หนังสือน่าอัศจรรย์ของมอรมอน
มอรมอนทำงานที่น่าท้อใจของการย่อบันทึกชาวนีไฟจนสำเร็จในวิธีที่น่าอัศจรรย์และมีประสิทธิผล
เมื่อมอรมอนเห็นว่าผู้คนชาวนีไฟกำลังจะถูกทำลายสิ้น ท่านจึงเริ่ม “เขียนคำย่อสั้นๆ” ของบันทึกของพวกเขา (มอรมอน 5:9) โครงการนี้เริ่มตรงสถานที่สุดท้ายที่ชาวนีไฟตั้งค่ายก่อนรวมตัวกันไปแผ่นดินคาโมราห์ในที่สุด สภาพความเป็นอยู่ที่ชาวนีไฟกำลังอดทนไม่อาจเป็นอะไรได้นอกจากสาหัสมาก ผู้คนเป็นพวกลี้ภัยที่มีแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่พักไม่แน่นอน การเขียนของมอรมอนน่าจะขยายเข้าไปในช่วงเวลาสี่ปีของการเตรียมสู้รบครั้งสุดท้ายตามที่ผู้บัญชาการชาวเลมันเห็นชอบ แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม มอรมอนย่อประวัติจนเสร็จและฝังไว้ในเนินเขาคาโมราห์นานก่อนความขัดแย้งครั้งสุดท้าย (ดู มอรมอน 6:6)
เห็นได้ชัดว่าการสร้างพระคัมภีร์มอรมอนเป็นงานที่น่าท้อใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มอรมอนต้องทำงานนี้ใน “ช่วงสงคราม” และทำหน้าที่บังคับบัญชากองทัพไปด้วยขณะพวกเขาเตรียมการสู้รบครั้งสุดท้าย และอย่างที่เข้าใจ ผลงานขั้นสุดท้ายใช่ว่าจะไม่มีข้อบกพร่อง1
ขีดจำกัดเกี่ยวกับงานของมอรมอน
พิจารณาขีดจำกัดบางประการที่มอรมอนประสบขณะทำให้เป้าหมายของท่านเป็นจริง ดังนี้
-
ขนาดของบันทึกใหม่ของท่านจะต้องจำกัดมาก บันทึกต้องเบาพอที่โมโรไนสามารถนำติดตัวไปยังที่ปลอดภัย
-
วัสดุต้องพร้อมจะคงทนหลายศตวรรษ
-
ในบรรดาระบบการเขียนที่มอรมอนน่าจะใช้ มีเพียงระบบเดียวที่กระชับพอจะบรรจุลงในบันทึก
-
ความเรียงเชิงบรรยายต้องยาวพอใช้ ตรงกับข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ในบันทึกที่ท่านกำลังสรุป และใช้คำพูดในแบบที่ท่านเห็นเหมาะสม
-
กำหนดการทำงานสั้น มอรมอนมีเวลาทำสามปีเศษในการรวบรวมและเขียนประวัติศาสตร์กว่า 600 ปี ท่านอาจไม่มีเวลาอ่านบันทึกในมือทั้งหมดด้วยซ้ำ และแน่นอนว่าคงไม่มีเวลาปรับหรือแก้ไขสำนวนหรือรูปแบบภาษา
เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งหมดนี้ มอรมอนได้เลือกรวมข้อมูลใดและตัดทอนข้อมูลใด
ในบางด้านผลสำเร็จในการจัดทำพระคัมภีร์มอรมอนด้วยการดลใจของมอรมอนเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและน่ายกย่องพอๆ กับความสำเร็จในเวลาต่อมาของโจเซฟ สมิธในการแปลบันทึกด้วยเวลาอันสั้น
การเลือกระบบการเขียน
เนื้อหาพระคัมภีร์มอรมอนมีหลายจุดบอกให้รู้ว่าผู้จดมีความยุ่งยากในการทำให้ข้อความของพวกเขาชัดเจน (ดู เจคอบ 4:1; มอรมอน 9:33; อีเธอร์ 12:23–25, 40) มอรมอนกล่าวว่า “มีหลายเรื่องซึ่ง, เราไม่สามารถจะเขียนได้, ตามภาษาของเรา” (3 นีไฟ 5:18) “ภาษาของเรา” ในความหมายนี้เห็นชัดว่ากล่าวถึงระบบการเขียนของพวกเขา ไม่ใช่ภาษาพูด โมโรไนบอกเราอีกว่าคงจะ “ไม่พบความบกพร่อง” (มอรมอน 9:33) หากใช้ตัวเขียนภาษาฮีบรู ระบบเรียงตามตัวอักษร
นักประวัติศาสตร์ชาวนีไฟเรียก “อักขระ” ที่ใช้เขียนว่า “ภาษาอียิปต์ปฏิรูป” (มอรมอน 9:32) ระบบนี้ประกอบด้วย “สิ่งเรียนรู้ของชาวยิวและภาษาของชาวอียิปต์” (1 นีไฟ 1:2) ในปาเลสไตน์สมัยโบราณบางครั้งใช้ภาพสัญลักษณ์ภาษาฮียิปต์เขียนเสียงคำภาษาฮีบรู2 จากตัวอย่างอักขระใน “ฉบับแอนธัน”3 ซึ่งอ้างว่าเป็นสำเนาอักขระจากแผ่นจารึกที่โจเซฟ สมิธแปล ปรากฏชัดว่าไม่ได้จำลองแบบตามตัวเขียนภาษาอียิปต์ที่่ใช้ประจำวันในสมัยของลีไฮ หากแต่มองดูเหมือนเครื่องหมายของแบบตัวเขียนอียิปต์โบราณมากกว่า ซึ่งเป็นระบบเครื่องหมายเทียบเคียงที่เก่ากว่าและยังใช้อยู่เมื่อพวกเขาใช้พู่กันและน้ำหมึกแทนการสลักบนหิน
แบบตัวเขียนอียิปต์โบราณกระชับกว่าแบบตัวอักษรภาษาฮีบรูแต่กำกวมกว่าด้วย เพราะอักขระส่วนใหญ่ใช้แทนหน่วยคำซับซ้อนทั้งหมด (ปัจจุบันเรียกว่าภาษาภาพ) แทนที่จะฟังแล้วสะกดออกมาเป็นคำตามตัวอักษร พวกเขาต้องท่องจำความหมายของภาษาภาพแต่ละภาพ ความกำกวมนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา “การใช้ถ้อยคำของพวกข้าพระองค์” (อีเธอร์ 12:25) ตามที่โมโรไนพูดถึง
สาเหตุเพิ่มเติมของ “ความบกพร่อง” อาจเป็นว่าตั้งแต่ใช้แบบตัวเขียนของอียิปต์โบราณเป็นหลักแล้ว การใช้ตัวเขียนดังกล่าวสลักบันทึกบนแผ่นโลหะจึงอาจหมายความว่าความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ของผู้สลักที่ไม่มี “ยางลบ” ดีๆ ไว้แก้อาจส่งผลให้อ่านอักขระผิด
บันทึกหลายชุด
นอกจากแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟแล้ว การสร้างความเรียงเชิงบรรยายของมอรมอนยังใช้เอกสารเพิ่มเติมในบางจุดด้วย เขาเขียนหลายครั้งว่าเขาอาศัย “บันทึก [ของแอลมา] ” (แอลมา 5:2; บทที่ 7, หัวบท; 35:16) เขาใช้ประโยชน์จาก “บันทึกของฮีลามัน” และ “ของบุตรทั้งหลายของเขา” ด้วย (คำนำของหนังสือของฮีลามัน) และเราอ่านจาก “บันทึกของนีไฟ” ด้วย (3 นีไฟ 5:10)
บางครั้งมอรมอนอาศัยงานเขียนต้นฉบับอื่นๆ ด้วย ซึ่งบางอย่างเขาไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน บันทึกเพิ่มเติมบางอย่างที่เขาอาจใช้ได้แก่
-
เนื้อหาโอวาทครั้งใหญ่ของกษัตริย์เบ็นจามิน (โมไซยาห์ 2:9–โมไซยาห์ 5)
-
บันทึกบนแผ่นจารึกของซีนิฟฟ์ (โมไซยาห์ 9–22)
-
บันทึกการสั่งสอนของแอลมาที่เซราเฮ็มลา กิเดียน และมีเล็ค (แอลมา 5, 7 และ 8)
-
เรื่องราวจากประสบการณ์ของแอลมาและอมิวเล็คที่แอมันไนฮาห์ (แอลมา 9–14)
-
เรื่องราวโดยละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจของพวกบุตรของโมไซยาห์กับคู่ของพวกเขาในบรรดาชาวเลมัน (แอลมา 17–27)
-
โอวาทของแอลมาต่อฮีลามัน ชิบลัน และโคริแอนทอนบุตรชาย (แอลมา 36–42)
โมโรไนรวมการแปลของท่านและบทสรุปประวัติศาสตร์ชาวเจเร็ดของอีเธอร์ที่โมโรไนเตรียมและแนบท้ายเป็นหนังสือของอีเธอร์ ตลอดจนข้อความที่คัดลอกมาจากคำสอนและจดหมายจากมอรมอนบิดาของท่านไว้ในนั้นด้วย (โมโรไน 7–9)4
บันทึกศักดิ์สิทธิ์หลักๆ จารึกไว้บนโลหะเพื่อความคงทนถาวร พวกเขาถือว่า เรื่องราวที่จารึกไว้บนวัตถุที่เสียหายง่ายกว่าจะอ่านไม่ได้เมื่อเวลาผ่านไป (ดู เจคอบ 4:2) เราทราบว่ามีการใช้สำเนาพระคัมภีร์เป็นกระดาษในชีวิตประจำวันเพราะมีการเผาสำเนาเหล่านั้นในความครอบครองของผู้เปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาที่แอมันไนฮาห์ (ดู แอลมา 14:8; เปรียบเทียบ โมไซยาห์ 2:8; 29:4; และ แอลมา 63:12) แผ่นจารึกโลหะผลิตและสลักบนนั้นได้ไม่ง่าย (ดู มอรมอน 8:5) ด้วยเหตุนี้จึงมีใช้จำกัด
มอรมอนเรียบเรียงประวัติของท่านโดยวาดบนวัสดุต่างๆ ที่มีให้ท่าน “ตามความรู้และความเข้าใจซึ่งพระผู้เป็นเจ้า” ประทานแก่ท่าน (ถ้อยคำของมอรมอน 1:9) ความช่วยเหลือจากเบื้องบนบางครั้งตรงไปตรงมาและเฉพาะเจาะจง เช่นเมื่อพระเจ้าทรงสั่งท่านไม่ให้รวมรายละเอียดที่ยาวกว่าคำสอนที่พระเยซูทรงสอนชาวนีไฟ (ดู 3 นีไฟ 26:6-12) แต่ไม่ได้ให้ข้อบ่งชี้ว่าได้เปิดเผยข้อมูลประวัติศาสตร์เพิ่มเติมต่อท่าน
“และดังนั้นเราจึงเห็น”
มอรมอนกล่าวหลายครั้งว่าความย่อของท่านไม่ได้มากกว่าส่วนน้อยของเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ที่พบบนแผ่นจารึกใหญ่ของนีไฟ (ดู ถ้อยคำของมอรมอน 1:5; 3 นีไฟ 5:8; 26:6; ดู เจคอบ 3:13–14; 4:1 ด้วย) แล้วท่านเลือกเนื้อหาอย่างไร
เกณฑ์เบื้องต้นของท่านบอกชัดหลายครั้งในหนังสือของท่าน เป้าหมายคือเพื่อให้แน่ใจว่าผู้อ่านของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อยู่อาศัยในอนาคตของแผ่นดินอมริกาที่สัญญาไว้ และที่พิเศษคือผู้สืบตระกูลของลีไฮ เข้าใจความสำคัญของคำสัญญาและคำพยากรณ์ที่ประทานแก่ท่านบิดาลีไฮ นั่นคือ “ตราบเท่าที่พวกเจ้าจะรักษาพระบัญญัติของเรา พวกเจ้าจะรุ่งเรืองในแผ่นดิน” (เจรอม 1:9) ความจริงแล้ว มอรมอนให้ความสนใจมากที่สุดกับรูปแบบที่เป็น ลบ ของอเมรันเกี่ยวกับคำประกาศของลีไฮ นั่นคือ “ตราบเท่าที่พวกเจ้าจะ ไม่ รักษาบัญญัติของเรา พวกเจ้าจะ ไม่ รุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดิน” (ออมไน 1:6; เน้นตัวเอน)
บทเรียนของมอรมอนแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนระหว่างความดีกับความชั่ว ผู้คนในบันทึกของท่านเน้นการเชื่อฟังและคุณธรรมในมุมหนึ่งกับความดื้อรั้นอย่างร้ายกาจในอีกมุมหนึ่ง ท่านอธิบายว่าคนเลวคือคนชั่วเต็มตัวและสมควรได้รับผลจากการกระทำของพวกเขา ท่านอธิบายว่าวีรบุรุษคือคนที่น่ายกย่องเกือบทุกด้าน คนที่อยู่ในโซนสีเทาแทบไม่มีบันทึกไว้ มอรมอนไม่ต้องการทิ้งข้อสงสัยใดๆ ไว้ในใจผู้อ่านว่าความดีและความเลวต่างกันคนละขั้ว (สังเกตถ้อยคำของมอรมอนเกี่ยวกับความแตกต่างดังกล่าวใน โมโรไน 7:5–19) มอรมอนได้เพิ่มการตีความที่ท่านได้รับการดลใจเข้าไปในรายงานบางส่วนของท่านแน่นอน กรณีนี้มักเห็นได้จากการใช้วลีเช่น “และดังนั้นเราจึงเห็น” (ดูตัวอย่างใน แอลมา 42:4, 7, 14; ฮีลามัน 3:23–31; 6:34–40)
มอรมอนและโม โรไนนำเสนอบันทึก “ย่อ” ของพวกท่านต่อผู้อ่านในอนาคตในรูปของประวัติศาสตร์เชิงตีความ พวกท่านเขียนบันทึกให้ชาวโลกไม่เหมือนนักประวัติศาสตร์เขียนประวัติศาสตร์ แต่เหมือนเป็นข่าวสารอันเปี่ยมด้วยพลังทางศีลธรรมที่มุ่งให้ผู้อ่านได้รับบทเรียนที่ชายสองคนได้เรียนรู้จากการรับใช้ผู้คนของพวกท่านและพระผู้เป็นเจ้าอย่างยากลำบากมายาวนาน พวกท่านใช้แหล่งข้อมูลซึ่งดีที่สุดในวิธีที่ได้ผลมากที่สุดเท่าที่พวกท่านรู้ ความมานะพยายามและการอุทิศตนที่งานของพวกท่านแสดงให้เห็นล้วนเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนทั้งปวงในสมัยของเรา
พวกท่านได้รับความขอบคุณอย่างสุดซึ้งจากข้าพเจ้า