พระคัมภีร์มอรมอนสอนอะไรเราได้บ้างเกี่ยวกับ ความสุข
หลักธรรมเจ็ดข้อที่เราคัดมาจากพระคัมภีร์มอรมอนสองบทสอนเราว่าอะไรทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง
ลีไฮสอนเจคอบบุตรชายว่า “มนุษย์เป็นอยู่, เพื่อพวกเขาจะมีปีติ” (2 นีไฟ 2:25)
เราทุกคนอยากมีความสุข เรามักโหยหาความเบิกบาน สันติสุข และความพอใจที่เราเห็นในสมาชิกครอบครัวและมิตรสหายผู้ซึ่งชีวิตพวกเขาดูเหมือนจะเปี่ยมด้วยความสุข ทุกคนเคยรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิตมาบ้างแล้ว บางคนถึงกับสงสัยว่า “ฉันจะมีความสุขบ้างไหม”
ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “พระเจ้าทรงฝังข่าวสารของพระองค์ใน [พระคัมภีร์มอรมอน] ไว้ให้ท่าน นีไฟ มอรมอน และโมโรไนรู้เรื่องนี้ และคนที่รวบรวมได้นำมาไว้ในข่าวสารให้ท่าน”1 เพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงปรารถนาให้บุตรธิดาทุกคนของพระองค์มีความสุขในชีวิตนี้ พระองค์จึงทรงฝังหลักธรรมนิรันดร์แห่งความสุขไว้ในพระคัมภีร์มอรมอน ถึงแม้ท่านจะพบหลักธรรมนี้ได้ตลอดเล่ม แต่เฉพาะสองบทนี้—2 นีไฟ 5 และ 4 นีไฟ 1—มีแนวทางชัดเจนที่จะนำเราให้มีความสุขเพิ่มขึ้นถ้าเราเต็มใจดำเนินชีวิตตามนั้น
2 นีไฟ 5
ไม่นานหลังจากลีไฮถึงแก่กรรม พระเจ้าทรงเตือนนีไฟว่าเลมันกับเลมิวเอลหาทางจะปลิดชีวิตท่าน พระเจ้ารับสั่งให้นีไฟพาคนที่จะไปด้วยหลบหนีเข้าไปในแดนทุรกันดาร แม้จะมีความยากลำบากแน่นอนกับการอพยพครั้งนี้ และต้องสถาปนาชุมชนใหม่แต่ใน 2 นีไฟ 5:27 นีไฟอธิบายว่า “เหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเรามีชีวิตอยู่ตามทางแห่งความสุข” บทนี้วางรูปแบบของความสุขที่เราทำตามได้ในชีวิตเราเอง
ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นเรื่อยๆ
นีไฟบอกเราว่าคนที่หนีไปในแดนทุรกันดารกับท่านคือคนที่ “เชื่อในคำเตือนและการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้า” (ข้อ 6) แหล่งสำคัญของความสุขคือแวดวงสังคมของเรา สำคัญที่เราต้องใช้เวลากับคนอื่นที่เชื่อเหมือนเราและคนที่อยู่ด้วยแล้วเราดีขึ้น นอกจากจะใช้เวลากับสมาชิกครอบครัวแล้ว เราสามารถมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนๆ ผู้เสริมสร้างศรัทธาของเราด้วย การปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์เหล่านั้นมีผลอย่างยิ่งต่อความสุขของเรา คริสเตียน คาร์เตอร์ นักสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์เขียนว่า “ปริมาณและคุณภาพการเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคมของบุคคลหนึ่ง—มิตรภาพ ความสัมพันธ์กับสมาชิกครอบครัว ความสนิทสนมกับเพื่อนบ้าน ฯลฯ—เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับความผาสุกและความสุขส่วนตัวซึ่งแทบจะถือได้ว่าทั้งสองทัดเทียมกันในทางปฏิบัติ”2
ทำให้การกระทำสอดคล้องกับความเชื่อ
ใน ข้อ 10 นีไฟเขียนว่าผู้คนของท่านรักษา “พระบัญญัติของพระเจ้า” การเชื่อฟังพระบัญญัติเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิตที่เป็นสุข กษัตริย์เบ็นจามินกระตุ้นให้ผู้คนของท่าน “พิจารณาถึงสภาพอันเป็นพรและเป็นสุขของคนที่รักษาพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 2:41) เราจะมีความสุขได้ยากเมื่อเราเชื่อในพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าแต่ไม่ดำเนินชีวิตตาม การเชื่อฟังทำให้เกิดสันติสุขในใจและสันติสุขในมโนธรรม มีคนกล่าวว่ามหาตมะ คานธีผู้นำทางศาสนาและการเมืองของอินเดียเขียนไว้ว่า “ความสุขคือเมื่อสิ่งที่ท่านคิด สิ่งที่ท่านพูด และสิ่งที่ท่านทำสอดคล้องกัน” เมื่อความเชื่อและการกระทำของเราสวนทางกัน การกลับใจเป็นกุญแจช่วยสร้างความปรองดองอีกครั้งในชีวิตเรา
ทำงานยากให้สำเร็จ
ใน 2 นีไฟ 5 ข้อ 11 และ 15 นีไฟเขียนว่าผู้คนของท่านเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผล เลี้ยงสัตว์ สร้างอาคาร และทำงานกับแร่หลายชนิด ท่านกล่าวว่า “ข้าพเจ้า, นีไฟ, ทำให้ผู้คนของข้าพเจ้ามีอุตสาหะ, และทำงานด้วยมือตน” (ข้อ 17) จากข้อเหล่านี้เราเห็นชัดเจนว่าการทำงานเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งในการได้รับความสุข ทุกๆ วันให้เรามีโอกาสทำงานในบ้าน รอบบ้าน ในชุมชน หรือในงานอาชีพของเรา ประธานโธมัส เอส. มอนสันกล่าวไว้ว่า “พระผู้เป็นเจ้าทรงปล่อยโลกไว้โดยไม่ตกแต่งเพื่อให้มนุษย์ทำงานด้วยฝีมือของตนเองบนนั้น พระองค์ทรงปล่อยให้กระแสไฟฟ้าอยู่ในเมฆ ให้น้ำมันอยู่ในดิน พระองค์ทรงปล่อยแม่น้ำไว้ไม่ให้มีสะพานข้าม ทรงปล่อยต้นไม้ไว้ไม่ทรงโค่น และทรงปล่อยเมืองไว้ไม่ทรงสร้าง พระผู้เป็นเจ้าทรงให้มนุษย์เผชิญความท้าทายเรื่องวัตถุดิบ ไม่ใช่ความสะดวกสบายของสิ่งทำเสร็จแล้ว พระองค์ทรงปล่อยภาพไว้ไม่ลงสี ทรงปล่อยเพลงไว้ไม่ขับร้อง ทรงปล่อยปัญหาไว้ไม่แก้ไข เพื่อให้มนุษย์รู้จักปีติและความรุ่งโรจน์ของการสร้าง”3 พูดให้เข้าใจง่ายคือ ความเบิกบานใจของการสร้างสรรค์และความรู้สึกประสบผลสำเร็จที่มักมาคู่กับความขยันขันแข็งจะทำให้เกิดความสุข
เน้นเรื่องพระวิหาร
นีไฟบอกเราเช่นกันว่าท่านกับผู้คนของท่านใช้เวลาสร้างพระวิหาร (ข้อ 16) ขณะพวกท่านสร้างชุมชนใหม่ พรพระวิหารและความสุขแยกจากกันไม่ออก พระวิหารสอนเราเรื่องแผนแห่งความรอดและเตือนเราว่าเหตุใดเราจึงอยู่บนแผ่นดินโลก เราเรียนรู้ว่าเราเป็นลูกของพระบิดาบนสวรรค์ผู้ทรงรักเราและชีวิตเรามีจุดประสงค์อันสำคัญยิ่งในแผนของพระองค์ ในพระวิหารเรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น เรารู้สึกถึงพระสิริของพระองค์ เดชานุภาพ และความเห็นชอบของพระองค์ ถึงแม้เราจะเข้าพระวิหารเป็นประจำไม่ได้ แต่การมีใบรับรองพระวิหารที่เป็นปัจจุบันและการมีภาพพระวิหารในบ้านสามารถเตือนเราให้นึกถึงประสบการณ์พระวิหารที่เราเคยมีและความจริงที่เราได้เรียนรู้ในนั้น
4 นีไฟ 1
ใน 4 นีไฟมอรมอนนักประวัติศาสตร์และศาสดาพยากรณ์บอกเราว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนหลังจากพระผู้ช่วยให้รอดเสด็จเยือนผู้คนของนีไฟ เมื่อท่านพูดถึงผู้คนเหล่านี้ ท่านบันทึกว่า “ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ในบรรดาผู้คนทั้งปวงที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา” (4 นีไฟ 1:16)
แบ่งปันสิ่งที่เรามี
ใน ข้อ 3 มอรมอนเขียนว่าผู้คนเหล่านี้มี “สิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกันในบรรดาพวกเขา” และ “ไม่มีคนรวยและคนจน” เมื่อเราแสวงหาความสุขในชีวิตเราทุกวันนี้ สำคัญที่เราต้องฝึกแบ่งปันสิ่งที่เรามีกับผู้อื่น
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าเวลาที่เรารับใช้และเงินที่เราใช้กับผู้อื่นมีผลโดยตรงต่อความสุขของเรา4 ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่กษัตริย์เบ็นจามินบอกผู้คนของท่านว่า “ข้าพเจ้าอยากให้ท่านมอบทรัพย์สินของท่านแก่คนจน, ทุกคนตามทรัพย์สินที่ตนมี, เป็นต้นว่าเลี้ยงอาหารคนหิวโหย, ให้เสื้อผ้าคนเปลือยเปล่า, เยี่ยมคนเจ็บป่วยและให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาทุกข์คนเหล่านั้น, ทั้งฝ่ายวิญญาณและฝ่ายโลก, ตามความต้องการของพวกเขา” (โมไซยาห์ 4:26) เรามีโอกาสมากมายให้ช่วยคนตกทุกข์ได้ยากผ่านการรับใช้ เงินบริจาคอดอาหาร และเงินทุนอื่นๆ ที่ศาสนจักรบริหารจัดการ
เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองกล่าวดังนี้ “ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ความยากจนเป็นเรื่องท้าทายที่หนักหนาสาหัสและแพร่หลายที่สุดเรื่องหนึ่งของมนุษยชาติ การสูญเสียที่เห็นได้ชัดเนื่องจากความยากจนมักเป็นเรื่องทางกาย แต่ความเสียหายทางวิญญาณและทางอารมณ์ที่เกิดจากความยากจนอาจทำให้ทรุดหนักลงไปอีก ในกรณีใดก็ตาม พระผู้ไถ่ที่ยิ่งใหญ่ไม่เคยทรงขอร้องอย่างไม่ลดละขนาดนี้ให้เราร่วมมือกับพระองค์ในการยกภาระนี้ออกจากผู้คน”5 เมื่อเราสละเวลา ความพยายาม และทรัพย์สินเงินทองช่วยคนอื่นมากขึ้น เราจะพบว่าเรามีความสุขเพิ่มขึ้น
เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
มอรมอนบอกเราว่าคนเหล่านี้ “แต่งงาน, และยกให้แต่งงานกัน” (4 นีไฟ 1:11) การแต่งงานและการเลี้ยงดูบุตร (ดู ข้อ 10) จะเป็นบ่อเกิดอันสำคัญยิ่งของความสุขสำหรับคนที่มีโอกาสเหล่านี้ ประธานเจมส์ อี. เฟาสท์ (1920–2007) ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “ความสุขในชีวิตแต่งงานและการเป็นบิดามารดาจะมากกว่าความสุขแบบอื่นเป็นพันเท่า”6
แต่เราไม่จำเป็นต้องแต่งงานหรือมีบุตรของเราเองจึงจะมีสัมพันธภาพกับสมาชิกครอบครัวอันนำมาซึ่งความสุข ผู้ใหญ่โสด เยาวชน และเด็กสามารถเข้าไปมีส่วนในพรเหล่านี้ได้เช่นกัน เพื่อจะมีความสุขในชีวิตครอบครัว เราต้องพยายามมอบมิตรภาพ ความเข้าใจ และความรักให้สมาชิกแต่ละคนในครอบครัวเรา ครอบครัวสามารถให้ความปลอดภัยทางอารมณ์และทางกายตลอดจนความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งได้ ซึ่งจำเป็นต่อการประสบความสุข
เป็นผู้สร้างสันติ
ใน 4 นีไฟมอรมอนบอกเราสี่ครั้งว่าผู้คนเหล่านี้ “ไม่มีความขัดแย้ง” ในบรรดาพวกเขา (ดู ข้อ 2, 13, 15, และ 18) “เพราะความรักของพระผู้เป็นเจ้าซึ่งสถิตอยู่ในใจผู้คน” (ข้อ 15) ความขัดแย้งและความสุขอยู่คนละขั้ว—อย่างหนึ่งพาออกห่างจากอีกอย่างหนึ่ง พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนชาวนีไฟเรื่องอันตรายของความขัดแย้งเมื่อพระองค์ตรัสว่า “คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง” (3 นีไฟ 11:29) เราต้องแน่ใจว่าเราใช้ความพยายามมากที่จะไม่ทำหรือพูดสิ่งใดอันก่อให้เกิดวิญญาณของความขัดแย้งในที่ทำงาน โรงเรียน และบ้านของเรา แต่เราต้องทำสุดความสามารถเพื่อหล่อเลี้ยงความรักของพระผู้เป็นเจ้าในใจเรา
ความขัดแย้งมักเกิดจากความไม่อดทน ด้วยความช่วยเหลือจากพระวิญญาณ เราสามารถเปลี่ยนธรรมชาติวิสัยของเราและอดทนมากขึ้นได้ ประธานดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟ ที่ปรึกษาที่สองในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “การไม่อดทน … เป็นอาการของความเห็นแก่ตัว เป็นลักษณะของการหมกมุ่นอยู่กับตนเอง เกิดจากสภาพที่แพร่หลายไปทั่วเรียกว่าโรค ‘เอาตนเองเป็นที่ตั้ง’ ซึ่งทำให้ผู้คนเชื่อว่าโลกหมุนรอบตัวเองและคนอื่นเป็นเพียงตัวประกอบในโรงละครโรงใหญ่ของความเป็นมรรตัยซึ่งตนเองรับบทนำ”7
มีวิธีที่ดีกว่า ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์ (1910–2008) เชื้อเชิญให้เรา “บ่มเพาะศิลปะของการให้คำตอบที่อ่อนโยน นั่นจะเป็นพรแก่บ้านของท่าน จะเป็นพรแก่ชีวิตท่าน”8
คำเชื้อเชิญให้แสวงหาความสุข
พระคัมภีร์มอรมอนประกอบด้วยหลักธรรมแห่งความสุข เราพูดครอบคลุมเพียงส่วนเดียวของสิ่งที่พบในสองบทนี้ เราจะพบอะไรได้บ้างในส่วนที่เหลือของหนังสือนี้ คงจะดีถ้าเราเริ่มค้นคว้าพระคัมภีร์มอรมอนด้วยตนเองเพื่อให้ได้แนวทางเพิ่มเติมสู่ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสัน (1899–1994) สัญญากับวิสุทธิชนว่า “ทันทีที่ท่านเริ่มศึกษาพระคัมภีร์มอรมอนอย่างจริงจัง … ท่านจะพบชีวิตที่มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ”9 พระเจ้าได้ประทานเครื่องมืออันเหลือเชื่อนี้แก่เรา เราสามารถฝึกใช้เครื่องมือดังกล่าวให้เป็นพรแก่ชีวิตเราและชีวิตคนที่เรารัก