เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน
ท่านอาศัยอยู่ในเมืองใด?
มิถุนายน 2024


“ท่านอาศัยอยู่ในเมืองใด?,” เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน, มิถุนายน 2024.

จงตามเรามา

แอลมา 5; 7

ท่านอาศัย อยู่ในเมืองใด?

แอลมาแสดงให้เราเห็นว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดทางวิญญาณ พระเจ้าประทานข่าวสารที่เราต้องการ

ภาพ
ทิวทัศน์ของเมือง

ภาพประกอบโดย อัลเบิร์ต เอสปี

เป็นเวลากว่าแปดปีที่ศาสดาพยากรณ์แอลมามีงานสองอย่าง: มหาปุโรหิตและหัวหน้าผู้พิพากษา แต่เมื่อเห็นว่าสมาชิกศาสนจักรหลายคนกลายเป็นคนชั่วร้าย เขาจึงสละตําแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่อจะได้ใช้เวลาสั่งสอนผู้คนมากขึ้น

เมืองแรกที่เขาสั่งสอนคือเซราเฮ็มลา (ดู แอลมา 5) เมืองที่สองคือกิเดียน (ดู แอลมา 7)

ข่าวสารของเขาในสองเมืองนี้มีความคล้ายคลึงกันบ้าง แต่ก็มีความแตกต่างที่สำคัญเช่นกัน

ผู้คนของเซราเฮ็มลาต้องตื่นมารับรู้ว่าพวกเขาตกต่ำทางวิญญาณมากเพียงใดและพวกเขาต้องกลับใจมากเพียงใด แต่ผู้คนของกิเดียนได้รับการเตรียมพร้อมทางวิญญาณสำหรับข่าวสารอีกแบบหนึ่ง

เราสามารถเรียนรู้จากข่าวสารต่างๆ ที่แอลมาสอนผู้คนในสองเมืองนี้ ต่อไปนี้เป็นสาระสําคัญสองสามเรื่องที่ข่าวสารเหล่านี้มีเหมือนกันและวิธีต่างๆ ที่แอลมาสอนพวกเขา

จดจํา

เซราเฮ็มลา: แอลมากระตุ้นให้ผู้คน มองย้อนกลับไปและจดจํา “ความเป็นเชลยของบรรพบุรุษท่าน และพระเมตตาและความอดกลั้น [ของพระผู้เป็นเจ้า] ที่มีต่อพวกเขา” (แอลมา 5:6) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เขาพูดถึงอิทธิพลชั่วร้ายที่กษัตริย์โนอาห์มีต่อพวกเขา ว่าอิทธิพลนั้นนําไปสู่ความเป็นทาสของพวกเขาอย่างไร และพระเจ้าทรงปลดปล่อยพวกเขาอย่างน่าอัศจรรย์อย่างไรหลังจากพวกเขากลับใจ นอกจากนี้ แอลมาขอให้พวกเขานึกถึงประสบการณ์ทางวิญญาณในอดีตของตนเองและพิจารณาว่าพวกเขาจะรู้สึกแบบเดียวกันตอนนี้ได้หรือไม่ (ดู แอลมา 5:26) ด้วยการจดจํานี้ แอลมาขอให้พวกเขาตั้งตารอและจินตนาการเมื่อพวกเขาจะยืนรับการพิพากษาจากพระเจ้า (ดู แอลมา 5:15–24)

กิเดียน: แอลมากระตุ้นให้ผู้คน ตั้งตารอและจดจำ คำสัญญาเรื่องชีวิตนิรันดร์ต่อคนที่กลับใจ รับบัพติศมา เข้าสู่พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า และรักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 7:16)

กลับใจ

เซราเฮ็มลา: ผู้คนได้รับคำพูดรุนแรงจากแอลมาเกี่ยวกับความจำเป็นในการกลับใจ ตัวอย่างเช่น: “วิบัติแก่ท่านทั้งหลายผู้ทำงานแห่งความชั่วช้าสามานย์; จงกลับใจ, จงกลับใจเถิด, เพราะพระเจ้าพระผู้เป็นเจ้ารับสั่งเรื่องนี้!” (แอลมา 5:32) แอลมาสั่งสอนพวกเขาเป็นเวลา นาน เกี่ยวกับบาปที่เฉพาะเจาะจงของพวกเขาและผลของบาปเหล่านั้น

กิเดียน: พวกเขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่เป็นบาปเช่นเดียวกับผู้คนของเซราเฮ็มลา แอลมาสอนให้พวกเขากลับใจเพื่อแสดงศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด รับเดชานุภาพของพระองค์ เตรียมรับการเสด็จมาของพระองค์ และเตรียมทําพันธสัญญา (ดู แอลมา 7:9–16)

หันไปหาพระผู้ช่วยให้รอด

เซราเฮ็มลา: แอลมาสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ว่าเป็น “พระเมษบาลผู้ประเสริฐ [ผู้] ทรงเรียกท่าน … ในพระนามของพระองค์เอง” (แอลมา 5:38) เขาสอนเช่นกันเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูคริสต์ “เอาบาปของโลกไป, แท้จริงแล้ว, บาปของทุกคนที่เชื่อในพระนามของพระองค์อย่างแน่วแน่” (แอลมา 5:48)

กิเดียน: แอลมามุ่งเน้น “สิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญกว่า” สิ่งทั้งปวงคือ: พระผู้ช่วยให้รอดพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจของพระองค์ในการไถ่มนุษยชาติ (แอลมา 7:7)

แอลมาสอนเกี่ยวกับหลายสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงทนทุกข์เพื่อเรา: นั่นคือ “ความเจ็บปวดและความทุกข์และการล่อลวง” “ความเจ็บไข้” “ความตาย” “ความทุพพลภาพ” (แอลมา 7:11–12) และแอลมาสอนว่า เหตุใด พระผู้ช่วยให้รอดจึงทรงทนทุกข์สิ่งเหล่านี้: “เพื่ออุทรของพระองค์จะเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา, ตามเนื้อหนัง, เพื่อพระองค์จะทรงรู้ตามเนื้อหนังว่าจะทรง [ช่วยหรือบรรเทาทุกข์] ผู้คนของพระองค์ตามความทุพพลภาพของพวกเขาได้อย่างไร” และ “เพื่อพระองค์จะทรงรับเอาบาปของผู้คนของพระองค์, เพื่อพระองค์จะทรงลบการล่วงละเมิดของพวกเขา” (แอลมา 7:12–13)

นี่เป็นคําสอนอันล้ำค่า พระผู้ช่วยให้รอดทรงทนทุกข์หลายอย่างทั้งนี้เพื่อพระองค์จะทรงมีพระเมตตาต่อเราอย่างสมบูรณ์และทรงรู้วิธีช่วยเรา

ภาพ
ทิวทัศน์ของเมือง

เรามีปีติได้

เราสามารถเชื่อมโยงการสั่งสอนของแอลมาในเซราเฮ็มลาและกิเดียนกับตัวเราเอง ตัวอย่างเช่น:

  • เราอาจจำเป็นต้องได้ยินข่าวสารที่แตกต่างกันในสภาวการณ์ที่แตกต่างกันในชีวิตเรา

  • ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ใดทางวิญญาณในปัจจุบัน เราสามารถเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอด กลับใจ และพบปีติได้เสมอ

  • ถ้าเราเตรียมพร้อมทางวิญญาณ เราจะได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น รวมถึงความจริงอันล้ำค่าที่ช่วยให้เราเข้าใกล้พระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น

ในท้ายที่สุด แอลมามีปีติกับคนทั้งสองกลุ่ม ในเซราเฮ็มลา “หลังจากที่ฟันฝ่าความทุกข์และโทมนัสมามากแล้ว” (แอลมา 7:5) ท่านมีปีติเพราะพวกเขากลับใจ ในกิเดียน ท่านมีปีติเพราะรู้ว่าพวกเขามีศรัทธาแรงกล้าอยู่แล้วในถ้อยคําที่ท่านสอนพวกเขาเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด (ดู แอลมา 7:17) และให้ “ความขยันหมั่นเพียรและความใส่ใจยิ่ง” ต่อถ้อยคําของท่าน (แอลมา 7:26)

ครั้งต่อไปที่ผู้รับใช้ของพระเจ้าจะพูดกับท่าน ท่านอาจจะนึกถึงข่าวสารประเภทที่ท่านต้องการและพร้อมรับ

อ้างอิง

  1. แต่เมื่อเทพปรากฏต่อแอลมาและบุตรของโมไซยาห์เป็นครั้งแรกเพื่อทำให้พวกเขากลับใจ นี่คือสิ่งที่ท่านบอกให้พวกเขาจดจำ (ดู โมไซยาห์ 27:16)

พิมพ์