกสิ่งที่ทรงทำและทุกสิ่งที่ทรงเป็น และ นั่นคือ ทั้งหมดเกี่ยวกับความสุภาพเรียบร้อย

อ้างอิง

  1. แน่วแน่ต่อศรัทธา : ศัพทานุกรมพระกิตติคุณ (2004), 125; เน้นตัวเอน.

  2. อีเลน เอส. ดัลตัน, “Arise and Shine Forth” (คำปราศรัยในการประชุมใหญ่ของสตรีมหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 30 เม.ย. 2004), 1, speeches.byu.edu.

  3. แน่วแน่ต่อศรัทธา, 125–126.

  4. แครอล เอฟ. แมคคองกี, ใน Marianne Holman Prescott, “Modesty Is a Witness of Our Covenants, Says Sister McConkie” (news story), June 2, 2015, ChurchofJesusChrist.org.

  5. ดู Lexie Kite and Lindsay Kite, “More Than a Body: Seeing as God Sees,” New Era, Aug. 2019, 8–11.

  6. โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ความสุภาพเรียบร้อย: ความยำเกรงพระเจ้า,” เลียโฮนา, ส.ค. 2008, 18.

  7. โรเบิร์ต ดี. เฮลส์, “ความสุภาพเรียบร้อย,” 18.