2020
พบที่พักพิงจากมรสุมชีวิต
พฤษภาคม 2020


2:3

พบที่พักพิงจากมรสุมชีวิต

พระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์คือที่พักพิงที่เราทุกคนต้องการ ไม่ว่ามรสุมใดจะปะทะเข้ามาในชีวิต

ย้อนกลับไปช่วงกลางยุค 90 สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ข้าพเจ้าอยู่ในหน่วยที่สี่ของแผนกดับเพลิงซานติอาโกในชิลี ขณะทำงานที่นั่น ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่สถานีดับเพลิงทำหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์ช่วงกลางคืน ใกล้สิ้นปีมีคนบอกว่าข้าพเจ้าต้องอยู่ที่สถานีดับเพลิงก่อนวันขึ้นปีใหม่เพราะในวันนั้นมักมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นแทบทุกครั้ง ข้าพเจ้าตอบด้วยความประหลาดใจ “จริงหรือนี่?”

ข้าพเจ้าจำได้ว่ากำลังเฝ้าอยู่กับเพื่อนร่วมงานเมื่อเริ่มมีการยิงดอกไม้ไฟขึ้นฟ้าในย่านกลางเมืองซานติอาโกตอนเที่ยงคืน เราเริ่มสวมกอดกันพร้อมกล่าวคำอวยพรปีใหม่ ทันใดนั้นกระดิ่งสัญญาณที่สถานีดับเพลิงก็ดังขึ้นเพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน เราคว้าอุปกรณ์และกระโดดขึ้นรถดับเพลิง ระหว่างทางไปยังสถานที่เกิดเหตุ ขณะผ่านฝูงชนที่กำลังฉลองปีใหม่อยู่นั้น ข้าพเจ้าสังเกตว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีความวิตกกังวลอะไรเลย พวกเขาผ่อนคลายและสนุกสนานกับค่ำคืนฤดูร้อนอันอบอุ่น แต่คนในสถานที่ใกล้เคียงแห่งหนึ่งที่เรากำลังรีบเร่งไปช่วยกลับเดือดร้อนอย่างหนัก

ประสบการณ์นี้ช่วยให้ข้าพเจ้าตระหนักว่าแม้บางครั้งชีวิตเราอาจค่อนข้างราบรื่น แต่จะมีเวลาที่เราแต่ละคนต้องเผชิญกับความท้าทายและมรสุมไม่คาดคิดที่จะกดดันเราจนความอดทนถึงขีดสุด ความท้าทายทางร่างกาย จิตใจ ครอบครัว และหน้าที่การงาน; ภัยพิบัติทางธรรมชาติ; และเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับความเป็นความตาย เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของมรสุมที่เราจะเผชิญในชีวิตนี้

เมื่อเผชิญกับมรสุมเหล่านี้ เรามักประสบกับความรู้สึกสิ้นหวังหรือหวาดกลัว ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันกล่าวว่า “ศรัทธาเป็นยาแก้ความกลัว”—ศรัทธาในพระเจ้าพระเยซูคริสต์ของเรา (“ให้ศรัทธาของท่านแสดงออกมา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 29) เมื่อข้าพเจ้าเห็นมรสุมส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คน ข้าพเจ้าได้ข้อสรุปว่าไม่ว่ามรสุมประเภทใดเข้ามาปะทะเรา—ทั้งที่มีวิธีแก้หรือมองเห็นจุดสิ้นสุด—มีที่พักพิงเพียงแห่งเดียว และเป็นแห่งเดียวกันสำหรับมรสุมทุกประเภท ที่พักพิงแห่งเดียวที่พระบิดาบนสวรรค์ประทานให้นี้ คือพระเจ้าพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

ไม่มีใครได้รับข้อยกเว้นจากการเผชิญมรสุมเหล่านี้ ฮีลามัน ศาสดาพยากรณ์ในพระคัมภีร์มอรมอนสอนเราว่า: “จงจำ, จงจำไว้ว่าบนศิลาของพระผู้ไถ่ของเรา, ผู้ทรงเป็นพระคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า, ที่ลูกต้องสร้างรากฐานของลูก; เพื่อเมื่อมารจะส่งลมอันมีกำลังแรงของเขามา, แท้จริงแล้ว, ลูกศรของเขาในลมหมุน, แท้จริงแล้ว, เมื่อลูกเห็บของเขาและพายุอันมีกำลังแรงของเขาทั้งหมดจะกระหน่ำมาบนลูก, มันจะไม่มีพลังเหนือลูกเพื่อลากเอาลูกลงไปสู่ห้วงแห่งความเศร้าหมองและวิบัติอันหาได้สิ้นสุดไม่, เพราะศิลาซึ่งบนนั้นลูกได้รับการสร้างขึ้น, ซึ่งเป็นรากฐานอันแน่นอน, รากฐานซึ่งหากมนุษย์จะสร้างบนนั้นแล้วพวกเขาจะตกไม่ได้” (ฮีลามัน 5:12)

เอ็ลเดอร์โรเบิร์ต ดี. เฮลล์ ผู้มีประสบการณ์ส่วนตัวกับมรสุมอันยาวนานกล่าวว่า: “ความทุกข์ทรมานเกิดขึ้นกับคนทั้งโลก แต่วิธีที่เราตอบสนองต่อความทุกข์นั้นเป็นเรื่องแต่ละบุคคล ความทุกข์สามารถนำเราไปสู่หนึ่งในสองทาง อาจเป็นประสบการณ์ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งและชำระให้บริสุทธิ์เมื่อผนวกกันกับศรัทธา หรืออาจเป็นอิทธิพลบ่อนทำลายในชีวิตหากเราไม่มีศรัทธาในการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเจ้า” (“Your Sorrow Shall Be Turned to Joy,” Ensign, Nov. 1983, 66)

เพื่อมีความสุขกับที่พักพิงซึ่งพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์มอบให้ เราต้องมีศรัทธาในพระองค์—ศรัทธาที่ช่วยให้เราเอาชนะความเจ็บปวดทุกอย่างอันเกิดจากมุมมองจำกัดทางโลก พระองค์ทรงสัญญาว่าจะทรงทำให้ภาระของเราเบาลงหากเรามาหาพระองค์ทุกเรื่องที่เราทำ

“บรร‌ดาผู้เหน็ด‍เหนื่อยและแบกภาระหนัก” พระองค์ตรัส “จงมา‍หาเรา และเราจะให้ท่าน‍ทั้ง‍หลายได้หยุด‍พัก

“จงเอาแอกของเราแบกไว้ แล้วเรียนจากเรา เพราะว่าเราสุภาพอ่อนโยนและใจอ่อนน้อม และจิตใจของพวกท่านจะได้หยุดพัก

“ด้วยว่าแอกของเราก็พอเหมาะ และภาระของเราก็เบา” (มัทธิว 11:28–30; ดู โมไซยาห์ 24:14–15 ด้วย)

มีคำกล่าวที่ว่า “สำหรับผู้มีศรัทธา ไม่จำเป็นต้องมีคำอธิบาย แต่สำหรับผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีคำใดจะอธิบายได้” (เชื่อกันว่าคำพูดนี้กล่าวโดยโธมัส เอควินาส แต่น่าจะเป็นการถอดความคร่าวๆ จากสิ่งที่เขาสอนมากกว่า) อย่างไรก็ตาม เรามีความเข้าใจจำกัดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่บนแผ่นดินโลก และเรามักไม่มีคำตอบสำหรับคำถาม ทำไม ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น? ทำไมสิ่งนี้จึงเกิดกับ ฉัน? ฉันควรเรียนรู้อะไร? เมื่อเราหาคำตอบไม่ได้ นั่นคือเวลาที่จะนำสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดตรัสกับศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธในคุกลิเบอร์ตี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างสมบูรณ์:

“ลูกเอ๋ย, สันติสุขจงมีแก่จิตวิญญาณเจ้า; ความยากลำบากของเจ้าและความทุกข์ของเจ้าจะอยู่เพียงชั่วครู่;

“และจากนั้น, หากเจ้าอดทนมันด้วยดี, พระผู้เป็นเจ้าจะทรงยกเจ้าให้สูงส่งสู่เบื้องบน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:7–8)

แม้หลายคนจะเชื่อ ใน พระเยซูคริสต์จริงๆ แต่คำถามสำคัญคือเรา เชื่อ พระองค์และ เชื่อ สิ่งที่พระองค์ทรงสอนเราและขอให้เราทำหรือไม่ บางทีบางคนอาจคิดว่า “พระเยซูคริสต์จะทรงทราบอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับฉัน? พระองค์จะทรงทราบได้อย่างไรว่าฉันต้องการอะไรเพื่อจะมีความสุข?” โดยแท้แล้วคือพระผู้ไถ่และพระผู้วิงวอนแทนเรานั่นเองที่ศาสดาพยากรณ์อิสยาห์กล่าวถึงเมื่อท่านกล่าวว่า:

“ท่านถูกดูหมิ่นและถูกทอดทิ้ง เป็นคนที่รับความเจ็บปวด และคุ้นเคยกับความทุกข์ยาก …

“แน่ทีเดียวท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป …

“แต่​ท่าน​ถูก​แทง​เพราะ​ความ​ทรยศ​ของ​เราท่าน​บอบ‍ช้ำ​เพราะ​ความ​บาป‍ผิด​ของ​เรา การ​ตี‍สอน​ที่​ตก​บน​ท่าน​นั้น​ทำ​ให้​พวก‍เรา​มี​สวัสดิ‌ภาพ และ​ที่​ท่าน​ถูก​เฆี่ยน‍ตี​ก็​ทำ‍ให้​เรา​ได้​รับ​การ​รักษา” (อิสยาห์ 53:3–5)

อัครสาวกเปโตรสอนเราเช่นกันเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดว่า “พระ‍องค์​เอง​ได้​ทรง​รับ​แบก​บาป​ทั้ง‍หลาย​ของ​เรา​ไว้​ใน​พระ‍กาย​ของ​พระ‍องค์ที่​ต้น‍ไม้​นั้น เพื่อ​ว่า​เรา​จะ​ตาย​ต่อ​บาป​ได้ และ​ดำ‌เนิน​ชีวิต​เพื่อ​ความ​ชอบ‍ธรรม ด้วย​บาด‍แผล​ของ​พระ‍องค์พวก‍ท่าน​จึง​ได้​รับ​การ​รักษา​ให้​หาย” (1 เปโตร 2:24)

แม้ใกล้ถึงเวลามรณสักขีของเปโตรเอง คำพูดของท่านก็ยังไม่มีความกลัวหรือความสิ้นหวัง แต่กลับสอนให้วิสุทธิชน “ชื่นชมยินดี” แม้พวกเขาต้อง “ทน‍ทุกข์​ใน​การ​ทด‍ลอง​ต่างๆ นานา​ชั่ว‍ระยะ‍หนึ่ง” เปโตรแนะนำให้เราจดจำว่า “การทดสอบความเชื่อ [ของเรา] … แม้ว่าจะ … ถูกทดสอบด้วยไฟ” จะนำไปสู่ “การสรรเสริญ ศักดิ์ศรี และเกียรติในเวลาที่พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาปรากฏ” และสู่ “ความรอดแห่งวิญญาณจิต [ของเรา]” (1 เปโตร 1:6–7, 9)

เปโตรกล่าวต่อไปว่า:

“ท่าน​ที่‍รัก​ทั้ง‍หลาย อย่า​แปลก​ใจ​กับ​ความ​ทุกข์‍ยาก​แสน​สาหัส​ที่​กำลัง​เกิด‍ขึ้น​กับ​พวก‍ท่านเพื่อ​ทด‍สอบ​พวก‍ท่าน​นั้น ราว​กับ​ว่า​สิ่ง​ประ‌หลาด​เกิด​กับ​พวก‍ท่าน

“แต่​จง​ชื่น‍ชม​ยินดี​เสมอ ที่​ได้​มี​ส่วน​ร่วม​ใน​ความ​ทุกข์‍ยาก​ของ​พระ‍คริสต์ เพื่อ​ว่า​เมื่อ​พระ‍สิริ​ของ​พระ‍องค์​ปรา‌กฏ พวก‍ท่าน​ก็​จะ​ชื่น‍ชม​ยินดี​จน​เนื้อ‍เต้น” (1 เปโตร 4:12–13)

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนว่า “วิสุทธิชนมีความสุขได้ภายใต้สภาวการณ์ทุกรูปแบบ … เมื่อศูนย์กลางของชีวิตเราอยู่ที่แผนแห่งความรอดของพระผู้เป็นเจ้า … และพระเยซูคริสต์กับพระกิตติคุณของพระองค์ เราจะรู้สึกมีปีติได้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น—หรือไม่เกิดขึ้น—ในชีวิตเรา ปีติมาจากพระองค์และมาเพราะพระองค์ พระองค์ทรงเป็นที่มาของปีติทั้งปวง” (“ปีติและการอยู่รอดทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 82)

แน่นอนว่าการพูดถึงสิ่งเหล่านี้เมื่อเราไม่ได้อยู่ท่ามกลางมรสุมเป็นเรื่องง่ายกว่าการนำไปดำเนินชีวิตและประยุกต์ใช้ในช่วงมรสุม แต่ในฐานะพี่น้องของท่าน ข้าพเจ้าหวังให้ท่านรู้สึกได้ว่าข้าพเจ้าต้องการแบ่งปันกับท่านอย่างจริงใจถึงคุณค่าของการได้รู้ว่าพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์คือที่พักพิงที่เราทุกคนต้องการ ไม่ว่ามรสุมใดจะปะทะเข้ามาในชีวิต

ข้าพเจ้ารู้ว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงรักเรา และเราไม่ได้โดดเดี่ยว ข้าพเจ้าเชื้อเชิญให้ท่านมาดูว่าพระองค์ทรงสามารถทำให้ภาระของท่านเบาลงได้และทรงเป็นที่พักพิงที่ท่านแสวงหา เชิญมาช่วยให้ผู้อื่นพบที่พักพิงที่พวกเขาปรารถนา เชิญมาอยู่กับเราในที่พักพิงแห่งนี้ที่จะช่วยท่านต้านทานมรสุมของชีวิต ข้าพเจ้าไม่สงสัยในใจเลยว่าหากท่านมา ท่านจะเห็น ท่านจะช่วย และท่านจะอยู่

ศาสดาพยากรณ์แอลมาเป็นพยานถึงสิ่งเหล่านี้ต่อฮีลามันบุตรชายของท่านว่า: “พ่อรู้ว่าผู้ใดก็ตามที่มอบความไว้วางใจของพวกเขาในพระผู้เป็นเจ้าจะได้รับการค้ำจุนในความเดือดร้อนของพวกเขา, และความยุ่งยากของพวกเขา, และความทุกข์ของพวกเขา, และพระองค์จะทรงยกขึ้นในวันสุดท้าย” (แอลมา 36:3)

พระผู้ช่วยให้รอดตรัสว่า:

“ฉะนั้น, ให้ใจของเจ้าสบาย … ; เพราะเนื้อหนังทั้งปวงอยู่ในมือเรา; จงนิ่งเถิดและรู้ว่าเราคือพระผู้เป็นเจ้า …

“ดังนั้น, อย่ากลัวเลยแม้จนถึงความตาย; เพราะในโลกนี้ปีติของเจ้าไม่บริบูรณ์, แต่ในเราปีติของเจ้าบริบูรณ์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:16, 36)

เพลงสวด “Be Still, My Soul” ซึ่งสัมผัสใจข้าพเจ้าหลายครั้งมีข่าวสารปลอบประโลมจิตวิญญาณเรา คำร้องมีดังนี้:

จิตวิญญาณข้า จงสงบเถิด: โมงนั้นใกล้เข้ามา

เมื่อเราจักอยู่กับพระเจ้าตลอดไป

เมื่อความผิดหวัง เศร้า หวาดหวั่น พลันมลาย

ลืมทุกข์ใจ ปีติพิศุทธิ์แห่งรักหวนกลับมา

จิตวิญญาณข้า จงสงบเถิด: เมื่อความผันแปรและน้ำตาแห้งหาย

ท้ายสุดจักได้พบทุกคนผาสุกปลอดภัย (Hymns, บทเพลงที่ 124)

เมื่อเราเผชิญกับมรสุมชีวิต ข้าพเจ้ารู้ว่าหากเราพยายามสุดความสามารถและพึ่งพาพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ให้เป็นที่พักพิงของเรา เราจะได้รับพรด้วยการบรรเทาทุกข์ การปลอบโยน ความเข้มแข็ง ความยับยั้งตน และสันติสุขที่เราแสวงหา รวมถึงความมั่นใจว่าเมื่อวันเวลาของเราบนแผ่นดินโลกสิ้นสุดลง เราจะได้ยินพระคำของพระอาจารย์: “ดี​แล้ว เจ้า​เป็น​บ่าว​ที่​ดี​และ​ซื่อ‍สัตย์: … เจ้า​จง​ร่วม​ยินดี​กับ​นาย​ของ​เจ้า​เถิด” (มัทธิว 25:21) ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน