2022
เรียนรู้จากรูปแบบสภาของพระผู้เป็นเจ้า
มิถุนายน 2022


“เรียนรู้จากรูปแบบสภาของพระผู้เป็นเจ้า,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2022

เรียนรู้จากรูปแบบ สภาของพระผู้เป็นเจ้า

เจ็ดวิธีทำให้สภาส่วนตัว สภาครอบครัว และสภาศาสนจักรมีความหมายมากขึ้น

การประชุมของผู้นำศาสนจักรและลูกจ้างศาสนจักรในสภาบริหารผู้สอนศาสนา

เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ (นั่งอยู่หัวโต๊ะ) ดำเนินการประชุมกับผู้นำศาสนจักรและลูกจ้างศาสนจักรในสภาบริหารผู้สอนศาสนา

ภาพถ่าย โดย เจฟฟรีย์ ดี. ออลเรด, Deseret News

นับจากกาลเริ่มต้นพระผู้เป็นเจ้าทรงงานผ่านสภา มีสิ่งต่างๆ มากมายที่เราสามารถเรียนรู้ได้เกี่ยวกับความสำคัญของสภาและการปรึกษาหารือกันจากประสบการณ์ของเราก่อนมาแผ่นดินโลก

“เราอ่านเรื่องสภาจริงๆ สภาแรกนั้นในพระคัมภีร์ไข่มุกอันล้ำค่า” ประธานเอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด รักษาการประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวขณะพูดถึงสภาใหญ่ในสวรรค์ ในสภาครอบครัวดังกล่าวพระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนอแผนเพื่อความก้าวหน้าของลูกๆ พระองค์—แผนบรรลุได้ผ่านความเต็มพระทัยเสียสละของพระเยซูคริสต์ผู้ทรงพระนามว่าพระเยโฮวาห์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงเป็นประธานสภาด้วยความรัก ทรงส่งเสริมให้แสดงออกโดยเสรี และเคารพของประทานแห่งสิทธิ์เสรี1

ระหว่างการสร้างฟ้าสวรรค์และแผ่นดินโลกหลังจากนั้น พระบิดาบนสวรรค์ทรงแสดงให้เห็นรูปแบบการปรึกษาหารือในสภา ทรงสอน ทรงมอบหมายงานและให้รายงานผล พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงปกครองครอบครัวของพระผู้เป็นเจ้าและศาสนจักรผ่านสภาเรื่อยมา

รูปแบบอันสูงส่งนี้ของการปรึกษาหารือ “สำคัญยิ่ง” ทุกระดับ ประธานบัลลาร์ดกล่าว ในศาสนจักร นี่รวมถึงสภาระดับสามัญ ระดับสเตค และระดับวอร์ด

รูปแบบสำหรับบุคคลและครอบครัว

ครอบครัวพูดคุยกัน

รูปแบบนี้เป็นแนวทางให้กับบุคคลและครอบครัวเช่นกัน ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “หลักธรรมของการปรึกษาหารือไม่สำคัญในที่ใดมากไปกว่าในความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและในความสัมพันธ์ฉันพ่อแม่ลูก—หรือใครก็ตามที่อาจอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่”

ประธานบัลลาร์ดเรียกสภาครอบครัวว่าเป็น “สภาพื้นฐานที่สุด—และน่าจะสำคัญที่สุด—ในบรรดาสภาทั้งหมด”2 เมื่อพ่อคนหนึ่งนั่งอยู่กับลูกชายวัยรุ่น ประธานบัลลาร์ดกล่าว นี่ไม่ใช่แค่การพบกันระหว่างพ่อกับลูกชาย “เขาอยู่ในการประชุมสภากับสมาชิกล้ำค่าที่สุดที่เขาจะปรึกษาหารือด้วยได้”

เราทุกคนสามารถนำหลักธรรมของสภาที่ดีมาใช้ในชีวิตเราโดยขอให้บิดามารดา ผู้นำศาสนจักร ครูพี่เลี้ยง และคนอื่นๆ ปรึกษาหารือกับเราเวลาใดก็ได้ รวมทั้งเมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ หรือต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ

“คนโสดและแม้แต่นักศึกษาที่อยู่ไกลบ้านก็สามารถทำตามรูปแบบสภาของพระเจ้าได้โดยรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และเพื่อนร่วมห้องเพื่อปรึกษาหารือกัน” ประธานบัลลาร์ดกล่าว3

แม้แต่คนที่อาศัยอยู่คนเดียวก็สามารถปรึกษาหารือในสภาโดยประชุมกับพระเจ้าผ่านการสวดอ้อนวอน พวกเขาสามารถแสดงความรักและความสำนึกคุณ ทูลขอการดลใจและการนำทางขณะพวกเขาฟังการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ ท่านกล่าว4

ไม่ว่าสภาแบบใด “พลังของสภาส่วนใหญ่มาจากศรัทธาของคนที่อยู่ในสภา” ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าว

หลักธรรมของสภาที่มีประสิทธิภาพ

ต่อไปนี้เป็นหลักธรรมบางข้อจากผู้นำศาสนจักรที่สามารถเป็นพรแก่สภาสเตค สภาวอร์ด และสภาครอบครัว

รู้จุดประสงค์ของท่าน

การประชุมสภาไม่ใช่การบอกทุกคนว่าต้องทำอะไร ประธานบัลลาร์ดกล่าว การประชุมสภาไม่ใช่การขอให้ทุกคนรายงาน การประชุมสภาเป็นเวลาที่อธิการพูดว่า ตัวอย่างเช่น “เรามีปัญหาเรื่องความคารวะในวอร์ด เรามาคุยกันว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง?” การประชุมสภาเป็นโอกาสให้มารวมกันเพื่อทำความเข้าใจและเป็นหนึ่งเดียวกันโดยมีจุดประสงค์ร่วมกัน

ในสภาใหญ่ในสวรรค์ พระบิดาบนสวรรค์ทรงเสนอแผนเพื่อช่วยให้ลูกๆ ของพระองค์เป็นเหมือนพระองค์และให้เราเข้าใจแผน (ดู อับราฮัม 3:22–28) เหมือนสภาใหญ่ในสวรรค์ จุดประสงค์เบื้องต้นประการหนึ่งของสภาครอบครัวหรือสภาศาสนจักรคือ “เพื่อนำจิตวิญญาณมาหาพระคริสต์” ประธานบัลลาร์ดกล่าว “เพื่อช่วยเตรียมพวกเขาให้พร้อมรับศาสนพิธีและพันธสัญญาที่จำเป็นต่อความรอดนิรันดร์”

ให้พระเยซูคริสต์เป็นศูนย์กลางเสมอ

เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นศูนย์กลางสภาใหญ่ในสวรรค์ พระเยซูคริสต์ควรเป็นศูนย์กลางสภาแต่ละสภาของเรา “ไม่ใช่อัตตาของเราหรือความคิดของเราเอง” เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว

เพื่อให้จดจ่ออยู่ที่พระผู้ช่วยให้รอดเสมอ สภาอาจจะถามว่า “พระองค์ทรงต้องการให้เราทำอะไร?” เราจะทำให้บรรลุจุดประสงค์ของพระองค์ได้อย่างไร?”

ประธานคามิลล์ เอ็น. จอห์นสัน ประธานปฐมวัยสามัญ กล่าวว่าเราไม่ได้จัดสภาเพื่อจุดประสงค์ด้านบริหารหรือการวางแผนเท่านั้น “นี่คือการปฏิบัติศาสนกิจต่อคนหนึ่งคน และเป็นหนทางที่เราจะรู้วิธีทำเช่นนั้นทั่วโลกคือโดยการทูลเชิญพระผู้ช่วยให้รอดเข้ามาในกระบวนการและรับรู้ถึงพระวิญญาณ”

อัญเชิญพระวิญญาณโดยการเตรียมตัว

สมาชิกสภาจะทบทวนข้อมูลภูมิหลังก่อนมาสนทนาหัวข้อหนึ่ง เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุกแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำ “รู้บริบทของหัวข้อนั้น” ท่านกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นบริบททางประวัติศาสตร์หรือหลักคำสอน หรือข้อสังเกตจากประสบการณ์ส่วนตัว การปรึกษาหารือในครอบครัวเกี่ยวกับวิธีปรับปรุงการถือปฏิบัติวันสะบาโต ยกตัวอย่าง อาจจะอ่านพระคัมภีร์ที่เกี่ยวข้องหรือคำพูดการประชุมใหญ่สามัญ

ข้อมูลที่ดีทำให้เกิดการดลใจได้ เอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟกล่าว “ท่านต้องรวบรวมข้อมูล แล้วท่านจะอยู่ในฐานะพร้อมรับการเปิดเผยเมื่อท่านเชื่อมต่อกับพระวิญญาณ”

แน่ใจว่าฟังทุกเสียง

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “การเปิดเผยกระจายอยู่ทั่วไปในหมู่สมาชิกหลายๆ คนของสภา เมื่อนำประเด็นหนึ่งออกมาพิจารณา เราต้องการ ร้องขอ และรับฟังคำแนะนำจากทุกคน”

ไม่ว่าในสภาสามัญ สภาสเตค สภาวอร์ด หรือสภาครอบครัว สภาต้องการและควรเห็นค่าเสียงของสมาชิกแต่ละคน

เมื่อสามีภรรยาช่วยกันทำให้บุตรธิดามีเสียงในครอบครัว ยกตัวอย่าง พวกเขาจะเรียนรู้ว่า “บางครั้งการเปิดเผยผ่านมาทางเสียงของเด็กอายุแปดขวบ” ประธานบอนนี่ เอช. คอร์ดอน ประธานเยาวชนหญิงสามัญกล่าว

แสวงหามุมมองของผู้หญิง

สตรีคนหนึ่งพูดระหว่างการประชุมสภา

“เสียงของผู้หญิงทุกระดับ รวมทั้งที่บ้าน สำคัญอย่างยิ่ง” ประธานบัลลาร์ดกล่าว

ความก้าวหน้าเกิดขึ้นเมื่อหญิงชายเป็นหนึ่งเดียวกันและทำงานด้วยกัน ประธานจีน บี. บิงแฮมประธานสมาคมสงเคราะห์กล่าว เธอกล่าวกับสตรีที่สงสัยคุณค่าของตนในสภาว่า “เสียงของผู้หญิงอย่างท่านสำคัญ”

เอ็ลเดอร์คุกย้ำความคิดของประธานบิงแฮมดังนี้ “เราต้องเทียมแอกเท่าๆ กัน” ท่านยกตัวอย่างการ “เทียมแอกเท่าๆ กัน” ของฝ่ายประธานโควรัมเอ็ลเดอร์และฝ่ายประธานสมาคมสงเคราะห์ในหน้าที่รับผิดชอบของพวกเขาต่องานแห่งความรอดในวอร์ด การขอทัศนะของสตรีในสภาจะ “เป็นพรอย่างยิ่งต่องานแห่งความรอด” สืบไป ท่านกล่าว

ฟังเพื่อเรียนรู้

ขณะเชิญชวนให้ทุกเสียงแสดงความเห็น สมาชิกสภาควร “ฟังเพื่อเรียนรู้” ไม่ใช่แค่รอคิวพูด ประธานบิงแฮมกล่าว พลังของการปรึกษาหารือเกิดขึ้นในการเรียนรู้ว่า “ท่านสามารถฟังใครก็ได้ในสภานั้นและได้อะไรบางอย่าง”

ประธานคอร์ดอนกล่าวว่าเมื่อเก็บความคิดของตนเองไว้ก่อนแล้วตั้งใจฟังเพื่อเรียนรู้—จากผู้อื่นและจากพระเจ้า—“พระวิญญาณจะทรงเพิ่มดุลพินิจและความเข้าใจของเรา”

ตัวอย่างเช่น ในสภาของฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสอง ไม่มีใครพยายามยัดเยียดทัศนะของตน เอ็ลเดอร์เบดนาร์กล่าว แต่ลงมติด้วย “ความสุภาพ ความอ่อนโยน และโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์”

แสวงหาความเป็นเอกฉันท์ไม่ใช่การรอมชอม

ประธานบิงแฮมตั้งข้อสังเกตว่าในสภาวะแวดล้อมทางโลก การสนทนากลุ่มมักนำไปสู่การรอมชอม—ตกลงกันได้เมื่อแต่ละฝ่ายยินยอม

“นั่นไม่ใช่วิธีทำงานของสภาในศาสนจักร เราทำงานผ่านความเป็นเอกฉันท์” เธอกล่าว การบอกความคิดอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาส่งผลให้ “เราทำงานด้วยกันต่อไป โดยมองหาทางออกที่ดีที่สุดตามที่ค้นพบผ่านการเปิดเผยโดยพระวิญญาณ” เมื่อสมาชิกของสภาพยายามเป็นหนึ่งเดียวกันในการตัดสินใจอย่างหนึ่ง นั่นย่อมเชื้อเชิญเดชานุภาพของพระเจ้าให้ยืนยันการตัดสินใจนั้นและช่วยทำให้เกิดขึ้น (ดู มัทธิว 18:19; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:3; 107:27) เมื่อตัดสินใจแล้ว ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการเดินหน้าสนับสนุนการตัดสินใจนั้นนอกสภา

บางครั้งได้ความเป็นเอกฉันท์เร็วมาก และหลายครั้งอาจใช้เวลานานกว่านั้น ประธานจอห์นสันเตือน “จงอดทนกับกระบวนการเปิดเผย”

ผลลัพธ์ที่ดีกว่า

ประธานบัลลาร์ดกล่าวว่าคนที่เรียนรู้เพื่อให้คำปรึกษาอย่างมีประสิทธิภาพในสเตต วอร์ด และครอบครัวของพวกเขา—ตามรูปแบบที่พระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูทรงแสดงให้เราเห็น—จะ “ลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสมอ ลงเอยด้วยคำตอบที่ดีกว่าเสมอ จะลงเอยด้วยวิญญาณที่ดีกว่าเสมอ”