การลิ้มรสความสว่าง
ยามค่ำกับเอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์
การให้ข้อคิดทางวิญญาณคนหนุ่มสาวทั่วโลก • 3 พฤษภาคม 2015 • ซอลท์เลค แทเบอร์นาเคิล
พี่น้องทั้งหลาย ยินดีต้อนรับสู่การให้ข้อคิดทางวิญญาณสำหรับคนหนุ่มสาวทั่วโลก ขอต้อนรับเป็นพิเศษกับผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาจากเซมินารีในปีนี้—ความสำเร็จอันน่ายกย่องและหลักฐานแห่งศรัทธาและความรักของท่านต่อพระเจ้า ข้าพเจ้าเชื้อเชิญท่านให้ทำตามแบบอย่างของผู้คนที่อยู่ที่นี่ค่ำคืนนี้และแสวงหาการเรียนรู้ทางวิญญาณของท่านต่อไปในสถาบันศาสนาท้องที่หรือที่มหาวิทยาลัยของศาสนจักร ข้าพเจ้าให้สัญญาว่าท่านจะได้รับการนำทางที่สำคัญต่อไปสำหรับการตัดสินใจที่สำคัญยิ่งทั้งหมดในชีวิตของท่าน เช่นเดียวกับการพบเจอผู้คนที่จะมีอิทธิพลที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตของท่าน
ค่ำคืนนี้ท่านจะได้รับฟังข้าพเจ้าแสดงประจักษ์พยานถึงพระเจ้าพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านจะได้ยินข้าพเจ้าใช้คำว่า “ข้าพเจ้ารู้” ข้าพเจ้าต้องการอธิบายให้ท่านรู้ว่าข้าพเจ้ารู้ได้อย่างไรว่าพระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ไถ่และพระผู้ช่วยให้รอดของโลกโดยแน่แท้ และว่าพระกิตติคุณของพระองค์เป็นความจริง
ข้าพเจ้าต้องการช่วยท่านค้นหาด้วยว่าประจักษ์พยานของท่านในพระเจ้าพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์เข้มแข็งมากกว่าที่ท่านคิด
ประจักษ์พยานของข้าพเจ้าอยู่ที่ใดในสเปกตรัมของศรัทธา
ข้าพเจ้าอยากเริ่มด้วยการให้ท่านทำแบบประเมินด้วยตนเองในใจ มองดูไปที่เส้นในภาพประกอบนี้ และให้คะแนนประจักษ์พยานของท่านในสเปกตรัมของศรัทธา
ที่ด้านล่างคือผู้ที่เชื่อว่าพระเจ้าไม่มีอยู่จริง เราจะให้คะแนนเป็นศูนย์ ด้านบนสุดของมาตราส่วนคือ 10 หรือมีความรู้ที่สมบรูณ์ของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ ท่านจะอยู่ที่ใดในสเปกตรัมนี้ ข้าพเจ้าคาดว่าท่านหลายคนอาจจะให้คะแนนตัวเองน้อยกว่าที่ท่านควรได้รับ
ให้จำคะแนนที่ท่านให้ตัวเองและดูว่าคะแนนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ระหว่างการนำเสนอนี้ขณะที่เราสนทนาถึงหลากหลายแง่มุมเสริมสร้างศรัทธาของประจักษ์พยานและว่าแต่ละแง่มุมช่วยให้เราก้าวหน้าอย่างไรในสเปกตรัมของศรัทธาและประสบกับสันติและความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่า
แอลมาเชื้อเชิญแต่ละคนให้ก้าวเดินก้าวแรกไปข้างหน้าบนสเปกตรัมของศรัทธาด้วย “การทดลองคำพูดข้าพเจ้า, และใช้อนุภาคหนึ่งของศรัทธา, แท้จริงแล้ว, แม้หากท่านทำไม่ได้มากไปกว่า ปรารถนา ที่จะเชื่อ” (แอลมา 32:27; เพิ่มตัวเอน)
ความปรารถนา
ความเข้าใจอันลึกซึ้งต่อไปนี้แสดงถึงปัญญาของการมีความปรารถนาที่จะเชื่อ
ในปี 1623 ซึ่งเป็นปีเกิดของแบลส์ ปาสคาล อัจฉริยบุคคล นักคณิตศาสตร์ และนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศส การค้นพบอย่างหนึ่งของเขาคือทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับความน่าจะเป็น ซึ่งอธิบายวิทยาศาสตร์เบื้องหลังทฤษฎีการเลือกที่มีเหตุผล—วิธีการที่มีเหตุมีผลสำหรับการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุด ด้วยทฤษฎีการตัดสินใจนี้ ปาสคาลสังเกตอย่างชาญฉลาดว่าในกติกาของชีวิตมนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเดิมพันที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตว่า พระเจ้าทรงดำรงอยู่หรือไม่ ซึ่งกลายมาเป็นการเดิมพันของปาสคาล โดยมีชีวิตของบุคคลคนหนึ่ง—หรือเฉพาะเจาะจงมากกว่านั้น ชีวิตนิรันดร์ของเขาหรือเธอ—ที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เหมือนที่แสดงให้เห็นในภาพประกอบนี้
ในหัวข้อของคอลัมน์มีสองตัวเลือกคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่หรือพระองค์ไม่ทรงมีอยู่จริง ในแถวมีสองตัวเลือกเช่นกันว่า ข้าพเจ้าสามารถเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ
การรวมกันของผลที่เป็นไปได้มีดังต่อไปนี้
-
ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงดำรงอยู่จริงและฉันเชื่อและปฏิบัติตามเช่นนั้น ฉันสามารถได้รับชีวิตนิรันดร์เป็นมรดก
-
ถ้าฉันเชื่อและพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงดำรงอยู่จริง ฉันไม่เสียอะไรเลย
-
ถ้าฉันไม่เชื่อหรือไม่ถวายเกียรติหรือเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าและพระองค์ทรงดำรงอยู่ ฉันสูญเสียชีวิตนิรันดร์
-
ถ้าฉันไม่เชื่อและพระผู้เป็นเจ้าไม่ทรงดำรงอยู่ ฉันก็ไม่ได้อะไร
-
การเดิมพันของปาสคาลแย้งว่าการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุดคือการเชื่อในการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าและว่าผู้ที่โง่เขลาเท่านั้นที่เดิมพันกับการดำรงอยู่ของพระผู้เป็นเจ้าเพราะเขามีทุกอย่างที่จะสูญเสียได้และไม่ได้รับสักอย่าง
บุตรเสเพลจะแย้งว่าสิ่งที่เขาเสียไปคือโอกาสในการ “จงกิน, จงดื่ม, และจงรื่นเริงเถิด (2 นีไฟ 28:7)—รางวัลปลอบใจด้อยค่าเมื่อท่านพิจารณาถึงสิ่งที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เขาอาจ “มีปีติในงานของตนชั่วเวลาหนึ่ง, [แต่]และในไม่ช้าที่สุดย่อมมาถึง” (3 นีไฟ 27:11) ความฝันของเขาในการสรวลเสเฮฮาและสำมะเลเทเมากลายเป็นฝันร้ายที่มีชีวิตเมื่อเขาตื่นขึ้นอย่างหลีกหนีไม่ได้สู่อาการเมาค้างทางวิญญาณที่เขาประสบในชีวิตนี้และพบด้วยตนเองว่า “ความชั่วร้ายไม่เคยเป็นความสุขเลย” (แอลมา 41:10) และจากนั้น ที่วันของการพิพากษา เมื่อเขา “จะสารภาพต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าว่าการพิพากษาของพระองค์เที่ยงธรรม” (โมไซยาห์ 16:1) เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเขาเรียนรู้ว่าเขาถูกเจ้าแห่งการลวงตาหลอกลวงด้วยความทุกข์ทรมานที่เสแสร้งเป็นความพึงพอใจ ดังนั้น “เจ้าอย่าริษยาคนบาป” (สุภาษิต 23:17)
ยังดีที่มีโอกาสครั้งที่สองสำหรับบุตรเสเพล ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาบทเรียนอันยิ่งใหญ่ของพระผู้ช่วยให้รอดที่ทรงคาดหวังให้เราเรียนรู้จากคำอุปมานี้ (ดู ลูกา 15:11–32)
ปลูกเมล็ดพืช—เริ่มต้นการเรียนรู้
แอลมาอธิบายถึงวิธีที่ผู้ที่มีความปรารถนาสามารถเริ่มต้นแสวงหาศรัทธา:
“ก็ขอให้ความปรารถนานี้เกิดผลในท่าน, แม้จนท่านเชื่อในลักษณะจะให้ที่สำหรับส่วนหนึ่งของถ้อยคำข้าพเจ้า.”
“บัดนี้, เราจะเปรียบเทียบพระวจนะกับเมล็ดพืช. บัดนี้, หากท่านให้ที่, [ให้] เมล็ด พืชปลูก…ในใจท่าน” (แอลมา 32:27–28; เพิ่มตัวเอน)
การปลูกเมล็ดพืชหมายความว่าบัดนี้ท่านกระทำตามความปรารถนาด้วยความอยากรู้ที่ดลใจในการทดลอง ท่านได้เริ่มต้นกระบวนการเรียนรู้แล้ว
ตามพระคัมภีร์ กระบวนการเรียนรู้นี้ควรดำเนินการในสองวิธี “และเนื่องจากคนทั้งปวงไม่มีศรัทธา, เจ้าจงแสวงหาอย่างขยันหมั่นเพียรและสอนถ้อยคำแห่งปัญญาให้กัน; แท้จริงแล้ว, เจ้าจงแสวงหาถ้อยคำแห่งปัญญาจากบรรดาหนังสือดีที่สุด; แสวงหาการเรียนรู้, แม้โดยการศึกษาและโดยศรัทธาด้วย.” (ค.พ. 88:118; เพิ่มตัวเอน)
The scriptures also teach us of two learning channels through which the Spirit teaches us:
แท้จริงแล้ว, ดูเถิด, เราจะบอกเจ้าในความนึกคิดเจ้าและในใจเจ้า, โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์, ซึ่งจะเสด็จมายังเจ้าและซึ่งจะสถิตอยู่ในใจเจ้า.
“บัดนี้, ดูเถิด, นี่คือวิญญาณแห่งการเปิดเผย” (ค.พ. 8:2–3; เพิ่มตัวเอน)
จัดวิธีการเรียนรู้และช่องทางการเรียนรู้ให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน
ก่อนกลับไปสู้สเปกตรัมของศรัทธา ข้าพเจ้าต้องการแสดงให้เห็นภาพความสัมพันธ์กันระหว่างวิธีการเรียนรู้สองวิธีและช่องทางของการเรียนรู้สองช่องทาง การเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้แบบไขว้น่าจะช่วยให้ท่านมีความเข้าใจลึกซึ้งว่าเราจะดำเนินต่อไปตามสเปกตรัมของศรัทธาได้อย่างไร
เมื่อโจเซฟ สมิธเรียนรู้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนโดยการศึกษา ท่านอ่านในพระคัมภีร์ไบเบิลว่า “แต่ถ้าใครในพวกท่านขาดสติปัญญา ให้คนนั้นทูลขอจากพระเจ้าผู้ประทานให้กับทุกคนด้วยพระทัยกว้างขวางและไม่ทรงตำหนิ แล้วเขาก็จะได้รับตามที่ขอ” (ยากอบ 1:5)
โจเซฟเรียนรู้เกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน โดยศรัทธา เมื่อท่านทำตามศรัทธาของท่านและเข้าในป่าศักดิ์สิทธิ์และสวดอ้อนวอน
ที่บนสุดของภาพคือช่องทางการเรียนรู้สองช่องทาง—ความนึกคิดและใจ
การเชื่อมต่อการเรียนรู้โดยการศึกษากับความนึกคิด
เมื่อเราแสวงหาการเรียนรู้โดยการศึกษา พระเจ้าตรัสผ่านความนึกคิดของเราในรูปแบบของความคิดที่ดลใจ ในบรรดาคำอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการมาบรรจบกันของ “การศึกษา” และ “ความนึกคิด” เราสามารถใส่เพิ่มคำต่อไปนี้ เพื่ออธิบายถึงวิธีปลูกเมล็ดนั้น:
ปลูก
-
ความคิด
-
ความสนใจ
-
ความอยากรู้
-
การพิเคราะห์
-
ศึกษา
-
ค้นหา
-
พิจารณา
-
คำถาม
-
การไตร่ตรอง
คำถามที่ดลใจทำให้คนคนหนึ่งไตร่ตรอง และการครุ่นคิดภายใต้อิทธิพลของพระวิญญาณจะพาท่านขึ้นไปอีกระดับหนึ่งของการเรียนรู้ ที่การศึกษามาบรรจบกับใจ
การเชื่อมโยงการเรียนรู้โดยการศึกษากับใจ
ไม่ช้าเมล็ดเริ่ม แตกหน่อ และท่านเริ่มมี ความรู้สึก ที่ได้รับการดลใจโดยพระวิญญาณ เป็นสิ่งที่อยู่ในใจ หรือความรู้สึกที่ได้รับการดลใจ ที่ เปลี่ยนความคิดเป็นความเชื่อ
แตกหน่อ
-
ความรู้สึก
-
ความเชื่อ
-
ความเข้าใจ
-
รสเลิศ
-
ใจที่ถูกเปลี่ยนอย่างลึกซึ้ง
-
ศรัทธาและความหวังได้เพิ่มขึ้น
-
รับการดลใจให้กระทำ
แอลมากล่าวเช่นนี้ว่า “หากเป็นเมล็ดจริง, หรือเมล็ดดี, หากท่านไม่โยนมันทิ้งโดยความไม่เชื่อของ ท่าน, ทำให้ท่านจะต่อต้านพระวิญญาณของพระเจ้า, ดูเถิด, มันจะเริ่มพองอยู่ในอกท่าน; และเมื่อท่าน รู้สึก ถึงการพองนี้, ท่านจะกล่าวในใจว่า—มันจำต้องเป็นว่านี่คือเมล็ดดี, หรือว่าพระวจนะดี, เพราะมันเริ่มทำให้จิตวิญญาณข้าพเจ้าขยาย; แท้จริงแล้ว, มันเริ่ม ให้ความสว่างแก่ความเข้าใจของข้าพเจ้า, แท้จริงแล้ว, มันเริ่มมี รสเลิศ สำหรับข้าพเจ้า” (แอลมา 32:28; เพิ่มตัวเอน)
โดยปกติแล้วเราเชื่อมคำว่า เข้าใจ กับความนึกคิด ข้อพระคัมภีร์หลายข้อเชื่อมความเข้าใจกับใจ เช่น “และใจพวกเขาเปิดและพวกเขาเข้าใจถ้อยคำที่พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนในใจพวกเขา” (3 นีไฟ 19:33) เมื่อท่านกล่าวถึง ยากอบ 1:5 เด็กหนุ่มโจเซฟกล่าวว่า “ไม่เคยมีข้อความใดในพระคัมภีร์มาสู่จิตใจมนุษย์ด้วยพลังได้มากไปกว่าข้อความนี้ที่ขณะนั้นมาสู่จิตใจข้าพเจ้า” ( โจเซฟ สมิธ—ประวัติ 1:12)
ด้วยความรู้สึกเหล่านั้น แอลมากล่าวว่า “บัดนี้ดูเถิด, การนี้จะไม่ เพิ่มศรัทธาของท่านหรือ? ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ถูกแล้ว; กระนั้นก็ตามมันยังไม่เติบโตขึ้นเป็นความรู้อันสมบูรณ์” (แอลมา 32:29; เพิ่มตัวเอน)
แม้ยังไม่ใช่ความรู้ที่สมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตาม ด้วยการสัมผัสใจ ที่ดลใจเราให้ก้าวไปอีกขั้นในสเปกตรัมของศรัทธา สำหรับโจเซฟแล้ว สิ่งนั้น ดลใจท่านให้กระทำ และยอมรับการเชื้อเชิญของพระคัมภีร์เพื่อสวดอ้อนวอน ท่านจะไม่ได้ “รับพยานจนหลังการทดลองศรัทธา [ของ] ท่าน” (อีเธอร์ 12:6)
การเชื่อมโยงการเรียนรู้โดยศรัทธากับความนึกคิด
การเรียนรู้โดยศรัทธาเรียกร้อง การกระทำ ตามความรู้สึกและความเชื่อ1 พระผู้ช่วยให้รอดทรงให้การเชื้อเชิญนี้ที่จะเรียนรู้โดยศรัทธาเมื่อพระองค์ตรัสว่า “ถ้าใครตั้งใจ ประพฤติตาม พระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะ รู้ ว่าคำสอนนี้มาจากพระเจ้าหรือว่าเราพูดตามชอบใจเอง” (ยอห์น 7:17; เพิ่มตัวเอน) ในข้อนี้พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนเราว่า การกระทำ คือการแสดงออกของศรัทธาที่ เปลี่ยนความเชื่อเป็นความรู้ สำหรับผู้ที่ต่อต้านพระองค์ทรงกระตุ้นว่า “แม้ว่าท่านไม่วางใจในเรา ก็จงวางใจในพระราชกิจเหล่านั้นเถิด เพื่อท่าน จะได้รู้ และเข้าใจว่าพระบิดาทรงอยู่ในเราและเราอยู่ในพระบิดา” (ยอห์น 10:38; เพิ่มตัวเอน)
เมื่อกล่าวถึง การรู้ แอลมากล่าวว่า
“และบัดนี้, ดูเถิด, เพราะท่านได้พยายามทดลอง, และเพาะเมล็ด, และมันพองและงอก, และเริ่ม เติบโต, ท่านก็จำต้อง รู้ ว่าเมล็ดดี.
และบัดนี้, ดูเถิด, ความรู้ของท่านสมบูรณ์หรือ? ถูกแล้ว, ความรู้ของท่านสมบูรณ์ในเรื่องนั้น, และศรัทธาของท่านแน่นิ่ง; และนี่เพราะท่าน รู้ …ว่าความเข้าใจของท่านเริ่มสว่าง, และความนึกคิดท่านเริ่มขยาย” (แอลมา 32:33–34; เพิ่มตัวเอน)
การกระทำตามศรัทธาของท่านให้ความรู้แก่ท่าน
ในบรรดาคำอื่นๆ ที่เราอาจจะเชื่อมกับการเรียนรู้โดยศรัทธาและความนึกคิด เราสามารถใส่เพิ่มคำต่อไปนี้:
เติบโต
-
การกระทำ
-
ความรู้ (อันสมบรูณ์ในสิ่งนั้น)
-
สวดอ้อนวอน
-
กลับใจ
-
เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
-
เชื่อฟัง
-
ประสบการณ์
-
ลิ้มรส
แอลมาใช้คำกริยา ลิ้มรส ในวิธีที่เฉพาะเจาะจงเมื่อท่านกล่าวถึง การลิ้มรสความสว่าง เราฟังว่า
“โอ้ดังนั้นแล้ว, นี่ไม่จริงหรือ? ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ถูกแล้ว, เพราะมันคือความสว่าง; และอะไรก็ตามที่เป็นความสว่าง, ย่อมดี, เพราะเล็งเห็นได้ชัดเจน, ฉะนั้น ท่านต้องรู้ว่า มันดี; และบัดนี้ดูเถิด, หลังจากท่าน ลิ้มรสความสว่างนี้ ความรู้ของท่านสมบูรณ์หรือ?
ดูเถิดข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ไม่เลย; ทั้งท่านต้องไม่ละทิ้งศรัทธาของท่าน, เพราะท่านเพียงแต่ใช้ศรัทธาของท่านเพื่อเพาะเมล็ดเพื่อท่านจะทดลองให้ รู้ว่า เมล็ดดีหรือไม่. (แอลมา 32:35–36; เพิ่มตัวเอน)
คือการชิมและลิ้มรสความสว่างนั่นเองที่ให้ความรู้อันสมบูรณ์แก่ท่านใน สิ่งนั้น หรือการรู้ว่าต้นอ่อนเป็นต้นดี ความสว่างกำลังเชื้อเชิญท่านมาสู่พระเยซูคริสต์ “และเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า [กำลัง] ทำปาฏิหาริย์ใน [ท่าน] … และ [เปลี่ยนใจเลื่อมใสท่าน] มาหาพระเจ้า” (แอลมา 23:6)
การเชื่อมต่อการเรียนรู้โดยศรัทธากับใจ
แอลมากล่าวต่อว่า “และดูเถิด, เมื่อต้นไม้เริ่มเติบโต, ท่านจะกล่าว: ให้เรา บำรุงเลี้ยง มันด้วยความใส่ใจอย่างยิ่ง … ด้วยความขยันหมั่นเพียรยิ่ง, และด้วยความอดทน, โดยตั้งตารอผลจากต้นไม้ …
“… ดูเถิด, ในไม่ช้าท่านจะ เก็บผล [หรือลิ้มรส] จากมันได้, ซึ่งมีค่าที่สุด” (แอลมา 32:37, 41–42; เพิ่มตัวเอน)
บำรุงเลี้ยงและลิ้มรส
-
การเปลี่ยนใจเลื่อมใส
-
กลับกลายเป็น
-
การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้งแห่งใจ
-
การบัพติศมา
-
พระวิญญาณบริสุทธิ์
-
พร
-
ปีติกับความสุข
-
ความปรารถนาที่จะแบ่งปัน
-
กลายเป็นดังเช่นพระเยซูคริสต์
การลิ้มรสของผลทำให้เราก้าวหน้าไปถึงที่ซึ่งการเรียนรู้โดยศรัทธากับใจมาบรรจบกัน ที่นี่เราพบเพื่อเราเองว่าผลนี้หวานและมีค่าโดยแท้จริง การติดตามพระเยซูคริสต์ และการทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ยอมให้เราลิ้มรสการชดใช้และพระกิตติคุณของพระองค์ในวิธีต่างๆ ช่วงแรกของกระบวนการใจเราได้รับการ เปลี่ยน อย่างลึกซึ้ง บัดนี้ “การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง [แห่ง] ใจ” กำลังเกิดขึ้น ดังที่แอลมาอธิบาย (แอลมา 5:12) และพระวิญญาณกำลัง เปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ของเราสู่การเปลี่ยนใจเลื่อมใส
เมื่อเรา “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า” (แอลมา 23:8) เราติดตามพระผู้ช่วยให้รอดโดยการรับบัพติศมาและการรับของประทานแห่ง พระวิญญาณบริสุทธิ์ เมื่อเราลิ้มรสผลของพระกิตติคุณ เราประสบกับ พร และ ปีติกับความสุข เช่นนั้นที่เราต้องการจะ แบ่งปันสิ่งนั้นกับผู้อื่น ดังเช่นลีไฮทำ “และขณะที่พ่อรับส่วนผลของต้นไม้นั้นจิตวิญญาณของพ่อเต็มไปด้วยความปรีดียิ่งนัก; ดังนั้น, พ่อเริ่มปรารถนาให้ครอบครัวของพ่อได้รับส่วนของผลนั้นด้วย; เพราะพ่อรู้ว่ามันเป็นที่พึงปรารถนาเหนือผลอื่นใดทั้งหมด” (1 นีไฟ 8:12)
เพื่อ “เปลี่ยนใจเลื่อมใสมาหาพระเจ้า” ด้วยความรู้สึกอันแท้จริง คือ การเปลี่ยนแปลงอันลึกซึ้ง และการแปรสภาพของการกลายเป็นดังเช่นพระเยซูคริสต์ โดย “[การยอม] ต่อการชักจูงของพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์, และ [ทิ้ง] ความเป็นมนุษย์ปุถุชนและกลับเป็นวิสุทธิชนโดยผ่านการชดใช้ของพระคริสต์พระเจ้า” (โมไซยาห์ 3:19) ในความหมายซึ่งเข้าใจได้มากขึ้น การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเราจะไม่สมบูรณ์จนกระทั่งเราเติบโตทางวิญญาณ “ถึงขนาดความบริบูรณ์ของพระคริสต์” ( เอเฟซัส 4:13) นี่จะเป็นการแสวงหาและการเดินทางตลอดชีวิตของศรัทธาในพระองค์พร้อมกับพระคุณของพระองค์หรือความช่วยเหลือแห่งสวรรค์ (ดู 2 นีไฟ 25:23)
การเปลี่ยนใจเลื่อมใสตลอดชีวิตนี้จะเรียกร้องอย่างชัดเจนถึงการบำรุงเลี้ยงต่อเนื่องในส่วนของเราเพื่อหลีกเลี่ยงผลที่ร่วงโรยที่แอลมาอธิบายไว้ว่า “แต่หากท่านละเลยต้นไม้, และไม่คิดถึงการบำรุงเลี้ยงมัน, ดูเถิดมันจะไม่แตกราก; และเมื่อความร้อนของดวงอาทิตย์มาถึงและแผดเผามัน, … โยนมันทิ้ง.”(แอลมา 32:38)
“ดังนั้น, ท่านต้อง มุ่งหน้า ด้วยความแน่วแน่ในพระคริสต์, โดยมีความเจิดจ้าอันบริบูรณ์แห่งความหวัง, และความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าและต่อมนุษย์ทั้งปวง. ดังนั้น, หากท่านจะมุ่งหน้า, ดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์, และ อดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่แล้ว, ดูเถิด, พระบิดาตรัสดังนี้ : เจ้าจะมีชีวิตนิรันดร์”(2 นีไฟ 31:20; เพิ่มตัวเอน)
การเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนใจเลื่อมใสอันลึกซึ้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีคำถาม อย่างไรก็ตาม โดยที่ได้ลิ้มรสความสว่าง คำถามควรค่อยๆ ซึมซับความปรารถนาที่จะเรียนรู้ต่อไปเข้าไปในใจเรามากกว่าความสงสัยที่สามารถทำให้ศรัทธาที่กำลังโตของเราเหี่ยวเฉา “และผู้ใดก็ตามที่เชื่อในนามของเรา, โดยไม่สงสัยในสิ่งใด, เราจะยืนยันถ้อยคำของเราทั้งหมดแก่เขา” (มอรมอน 9:25)
คำถามเป็นสิ่งที่ดี คำถามทำให้เราไตร่ตรอง ค้นหา และสวดอ้อนวอน โจเซฟ สมิธยังมีคำถามต่อไปตลอดชีวิตของท่าน เกือบทุกภาคของหลักคำสอนและพันธสัญญาที่ได้รับการเปิดเผยผ่านท่านเป็นเหตุจากคำถามที่ท่านทูลถามพระเจ้าในการสวดอ้อนวอน บรรทัดมาเติมบรรทัด กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ นี่เป็นวิธีเดียวกันที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงเรียนรู้ว่า “และพระองค์หาได้รับความสมบูรณ์ไม่ในตอนแรก, แต่ดำเนินต่อไปจากพระคุณสู่พระคุณ, จนพระองค์ได้รับความสมบูรณ์;” (ค.พ. 93:13)
ความรู้อันสมบรูณ์แบบ
กลับสู่สเปกตรัมของศรัทธาของเรา เราเรียกจุดบนสุดว่า “ความรู้อันสมบูรณ์ของพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์”
ให้เราพิเคราะห์วลี “ความรู้อันสมบูรณ์” เมื่อเกี่ยวเนื่องกับ “การลิ้มรสความสว่าง” แอลมาสอนว่า “ความรู้ของท่านสมบูรณ์ในเรื่องนั้น” (แอลมา 32:34) ในข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ ให้สังเกตการใช้วลี “ความรู้อันสมบูรณ์” ของศาสดาพยากรณ์มอรมอน เมื่อท่านเพิ่มพยานของท่านถึงความสว่างเดียวกันนั้น
“เพราะดูเถิด, พี่น้องของข้าพเจ้า, สิ่งนี้มีไว้ให้ท่านเพื่อตัดสิน, เพื่อท่านจะรู้ความดีจากความชั่ว; และวิธีที่ท่านจะตัดสินชัดแจ้ง, เพื่อท่านจะรู้ด้วย ความรู้อันสมบูรณ์, เหมือนดังความสว่างของกลางวันต่างจากกลางคืนที่มืด.
“เพราะดูเถิด, พระวิญญาณของพระคริสต์ประทานให้มนุษย์ทุกคน, เพื่อเขาจะรู้ความ ดีจากความชั่ว; ดังนั้น, ข้าพเจ้าจึงแสดงวิธีตัดสินให้ท่าน; เพราะทุกสิ่งที่เชื้อเชิญให้ทำดี, และชักชวนให้เชื่อในพระคริสต์, ส่งมาโดยเดชานุภาพและของประทานของพระคริสต์; ดังนั้นท่านจะรู้ด้วย ความรู้อันสมบูรณ์ ว่านี่เป็นของพระผู้เป็นเจ้า. …
“และบัดนี้, พี่น้องข้าพเจ้า, โดยที่เห็นว่าท่านรู้จัก แสงสว่าง ซึ่งโดยแสงสว่างนั้นท่านจะตัดสิน, ซึ่งแสงสว่างนั้นคือแสงสว่างของพระคริสต์, จงดูว่าท่านจะไม่ตัดสินผิด” (โมโรไน 7:15–16, 18; เพิ่มตัวเอน)
ศาสดาพยากรณ์ทั้งสองท่านเป็นพยานว่านั้นคือแสงสว่างของพระคริสต์ที่ทรงประทาน ความรู้อันสมบูรณ์ ของความจริงให้เรา แม้ผู้คนของโลกยังตระหนักว่าพวกเขามีความรู้สึกเบื้องลึกของสิ่งที่ถูกและผิด พวกเขายอมรับแสงสว่างของพระคริสต์โดยใช้คำว่า conscience (ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี) ซึ่งมาจากคำในภาษาลาตินว่า conscientia (มโนธรรม) หรือ “ความรู้ในตัวของมันเอง”2
ด้วยแสงสว่างนั้นเหมือนเป็นเครื่องหมายแห่งความจริง เราก้าวหน้าต่อไปบนสเปกตรัมของศรัทธา บรรทัดมาเติมบรรทัด กฎเกณฑ์มาเติมกฎเกณฑ์ (ดู 2 นีไฟ 28:30; ค.พ. 98:12; 128:21) “และโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ท่าน จะรู้ ความจริงของ ทุกเรื่อง” (โมโรไน 10:5; เพิ่มตัวเอน)
อีกสักครู่เราจะทดลองการทดลองของแอลมาเพื่อท่านจะสามารถจดจำการลิ้มรสความสว่างว่าเป็นเช่นไรและจะให้ความรู้อันสมบูรณ์แก่ท่านได้อย่างไร
การตรงกันข้ามเผยถึงความจริง
ก่อนที่จะเริ่มการทดลอง เป็นสิ่งสำคัญที่จะระบุส่วนประกอบที่สำคัญอีกประการในกระบวนการ เราได้รับการสอนใน 2 นีไฟ 2 ว่า “จำเป็นต้อง …มีการตรงกันข้ามในสิ่งทั้งปวง”(2 นีไฟ 2:11) มวลมนุษย์ “ลิ้มรสความขมขื่น, เพื่อพวกเขาจะรู้จักให้คุณค่าแก่ความดี”(โมเสส 6:55) ตัวอย่างเช่น สุขภาพ คือการศึกษาสิ่งตรงกันข้าม ความเจ็บป่วยและโรคภัย อิสรภาพ การศึกษาการกดขี่และการเป็นทาส ความสุข การศึกษาความเศร้าโศก และอีกมากมาย เช่นกันกับความอัศจรรย์ของหิ่งห้อย แสงสว่างส่องไปไม่ได้หากปราศจากความมืด
การตรงกันข้ามเป็นสิ่งจำเป็นต่อการศึกษาและความสุขของเรา หากไม่มีการตรงกันข้าม ความจริงยังคงซ่อยอยู่ในมุมมองธรรมดา เหมือนการใช้อากาศโดยไม่เห็นค่าจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านกระหืดกระหอบต้องการอากาศ เพราะแสงสว่างของพระคริสต์เป็นอยู่ตลอดเวลา หลายคนไม่สังเกตพระวิญญาณในชีวิตพวกเขา เช่นเดียวกับชาวเลมันใน 3 นีไฟ 9:20 ผู้ “ได้รับบัพติศมาด้วยไฟและด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์, และพวกเขาหารู้ไม่.”
การตรงกันข้ามไม่เพียงเปิดเผยหรือคลี่คลายความจริงแต่ยังแสดงให้ประจักษ์ถึงพลังอำนาจ ปีติ และความหอมหวานของความจริง อย่างเช่น บุตรเสเพลลิ้มรสความขมขื่นของชีวิตเพื่อตระหนักถึงชีวิตสุขสบายที่บ้านที่เขาจากมาและไม่เคยเห็นค่าสิ่งนั้นในวัยเยาว์ของเขา
โดยผ่านความเจ็บปวดและความป่วยไข้ที่เราจะเห็นคุณค่าของสุขภาพที่ดี ในฐานะเหยื่อของความไม่ซื่อสัตย์ เราเห็นคุณค่าของความซื่อสัตย์ การประสบกับความอยุติธรรมหรือการกระทำที่ทารุณ เราทะนุถนอมความรักและความเมตตา—ทั้งหมดด้วย “ความรู้อันสมบูรณ์” โดยที่ได้ลิ้มรสผลของแต่ละอย่างโดยแสงสว่างนั้นซึ่งอยู่ในเรา ความรู้อันสมบูรณ์นั้นออกผลทีละอย่าง โดยผ่านการตรงกันข้ามในทุกสิ่ง การเชื่อฟังพระบัญญัติพระผู้เป็นเจ้าสัญญาความสุข การเติบโต และความก้าวหน้าสูงสุด โดยผ่าน การตรงกันข้าม ไม่ใช่ การอ้อมผ่านไป “ทะเลที่ราบเรียบ ไม่สามารถสร้างกะลาสีที่เก่งกาจได้” 3
ให้พิจารณาข้อความที่ลึกซึ้งนี้จากศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่า “โดยการพิสูจน์สิ่งที่ตรงกันข้าม ความจริงเป็นที่ประจักษ์”4
และข้อความนี้จากบริคัม ยังก์ “ข้อเท็จจริงทั้งหมดได้รับการพิสูจน์และทำให้เป็นที่ประจักษ์โดยสิ่งที่ตรงกันข้ามกับมัน” 5
การทดลองศรัทธา
ตอนนี้—ขอให้ท่านเป็นผู้มีส่วนร่วมในการทดลองโดยให้ท่านพิจารณาพระบัญญัติ “ที่จะเป็น” หรือคุณธรรมของคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ กับสิ่งที่ตรงกันข้ามของแต่ละอย่าง ขณะพิจารณาแต่ละข้อ ความสว่างของพระคริสต์ในตัวท่านควรยืนยันในความนึกคิดและใจท่านว่าคุณธรรมของคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์แต่ละอย่างนั้นช่างหอมหวาน ในขณะที่สิ่งตรงกันข้ามนั้นขมขื่น
-
ระหว่างความรักกับความเกลียดชัง การมุ่งร้าย การเป็นปรปักษ์
-
ระหว่างความซื่อสัตย์กับการโกหก การหลอกลวง การลักขโมย
-
ระหว่างการให้อภัยกับการแก้แค้น ความแค้นใจ ความขมขื่น
-
ระหว่างความเมตตากับความใจแคบ ความโกรธเคือง ไม่มีเมตตา
-
ระหว่างความอดทนกับการโกรธง่าย อารมณ์ร้อน ถือทิฐิ
-
ระหว่างความอ่อนน้อมถ่อมตนกับความโอหัง สั่งสอนไม่ได้ หยิ่งยโส
-
ระหว่างผู้ประนีประนอมกับผู้ที่ชอบทะเลาะวิวาท แตกแยก ปลุกปั่น
-
ระหว่างความพากเพียรกับความเหน็ดเหนื่อย ยอมแพ้ ดื้อดึง
มีคุณธรรมของคุณลักษณะเหมือนพระคริสต์ไม่มากนัก แต่เพียงพอสำหรับการแสดงถึงความมีประสิทธิภาพของการทดลองเมล็ด
เมื่อพิจารณารายการนี้ ท่านตระหนักว่าท่านได้รู้พลังอำนาจ ความจริง และความหอมหวานของคุณธรรมแต่ละอย่าง ทีละอย่าง โดยผ่านหลายพันประสบการณ์ที่มีค่า ผลที่ดีมากับข้อพิสูจน์โดยธรรมชาติและการตรวจสอบ—รสชาติของผล! ข้อพิสูจน์อยู่ในการรับประทาน ทีละผลและบรรทัดมาเติมบรรทัด แต่ละอย่างด้วย “ความรู้อันสมบูรณ์” บางทีนั่นเป็นสิ่งที่อัครสาวกเปาโลหมายถึงเมื่อท่านพูดว่า “จงพิสูจน์ ทุกสิ่ง สิ่งที่ดีนั้นจงยึดถือไว้ให้มั่น” (1 เธสะโลนิกา 5:21; เพิ่มตัวเอน) หากท่านรวมคุณธรรมเหล่านี้และคุณธรรมอื่นๆ เข้าสู่ชีวิตท่าน ท่านจะดำเนินบนสเปกตรัมของศรัทธาต่อไปได้ไกลมากกว่าที่ท่านคิดไว้
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงสิ่งที่ข้าพเจ้าจะเรียกว่า ประจักษ์พยานอาณาจักรเทอร์เรสเตรียล หรือรัศมีภาพของดวงจันทร์ ผู้คนที่ดีที่ยำเกรงพระผู้เป็นเจ้าของแต่ละศาสนามีประจักษ์พยานเดียวกันนี้เพราะพวกเขามีความสว่างของพระคริสต์เช่นกัน เป็นสิ่งที่มอรมอนกล่าวไว้ และพวกเขายอมรับส่วนหนึ่งของพระกิตติคุณของพระองค์
การทดลองศรัทธา—ระดับต่อไป
ประจักษ์พยานอาณาจักรซีเลสเชียล หรือรัศมีภาพของดวงอาทิตย์ มีมาเมื่อคนนั้นแสวงหา “ความสมบูรณ์แห่งพระบิดา” (ดู ค.พ. 76:75–78; 93:19) เมื่อบุคคลหนึ่งรับบัพติศมาและมีค่าควรกับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เขาหรือเธอได้รับของประทานที่ยิ่งใหญ่ของความสว่างของพระคริสต์ ดังที่จารึกไว้ในพระคัมภีร์มอรมอนว่า “หากนี่เป็นความปรารถนาของใจท่านแล้ว, ท่านมีอะไรขัดข้องเล่าที่จะรับบัพติศมาในพระนามของพระเจ้า … เพื่อพระองค์จะเทพระวิญญาณของพระองค์ลงมาให้ท่านให้มากมายยิ่งขึ้น” (โมไซยาห์ 18:10, เพิ่มตัวเอน)
ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนเราว่า “ยิ่งเรามีใจและความคิดเอนเอียงไปทางพระเจ้ามากขึ้นเท่าไร แสงจากสวรรค์จะกลั่นลงมาในจิตวิญญาณเรามากขึ้นเท่านั้น”6
“และคนที่รับความสว่าง, และดำเนินอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าต่อไป, รับความสว่างมากขึ้น; และความสว่างนั้นเจิดจ้ายิ่งขึ้นๆ จนถึงวันที่สมบูรณ์” (ค.พ. 50:24)
ข้าพเจ้าไม่เป็นต้องบอกท่านว่าความสว่างที่มากขึ้นกว่าปรับปรุงการมองเห็นของท่าน—ท่านทราบสิ่งนั้น ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธกล่าวว่า, “ยิ่งมนุษย์เข้าใกล้ความดีพร้อมมากเท่าใด การมองเห็นของเขาจะยิ่งชัดมากขึ้นเท่านั้นและ ความปลื้มปีติของเขาจะมากขึ้น”7
ด้วยความสว่างที่มากขึ้นกว่า ขอให้เราทำการทดลองดังกล่าวถึงระดับของอาณาจักรซีเลสเชียล และเปรียบเทียบความแตกต่างของหลักคำสอนบางอย่างที่เป็นเฉพาะของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายกับคำสอนอื่นที่พบภายใต้ความสว่างอันริบหรี่แต่ด้วยความตั้งใจที่บริสุทธิ์เป็นส่วนใหญ่:
-
ระหว่างพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นพระบิดาของเราและเราได้รับการสร้างในพระลักษณะของพระองค์ กับพระองค์ไม่ทรงเป็นพระบิดาของเราจริงๆ พระองค์ทรงยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ รู้จักไม่ได้
-
ระหว่างองค์การแห่งสวรรค์ของพระองค์พร้อมศาสดาพยากรณ์และอัครสาวก กับการทอดทิ้งระเบียบแบบแผนที่จัดตั้งไว้ของพระองค์
-
ระหว่างพระเจ้าทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าแห่งระเบียบ ซึ่งปกครองโดยผ่านผู้ที่ถือกุญแจฐานะปุโรหิต กับความสับสน เสียงที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง “วิญญาณเท็จ” (ค.พ. 50:2)
-
ระหว่างสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและการได้รับการเรียกจากพระผู้เป็นเจ้า กับปริญญาในศาสนศาสตร์ ถูกเลือก ถูกจ้าง หรือแต่งตั้งตนเอง
-
ระหว่างศาสนพิธีและพันธสัญญา กับการใช้ชีวิตดีเรียบง่าย
-
ระหว่างความบริสุทธิ์ของเด็ก กับการบัพติศมาเด็กทารก
-
ระหว่างพระคัมภีร์มอรมอน พยานเล่มที่สอง กับพระคัมภีร์ไบเบิล เพียงแค่พยานเล่มเดียว
-
ระหว่างงานพระวิหารสำหรับคนตาย กับจุดเทียนและสวดอ้อนวอนเพื่อคนตาย
-
ระหว่างการแต่งงานและครอบครัวนิรันดร์ กับจนกระทั่งความตายพรากเราจากกัน
เป็นสิ่งที่กระจ่างใจเมื่อเปรียบเทียบความจริงด้วยสิ่งตรงกันข้าม ซึ่งช่วยเผยให้เห็นสิ่งที่ชัดเจน ซึ่งซ่อนอยู่ในมุมมองที่ธรรมดา เราตระหนักว่าเรารู้มากกว่าที่เราเคยคิด สิ่งนี้ควรดลใจให้เรา “ค้นหาอย่างขยันหมั่นเพียรโดยผ่านแสงสว่างของพระคริสต์ … และ … ยึดมั่นในสิ่งที่ดีไว้ทุกอย่าง” ต่อไป (โมโรไน 7:19)
“เพราะท่านเห็นเราท่านจึงเชื่อเราหรือ คนที่ไม่เห็นเราแต่เชื่อก็เป็นสุข” (ยอห์น 20:29)
ขอให้เราพิเคราะห์อีกแง่มุมหนึ่งที่น่าสนใจของศรัทธาและประจักษ์พยาน
คู่มือพระคัมภีร์กล่าวว่า “ศรัทธา [ที่แท้จริง] ต้องมีศูนย์กลางอยู่ในพระเยซูคริสต์เพื่อให้ศรัทธานำบุคคลสู่ความรอด …
“[ศรัทธา] รวมถึงความหวังสำหรับสิ่งที่หวังไว้ที่มองไม่เห็น แต่เป็นความจริง” [ฮีบรู 11:1]”8
ช่างน่าสนใจเพียงใดที่ศรัทธาในพระเยซูคริสต์คือ “การเชื่อโดยปราศจากการมองเห็น” เมื่อโลกเชื่อสิ่งที่กลับกัน ที่ว่า “การมองเห็นคือการเชื่อ”
มนุษย์ธรรมดาค้นพบโลกโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เรียกร้องเครื่องหมายเป็นข้อพิสูจน์ กระนั้นพระคัมภีร์เต็มไปด้วยตัวอย่างของผู้ที่ได้รับการประจักษ์ของการปรากฏและเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าโดยไม่ได้รับการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่ยั่งยืน
-
เลมันและเลมิวเอล เห็น เทพ (ดู 1 นีไฟ 3:29) พวกเขา ได้ยิน พระสุรเสียงของพระเจ้าซึ่ง “ทรงตีสอนพวกเขายิ่งนัก” (1 นีไฟ 16:39) พวกเขา รู้สึกถึงเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าเมื่อนีไฟเหยียดมือของท่านและ “พระเจ้าทรงทำให้พวกเขาสั่น” (1 นีไฟ 17:54) พวกเขา ได้ลิ้มรส และ ได้กลิ่นว่า “เราจะทำให้อาหารของเจ้านุ่ม, เพื่อเจ้าจะมิต้องหุงหาอาหาร” (1 นีไฟ 17:12) แม้ว่ามีการประจักษ์หลายอย่างโดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เลมันและเลมิวเอลยังคงกบฏ การได้เห็นทำให้เกิดความเชื่อสำหรับพวกเขาหรือไม่
-
เมื่อโมเสสได้นำลูกหลานของอิสราเอลออกจากอียิปต์ พวกเขาเห็นประจักษ์ถึงภัยพิบัติ เสาเพลิง ทะเลแดงแยกออก พวกเขาได้ลิ้มรสมานา— ประสบการณ์กับประสาทสัมผัสทั้งห้า “และทั้งที่พวกเขาถูกนำไป, พระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา, พระผู้ไถ่ของพวกเขา, เสด็จไปเบื้องหน้าพวกเขา, โดยทรงนำพวกเขาไปเวลากลางวันและประทานความสว่างให้พวกเขาเวลากลางคืน, และทรงกระทำสิ่งทั้งปวงอันสมควรที่มนุษย์จะพึงรับ, พวกเขายังทำใจของพวกเขาแข็งกระด้างและทำจิตใจของพวกเขามืดบอด, และสบประมาทโมเสสและพระผู้เป็นเจ้าองค์จริงและทรงพระชนม์อยู่” (1 นีไฟ 17:30) แน่นอนว่าการมองเห็นไม่เป็นความเชื่อสำหรับพวกเขา!
-
มีตัวอย่างอื่นๆ คล้ายกันมากมายในพระคัมภีร์ แต่ตัวอย่างที่น่าตกตะลึงที่สุดของทั้งหมดคือเรื่องของคนโง่เขลาทางวิญญาณผู้ปฏิเสธพระผู้ช่วยให้รอดต่อหน้าพระพักตร์พระองค์จริงๆ “ถึงแม้ว่าพระองค์ทรงทำหมายสำคัญมากมายหลายอย่างให้เขาเห็น พวกก็ยังไม่วางใจในพระองค์” (ยอห์น 12:37; ดู ค.พ 138:26ด้วย)
มีตัวอย่างมากมายในทางตรงกันข้ามเกินกว่าที่จะกล่าวว่าการเห็นคือการเชื่อ ผู้ที่หวังจะมีประสบการณ์ที่น่าประทับใจแม้เพียงอย่างเดียวเพื่อช่วยนิยามประจักษ์พยานของพวกเขาไม่ตระหนักว่าประจักษ์พยานที่ยิ่งใหญ่กว่าและพยานของพระวิญญาณเสด็จมาหาเราทุกวัน ในวิธีเล็กน้อยมากมาย เช่นครั้งสุดท้ายเมื่อท่านขีดเส้นใต้ข้อพระคัมภีร์ของท่าน นึกถึงสิ่งนั้น เหตุผลที่ท่านขีดเส้นใต้ข้อพระคัมภีร์ของท่านเพราะว่าท่านได้รับความประทับใจ ความเข้าใจอันลึกซึ้ง ความ “อาฮ่า!” ความประทับใจที่ดลใจคือการเปิดเผย
ตัวอย่างอีกข้อของการเปิดเผยคือเมื่อท่านได้รับการกระตุ้นเตือนให้มีเมตตาหรือทำสิ่งดี “เพราะทุกสิ่งที่เชื้อเชิญให้ทำดี … ส่งมาโดยเดชานุภาพและของประทานของพระคริสต์” (โมโรไน 7:16) ความสว่างของพระคริสต์เป็นอยู่ตลอดกาล! ท่านกำลังลิ้มรสอยู่ทุกๆ วัน และจากเสียงกระซิบเหล่านี้ “จากสิ่งเล็กน้อยบังเกิดเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่” (ค.พ. 64:33)
“โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ท่านจะรู้ความจริงของทุกเรื่อง” (โมโรไน 10:5)
ท่านรู้ถึงใครสักคนในพระคัมภีร์มอรมอนไหมที่เห็นเทพและได้เชื่อ ท่านอาจกำลังนึกถึงแอลมาผู้บุตร เทพได้มาปรากฏต่อท่านและบรรดาบุตรของโมไซยาห์และ “ลงมาประหนึ่งอยู่ในเมฆ; และท่านพูดประหนึ่งด้วยเสียงของฟ้าร้อง” (โมไซยาห์ 27:11) ท่านรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว—การกลับใจของแอลมาและภายหลังเป็นผู้เผยพระวจนะ
การเห็นทำให้แอลมาเชื่อหรือไม่ ไม่เลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะแอลมายังไม่ได้ใช้สิทธิ์เสรีในการเรียนรู้โดยการศึกษาและศรัทธาและยังไม่ได้สวดอ้อนวอนเพื่อรู้ความจริง การเห็นไม่ใช่ทางลัดสู่ศรัทธาหรือประจักษ์พยาน ดังที่เห็นได้ในหลายตัวอย่างที่ข้าพเจ้ากล่าวถึง แอลมาอธิบายว่าท่านเองได้รับประจักษ์พยานได้อย่างไร และท่านไม่ได้ให้เหตุผลของการปรากฏของเทพ ในความเป็นจริง ไม่มีการกล่าวถึงเทพเลยในประจักษ์พยานของท่าน
“และนี่ยังไม่หมด. ท่านไม่คิดหรือว่าข้าพเจ้ารู้ด้วย ตนเองถึงเรื่องเหล่านี้? ดูเถิด, ข้าพเจ้าเป็นพยานแก่ท่านว่าข้าพเจ้ารู้ว่าเรื่องเหล่านี้ที่ข้าพเจ้าพูดมา แล้วเป็นเรื่องจริง. และท่านคิดว่าข้าพเจ้ารู้ถึง ความแน่นอน ของเรื่องเหล่านี้ด้วยวิธีใด?
“ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านว่าเรื่องเหล่านี้เป็นที่รู้แก่ข้าพเจ้า โดยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า [ความสว่างนั้น]. ดูเถิด, ข้าพเจ้าอดอาหารและ สวดอ้อนวอนมาหลายวันเพื่อข้าพเจ้าจะรู้เรื่องเหล่านี้ด้วยตนเอง. และบัดนี้ข้าพเจ้ารู้ด้วยตนเองว่าเรื่องเหล่านี้จริง; เพราะพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้าทรงแสดงเรื่องเหล่านี้ให้ประจักษ์แก่ข้าพเจ้าโดย พระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์; และนี่คือ วิญญาณแห่งการเปิดเผย ซึ่งอยู่กับข้าพเจ้า” (แอลมา 5:45–46; เพิ่มตัวเอน)
“การเตือนให้รู้ตัว” หรือการเปลี่ยนแปลงช่วงสั้นๆ ในพฤติกรรมอาจส่งผลจากภายนอกสู่ภายใน โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า แต่เป็นช่วงสั้นๆ เสมอ ดังเช่นเลมันและเลมิวเอล ประจักษ์พยานที่ยั่งยืนมาจากภายในเท่านั้น เมื่อบุคคลหนึ่งเรียนรู้โดยการศึกษาและศรัทธาโดยมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เพาะเมล็ดพระกิตติคุณ “ไว้ในเขาทั้งหลาย และเราจะจารึกมันไว้บนดวงใจของเขา” (เยเรมีย์ 31:33) นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมชาวนีไฟ ผู้ที่แม้ ได้เห็น ได้ยิน และ ได้สัมผัส พระผู้ช่วยให้รอดเมื่อพระองค์เสด็จไปหาพวกเขา แล้วยัง ได้ลิ้มรส และได้กลิ่น ขนมปังที่พระองค์ทรงประทานให้พวกเขาอย่างน่าอัศจรรย์ (ดู 3 นีไฟ 20:3–9) ถึงอย่างนั้นก็ตามได้ “ [สวดอ้อนวอน] ขอสิ่งซึ่งพวกท่านปรารถนาที่สุด; และพวกท่านปรารถนาว่าจะได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์ประทานมาให้พวกท่าน” (3 นีไฟ 19:9)
หลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าทราบเรื่องต่อไปนี้จากผู้สอนศาสนาสูงอายุคนหนึ่ง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อเขาเป็นหนุ่มในช่วงปี 1960 และยังแสดงให้เห็นภาพด้วยว่าโดยผ่านการศึกษาและการสวดอ้อนวอนเท่านั้นที่พระวิญญาณบริสุทธิ์จะให้พยานของความจริงแก่เรา เขาบอกว่า
“ผมอาศัยในโพรโว ยูทาห์เพียงลำพัง ในอพาร์ทเมนท์เล็กๆ ใกล้กับใจกลางเมือง ผมทำงานเป็นพนักงานขายในร้านเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ ในโพรโว และเป็นช่วงระหว่างวันหยุดยาวของปีใหม่ที่เหตุการณ์ได้เกิดขึ้น
“เราได้มีวันหยุดยาว เป็นวันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม คืนก่อนวันปีใหม่ เรามีวันหยุดงานตั้งแต่วันพฤหัสบดีจนถึงวันอาทิตย์ และผมอยู่ที่อพาร์ทเมนท์ของผมโดยไม่ได้วางแผนว่าจะเฉลิมฉลองอะไร ผมเตรียมอาหารเย็น รอที่จะอบอาหารอยู่ และต้องการอ่านอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่มีอะไรเลยในอพาร์ทเมนท์ ผมได้ไปที่ห้องข้างเคียงเพื่อถามเด็กหนุ่มบางคนที่อาศัยอยู่ที่นั่น (นักศึกษาที่บีวายยู) หากพวกเขามีอะไรสักอย่างให้อ่าน—หวังว่าจะมีนิตยาสารสักเล่มของ ฟิวด์แอนด์สตรีม หรืออะไรสักอย่างแบบนั้น พวกเขาบอกว่าพวกเขาไม่มีนิตยสารอะไรเลย แต่พวกเขามีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมอาจจะอยากอ่าน พวกเขายื่นพระคัมภีร์มอรมอนให้ผม
“ขณะที่ผมได้ยินถึงศาสนจักรมอรมอน (มีใครที่อยู่ในยูทาห์และไม่เคยได้ยินบ้าง) ผมไม่ค่อยคุ้นกับหนังสือเล่มนี้ ผมขอบคุณพวกเขาและนำหนังสือกลับอพาร์ทเมนท์ของผม ระหว่างอาหารค่ำผมได้เปิดดูผ่านๆ และเริ่มอ่าน ผมยอมรับว่าผมอ่านคร่าวๆ ผ่านหลายส่วน พยายามหาเรื่องราว มีชื่อและสถานที่ที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน และผมไม่เข้าใจเลย จากนั้น หลังอาหารค่ำ ผมนำหนังสือหนังนั้นไปคืนพร้อมกับคำว่า “ไม่ครับ ขอบคุณ”
“‘แล้วคุณได้สวดอ้อนวอนเกี่ยวกับหนังสือรึเปล่า’ เด็กหนุ่มคนหนึ่งถาม ‘สวดอ้อนวอนเหรอ’ ผมตอบ ‘ผมแค่อยากอ่านอะไรสักอย่าง ไม่ใช่บางสิ่งที่ผมต้องสวดอ้อนวอน’ สิ่งนี้เริ่มการสนทนาที่น่าสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาของพระคัมภีร์มอรมอน พวกเขาบอกผมว่าเป็นหนังสือพระคัมภีร์ เป็นหนังสือที่ถ้าผมจะสวดอ้อนวอนก่อนแล้วอ่านด้วยเจตนาที่แท้จริงเพื่อรู้ว่าเป็นความจริงหรือไม่ ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเปิดเผยความจริงให้แก่ผมโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์
“ผมเติบโตในศาสนาคาทอลิก และแม้ว่าผมไม่ได้แข็งขันในเวลานั้น ผมยึดมั่นในการเป็นสมาชิกในศาสนาคาทอลิกอย่างแน่นแฟ้นเพราะเป็นศาสนาเดียวที่ผมทราบมาตลอด การสวดอ้อนวอนที่เคยทำคือคำอธิฐานขององค์พระผู้เป็นเจ้า บทวันทามารีอา และการอ่านในหนังสือสวดมนต์ของผม—บางสิ่งที่ไม่ได้ทำมาเป็นเวลานานมาก และเวลานี้เด็กหนุ่มบางคนกำลังขอให้ผมสวดอ้อนวอนถึงพระผู้เป็นเจ้าที่ผมไม่รู้จักจริงๆ และถามพระองค์ให้ทรงบอกผมว่าหากพระคัมภีร์เป็นความจริงหรือไม่ จริงแล้ว ผมก็ไม่มีอะไรทำเลย และจะเป็นสุดสัปดาห์ที่ยาวนานมาก ผมนำพระคัมภีร์กลับบ้านด้วย เปิดกระป๋องเบียร์ จุดบุหรี่ และคุกเข่าและขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงบอกผมถ้าหนังสือเล่มนี้เป็นความจริง จากนั้นผมเริ่มอ่านว่า ‘ข้าพเจ้า, นีไฟ, โดยที่เกิดจากบิดามารดาผู้ประเสริฐ’
“ชื่อและสถานที่ยังเป็นเหมือนเดิมเมื่ออ่านไปในสองสามชั่วโมงที่แล้วก่อนหน้านี้ สิ่งที่แตกต่างในครั้งนี้คือ ‘การระงับความไม่เชื่อไว้ชั่วคราว’ ที่ผมมีอย่างมหัศจรรย์ เหมือนผมอยู่ในหนังสือจริงๆ! ผมเห็นนีไฟ ผมเห็นพี่น้องของท่าน และทำให้ผมโกรธเมื่อพวกเขาทำไม่ดีต่อท่าน ผมชอบนีไฟ! ผมสนับสนุนบุรุษที่ดีท่านนี้ และรู้สึกแย่สำหรับชายที่ไม่ดีเหล่านั้น ผมอ่านหลายชั่วโมง และผมไม่สามารถวางหนังสือลงได้ เมื่อผมมองไปที่นาฬิกา เป็นเวลาตีห้าแล้ว ผมอวยพรปีใหม่ให้ตัวเองแล้วเข้านอน
“ผมตื่นนอนประมาณ 8:30น. และคว้าหนังสือนี้โดยสัญชาตญาณ และนั่นเป็นเช่นนั้นตลอดทั้งสุดสัปดาห์ ดังเช่นบราเดอร์พาร์ลีย์ พี. แพรตต์ ความคิดเกี่ยวกับอาหารเป็นการรบกวน ผมไม่อยากให้อะไรรบกวนผม ผมปิดโทรศัพท์และอ่านทั้งวัน มีหยุดเป็นครั้งคราวเพื่อรับประทานขนมอย่างเร็ว เช่นคืนแรก ในที่สุดผมตระหนักว่าถึงเช้าตรู่แล้ว นอนสักสองสามชั่วโมง หยิบหนังสือ และอ่านแบบมาราธอนต่อไป ในที่สุด ประมาณตีห้าของวันจันทร์ ผมอ่านจบและรู้สึกง่วงมาก—หมดเรี่ยวแรง
“ก่อนถึงวันคริสต์มาสปีนั้น ผมได้ขายงานเกี่ยวกับพรมขนาดใหญ่ในเขตอเมริกันฟอร์ค ซึ่งเป็นพรมชนิดพิเศษ และเจ้านายของผมต้องการให้ผมดูแลการวางชั้นของพรม เจ้านายผมเป็นอดีตอธิการในเขตโพรโวและได้คุยกับผมเกี่ยวกับศาสนจักรหลายครั้ง แต่ผมไม่สนใจเลย เขาเป็นเจ้านายที่ดี แต่คุณไม่อยากทำให้เขาโกรธหรอกเพราะเขาเป็นคนอารมณ์ร้อน เป็นเวลาช่วงแปดนาฬิกาวันนี้เอง ที่ผมควรไปดูแลการปูพรม เวลานัดหมายมาถึง และผมไม่ได้ไป เก้านาฬิกา แล้วก็สิบนาฬิกา
“ในที่สุด ประมาณ 10:30น. เจ้านายผม โมโหเป็นไก่เปียกน้ำ เข้ามาที่อพาร์ตเมนท์ของผม เดินเข้ามาที่ประตูพร้อมที่จะเด็ดศีรษะผมออกจากร่าง เห็นผมนอนอยู่บนโซฟากับพระคัมภีร์มอรมอนวางไว้ที่อก และเปลี่ยนใจเขา เขาปิดประตูเงียบๆ และกลับไปที่ร้าน มั่นใจว่าเขาสามารถเริ่มการวางชั้นของพรมได้ ประมาณสิบเอ็ดนาฬิกาสามสิบนาทีผมตื่นขึ้น (ไม่รู้ว่าเจ้านายมาหา) มองไปที่นาฬิกา และเป็นครั้งที่สองในช่วงเวลาที่ห่างกันไม่นานสวดอ้อนวอนอีกครั้ง ผมแต่งตัวอย่างรวดเร็ว (เชื่อได้เลยว่าเมื่อผมไปถึงที่นั่นผมอาจจะไม่มีงานทำแล้ว) ผมไปที่รถ และเร่งไปที่ทำงานโดยเร็ว
“ผมเห็นเจ้านายของผมที่นั่นและเดินไปขอโทษเขา เขาหันมา พร้อมรอยยิ้มบนใบหน้าของเขา และเขาถามว่า ‘คุณชอบหนังสือเล่นนั้นอย่างไร’ ขณะที่ตระหนักว่าอะไรได้เกิดขึ้น ความนึกคิดของผมย้อนกลับไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และโดยที่เต็มไปด้วยน้ำตาสิ่งเดียวที่ผมพูดได้คือ พระคัมภีร์เป็นความจริง ‘พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้า’ จากนั้นผมเริ่มร้องไห้ และเขาเข้ามากอดผม ผมรับบัพติศมาเป็นสมาชิกของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1965”
ข้าพเจ้าพบกับบราเดอร์ที่ดีคนนี้หลายทศวรรษแล้วหลังจากการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขาขณะที่เขากับภรรยารับใช้คณะเผยแผ่ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวกองพันทหารมอรมอนแซนดีเอโก เหตุผลที่ข้าพเจ้าชื่นชอบเรื่องราวนี้มากคือความแตกต่างระหว่างความพยายามที่จะอ่านพระคัมภีร์มอรมอนสองครั้ง ครั้งแรกเขาเริ่มอ่าน โดยไม่มีเจตนาที่แท้จริงและไม่มีการสวดอ้อนวอน ในความพยายามครั้งที่สอง ด้วยความปรารถนาและการสวดอ้อนวอน กลับเป็นประสบการณ์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง
มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่จะรู้ว่าพระคัมภีร์มอรมอนและพระกิตติคุณเป็นความจริงหรือไม่ และต้องใช้มากกว่าความอยากรู้อยากเห็นและมากกว่าประสาทสัมผัสทั้งห้า การรู้ความจริงต้องใช้สิทธิ์เสรีด้วยความจริงใจและการลงมือปฏิบัติด้วยความปรารถนาที่จะรู้
“และเมื่อท่านจะได้รับเรื่องเหล่านี้, ข้าพเจ้าจะแนะนำท่านให้ทูลถามพระผู้เป็นเจ้า, พระบิดานิรันดร์, ในพระนามของพระคริสต์, ว่าเรื่องเหล่านี้จริงหรือไม่; และหากท่านจะทูลถามด้วยใจจริง, ด้วยเจตนาแท้จริง, โดยมีศรัทธาในพระคริสต์, พระองค์จะทรงแสดงความจริงของเรื่องให้ประจักษ์แก่ท่าน, โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์.
“และโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ท่านจะรู้ความจริงของทุกเรื่อง” (โมโรไน 10:4–5)
คำสัญญานั้นไม่ได้ติดอยู่ในคำจำกัดความของ “พระองค์อาจจะ” หรือ “อาจ” หรือ “บางที” คำสัญญาคือ “พระองค์ จะ ทรงแสดงความจริงของเรื่องให้ประจักษ์แก่ท่าน, โดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์.”
หลักธรรมที่ลึกซึ้งอีกประการที่เราพบในเรื่องนี้คือว่าท่านไม่ต้องอ่านพระคัมภีร์มอรมอนทั้งเล่มก่อนจะได้รับพยาน สำหรับชายผู้ที่อยู่ในเรื่องนี้ เขา ลิ้มรสความสว่าง ในหน้าที่หนึ่ง เขาไม่จำเป็นต้องกินพิซซ่าทั้งถาดก่อนที่จะรู้ว่ามันอร่อย สำหรับคนอื่น อาจเป็นการลิ้มรสที่ได้มาขณะที่ความสว่างหอมหวานขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป นั่นเป็นเหมือนสิ่งที่แอลมาพูดในพระคัมภีร์ข้อนี้ “แท้จริงแล้ว, มันเริ่มให้ความสว่างแก่ความเข้าใจของข้าพเจ้า, แท้จริงแล้ว, มันเริ่มมีรสเลิศสำหรับข้าพเจ้า” (แอลมา 32:28)
ประจักษ์พยานของท่านเข้มแข็งมากกว่าที่ท่านคิด
เมื่อเราเริ่มข้าพเจ้าขอให้ท่านให้คะแนนประจักษ์พยานของท่านในสเปกตรัมของศรัทธา ข้าพเจ้าหวังว่าท่านค้นพบว่าประจักษ์พยานของท่านก้าวหน้ากว่าที่ท่านจินตนาการไว้ โดยมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นผู้สอนท่าน ท่านได้รับความรู้อันสมบูรณ์ของผลของพระกิตติคุณมากมาย และทีละผล บรรทัดมาเติมบรรทัด ประจักษ์พยานของท่านเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นทุกวัน
ยิ่งใครเรียนรู้และดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณ พวกเขายิ่งได้รับความสว่างและแผนของพระบิดากลายเป็นพระกิตติคุณแห่งสามัญสำนึก เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของเราเองว่าผลของต้นไม้แห่งชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าและ “หวานที่สุด, เหนือกว่าทุกสิ่งที่ [เรา] เคยชิมรสมา” และทำให้จิตวิญญาณของเราเต็มเปี่ยม “ด้วยความปรีดียิ่งนัก” (1 นีไฟ 8:11–12) เราเริ่มจะรักสิ่งนั้นเพราะพร ปีติ และซึ่งให้เราควบคุมผลลัพท์ด้านบวกในชีวิตของเราได้และให้ความหวังของความสุขอันไม่มีที่สิ้นสุดในฐานะครอบครัวนิรันดร์
ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าข้าพเจ้ารู้ และข้าพเจ้ารู้ว่าข้าพเจ้ารู้ โดยพระวิญญาณบริสุทธิ์ ว่าพระคัมภีร์มอรมอนเป็นความจริง หนังสือเล่มนี้เป็นพระคำของพระผู้เป็นเจ้า เป็นรสชาติที่หวานและมีค่า ข้าพเจ้าชอบและหวงแหนรสชาตินั้น ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์เป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและว่าพระองค์ทรงถูกตรึงกางเขนและทรงทนทุกข์เพื่อบาปของโลก พระองค์ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดและยังทรงนำทางศาสนจักรและอาณาจักรของพระองค์ที่นี่บนผืนแผ่นดินโลกโดยผ่านทางศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงพระนามของพระองค์และความจริงอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน
© 2015, 2016 โดย Intellectual Reserve, Inc. สงวนสิทธิ์ทุกประการ อนุมัติการแปลภาษาอังกฤษ: 2/15. อนุมัติการแปล: 2/15. แปลจาก “Tasting the Light.” Thai. PD10053676 425