2016
เมื่อลูกทิ้งศาสนจักร
กุมภาพันธ์ 2016


เมื่อลูก ทิ้ง ศาสนจักร

ผู้เขียนอาศัยอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา

เราสามารถน้อมรับหลักธรรมที่ทำให้ลูกๆ ของเราได้รับพรด้วยการมีสิทธิ์เสรีแม้เมื่อพวกเขาใช้สิทธิ์เสรีนั้นบ่ายหน้าไปในทิศทางที่เราไม่เห็นด้วย

ภาพ
illustration of a woman standing behind a tree by a church building

ภาพประกอบโดย ไอเคอร์ อายสตาราน

หลายสัปดาห์ผ่านไปตั้งแต่ลูกสาวที่เป็นผู้ใหญ่ย้ายไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง และแต่ละวันอาทิตย์ที่เธอขาดโบสถ์ทำให้ดิฉันเป็นห่วงทุกครั้ง เธอจะกลับมาโบสถ์ไหม ดิฉันพยายามทำทุกอย่างที่คิดออกเพื่อให้เธออยู่ที่โบสถ์ อาทิ ให้กำลังใจ ใช้เหตุผลสารพัด ขอร้อง ทำหน้าที่เป็นนาฬิกาปลุกให้เธอ สวดอ้อนวอน อดอาหาร แม้กระทั่งโทรหาอธิการของเธอ เพราะเราอยู่ห่างกัน 2,000 ไมล์ (3,220 กิโลเมตร) จึงยากที่ดิฉันจะไปโบสถ์กับเธอ แต่ก็ไม่วายลองทำดู!

ดิฉันนึกภาพตลอดเวลาว่าถ้าดิฉันปรับเปลี่ยนสถานการณ์ได้สักนิด ลูกสาวคงจะเปลี่ยนแนวโคจรทางวิญญาณของเธอ ดิฉันรู้สึกว่าต้องนำคนที่ถูกต้อง—ผู้เยี่ยมสอนของเธอ อธิการของเธอ เพื่อนหรือสมาชิกครอบครัวสักคน—ไปไว้ในเส้นทางของเธอเพื่อพูดหรือทำสิ่งที่จะนำเธอกลับมา แต่ไม่ได้ผล ดิฉันกังวลจนเวียนศีรษะ จิตใจเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดและความปวดร้าวที่ทอดทิ้งเธอในฐานะแม่

อีกหลายคนมีประสบการณ์คล้ายกับดิฉัน เมื่อลูกออกจากเส้นทางพระกิตติคุณ ยากมากที่พ่อแม่จะยังรับมือด้วยศรัทธา มารดาคนหนึ่งเสียใจมากกับการเลือกของลูกสาวถึงขนาดพูดว่าจะหายใจก็ยังเจ็บ บิดาคนหนึ่งบอกว่าเขารู้สึกว่าลูกไม่ยอมรับเขาและวิถีชีวิตของเขา มารดาที่ลูกยังเล็กกังวลว่าสักวันลูกเล็กๆ ของเธออาจจะมีคำถามมากมายจนออกจากศาสนจักร

เรารับมือกับความรู้สึกเจ็บปวดเหล่านี้อย่างไรเมื่อสมาชิกครอบครัวเลือกทิ้งศาสนจักร มีหลายอย่างที่เราทำได้

เรียนรู้จากคนที่เคยทุกข์ใจมาแล้ว

ครอบครัวที่ชอบธรรมที่สุดบางครอบครัวในพระคัมภีร์ทุกข์ใจมากกับลูกที่ดื้อรั้น ซาไรยาห์กับลีไฮมีลูกที่ละทิ้งคำสอนของบิดามารดา (ดู 1 นีไฟ 2:8–12) อาดัมกับเอวาก็เช่นกัน (ดู ปฐมกาล 4:8) แม้แต่บิดามารดาบนสวรรค์ของเราก็ยังโศกเศร้าเมื่อลูกทางวิญญาณหนึ่งในสามเลือกอีกเส้นทางหนึ่ง (ดู คพ. 29:36) แผนแห่งความสุขรวมสิทธิ์เสรีไว้ในนั้นด้วย และนั่นหมายความว่าแม้แต่สมาชิกของครอบครัวที่ชอบธรรมก็อาจเลือกปฏิเสธหลักธรรมพระกิตติคุณได้ เราสามารถรับการปลอบโยนจากเรื่องราวของครอบครัวเหล่านี้ในพระคัมภีร์ เราได้ความเข้าใจเรื่องสิทธิ์เสรีและความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น ความเข้าใจดังกล่าวสามารถช่วยเราเยียวยาและก้าวไปข้างหน้า

จำไว้ว่าลูกของเราเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน

เมื่อลูกชายวัยรุ่นของเธอเริ่มสงสัยความเชื่อของเขา มารดาคนหนึ่งรู้สึกผิดมากและคิดแต่ว่าเธอล้มเหลว ขณะคิดว่าจะเป็นพ่อแม่ต่างจากนี้ได้อย่างไร เธอได้รับการกระตุ้นเตือนอันเปี่ยมด้วยเมตตาว่า “เขา ไม่ใช่ ลูกของเจ้าคนเดียว เรารักเขามากกว่าเจ้าด้วยซ้ำ และเราไม่รู้สึกผิดเกี่ยวกับเขา หรือลูกคนอื่นของเราที่ออกนอกเส้นทาง” นับแต่นั้นเป็นต้นมา มารดาผู้นี้สามารถปล่อยวางความรู้สึกผิดและหันมาจดจ่อกับเรื่องที่ว่าลูกชายเธอเป็นลูกที่รักของพระผู้เป็นเจ้า

จดจ่อกับความสำเร็จ

บางครั้งพ่อแม่ทุกข์ใจเพราะไม่เข้าใจคำสอนอย่างถ่องแท้ที่ว่า “ ไม่มีความสำเร็จใดชดเชยความล้มเหลวในบ้านได้”1 ความสำเร็จและความล้มเหลวระบุชัดได้ยาก ดังที่เอ็ลเดอร์จอห์น เค. คาร์แม็คอดีตสมาชิกสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่า “เพราะข้อความนี้มุ่งหมายจะสร้างแรงบันดาลใจให้พ่อแม่เกี่ยวข้องหรือยังคงเกี่ยวข้องกับลูกๆ ของพวกเขาต่อไป จึงไม่ควรหมายความว่าพ่อแม่ที่ทุ่มเวลา ความพยายาม และการเสียสละในการเป็นบิดามารดา แต่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวรางวัลที่ตนปรารถนา ถือเป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลว”2 เราจำเป็นต้องชื่นชมคุณสมบัติอันดีของลูกๆ และช่วงเวลาแห่งความสุขที่เรามีร่วมกัน เราควรน้อมรับหลักธรรมที่ว่าสมาชิกครอบครัวเรามีสิทธิ์เสรี พวกเขาจะใช้สิทธิ์เสรีนั้นอย่างไรก็ได้

ปรับความคาดหวังของเรา

แม้เราหวังว่าสมาชิกครอบครัวจะเดินตามเส้นทางที่เราเลือก แต่พวกเขาต้องเลือกรับพรของพระกิตติคุณด้วยตนเอง เอ็ลเดอร์คาร์แม็คแนะนำว่าแทนที่จะขัดขืนความจริงนี้ พ่อแม่อาจต้อง “ปรับความคาดหวังปัจจุบันและวิธีการของพวกเขา โดยยอมรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่แทนที่จะอยู่ในความสับสนวุ่นวายต่อไป”3

มารดาคนหนึ่งรู้สึกผิดหวังและเสียใจเมื่อทราบว่าลูกชายไม่ยอมเป็นผู้สอนศาสนา เธอยอมรับในท้ายที่สุดว่าเธอต้องเลิกคิดว่าลูกชายต้องไปเป็นผู้สอนศาสนาทั้งนี้เพื่อเธอจะมีความสุข “ดิฉันยอมรับได้ในที่สุดว่านี่ไม่เกี่ยวกับดิฉัน” เธอกล่าว “ชีวิตของลูกแต่ละคนเป็นชีวิต ของพวกเขา ดิฉันเป็นเพียงแม่ของพวกเขา ดิฉันไม่ได้เป็นเจ้าของพวกเขา”

มีความเข้าใจลึกซึ้ง

พ่อแม่จำนวนมากหาสิ่งปลอบใจและยังคงมีทัศนะที่ถูกต้องต่อการสวดอ้อนวอน การศึกษาพระคัมภีร์ และการเข้าร่วมการประชุมของศาสนจักร มารดาคนหนึ่งแบ่งปันว่าประสบการณ์กับการสวดอ้อนวอนสอนให้เธอจดจำว่าลูกของเธอมีค่าต่อพระบิดาบนสวรรค์ ซึ่งช่วยบรรเทาความเจ็บปวดของเธอ การสวดอ้อนวอนทำให้เกิดความเข้าใจอันลึกซึ้งในสิ่งที่ต้องทำและพูด อีกทั้งช่วยให้เรารู้สึกสบายใจ

พระคัมภีร์เล่าเรื่องราวของคนที่เลือกไม่ดีและสมาชิกครอบครัวรับมือกับอะไรบ้าง “นับเป็นเรื่องดีที่พระคัมภีร์ไม่ได้มีแต่เรื่องของครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ไม่อย่างนั้นเราคงท้อเกินกว่าจะพยายาม!” พ่อแม่คนหนึ่งกล่าว เรื่องราวของแอลมาผู้บุตรยืนยันกับเราว่าพระองค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนที่ชอบธรรมของบิดามารดา (ดู โมไซยาห์ 27:14) อุปมาเรื่องบุตรหายไปสอนเราเรื่องปีติที่เรารู้สึกเมื่อคนที่หายไปกลับมา (ลูกา 15:20–24)

การเข้าพระวิหารจะช่วยให้เรามีความเข้าใจลึกซึ้งเช่นกันซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัดการปัญหาครอบครัว “ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนที่มีงานยุ่ง … สามารถแก้ไข … ปัญหาในพระนิเวศน์ของพระเจ้าได้ดีกว่าและเร็วกว่าที่อื่น” เอ็ลเดอร์จอห์น เอ. วิดท์โซ (1872-1952) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าว “ในช่วงเวลาไม่คาดคิดที่สุด วิธีแก้ไขปัญหาที่ก่อกวน [ชีวิตเรา] จะมาเป็นการเปิดเผย … ในพระวิหารหรือไม่ก็นอกพระวิหาร”4 เมื่อพ่อแม่เข้าพระวิหาร จิตใจและความคิดของพวกเขาจะรับสันติสุขที่พวกเขาแสวงหาได้มากขึ้น

แสดงความรักต่อไป

ลีไฮกับซาไรยาห์รักเลมันกับเลมิวเอลมากเท่าๆ กับรักแซม นีไฟ เจคอบ และโจเซฟอย่างไม่ต้องสงสัย แม้เราจะเข้ากับสมาชิกครอบครัวที่มีความเชื่อและวิถีชีวิตเหมือนเราได้ง่ายกว่า แต่ยังคงสำคัญยิ่งที่เราต้องแสดงความรักต่อคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นแบบนั้น

สตรีคนหนึ่งที่หยุดไปโบสถ์เมื่ออายุยังน้อยเล่าประสบการณ์ต่อไปนี้ว่าครอบครัวเธอยังคงรักเธออย่างไร ในครอบครัวแอลดีเอสครอบครัวใหญ่ของเธอยกย่องงานเผยแผ่อย่างเห็นได้ชัด ภาพถ่ายของผู้สอนศาสนาทุกคนในครอบครัวประดับบนผนังห้องนั่งเล่นของคุณยาย นั่นเป็น “จุดศูนย์กลางจักรวาลของครอบครัวเรา” เธอกล่าว เธอรู้ว่าเธอจะไม่มีวันรับใช้งานเผยแผ่ และเธอรู้สึกว่าไม่ว่าเธอจะทำความดีอะไรในโลก เธอจะไม่มีวันได้ที่บนผนังห้องของคุณยาย

เมื่ออายุ 30 เธอตัดสินใจเข้าประจำการในกองกำลังเพื่อสันติภาพของสหรัฐ เธอเดินทางไปมาดากัสการ์และอุทิศแรงกายทั้งหมดประจำการที่นั่น ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอรู้ว่าคุณยายได้รวมภาพถ่ายของเธอไว้บนผนังด้วย เมื่อปลดประจำการในกองกำลังสันติภาพ คุณยายกับหลานสาวโอบกอดกันและหลั่งน้ำตา “การรับใช้คือการรับใช้” คุณยายอธิบาย ไม่ว่าจะมีผนังติดรูปผู้สอนศาสนาในบ้านหรือไม่ก็ตาม ยังมีอีกหลายวิธีที่เราสามารถแสดงให้สมาชิกครอบครัวเรา ทุกคน เห็นได้ว่าเรารักและเห็นคุณค่าของพวกเขา

ภาพ
illustration of a woman walking toward her parents. There are trees in the background.

หวังต่อไป

เมื่อเรายังคงรักคนที่เรารักตามที่พวกเขาเป็นอยู่ในปัจจุบัน เรายังสามารถหวังต่อไปได้ว่าพวกเขาจะหวนคืนสู่ชีวิตที่มีพระกิตติคุณเป็นศูนย์กลาง สมาชิกครอบครัวมักจะกลับมาหลังจากออกนอกทางไปได้ระยะหนึ่ง เฉกเช่นบุตรที่หายไป พวกเขาตระหนักว่าชีวิตก่อนหน้านี้ของพวกเขานำข่าวสารและหลักธรรมอันดีมาให้ พวกเขาน้อมรับคุณค่าเหล่านั้นอีกครั้ง อันที่จริง ศาสดาพยากรณ์สัญญาว่าสมาชิกครอบครัวที่รับการผนึกกับพ่อแม่จะรู้สึกถึงแรงดึงของการอบรมเลี้ยงดูอย่างชอบธรรมของพวกท่านและสักวันจะกลับมา5 คำสัญญาเช่นนั้นทำให้เรามีความหวังอย่างมากสำหรับคนที่เรารัก

ยังคงเห็นภาพนิรันดร์

เราต้องจำไว้ว่าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เรารัก บิดาคนหนึ่งของลูกวัยรุ่นที่ดื้อรั้นแบ่งปันว่าเขาเรียนรู้มาว่าถึงแม้ลูกชายของเขาไม่ดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรมตอนนี้ แต่เขาไม่ควรทึกทักว่าภัยจะเกิดขึ้นแน่นอน ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอรฟ์ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุด แนะนำว่าบางครั้งเราเชื่อว่าตอนจบของเรื่องเขียนไว้แล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง เราเพิ่งอยู่บทกลางๆ6 การนับเวลาของพระผู้เป็นเจ้าต่างจากเรามาก และเราไม่รู้ว่าเรื่องราวของแต่ละคนจะจบลงอย่างไร

ถ้าเรารู้ว่าสุดท้ายแล้วสมาชิกครอบครัวเราจะกลับมา นั่นจะเปลี่ยนวิธีที่เรากระทำในเรื่องราวของเราวันนี้หรือไม่ ข้าพเจ้าเชื่อว่าเราจะดำเนินชีวิตด้วยสันติสุข ความรัก และการยอมรับมากยิ่งกว่าเดิม ขณะที่เราพยายามทำให้เรื่องราวของเราออกมาดี นั่นช่วยให้จดจำว่าเราเลือกได้ว่าจะเข้าใกล้คนที่เรารักด้วยสันติสุขและความรักไม่ใช่ความโกรธหรือความกลัว ตามที่เปาโลเขียน “เพราะว่าพระเจ้าไม่ได้ประทานใจที่ขลาดกลัวแก่เรา แต่ประทานใจที่ประกอบด้วยฤทธานุภาพ ความรัก และการบังคับตนเองแก่เรา” (2 ทิโมธี 1:7) ดังที่เอ็ลเดอร์คาร์แม็คกระตุ้นเตือน “อย่ายอมแพ้ ถ้าดูเหมือนว่าท่านไม่สามารถมีอิทธิพลต่อลูกชายหรือลูกสาวได้ อย่างน้อยท่านสามารถพยายามต่อไปและรักพวกเขาต่อไป … อย่ายอมให้ความรู้สึกผิดและความสิ้นหวังทำให้เราท้อแท้หมดกำลังใจ จงแสวงหาความช่วยเหลือทางวิญญาณและสันติสุข จงเข้มแข็งและกล้าหาญ ท่านจะมองเห็นทะลุปรุโปร่ง”7

ลูกสาวของดิฉันยังไม่กลับมาโบสถ์ แต่เป้าหมายของเราชัดเจน เราทั้งคู่พยายามสนิทกัน เราพูดคุยกันบ่อยๆ และดิฉันรู้ว่าการอบรมเลี้ยงดูเธอแบบวิสุทธิชนได้ช่วยให้เธอเป็นคนจิตใจดี มีวินัย และรู้จักคิด แม้ดิฉันจะไม่ได้เลือกให้เธอใช้เส้นทางที่เธอกำลังเดินอยู่ในปัจจุบัน แต่ดิฉันสำนึกคุณต่อบทเรียนที่เรากำลังเรียนรู้ระหว่างทาง ดิฉันได้พบสันติสุขเมื่อยอมรับสภาพของเราในการเดินทางกลับบ้าน

อ้างอิง

  1. เดวิด โอ, แมคเคย์, ใน Conference Report, Apr. 1964, 5; อ้างอิงจาก เจ อี. แม็คคัลลอค, Home: The Savior of Civilization [1924], 42.

  2. จอห์น เค. คาร์แม็ค, “When Our Children Go Astray,Ensign, Feb. 1997, 9.

  3. จอห์น เค. คาร์แม็ค, “When Our Children Go Astray,” 9.

  4. จอห์น เอ. วิดท์โซ, “Temple Worship,The Utah Genealogical and Historical Magazine, vol. 22 (1921), 63–64, อ้างอิงในเดวิด บี. เฮจท์, “Temples and Work Therein,Ensign, Nov. 1990, 61.

  5. ดู “Hope for Parents of Wayward Children,Ensign, Sept. 2002, 11.

  6. ดู ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ, “เห็นจุดสิ้นสุดจากจุดเริ่มต้น,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 52.

  7. จอห์น เค. คาร์แม็ค, “When Our Children Go Astray,” 10, 13.

พิมพ์