2017
พลังของการสอนหลักคำสอน
มีนาคม 2017


การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด

พลังของการสอนหลักคำสอน

เราจะเพิ่มความสามารถในการสอนหลักคำสอนด้วยพลังและสิทธิอำนาจได้อย่างไร

ภาพ
Woman in classroom

เมื่อครั้งเป็นประธานคณะเผยแผ่คนใหม่ ข้าพเจ้ามาถึงคณะเผยแผ่ที่ได้รับมอบหมายด้วยความคาดหวังมากว่าการประชุมผู้สอนศาสนาจะเปี่ยมด้วยพระวิญญาณเหมือนที่ข้าพเจ้าจำได้สมัยเป็นผู้สอนศาสนาวัยหนุ่ม แต่หลังจากการประชุมโซนรอบแรกเสร็จ ข้าพเจ้าผิดหวัง พระวิญญาณไม่มากเท่าที่ข้าพเจ้าหวัง และผู้สอนศาสนาบางคนดูเหมือนไม่สนใจ

ขณะข้าพเจ้ากับภรรยาไตร่ตรองและสวดอ้อนวอนเกี่ยวกับวิธีเชื้อเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชีวิตเราและชีวิตผู้สอนศาสนามากขึ้น เราได้รับการนำทางให้เน้นการสอนหลักคำสอนของพระคริสต์และพลังของหลักคำสอนที่จะเปลี่ยนเรา เมื่อเราทำตามแนวทางนี้ตลอดหลายเดือนต่อมา ผู้สอนศาสนาหลายคนมาบอกข้าพเจ้าว่าพวกเขาเสียใจกับความประพฤติในอดีต พวกเขาแสดงความปรารถนาจะรักษากฎผู้สอนศาสนาและดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณด้วยความขยันหมั่นเพียรมากขึ้น

อะไรเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนบ่อยครั้งว่า “หลักคำสอนที่แท้จริงเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรม ถ้าเข้าใจ การศึกษาหลักคำสอนของพระกิตติคุณจะปรับปรุงพฤติกรรมเร็วกว่าการศึกษาพฤติกรรมจะปรับปรุงพฤติกรรม”1 ข้าพเจ้าเคยรู้หลักธรรมนี้แล้ว แต่หลังจากประสบการณ์ครั้งนี้กับผู้สอนศาสนาของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีความสำนึกคุณมากขึ้นต่อพลังและอานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่จะเปลี่ยนใจ (ดู แอลมา 31:5) เมื่อคณะเผยแผ่ของเราก้าวหน้าและเรายังคงเน้นเรื่องการสอนหลักคำสอน ใจพวกเขาเปลี่ยนและใจเราเปลี่ยนเช่นกัน เพราะเราเข้าใจหลักคำสอน เราจึงเข้าใจว่า “ทำไม” ต้องเชื่อฟัง ไม่เพียงเข้าใจ “อะไร” และ “อย่างไร” เท่านั้น

เหตุใดการสอนหลักคำสอนจึงมีพลังเช่นนั้น

ประธานเฮนรีย์ บี. อายริงก์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดสอนว่า “พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าคือหลักคำสอนที่พระเยซูและศาสดาพยากรณ์ของพระองค์สอน”2 หลักคำสอนที่แท้จริงมีพระคริสต์เป็นศูนย์กลาง หลักคำสอนของพระองค์ เมื่อสอนและรับโดยพระวิญญาณ จะเพิ่มพูนศรัทธาในพระเยซูคริสต์เสมอ (ดู แอลมา 32:28–43; โมโรไน 7:25, 31–32)3 ศรัทธาเป็น “เหตุให้เกิดการกระทำทุกอย่าง” หรือพฤติกรรมทุกอย่าง4 เมื่อเปิดเผยพระบิดาและพระบุตรต่อเราผ่านคำพูดที่เปี่ยมด้วยพระวิญญาณ ศรัทธาของเราเติบโต ความปรารถนาจะกลับใจและเชื่อฟังเพิ่มขึ้น และเราเปลี่ยน

พลังที่จะเปลี่ยนใจไม่ได้อยู่ในครูแต่อยู่ใน “อานุภาพแห่งพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 31:5) ตัวอักษรบนกระดาษหรือคลื่นเสียงที่ออกจากปากไม่มีพลังเปลี่ยนใจ แต่เมื่อถ้อยคำที่แท้จริงเปี่ยมด้วยพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ถ้อยคำเหล่านั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำในใจ (ดู 1 โครินธ์ 2:4; 1 เธสะโลนิกา 1:5; โมไซยาห์ 5:2; แอลมา 5:7; คพ. 68:4) เมื่อเราสอนพระวจนะของพระองค์โดยพระวิญญาณ พระวิญญาณบริสุทธิ์จะทรงนำความสว่างและความจริงเข้ามาในใจผู้เรียน (ดู ยอห์น 6:63; 2 นีไฟ 33:1; คพ. 84:45) เมื่อผู้เรียนเปิดใจรับพระวจนะ พระวิญญาณทรงทำให้ความนึกคิดของพวกเขาสว่างและทรงเปลี่ยนใจพวกเขา—เจตนาและพฤติกรรมของพวกเขา

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นพยานอันทรงพลังว่า “หลักคำสอนที่แท้จริงเปลี่ยนเจตคติและพฤติกรรม ถ้าเข้าใจ” ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางประการ

  • กษัตริย์เบ็นจามินสอนพระวจนะที่เขาได้รับจากเทพให้ผู้คนของเขา และพระวิญญาณทรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำกับใจพวกเขาจนพวกเขา “ไม่มีใจที่จะทำความชั่วอีก, แต่จะทำความดีโดยตลอด” (โมไซยาห์ 5:2)

  • เมื่อแอลมาผู้บิดาสอนผู้คน “จิตวิญญาณพวกเขาได้รับความสว่างโดยแสงสว่างของพระวจนะอันเป็นนิจ” และพวกเขาได้รับการช่วยให้รอด (แอลมา 5:7; ดู ข้อ 9 ด้วย)

  • พวกบุตรของโมไซยาห์ “เพราะพลังแห่งพระวจนะของพระองค์” (แอลมา 26:13) จึงช่วยทำให้ชาวเลมันหลายพันคนเกิดการเปลี่ยนแปลงใจโดยสิ้นเชิง (ดู แอลมา 17:14–17; 53:10)

เราจะปรับปรุงได้อย่างไร

มีหลายสิ่งที่เราทุกคนทำได้เพื่อเพิ่มความสามารถในการสอนหลักคำสอนด้วยพลังและสิทธิอำนาจ (ดู แอลมา 17:3; ฮีลามัน 5:18) เราไม่ต้องมีปริญญาเอกในการสอนหรือในการศึกษาศาสนา แต่เราต้องจ่ายราคา แนวคิดต่อไปนี้จะช่วยได้เมื่อท่านพยายามเชื้อเชิญพลังแห่งหลักคำสอนเข้ามาในการสอนของท่าน

  1. สั่งสมและดำเนินชีวิตตามพระวจนะ เพื่อสอนหลักคำสอนด้วยพลังและสิทธิอำนาจ เราต้องรู้หลักคำสอน พระผู้ช่วยให้รอดรับสั่งกับโจเซฟและไฮรัม สมิธว่าก่อนพวกท่านหมายมั่นจะประกาศพระวจนะของพระองค์ พวกท่านต้องแสวงหาให้ได้พระวจนะก่อน จากนั้นพวกท่านจะมีพระวิญญาณของพระองค์และพระวจนะของพระองค์ “อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าในการสร้างความเชื่อมั่นแก่มนุษย์” (คพ. 11:21) ความเข้าใจเช่นนี้ “เรียกร้องมากกว่าการอ่านผ่านๆ” ดังที่ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (1907–1995) สอน แต่เรียกร้องให้ตั้งใจศึกษาทุกวัน5

    ศึกษาอย่างเดียวไม่พอ หากเราต้องการรู้หลักคำสอน เราต้องดำเนินชีวิตตามนั้นด้วย (ดู ยอห์น 7:17; แอลมา 12:9) การศึกษาอย่างขยันหมั่นเพียรและการประยุกต์ใช้พระคัมภีร์ตลอดจนถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตอยู่เป็นวิธีทำให้เรามีพลังแห่งพระวจนะของพระองค์ “ในเรา” (แอลมา 26:13; ดู แอลมา 17:2–3; 32:42 ด้วย)

  2. สอนหลักคำสอน เราต้องตั้งใจสอนหลักคำสอนที่แท้จริงเท่านั้น พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงเป็น “พระวิญญาณแห่งความจริง” (ยอห์น 15:26) ผู้เรียนจะรู้สึกถึงพยานยืนยันของพระองค์เมื่อเราไม่ประกาศ “เรื่องอื่นใดนอกจากศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกทั้งหลาย” (คพ. 52:36) หลีกเลี่ยงการคาดเดาและการตีความด้วยตนเอง วิธีดีที่สุดวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้หลักคำสอนเท็จคือทำให้การสอนของเราเรียบง่ายเสมอ (ดู โมไซยาห์ 25:22; 3 นีไฟ 11:39–40) นอกจากนี้ เราควรผูกโยงความเห็นและประสบการณ์ที่สมาชิกชั้นเรียนแบ่งปันเข้ากับหลักคำสอนที่เรากำลังศึกษา

  3. สอนโดยพระวิญญาณ เราต้องจำไว้ว่าการสอนไม่ใช่เพื่อตัวเราเลย ดวงตาของเราต้องเห็นแก่พระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว เราต้องไม่สร้างความบันเทิงหรือตั้งตนเป็นแสงสว่าง เปาโลบอกชาวโครินธ์ว่าท่านอยู่กับพวกเขา “ด้วยความอ่อนแอ ด้วยความกลัว และความหวาดหวั่นมาก” (1 โครินธ์ 2:3; ดู ข้อ 4ด้วย) นั่นแสดงว่าเปาโลไม่ได้ใช้การนำเสนอที่เขียนไว้และฝึกซ้อมมาอย่างดี

    หากเราต้องการเป็นเครื่องมือเปลี่ยนแปลงใจในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า เราต้องหลีกทางและให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนความจริง ขณะเตรียมสอน จงจดจำสิ่งสำคัญที่สุดในชั้นเรียนของท่าน นั่นคือ การสถิตอยู่ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ จงทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่ออัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในชั้นเรียนของท่าน ขณะที่่ท่านสอน อย่ากลัวถ้าต้องหยุดชั่วขณะเพื่อท่านจะสามารถฟังและรู้สึกถึงการนำทางของพระวิญญาณ

เมื่อเราดื่มด่ำและดำเนินชีวิตตามพระวจนะทุกคำของพระผู้เป็นเจ้าและสอนเฉพาะหลักคำสอนที่แท้จริงโดยอำนาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราจะค้นพบว่าพระเจ้าทรงกำลังเปลี่ยนแปลงใจเราและใจคนที่เราสอน ข้าพเจ้าขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้าทุกวันสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่พระวจนะของพระองค์ทำให้เกิดแก่ใจข้าพเจ้าและสำหรับครูผู้สอนหลักคำสอนที่แท้จริงให้ข้าพเจ้าด้วยพลังและสิทธิอำนาจ

อ้างอิง

  1. บอยด์ เค. แพคเกอร์, “Little Children,Ensign, Nov. 1986, 17.

  2. เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “The Power of Teaching Doctrine,Liahona, July 1999, 85.

  3. ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ประธานโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า “พระเจ้าทรงออกแบบหลักคำสอนของพระเยซูคริสต์ไว้เพื่อช่วยให้เราเพิ่มพูนศรัทธาของเรา” (“ให้ศรัทธาของท่านแสดงออกมา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 29)

  4. Lectures on Faith (1985), 1–2.

  5. ดู ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์, “Reading the Scriptures,Ensign, Nov. 1979, 64.

พิมพ์