การรับรองให้มีการพิพากษาอันชอบธรรม
เพื่อรับรองให้มีการพิพากษาอันชอบธรรม การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดจะกำจัดพุ่มไม้แห่งความไม่รู้และหนามอันเจ็บปวดจากการทำร้ายของผู้อื่น
พระคัมภีร์มอรมอนสอนหลักคำสอนของพระคริสต์
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันท้าทายให้เราแต่ละคนไตร่ตรองว่าชีวิตเราจะต่างไปอย่างไรถ้า “ความรู้ที่ได้จากพระคัมภีร์มอรมอนถูกพรากไปในทันที”1 ข้าพเจ้าไตร่ตรองคำถามนี้ และมั่นใจว่าท่านหลายคนก็ไตร่ตรองเช่นกัน ความคิดหนึ่งเข้ามาครั้งแล้วครั้งเล่า—หากไม่มีพระคัมภีร์มอรมอนและความชัดเจนเกี่ยวกับหลักคำสอนของพระคริสต์และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ ข้าพเจ้าหาสันติได้จากที่ใด?
หลักคำสอนของพระคริสต์—ซึ่งประกอบด้วยหลักธรรมและศาสนพิธีแห่งความรอด อันได้แก่ ศรัทธาในพระคริสต์ การกลับใจ บัพติศมา ของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ และการอดทนจนกว่าชีวิตจะหาไม่—มีสอนไว้นับไม่ถ้วนในพระคัมภีร์แห่งการฟื้นฟูทุกเล่ม แต่ทรงพลังเป็นพิเศษในพระคัมภีร์มอรมอน2 หลักคำสอนเริ่มต้นด้วยศรัทธาในพระคริสต์ และองค์ประกอบทุกอย่างขึ้นอยู่กับความวางใจในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์
ดังที่ประธานเนลสันสอน “พระคัมภีร์มอรมอนให้ความเข้าใจครบถ้วนที่สุดและเชื่อถือได้มากที่สุดในเรื่องการชดใช้ของพระเยซูคริสต์”3 ยิ่งเราเข้าใจเกี่ยวกับของประทานอันสูงส่งของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้น เราจะยิ่งรู้มากขึ้นในความคิดและจิตใจ4ถึงความจริงจากคำรับรองของประธานเนลสันที่ว่า “ความจริงของพระคัมภีร์มอรมอนมี พลัง ที่จะเยียวยา ปลอบโยน ฟื้นฟู ช่วยเหลือ เสริมสร้าง ปลอบขวัญ และทำให้จิตวิญญาณเรารื่นเริง”5
การชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดตอบสนองข้อเรียกร้องทุกประการของความยุติธรรม
ส่วนสำคัญและให้สันติสุขของพระคัมภีร์มอรมอนที่ส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดคือคำสอนที่ว่าการพลีพระชนม์ชีพด้วยพระเมตตาของพระคริสต์ตอบสนองข้อเรียกร้องทุกประการของความยุติธรรม ดังที่แอลมาอธิบาย “พระผู้เป็นเจ้าพระองค์เองจึงทรงชดใช้บาปของโลก, เพื่อนำมาซึ่งแผนแห่งความเมตตา, เพื่อให้พอแก่ข้อเรียกร้องของความยุติธรรม, เพื่อพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้าที่ดีพร้อม, เที่ยงธรรม, และพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงเมตตาด้วย”6 แผนแห่งความเมตตาของพระบิดา7—หรือที่พระคัมภีร์เรียกว่าแผนแห่งความสุข8หรือแผนแห่งความรอด9—จะสำเร็จไม่ได้เว้นแต่จะมีการตอบสนองข้อเรียกร้องทั้งหมดของความยุติธรรม
แต่ “ข้อเรียกร้องของความยุติธรรม” คืออะไรกันแน่? ลองพิจารณาจากประสบการณ์ของแอลมาเอง อย่าลืมว่าว่าสมัยหนุ่มแอลมาเที่ยวไปพยายาม “ทำลายศาสนจักร”10 อันที่จริง แอลมาบอกฮีลามันบุตรชายว่าเขา “ทรมานด้วยความเจ็บปวดของนรก” เพราะเขา “กระทำฆาตกรรมลูกๆ ของ [พระผู้เป็นเจ้า]” อย่างมีประสิทธิภาพโดยการชักนำ “พวกเขาไปสู่ความพินาศ.”11
แอลมาอธิบายกับฮีลามันว่าในที่สุดสันติสุขมาสู่เขาเมื่อเขา “จำได้” ถึงคำสอนของบิดา “เกี่ยวกับการเสด็จมาของ … พระเยซูคริสต์ … เพื่อทรงชดใช้บาปของโลก”12 แอลมาผู้สำนึกผิดวิงวอนขอพระเมตตาของพระคริสต์13 จากนั้นจึงรู้สึกมีปีติและโล่งใจเมื่อเขาตระหนักว่าพระคริสต์ทรงชดใช้บาปให้แล้วและทรงจ่ายทุกสิ่งที่ความยุติธรรมเรียกร้อง แล้วความยุติธรรมเรียกร้องสิ่งใดจากแอลมา? ดังที่แอลมาสอนเองในเวลาต่อมาว่า “ไม่มีสิ่งที่ไม่สะอาดจะสืบทอดอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้าเป็นมรดกได้”14 กระนั้น ส่วนหนึ่งที่แอลมาโล่งใจอาจเป็นเพราะถ้าความเมตตาไม่มาไกล่เกลี่ย ความยุติธรรมคงจะปิดกั้นไม่ให้เขากลับไปอยู่กับพระบิดาบนสวรรค์เป็นแน่15
พระผู้ช่วยให้รอดทรงรักษาบาดแผลที่เรารักษาไม่ได้
แต่ปีติของแอลมามุ่งไปที่ตัวเองอย่างเดียว—ที่ เขา ไม่ต้องถูกลงโทษ และ เขา สามารถกลับไปหาพระบิดาได้อย่างนั้นหรือ? เรารู้ว่าแอลมาเจ็บปวดเกี่ยวกับผู้ที่เขาเคยชักนำออกไปจากความจริงเช่นกัน16 แต่แอลมาเองไม่สามารถเยียวยาและฟื้นฟูทุกคนที่เขาเคยชักนำออกไป เขาเองไม่สามารถรับรองว่าคนเหล่านั้นจะได้รับโอกาสอันยุติธรรมที่จะเรียนรู้หลักคำสอนของพระคริสต์และได้รับพรจากการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมที่นำไปสู่ปีติ เขาไม่สามารถนำผู้ที่ตายไปพร้อมกับความมืดบอดจากคำสอนผิดๆ ของเขากลับคืนมา
ดังที่ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ เคยสอนไว้ว่า: “ความคิดที่ช่วยแอลมา … คือ: การเอากลับคืนในสิ่งที่ท่านเอาคืนไม่ได้ เยียวยารักษาสิ่งที่ท่านเยียวยารักษาไม่ได้ ซ่อมแซมสิ่งที่ท่านซ่อมแซมไม่ได้ นั่นคือจุดประสงค์ที่แท้จริงแห่งการชดใช้ของพระคริสต์”17 ความจริงอันเปี่ยมปีติที่แอลมา “จำได้” ไม่ใช่แค่ว่าเขาสามารถสะอาดได้ แต่ผู้ที่เขาเคยทำร้ายก็สามารถได้รับการเยียวยาและรักษาหายเช่นกัน
การเสียสละของพระผู้ช่วยให้รอดรับรองการพิพากษาอันชอบธรรม
หลายปีก่อนที่แอลมาจะได้รับความช่วยเหลือจากหลักคำสอนที่สร้างความมั่นใจนี้ กษัตริย์เบ็นจามินสอนเกี่ยวกับความกว้างไกลของการเยียวยาจากการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด กษัตริย์เบ็นจามินประกาศว่าเขาได้รับ “ข่าวอันน่ายินดี” ผ่าน “เทพจากพระผู้เป็นเจ้า”18 ท่ามกลางข่าวอันน่ายินดีมีความจริงที่ว่าพระคริสต์จะทรงทนทุกข์และพลีพระชนม์ชีพเพื่อบาปและความผิดพลาดของเราเพื่อรับรองว่า “การพิพากษาอันชอบธรรม จะได้มาถึงลูกหลานมนุษย์”19
“การพิพากษาอันชอบธรรม” เรียกร้องสิ่งใดแน่? ในข้อถัดไปกษัตริย์เบ็นจามินอธิบายว่า เพื่อรับรองว่าจะมีการพิพากษาอันชอบธรรม พระโลหิตของพระผู้ช่วยให้รอดได้ชดใช้ “บาปของคนที่ตกไปเพราะการล่วงละเมิดของอาดัม” และชดใช้ให้ “ผู้ที่ตายโดยไม่รู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับพวกเขา, หรือผู้ที่ทำบาปโดยไม่รู้”20 เขาสอนว่าการพิพากษาอันชอบธรรมเรียกร้องให้ “พระโลหิตของพระคริสต์ชดใช้” บาปของเด็กเล็กด้วย21
พระคัมภีร์สอนหลักคำสอนอันล้ำเลิศที่ว่า การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดเยียวยาผู้ที่ทำบาปโดยไม่รู้—ผู้ที่เจคอบอธิบายว่า “ไม่มีกฎให้ไว้”22—เสมือนหนึ่งของประทานให้เปล่า ความรับผิดชอบต่อบาปขึ้นอยู่กับความสว่างที่เราได้รับและความสามารถในการใช้สิทธิ์เสรีของเรา23 เรารู้จักความจริงที่เยียวยาและปลอบโยนข้อนี้ก็เพราะพระคัมภีร์มอรมอนและพระคัมภีร์แห่งการฟื้นฟูเล่มอื่นๆ24
แน่นอนว่าที่ใดมีกฎให้ไว้ ที่นั่นย่อมรู้พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า เรามีภาระต้องรับผิดชอบ ดังที่กษัตริย์เบ็นจามินเน้นว่า: “แต่วิบัติ, วิบัติแก่ผู้ที่รู้ว่าตนกบฏต่อพระผู้เป็นเจ้า! เพราะความรอดจะไม่มาสู่คนเช่นนั้นเลยนอกจากจะเป็นโดยการกลับใจและศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์”25
นี่คือข่าวสารอันน่ายินดีจากหลักคำสอนของพระคริสต์เช่นกัน พระผู้ช่วยให้รอดไม่เพียงทรงเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ทำบาปด้วยความไม่รู้ แต่สำหรับผู้ที่ทำบาปทั้งที่มีความสว่างด้วย พระผู้ช่วยให้รอดทรงเสนอการเยียวยาภายใต้เงื่อนไขของการกลับใจและศรัทธาในพระองค์26
แอลมาคง “จำได้” ถึงความจริงสองประการนี้ แอลมาจะรู้สึกจริงๆ อย่างที่เขาอธิบายหรือไม่ว่าปีติของเขา “เป็นที่สุด”27ถ้าเขาคิดว่าพระคริสต์ทรงช่วยให้เขารอดแต่ทรงละทิ้งผู้คนที่เขาชักนำไปจากความจริงให้บาดเจ็บตลอดกาล? แน่นอนว่าไม่ เพื่อที่แอลมาจะรู้สึกถึงสันติสุขอย่างเต็มที่ คนที่เขาเคยทำร้ายต้องได้รับโอกาสที่จะหายดีเช่นกัน
แต่คนเหล่านั้น—หรือผู้ที่เราอาจทำร้าย—จะหายดีได้อย่างไร? ถึงแม้เราจะไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงกระบวนการศักดิ์สิทธิ์ที่การพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดใช้ในการรักษาและฟื้นฟู แต่เรารู้ว่าเพื่อรับรองให้มีการพิพากษาอันชอบธรรม พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงกำจัดพุ่มไม้แห่งความไม่รู้และหนามอันเจ็บปวดจากการทำร้ายของผู้อื่น28 โดยการนี้พระองค์ทรงทำให้แน่ใจว่าบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้าจะได้รับโอกาส พร้อมด้วยวิสัยทัศน์อันชัดเจนที่จะเลือกทำตามพระองค์และยอมรับแผนอันสำคัญยิ่งแห่งความสุข29
พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงซ่อมแซมทุกสิ่งที่เราทำเสียหาย
ความจริงเหล่านี้เองที่นำสันติสุขมาให้แอลมา และความจริงเหล่านี้ควรนำสันติสุขอันยิ่งใหญ่มาให้เราเช่นกัน ในฐานะชายหญิงปุถุชน เราต่างกระทบกระทั่งหรือบางครั้งปะทะกันจนทำร้ายกัน บิดามารดาทุกคนยืนยันได้ว่าความเจ็บปวดที่มากับความผิดพลาดของเราไม่ใช่แค่ความกลัวการลงโทษของเราเองเท่านั้น แต่เป็นความกลัวที่ว่าเราอาจไปจำกัดความสุขของลูกๆ หรือบางทีไปขัดขวางพวกเขาไม่ให้เห็นหรือเข้าใจความจริง สัญญาอันล้ำเลิศของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดก็คือตราบเท่าที่เป็นความผิดพลาดที่เราทำในฐานะบิดามารดา พระองค์จะไม่ทรงตำหนิลูกๆ และทรงสัญญาว่าจะเยียวยาพวกเขา30 แม้เมื่อพวกเขาทำบาปทั้งที่มีความสว่าง—เช่นเดียวกับเราทุกคน—พระพาหุแห่งพระเมตตาก็ยังเอื้อมออกมา31 และพระองค์จะทรงไถ่พวกเขาถ้าพวกเขาจะมองดูพระองค์และมีชีวิต32
ถึงแม้พระผู้ช่วยให้รอดทรงมีเดชานุภาพซ่อมแซมสิ่งที่เราซ่อมไม่ได้ แต่พระองค์ทรงบัญชาให้เราทำสุดความสามารถเพื่อชดเชยความเสียหายในกระบวนการกลับใจของเรา33 บาปและความผิดพลาดไม่เพียงทำลายความสัมพันธ์ของเรากับพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นด้วย บางครั้งความพยายามของเราในการเยียวยาและฟื้นฟูอาจเรียบง่ายเพียงคำขอโทษ แต่บางครั้งการชดเชยอาจเรียกร้องการกระทำที่อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นเวลาหลายปี34 กระนั้น สำหรับบาปและความผิดพลาดมากมายของเรา เราไม่อาจเยียวยาผู้ที่เราทำร้ายได้อย่างสมบูรณ์ คำสัญญาล้ำเลิศที่ให้สันติสุขของพระคัมภีร์มอรมอนและพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูคือพระผู้ช่วยให้รอดจะทรงซ่อมแซมทุกอย่างที่เราทำเสียหาย35 และพระองค์จะทรงซ่อมแซมเราด้วยถ้าเราหันไปหาพระองค์ด้วยศรัทธาและกลับใจจากภัยที่เราก่อขึ้น36 พระองค์ทรงมอบของประทานสองอย่างนี้เพราะทรงรักเราทุกคนด้วยความรักอันบริสุทธิ์37และเพราะพระองค์ประทานคำมั่นว่าจะให้มีการพิพากษาอันชอบธรรมเพื่อรักษาทั้งความยุติธรรมและความเมตตา ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงความจริงของสิ่งนี้ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน