2020
ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและกุญแจ
พฤษภาคม 2020


2:3

ฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคและกุญแจ

ในศาสนจักร เราใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิตผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตนั้น

ข้าพเจ้าเลือกจะพูดเพิ่มเติมเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า หัวข้อที่ผู้พูดก่อนหน้านี้สามท่านพูดและสอนเราไปแล้วว่าฐานะปุโรหิตเป็นพรแก่ชีวิตของสตรี เยาวชนหญิง และเยาวชนชายอย่างไร

ฐานะปุโรหิตคือพลังอำนาจและสิทธิอำนาจอันสูงส่งที่อยู่ในความพิทักษ์เพื่อใช้สำหรับงานของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อประโยชน์ของบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ ฐานะปุโรหิต ไม่ใช่คนที่ได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งฐานะปุโรหิตหรือคนที่ใช้สิทธิอำนาจนั้น ชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตไม่ใช่ฐานะปุโรหิต เราไม่ควรเรียกชายที่ได้รับแต่งตั้งว่า ฐานะปุโรหิต แต่ควรเรียกพวกเขาว่า ผู้ดำรง ฐานะปุโรหิต

พลังอำนาจของฐานะปุโรหิตดำรงอยู่ทั้งในศาสนจักรและในองค์กรครอบครัว แต่พลังอำนาจและสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตทำหน้าที่ในศาสนจักรต่างจากในครอบครัว ทั้งหมดนี้เป็นไปตามหลักธรรมที่พระเจ้าทรงกำหนด จุดประสงค์ในแผนของพระผู้เป็นเจ้าคือนำบุตรธิดาของพระองค์ไปสู่ชีวิตนิรันดร์ ครอบครัวมนุษย์จำเป็นต่อแผนนั้น ศาสนจักรดำรงอยู่เพื่อให้หลักคำสอน สิทธิอำนาจ และศาสนพิธีที่จำเป็นต่อการทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวคงอยู่ต่อไปในนิรันดร ด้วยเหตุนี้ องค์กรครอบครัวและศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจึงมีความสัมพันธ์แบบส่งเสริมกัน พรของฐานะปุโรหิต—อาทิ ความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณ และศาสนพิธี เช่น บัพติศมา การยืนยัน การรับของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ เอ็นดาวเม้นท์พระวิหาร และการแต่งงานนิรันดร์—มีให้ชายและหญิงเหมือนๆ กัน1

ฐานะปุโรหิตที่เราพูดถึงในที่นี้คือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค ซึ่งได้รับการฟื้นฟูตั้งแต่เริ่มการฟื้นฟูพระกิตติคุณ โจเซฟ สมิธและออลิเวอร์ คาวเดอรีได้รับแต่งตั้งโดยเปโตร ยากอบ และยอห์นผู้ประกาศว่าตน “ครอบครองกุญแจของอาณาจักร, และของสมัยการประทานความสมบูรณ์แห่งเวลา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 128:20) อัครสาวกอาวุโสเหล่านี้ได้รับสิทธิอำนาจนั้นจากพระผู้ช่วยให้รอดโดยตรง สิทธิอำนาจอื่นหรือตำแหน่งอื่นทั้งหมดในฐานะปุโรหิตเป็นส่วนประกอบของฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:5) เพราะฐานะปุโรหิตนี้ “ถือสิทธิของการเป็นประธาน, และมีพลังอำนาจและสิทธิอำนาจเหนือตำแหน่งทั้งหมดในศาสนจักรทุกยุคของโลก” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:8)

ในศาสนจักร เราใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่เหนือกว่าหรือฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดค และฐานะปุโรหิตที่ต่ำกว่าหรือฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิต เช่น อธิการหรือประธานผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตนั้น เพื่อให้เข้าใจการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในศาสนจักร เราต้องเข้าใจหลักธรรมของกุญแจฐานะปุโรหิต

กุญแจฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคของอาณาจักรประสาทให้โดยเปโตร ยากอบ และยอห์น แต่นั่นไม่ได้ทำให้การฟื้นฟูกุญแจฐานะปุโรหิตสมบูรณ์ กุญแจบางอย่างของฐานะปุโรหิตมาทีหลัง หลังจากการอุทิศพระวิหารแห่งแรกของสมัยการประทานนี้ในเคิร์ทแลนด์ โอไฮโอ ศาสดาพยากรณ์สามท่านคือ— โมเสส เอลีอัส และเอลียาห์—มาฟื้นฟู “กุญแจทั้งหลายของสมัยการประทานนี้” รวมทั้งกุญแจเกี่ยวกับการรวบรวมอิสราเอลและงานพระวิหารของพระเจ้า (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 110) ดังที่ประธานอายริงก์ได้อธิบายไปแล้วอย่างโน้มน้าวใจ

ตัวอย่างหน้าที่ของกุญแจที่เราคุ้นเคยมากที่สุดอยู่ในการประกอบศาสนพิธีฐานะปุโรหิต ศาสนพิธีคือการกระทำอันศักดิ์สิทธิ์อันแสดงถึงการทำพันธสัญญาและการสัญญาซึ่งพร ในศาสนจักร เราประกอบศาสนพิธีทั้งหมดภายใต้การมอบอำนาจของผู้นำฐานะปุโรหิตที่ถือกุญแจสำหรับศาสนพิธีนั้น

ส่วนใหญ่แล้วศาสนพิธีประกอบโดยผู้ได้รับแต่งตั้งสู่ตำแหน่งในฐานะปุโรหิตโดยกระทำภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิต ตัวอย่างเช่น ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนประกอบศาสนพิธีศีลระลึกภายใต้กุญแจและการกำกับดูแลของอธิการผู้ถือกุญแจของฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน หลักธรรมเดียวกันนี้ใช้กับศาสนพิธีฐานะปุโรหิตที่สตรีประกอบในพระวิหาร ถึงแม้สตรีไม่ได้ดำรงตำแหน่งในฐานะปุโรหิต แต่สตรีประกอบศาสนพิธีศักดิ์สิทธิ์ของพระวิหารภายใต้การมอบอำนาจของประธานพระวิหารผู้ถือกุญแจสำหรับศาสนพิธีพระวิหาร

อีกตัวอย่างหนึ่งของสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจคือการสอนของชายและหญิงที่ได้รับเรียกให้สอนพระกิตติคุณ ไม่ว่าจะในชั้นเรียน ในวอร์ดบ้าน หรือในสนามเผยแผ่ ตัวอย่างอื่นคือผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำในวอร์ดและใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในฐานะผู้นำด้วยเหตุผลของการเรียกและภายใต้การวางมือมอบหน้าที่และการกำกับดูแลของผู้นำฐานะปุโรหิตที่ถือกุญแจในวอร์ดหรือสเตค นี่คือวิธีใช้และการมีสิทธิอำนาจและพลังอำนาจของฐานะปุโรหิตในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย2

เราใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตและเห็นพรฐานะปุโรหิตในครอบครัวของวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเช่นกัน ครอบครัวในที่นี้หมายถึงชายผู้ดำรงฐานะปุโรหิตกับหญิงที่แต่งงานกันและลูกๆ ทั้งนี้ข้าพเจ้าหมายรวมถึงความผันแปรจากความสัมพันธ์ในอุดมคติด้วย เช่น เหตุจากความตายหรือการหย่าร้าง

หลักธรรมที่ว่าเราสามารถใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตเฉพาะภายใต้การกำกับดูแลของผู้ถือกุญแจสำหรับหน้าที่นั้นเท่านั้นถือเป็นหลักพื้นฐานในศาสนจักร แต่ไม่ได้ใช้ในครอบครัว ตัวอย่างเช่น บิดาเป็นผู้ควบคุมดูแลและใช้ฐานะปุโรหิตในครอบครัวโดยสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตที่เขาดำรงอยู่ โดยไม่ต้องให้ผู้ถือกุญแจฐานะปุโรหิตกำกับดูแลหรืออนุมัติเพื่อจะทำหน้าที่ต่างๆ ในครอบครัวได้ ซึ่งรวมถึงการให้คำปรึกษาแก่สมาชิกครอบครัว จัดประชุมครอบครัว ให้พรฐานะปุโรหิตแก่ภรรยาและลูก หรือให้พรการรักษาแก่สมาชิกครอบครัวหรือคนอื่นๆ3 เจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธิอำนาจในศาสนจักรสอนสมาชิกครอบครัวแต่ไม่กำกับการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในครอบครัว

เราใช้หลักธรรมเดียวกันนี้เมื่อบิดาไม่อยู่และมารดาเป็นผู้นำครอบครัว เธอควบคุมดูแลในบ้านและเป็นเครื่องมือในการนำพลังอำนาจและพรของฐานะปุโรหิตเข้ามาในครอบครัวผ่านเอ็นดาวเม้นท์และการผนึกที่เธอได้รับในพระวิหาร ถึงแม้เธอไม่มีอำนาจให้พรฐานะปุโรหิตซึ่งให้ได้เฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งบางตำแหน่งในฐานะปุโรหิตเท่านั้น แต่เธอสามารถทำหน้าที่อื่นทั้งหมดในการนำครอบครัว ในการทำเช่นนั้นเธอใช้พลังอำนาจของฐานะปุโรหิตเพื่อประโยชน์ของลูกๆ ที่เธอควบคุมดูแลในตำแหน่งผู้นำครอบครัว4

ถ้าบิดาจะขยายฐานะปุโรหิตของตนในครอบครัว จะเป็นการส่งเสริมพันธกิจของศาสนจักรมากพอๆ กับสิ่งอื่นที่เขาจะทำ บิดาผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งเมลคีเซเดคควรใช้สิทธิอำนาจของตน “โดยการชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41) มาตรฐานสูงสำหรับการใช้สิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตทุกรูปแบบที่ว่านี้สำคัญที่สุดในครอบครัว ผู้ดำรงฐานะปุโรหิตควรรักษาพระบัญญัติด้วยเพื่อจะมีพลังอำนาจฐานะปุโรหิตในการให้พรสมาชิกครอบครัว พวกเขาควรพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้มีแต่ความรักเพื่อที่สมาชิกครอบครัวจะอยากขอพรด้วย และบิดามารดาควรส่งเสริมการให้พรฐานะปุโรหิตในครอบครัวมากขึ้น5

ในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ ขณะแสวงหาที่พักพิงจากความกังวลทางโลกเรื่องการระบาดรุนแรงครั้งใหญ่ เราได้รับการสอนหลักธรรมสำคัญของนิรันดร ข้าพเจ้ากระตุ้นให้เราแต่ละคนมีดวงตา “เป็นหนึ่ง” ในการรับความจริงของนิรันดรเพื่อที่ร่างกายของเรา “จะเต็มไปด้วยแสงสว่าง” (3 นีไฟ 13:22)

ในคำเทศนาต่อฝูงชนดังบันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิลและในพระคัมภีร์มอรมอน พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าร่างกายมนุษย์จะเต็มไปด้วยแสงสว่างหรือความมืดก็ได้ แน่นอนว่าเราต้องการเปี่ยมไปด้วยแสงสว่าง และพระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนว่าจะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เราควรฟังข่าวสารเกี่ยวกับความจริงของนิรันดร พระองค์ทรงยกตัวอย่างดวงตาของเรา ซึ่งเรานำแสงสว่างเข้ามาในร่างกายผ่านดวงตา ถ้าดวงตาของเรา “เป็นหนึ่ง”—กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าเราจดจ่อกับการได้รับแสงสว่างและความเข้าใจนิรันดร์—พระองค์ทรงอธิบายว่า “ทั้งร่างของเจ้าจะเต็มไปด้วยแสงสว่าง” (มัทธิว 6:22; 3 นีไฟ 13:22) แต่ถ้า “ดวงตา [ของเรา] ชั่ว”—นั่นคือถ้าเรามองหาความชั่วและรับสิ่งนั้นเข้ามาในร่างกายเรา—พระองค์ทรงเตือนว่า “ทั้งร่างของเจ้าจะเต็มไปด้วยความมืด” (ข้อ 23) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ แสงสว่างหรือความมืดในร่างกายเราขึ้นอยู่กับวิธีที่เรามอง—หรือรับ—ความจริงนิรันดร์ที่สอนเรา

เราควรทำตามพระดำรัสเชิญของพระผู้ช่วยให้รอดให้แสวงหาและขอเพื่อให้เข้าใจความจริงของนิรันดร พระองค์ทรงสัญญาว่าพระบิดาในสวรรค์เต็มพระทัยสอนความจริงให้ทุกคนที่แสวงหา (ดู 3 นีไฟ 14:8) ถ้าเราปรารถนาและมีดวงตาเป็นหนึ่งเดียวที่จะรับความจริง พระผู้ช่วยให้รอดทรงสัญญาว่าความจริงของนิรันดร “จะเปิด” ให้เรา (ดู 3 นีไฟ 14:7–8)

ในทางตรงกันข้าม ซาตานจ้องจะทำให้ความคิดเราสับสนหรือนำเราให้หลงผิดในเรื่องสำคัญๆ เช่น การดำเนินงานของฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ช่วยให้รอดทรงเตือนเกี่ยวกับ “ศาสดาพยากรณ์ปลอม [เช่นนั้น], ผู้จะมาหา [ท่าน] ในเครื่องนุ่งห่มของแกะ, แต่ภายในพวกเขาเป็นสุนัขป่าที่หิวโหย” (3 นีไฟ 14:15) พระองค์ประทานการทดสอบนี้เพื่อช่วยให้เราเลือกความจริงจากบรรดาคำสอนต่างๆ ที่อาจทำให้เราสับสน: “เจ้าจะรู้จักพวกเขาด้วยผลของพวกเขา” (3 นีไฟ 14:16) “ต้น‍ไม้ดีจะออกผลชั่วไม่‍ได้ ทั้งต้นไม้มีโรค [จะ] ออกผลดีไม่‍ได้” (ข้อ 18) ดังนั้นเราจึงควรมองที่ผลลัพธ์—“ผล”—ของหลักธรรมที่สอนเราและบุคคลผู้สอนหลักธรรมเหล่านั้น นั่นเป็นคำตอบที่ดีที่สุดให้แก่ข้อโต้แย้งมากมายที่เราได้ยินเกี่ยวกับศาสนจักร รวมถึงหลักคำสอน นโยบาย และผู้นำของศาสนจักรด้วย จงทำตามการทดสอบที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอน มองที่ผล—ผลลัพธ์

เมื่อเรานึกถึงผลของพระกิตติคุณและศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ เราชื่นชมยินดีที่ในช่วงชีวิตของสมาชิก ศาสนจักรได้ขยายจากที่ประชุมในเขตเทือกเขาทางตะวันตกไปถึงถิ่นพำนักของสมาชิกมากกว่า 16 ล้านคนในประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐ ด้วยการเติบโตนั้น เรารู้สึกว่าศาสนจักรมีความสามารถมากขึ้นในการช่วยเหลือสมาชิก เราช่วยเหลือในการรักษาพระบัญญัติ ในการทำหน้าที่สั่งสอนพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู ในการรวบรวมอิสราเอล และในการสร้างพระวิหารทั่วโลก

เราได้รับการนำจากศาสดาพยากรณ์ ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน พระเจ้าทรงใช้ความเป็นผู้นำของท่านให้บรรลุความก้าวหน้าที่เรารู้สึกได้ในช่วงการนำของท่านตลอดสองปีกว่า ต่อไปนี้เราจะได้รับฟังประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน ผู้จะสอนวิธีทำให้เราก้าวหน้ายิ่งขึ้นในศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์ในช่วงเวลาท้าทายนี้

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของสิ่งเหล่านี้ และร่วมสวดอ้อนวอนกับท่านให้ศาสดาพยากรณ์ซึ่งเราจะได้ฟังในลำดับต่อไป ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน