“วิธีมีพระวิญญาณตลอดเวลา” เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน, มี.ค. 2021, 26–29
จงตามเรามา
การเตรียมเพื่อมี พระวิญญาณ ของพระองค์ตลอดเวลา
การเตรียมรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควรในแต่ละสัปดาห์สามารถช่วยให้เรามีพระวิญญาณอยู่กับเราตลอดเวลา
เมื่อข้าพเจ้าอายุ 12 ปี ข้าพเจ้ากับครอบครัวไปสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของศาสนจักรในเขตตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในป่าศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้าจำได้ว่าได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับนิมิตแรกและนิมิตอัศจรรย์อื่นๆ ที่โจเซฟเห็นและคิดว่า “ว้าว! หากข้าพเจ้ามีประสบการณ์ทางวิญญาณอันน่าอัศจรรย์กับสัตภาวะจากสวรรค์เช่นเดียวกับที่โจเซฟมี ชีวิตข้าพเจ้าคงจะสบาย”
ตั้งแต่นั้นมาข้าพเจ้าเรียนรู้ว่าแทนที่จะมีประสบการณ์ทางวิญญาณอันน่าตื่นตาตื่นใจครั้งเดียวในชีวิต ข้าพเจ้าต้องการประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากกว่าเพื่อให้ข้าพเจ้าเข้มแข็งในประจักษ์พยานและอยู่ในเส้นทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย พระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าเราจะต้องการการนำทางอย่างสม่ำเสมอในชีวิตเรา และพระองค์ทรงเตรียมหนทางไว้ให้เราได้รับการนำทางนั้น
พระองค์ทรงมอบของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้ทุกคนที่มีศรัทธาเพียงพอในพระบุตรของพระองค์ที่จะกลับใจและรับบัพติศมา โดยผ่านศาสนพิธีศีลระลึกประจำสัปดาห์ พระองค์ทรงทำให้เป็นไปได้สำหรับเราในการ “มีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [เรา] ตลอดเวลา” หากเราระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77) สิ่งนี้ทำให้เราเข้าถึงการนำทางของพระวิญญาณทุกวันในชีวิตเราขณะที่เราใช้สิทธิ์เสรีเพื่อทำการตัดสินใจที่จะช่วยเราตามเส้นทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์
ศีลระลึกและพระวิญญาณ
พระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าเราต้องการเข้าถึงการนำทางจากพระวิญญาณของพระองค์เป็นประจำ ไม่ใช่ประสบการณ์ยิ่งใหญ่เพียงครั้งเดียว โดยผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ พระองค์ทรงฟื้นฟูศาสนพิธีบัพติศมาโดยการลงไปในน้ำทั้งตัว ซึ่งช่วยให้เราสะอาด จากนั้นเราพร้อมรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์โดยการยืนยัน ซึ่งทำให้เราได้รับการนำทางจากพระวิญญาณทุกวัน
พระบิดาบนสวรรค์ทรงทราบว่าการสะอาดเพียงครั้งเดียวไม่เพียงพอและเราจำเป็นต้องระลึกถึงพระผู้ช่วยให้รอดและกลับมาสะอาดครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้พระวิญญาณอยู่กับเราตลอดเวลา พระองค์ทรงพื้นฟูศาสนพิธีศีลระลึกเพื่อจุดประสงค์นั้น หากเราเตรียมตัวให้ดีและรับส่วนศีลระลึกเป็นประจำ เราได้รับสัญญาว่าเรา “จะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับ [เรา] ตลอดเวลา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77; เน้นตัวเอน)
อย่างไรก็ตาม เพียงการไปโบสถ์และการรับประทานขนมปังและดื่มน้ำจะไม่เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงสัญญาของพระเจ้าได้ การตั้งใจเตรียมพร้อมของเราสำหรับศาสนพิธีทำให้เราได้รับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดในชีวิตเรา
นักกีฬาคงไม่เชี่ยวชาญเพียงเพราะสวมเครื่องแบบหรือเดินเข้าไปในสนามหรือสนามแข่งขัน พวกเขาต้องฝึกฝนร่างกาย เรียนรู้เทคนิค และฝึกซ้อมเพื่อให้มีความเชี่ยวชาญในการเล่นกีฬาของตน ในทำนองเดียวกัน เราต้องเรียนรู้วิธีเตรียมพร้อมเพื่อรับส่วนศีลระลึกด้วยความคารวะและมีค่าควรเพื่อเราจะรับเดชานุภาพที่พระองค์ประทานแก่เราได้
วิธีหนึ่งในการเตรียมใจและวิญญาณของท่านให้พร้อมรับส่วนศีลระลึกคือการสัมภาษณ์ตนเองอย่างสั้นๆ ในแต่ละสัปดาห์ ข้าพเจ้าชอบใช้ หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 สัมภาษณ์ตนเอง พระคัมภีร์ข้อนี้มีข้อกำหนดสำหรับบัพติศมาที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยแก่ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ มีคุณสมบัติที่ทุกคนซึ่งต้องการรับบัพติศมาต้องมี ข้าพเจ้าพบว่าข้อพระคัมภีร์ดังกล่าวช่วยข้าพเจ้าเตรียมตนเองให้พร้อมรับการต่อสัญญาที่มีผ่านศีลระลึก
โดยใช้พระคัมภีร์ข้อนั้นเป็นแนวทาง ต่อไปนี้เป็นคำถามบางข้อที่ข้าพเจ้าถามตนเองเพื่อดูว่าข้าพเจ้าพร้อมจะรับส่วนศีลระลึกหรือไม่
ฉันนอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้าหรือไม่?
ข้อกำหนดข้อแรกที่อยู่ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 คือนอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า เราทำสิ่งนี้โดยยอมรับและเต็มใจทำตามพระประสงค์ของพระองค์ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ ที่สอนโดยผู้รับใช้ของพระองค์ หรือที่มาสู่เราในการกระตุ้นเตือน
ข้าพเจ้าถามตนเองว่าฉันกำลังขัดแย้งกับพระผู้เป็นเจ้าเรื่องใดเรื่องหนึ่งในชีวิตฉันตอนนี้หรือไม่ ฉันต่อต้านการนำทางของพระองค์หรือไม่? ฉันใส่ใจคำสอนของผู้รับใช้ของพระองค์หรือไม่? หากข้าพเจ้าไม่ใส่ใจ ข้าพเจ้าจะวางแผนปรับปรุงและมุ่งมั่นทำให้ดีขึ้นขณะเตรียมพร้อมเพื่อรับส่วนศีลระลึก พระผู้เป็นเจ้าทรงรอบรู้—เมื่อข้าพเจ้าตระหนักว่าพระองค์ทรงสามารถเห็นภาพรวมของชีวิตข้าพเจ้าได้ สิ่งนี้ทำให้ง่ายขึ้นที่จะนอบน้อมถ่อมตนต่อพระพักตร์พระองค์และวางใจว่าพระองค์จะทรงนำทางข้าพเจ้าไปยังสิ่งที่ดีที่สุด
ฉันมีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดหรือไม่?
การมีใจที่ชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิดเกี่ยวข้องกับความนอบน้อมถ่อมตน หมายถึงความเต็มใจยอมทำตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ความอ่อนน้อมถ่อมตนหมายถึงการพูดว่าเราขอโทษและให้อภัยแม้เป็นเรื่องยากหรือเมื่อเรารู้สึกว่าคนอื่นเป็นฝ่ายผิด ท่านพูดได้ไหมว่า “ฉันบริสุทธิ์ใจต่อทุกคน”? ท่านเคยทำร้ายคนรอบข้าง หรือท่านมีความรู้สึกไม่ดีกับใครบางคนหรือไม่? ท่านต้องขออภัยหรือไม่?
เมื่อข้าพเจ้ามีใจชอกช้ำและวิญญาณที่สำนึกผิด ข้าพเจ้าเต็มใจพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องต่อพระผู้เป็นเจ้าและคนรอบข้าง ข้าพเจ้าพยายามขจัดความคิดและความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อผู้อื่น พระวิญญาณไม่ทรงสถิตกับเราเมื่อเรามีความรู้สึกขัดแย้ง ดังนั้นการขจัดความรู้สึกเหล่านี้จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการเตรียมตนเองให้พร้อมรับสัญญาแห่งศีลระลึก
ฉันปรารถนาจะกลับมาสะอาดอีกครั้งหรือไม่ และฉันจะเป็นพยานได้หรือไม่ว่าฉันกลับใจจากบาปทั้งหมดแล้ว?
ข้อกำหนดอีกข้อใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:37 คือการ “กลับใจอย่างแท้จริงจากบาปทั้งหมดของเรา” เมื่อเรารับบัพติศมา เราได้รับการชำระให้สะอาดจากบาปของเรา เราทำสัญญาว่าจะพยายามรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าและกลับใจเมื่อเราทำผิดพลาด
ข้าพเจ้าถามตนเองว่า “ฉันแค่รับศีลระลึกเพราะคิดว่าฉันควรรับ หรือฉันต้องการกลับมาสะอาดอีกครั้งจริงๆ ?” ข้าพเจ้านึกถึงบาปและความผิดพลาดของข้าพเจ้าจากสัปดาห์นั้นและถามตนเองว่าต้องการเปลี่ยนแปลงและขจัดสิ่งเหล่านั้นจริงๆ หรือไม่ เมื่อท่านมีความปรารถนาที่จะสะอาด โดยพระวิญญาณท่านจะเห็นสิ่งที่ท่านต้องปรับปรุง และพระองค์จะทรงกระตุ้นเตือนท่านต่อไปให้กลับใจและทำการเลือกที่ดีขึ้น
การสารภาพต่อพระเจ้า (และต่อผู้อื่นที่เราอาจทำร้ายหรือทำให้ขุ่นเคืองหากจำเป็น) เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมของเรา
ถามตนเองว่า “มีสิ่งที่ฉันต้องเปลี่ยนแต่ยังไม่ได้เปลี่ยนหรือไม่? มีสิ่งที่ฉันยังต้องกลับใจหรือไม่?” การแก้ปัญหาโดยการกลับใจอย่างจริงใจสามารถทำให้เรามีคุณสมบัติที่จะรับส่วนศีลระลึกอย่างมีค่าควร
ฉันเต็มใจรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตนเองหรือไม่?
พันธสัญญาแต่ละข้อที่เราทำบ่งบอกถึงความมุ่งมั่นที่จะรับพระนามของพระคริสต์ไว้กับเราอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น เมื่อเรารับบัพติศมา เราแสดงความเต็มใจที่จะรับพระนามของพระเยซูคริสต์ไว้กับตัวเราและรักษาพระบัญญัติของพระองค์ เมื่อเราทำพันธสัญญาเพิ่มเติมในพระวิหารหรือยอมรับการเรียก เรารับอุดมการณ์ของพระคริสต์และคำสอนของพระองค์ไว้กับตัวเราเพิ่มขึ้น การแสดงความเต็มใจที่จะรับพระนามของพระองค์ไว้กับตัวเราตามที่เป็นส่วนหนึ่งของศีลระลึกในแต่ละสัปดาห์หมายถึงการให้คำมั่นอีกครั้งต่อพันธสัญญาและคำมั่นสัญญาทั้งหมดที่เราทำไว้กับพระองค์ก่อนหน้านี้
ในการประเมินการเตรียมพร้อมรับศีลระลึก ข้าพเจ้าถามคำถามทำนองนี้กับตนเอง “ฉันทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเป็นแบบอย่างของพระคริสต์และคำสอนของพระองค์หรือไม่? ฉันรักษาสัญญา ทั้งหมด ที่ทำอันเกี่ยวข้องกับพันธสัญญาของฉันหรือไม่? วันนี้ฉันแน่วแน่ต่อพระคริสต์และพันธสัญญาของฉันกับพระองค์เหมือนที่ฉันทำในวันแรกหรือไม่?”
ฉันมีความมุ่งมั่นที่จะรับใช้พระองค์จนถึงที่สุดหรือไม่?
เราสัญญากับพระเจ้าเมื่อเราทำพันธสัญญาบัพติศมาว่าเราจะพยายามรักษาพระบัญญัติของพระองค์ พระบัญญัติข้อสำคัญสองข้อคือรักพระเจ้าและรักเพื่อนบ้านของท่าน (ดู มัทธิว 22:36–40) เราแสดงความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าและเพื่อนมนุษย์โดยการรับใช้พวกเขา
ข้าพเจ้าถามตนเองว่า “ฉันจัดเวลาเพื่อรับใช้หรือไม่? ฉันฝืนใจรับใช้หรือฉันมีความสุขที่จะรับใช้?” “ฉันพยายามขยายการเรียกของฉันหรือไม่?” การรับใช้ผู้อื่นเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการเตรียมรับส่วนศีลระลึก อันที่จริง บ่อยครั้งที่สุดเป็นการรับใช้ผู้อื่นที่เราต้องการการนำทางของพระวิญญาณ
วางใจในสัญญาของพระเจ้า
เมื่อเราตั้งใจเตรียมในแต่ละสัปดาห์เพื่อรับศีลระลึกอย่างมีค่าควร เราจะมีคุณสมบัติที่จะมีพระวิญญาณเป็นอิทธิพลและนำทางชีวิตเราตลอดเวลา นั่นคือสัญญาจากพระเจ้า