2021
ปกป้องรัฐธรรมนูญที่ได้รับการดลใจจากสวรรค์ของเรา
พฤษภาคม 2021


15:50

ปกป้องรัฐธรรมนูญที่ได้รับการดลใจจากสวรรค์ของเรา

เพราะเราเชื่อว่าการดลใจจากสวรรค์มอบความรับผิดชอบเฉพาะให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีหน้าที่ค้ำจุนและปกป้องรัฐธรรมนูญสหรัฐและหลักธรรมของระบอบรัฐธรรมนูญ

ในช่วงเวลาวุ่นวายนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าควรพูดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ได้รับการดลใจของสหรัฐ รัฐธรรมนูญนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อสมาชิกของเราในสหรัฐ แต่เป็นมรดกร่วมของรัฐธรรมนูญทั่วโลกเช่นกัน

1.

รัฐธรรมนูญเป็นรากฐานของการปกครอง ให้โครงสร้างและขีดจำกัดการใช้อำนาจรัฐ รัฐธรรมนูญสหรัฐเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดที่ยังบังคับใช้ในปัจจุบัน แม้แรกเริ่มจะใช้กันเฉพาะอาณานิคมกลุ่มเล็กเท่านั้น แต่ไม่นานก็กลายเป็นต้นแบบไปทั่วโลก ปัจจุบันทุกประเทศยกเว้นสามประเทศใช้รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร1

ในคำปราศรัยนี้ข้าพเจ้าไม่ได้พูดเพื่อพรรคการเมืองหรือคนกลุ่มใด ข้าพเจ้าพูดเพื่อรัฐธรรมนูญสหรัฐซึ่งข้าพเจ้าศึกษามานานกว่า 60 ปี ข้าพเจ้าพูดจากประสบการณ์ในสมัยเป็นเสมียนกฎหมายให้ประธานศาลสูงสุดสหรัฐ ข้าพเจ้าพูดจากการเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย 15 ปีและ 3 ปีครึ่งในฐานะผู้พิพากษาในศาลสูงสุดยูทาห์ สำคัญที่สุดคือ ข้าพเจ้าพูดจากการเป็นอัครสาวกของพระเยซูคริสต์ 37 ปีที่รับผิดชอบเรื่องการศึกษาว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐซึ่งได้รับการดลใจจากสวรรค์มีความหมายต่องานของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูของพระองค์อย่างไร

รัฐธรรมนูญสหรัฐมีลักษณะเฉพาะเพราะพระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์ทรง “สถาปนา” ขึ้นมา “เพื่อสิทธิและการคุ้มครองเนื้อหนังทั้งปวง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:77; ดู ข้อ 80 ด้วย) นั่นคือสาเหตุที่รัฐธรรมนูญนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายทั่วโลก เรื่องที่ว่าควรจะนำหลักรัฐธรรมนูญนี้มาใช้ในประชาชาติอื่นของโลกหรือไม่อย่างไรนั้นเป็นเรื่องให้พวกเขาตัดสินใจ

อะไรคือจุดประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในการสถาปนารัฐธรรมนูญสหรัฐ? เราเห็นอยู่ในหลักคำสอนเรื่องสิทธิ์เสรีทางศีลธรรม ในทศวรรษแรกของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟู สมาชิกศาสนจักรทางชายแดนตะวันตกกำลังประสบการข่มเหงทั้งจากบุคคลและภาครัฐ ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาต่อต้านระบบการใช้มนุษย์เป็นทาสที่ยังมีอยู่ในสหรัฐเวลานั้น ในสภาวการณ์เคราะห์ร้ายเหล่านี้ พระผู้เป็นเจ้าทรงเปิดเผยความจริงนิรันดร์เกี่ยวกับหลักคำสอนของพระองค์ผ่านศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธ

พระผู้เป็นเจ้าประทานสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมแก่บุตรธิดาของพระองค์—อำนาจในการตัดสินใจและกระทำ สภาวะอันน่าพึงปรารถนาที่สุดสำหรับการใช้สิทธิ์เสรีนั้นคือการมีเสรีภาพสูงสุดให้ชายและหญิงทำตามสิ่งที่ตัวเองเลือก แล้วการเปิดเผยนั้นก็อธิบายว่า “มนุษย์ทุกคนจะรับผิดชอบบาปของเขาเองในวันแห่งการพิพากษา” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:78) “ฉะนั้น,” พระเจ้าทรงเปิดเผย “จึงไม่ถูกต้องที่มนุษย์คนใดจะอยู่ในความเป็นทาสแก่กัน” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 101:79) ซึ่งหมายความชัดเจนว่าการให้มนุษย์เป็นทาสเป็นเรื่องผิด และตามหลักธรรมเดียวกัน เป็นเรื่องผิดถ้าพลเมืองไม่มีเสียงในการเลือกผู้ปกครองหรือการตั้งกฎของตนเอง

2.

ความเชื่อของเราที่ว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐได้รับการดลใจจากสวรรค์ไม่ได้หมายความว่าการเปิดเผยจากเบื้องบนบอกทุกคำทุกวลี เช่น บทบัญญัติการจัดสรรจำนวนผู้แทนจากแต่ละรัฐหรืออายุขั้นต่ำของแต่ละคน2 รัฐธรรมนูญไม่ใช่ “เอกสารที่โตเต็มที่” ประธานเจ. รูเบ็น คลาร์กกล่าว “ตรงกันข้าม” ท่านอธิบาย “เราเชื่อว่ารัฐธรรมนูญต้องพัฒนาเติบโตจนบรรลุความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวหน้า”3 ตัวอย่างเช่น บทบัญญัติแก้ไข ที่ได้รับการดลใจให้เลิกทาสและให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียง อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เห็นการดลใจในการวินิจฉัยทุกครั้งของศาลสูงสุดขณะตีความรัฐธรรมนูญ

ข้าพเจ้าเชื่อว่ารัฐธรรมนูญสหรัฐมีหลักธรรมที่ได้รับการดลใจจากสวรรค์อย่างน้อยห้าข้อในนั้น4

ข้อแรกคือหลักธรรมที่ว่าที่มาของอำนาจรัฐคือประชาชน ในยุคหนึ่งที่ถือกันโดยสากลว่าอำนาจอธิปไตยมาจากเทวสิทธิราชย์หรือจากอำนาจทหาร การมองว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจึงออกแนวปฏิวัติ นักปรัชญาสนับสนุนเรื่องนี้ แต่รัฐธรรมนูญสหรัฐนำมาใช้เป็นที่แรก อำนาจอธิปไตยในประชาชน ไม่ได้ หมายความว่ามวลชนหรือคนกลุ่มใดสามารถเข้ามาแทรกแซงเพื่อข่มขู่หรือบังคับให้รัฐทำอะไรก็ได้ รัฐธรรมนูญสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งประชาชนใช้อำนาจของตนผ่านตัวแทนที่ตนเลือกมา

หลักธรรมที่ได้รับการดลใจข้อสองคือการแบ่งอำนาจให้ระหว่างประเทศกับรัฐย่อยในประเทศ ในระบบสหพันธรัฐของเรา หลักธรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนนี้บางครั้งเปลี่ยนไปตามบทบัญญัติแก้ไขที่มาจากดลใจ เช่น การเลิกทาสและการให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงตามที่กล่าวมาข้างต้น ที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญสหรัฐจำกัดให้รัฐบาลแห่งชาติใช้เฉพาะอำนาจตามที่มีอธิบายไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยนัย และสงวนอำนาจอื่นทั้งหมดของรัฐบาลไว้ “ให้รัฐต่างๆ ตามลำดับ หรือให้แก่ประชาชน”5

อีกหลักธรรมหนึ่งที่ได้รับการดลใจคือการแยกใช้อำนาจ มากกว่าหนึ่งศตวรรษก่อนสภารัฐธรรมนูญสหรัฐปี 1787 ของเรา รัฐสภาอังกฤษบุกเบิกการแยกใช้อำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจบริหารเมื่อพวกเขาแย่งชิงอำนาจบางส่วนมาจากกษัตริย์ การดลใจในสภาของอเมริกาคือการมอบอำนาจ อิสระ ให้ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการเพื่อให้สามฝ่ายนี้ใช้ตรวจสอบถ่วงดุลกัน

หลักธรรมที่ได้รับการดลใจข้อสี่อยู่ในกลุ่มหลักประกันสำคัญๆ เรื่องสิทธิส่วนบุคคลและข้อจำกัดจำเพาะเรื่องอำนาจรัฐในบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง ซึ่งได้รับมติเห็นชอบด้วยการแปรญัตติหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลบังคับเพียงสามปี บัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ในตอนนั้น การดลใจเรื่องนี้อยู่ในการนำหลักธรรมที่บุกเบิกในอังกฤษมาสู่การปฏิบัติ โดยเริ่มกับกฎบัตรแมกนาคาร์ตา ผู้เขียนรัฐธรรมนูญคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้เพราะกฎบัตรอาณานิคมบางฉบับมีหลักประกันเช่นนั้น

หากปราศจากบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานของพลเมือง อเมริกาคงไม่ได้เป็นประเทศเจ้าภาพสำหรับการฟื้นฟูพระกิตติคุณซึ่งเริ่มในอีกสามทศวรรษต่อมา มีการดลใจจากสวรรค์ในบทบัญญัติดั้งเดิมว่าไม่ควรมีการตรวจสอบความเชื่อทางศาสนาสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ6 แต่การเพิ่มหลักประกันเรื่องเสรีภาพทางศาสนาและการไม่ให้มีศาสนาประจำชาติเข้าไปในบทบัญญัติแก้ไขฉบับแรกถือว่าสำคัญมาก เราเห็นการดลใจจากสวรรค์เรื่องเสรีภาพในการพูดกับเสรีภาพสื่อในบทบัญญัติแก้ไขฉบับแรกและเรื่องการคุ้มครองบุคคลในบทบัญญัติแก้ไขอื่นๆ เช่น ในการฟ้องร้องคดีอาญา

เราประชาชน

ข้อห้าข้อสุดท้าย ข้าพเจ้าเห็นการดลใจจากสวรรค์ในจุดประสงค์สำคัญยิ่งของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เราต้องอยู่ภายใต้การปกครองโดย กฎหมาย ไม่ใช่โดย บุคคล และเราต้องภักดีต่อ รัฐธรรมนูญ ตลอดจนหลักธรรมและกระบวนการของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ต่อ ผู้ดำรงตำแหน่ง คนใด ในวิธีนี้ ทุกคนต้องมีความเสมอภาคทางกฎหมาย หลักธรรมเหล่านี้ขัดขวางความทะยานอยากแบบเผด็จการซึ่งทำให้ประชาธิปไตยเหลวแหลกมาแล้วในบางประเทศ และหมายความด้วยว่าไม่ควรมีใครในคณะปกครองสามฝ่ายนี้ครอบงำฝ่ายอื่นๆ หรือขัดขวางไม่ให้ฝ่ายอื่นๆ ใช้อำนาจหน้าที่อันถูกต้องตามรัฐธรรมนูญในการตรวจสอบถ่วงดุลกันและกัน

3.

แม้จะมีหลักธรรมที่ได้รับการดลใจจากสวรรค์ในรัฐธรรมนูญสหรัฐ แต่เมื่อถูกนำไปใช้โดยมนุษย์ที่ไม่ดีพร้อม ผลจึงไม่ได้บรรลุตามเจตนารมณ์เสมอไป การร่างกฎหมายเรื่องสำคัญๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองความสัมพันธ์ในครอบครัว ถูกนำไปจากรัฐต่างๆ โดยรัฐบาลกลางสหรัฐ บทบัญญัติแก้ไขฉบับแรกที่รับประกันเรื่องเสรีภาพในการพูดอ่อนลงบางครั้งเพราะการบีบไม่ให้พูดเรื่องที่คนไม่นิยมกัน หลักธรรมการแยกใช้อำนาจมักอยู่ภายใต้แรงกดดันด้วยการที่คณะปกครองฝ่ายหนึ่งใช้หรือยับยั้งอำนาจของอีกฝ่ายมากบ้างน้อยบ้างตามสถานการณ์

มีภัยคุกคามอื่นๆ ที่บ่อนทำลายหลักธรรมที่ได้รับการดลใจของรัฐธรรมนูญสหรัฐ รัฐธรรมนูญตกต่ำลงเพราะการพยายามใช้กระแสสังคมปัจจุบันเป็นเหตุผลสำหรับการบัญญัติรัฐธรรมนูญ แทนที่จะใช้เสรีภาพและการปกครองตนเอง อำนาจของรัฐธรรมนูญถูกปฏิบัติราวกับไม่มีความสำคัญเมื่อผู้สมัครหรือเจ้าพนักงานละเลยหลักธรรมในนั้น ศักดิ์ศรีและผลบังคับใช้ของรัฐธรรมนูญลดลงเพราะคนอ้างถึงว่าเป็นเหมือนบททดสอบความจงรักภักดีหรือสโลแกนทางการเมือง แทนที่จะพูดถึงสถานะอันสูงส่งของรัฐธรรมนูญว่าเป็นที่มาของการให้อำนาจและการจำกัดอำนาจรัฐ

4.

เราเชื่อว่าการดลใจจากสวรรค์มอบความรับผิดชอบเฉพาะให้วิสุทธิชนยุคสุดท้ายมีหน้าที่ค้ำจุนและปกป้องรัฐธรรมนูญสหรัฐและหลักธรรมของระบอบรัฐธรรมนูญไม่ว่าเราอยู่ที่ใด เราควรวางใจในพระเจ้าและมองในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตของประเทศนี้

แล้ววิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ต้องทำอะไรอีก? เราต้องสวดอ้อนวอนขอให้พระเจ้าทรงนำทางและทรงอวยพรทุกประเทศและผู้นำของแต่ละประเทศ นี่เป็นหลักแห่งความเชื่อส่วนหนึ่งของเรา การอยู่ใต้อาณัติของประธานาธิบดีหรือผู้ปกครอง7ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเราในการคัดค้านกฎหมายหรือนโยบายแต่ละอย่างแน่นอน แต่เราต้องใช้อิทธิพลของเราอย่างสุภาพและโดยสันติวิธีภายในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนเรื่องประเด็นขัดแย้งต่างๆ เราควรพยายามรอมชอมและสร้างเอกภาพ

มีหน้าที่อื่นๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการค้ำจุนรัฐธรรมนูญที่ได้รับการดลใจ เราควรเรียนรู้และสนับสนุน หลักธรรม ที่ได้รับการดลใจของรัฐธรรมนูญ เราควรเสาะหาและสนับสนุนคนดีและผู้มีปัญญาที่จะสนับสนุนหลักธรรมเหล่านั้นในการกระทำสาธารณะของพวกเขา8 เราควรเป็นพลเมืองผู้รอบรู้ที่กระตือรือร้นในการทำให้คนรู้สึกถึงอิทธิพลของเราในเรื่องบ้านเมือง

ในสหรัฐและประชาธิปไตยที่อื่นๆ อิทธิพลทางการเมืองใช้โดยการหาเสียงชิงตำแหน่ง (ซึ่งเราส่งเสริม) โดยการเลือกตั้ง โดยการสนับสนุนทางการเงิน โดยการเป็นสมาชิกและการทำงานในพรรคการเมือง และโดยการสื่อสารอย่างต่อเนื่องกับเจ้าพนักงาน พรรค และผู้สมัคร ประชาธิปไตยต้องมีทั้งหมดนี้เพื่อจะทำหน้าที่ได้ดี แต่พลเมืองผู้มีมโนธรรมไม่จำเป็นต้องให้ทั้งหมดก็ได้

ประเด็นทางการเมืองมีหลายประเด็น ไม่มีพรรคใด แนวนโยบายพรรคใด และผู้สมัครคนใดสามารถสนองความพึงพอใจส่วนบุคคลได้ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้พลเมืองแต่ละคนจึงต้องตัดสินใจว่าประเด็นใดสำคัญต่อเขามากที่สุด ณ เวลานั้นๆ จากนั้นสมาชิกควรแสวงหาการดลใจว่าจะใช้อิทธิพลของตนอย่างไรตามลำดับความสำคัญของแต่ละคน กระบวนการนี้จะไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจต้องเปลี่ยนการเลือกสนับสนุนพรรคหรือการเลือกผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งต่อครั้งก็ว่าได้

บางครั้งการกระทำโดยอิสระเช่นนั้นจะทำให้ผู้ลงคะแนนต้องสนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมืองหรือนโยบายพรรคที่พวกเขาไม่อาจเห็นด้วยกับจุดยืนด้านอื่นๆ ของคนเหล่านั้น9 นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่เรากระตุ้นให้สมาชิกเลิกตัดสินกันในเรื่องการเมือง เราไม่ควรยืนกรานอ้างว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายที่ซื่อสัตย์ไม่สามารถเข้าร่วมกับพรรคใดพรรคหนึ่งหรือออกเสียงให้ผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง เราสอนหลักธรรมที่ถูกต้องและปล่อยให้สมาชิกเลือกวิธีจัดลำดับความสำคัญและประยุกต์ใช้หลักธรรมเหล่านั้นกับประเด็นที่เจอเป็นครั้งๆ ไป เรายืนยัน และขอให้ผู้นำในท้องที่ของเรายืนยันด้วยว่าการเลือกทางการเมืองและการสังกัดพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่เราจะไม่สอนหรือสนับสนุนในการประชุมใดๆ ของศาสนจักร

แน่นอนว่าศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายจะใช้สิทธิ์รับรองหรือคัดค้านข้อเสนอทางกฎหมายจำเพาะอย่างที่เราเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติกิจทางศาสนาโดยเสรีหรือผลประโยชน์ที่จำเป็นต่อองค์กรต่างๆ ของศาสนจักร

ข้าพเจ้าเป็นพยานถึงรัฐธรรมนูญที่ได้รับการดลใจจากสวรรค์ของสหรัฐและสวดอ้อนวอนขอให้เราที่รู้จักพระองค์ผู้ทรงดลใจสิ่งนี้คอยค้ำจุนและปกป้องหลักธรรมอันสำคัญยิ่งของรัฐธรรมนูญตลอดไป ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู Mark Tushnet, “Constitution,” ใน Michel Rosenfeld and András Sajó, eds., The Oxford Handbook of Comparative Constitutional Law (2012), 222. สามประเทศที่มีรัฐธรรมนูญไม่เป็นลายลักษณ์อักษรคือสหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และอิสราเอล ทั้งสามประเทศนี้มีประเพณีที่เข้มแข็งของระบอบรัฐธรรมนูญแม้ไม่ได้รวบรวมบทบัญญัติการปกครองไว้ในเอกสารเดียว

  2. ดู United States Constitution, article 1, section 2.

  3. J. Reuben Clark Jr., “Constitutional Government: Our Birthright Threatened,” Vital Speeches of the Day, Jan. 1, 1939, 177, อ้างถึงใน Martin B. Hickman, “J. Reuben Clark, Jr.: The Constitution and the Great Fundamentals,” ใน Ray C. Hillam, ed., By the Hands of Wise Men: Essays on the U.S. Constitution (1979), 53. บริคัม ยังก์มีมุมมองคล้ายกันในเรื่องพัฒนาการรัฐธรรมนูญ โดยสอนว่า ผู้เขียนกฎหมาย “วางรากฐาน และคนรุ่นหลังต้องต่อยอด” (Discourses of Brigham Young, sel. John A. Widtsoe [1954], 359)

  4. ทั้งห้าข้อนี้มีความคล้ายคลึงแต่ไม่เหมือนกับที่ระบุไว้ใน J. Reuben Clark Jr., Stand Fast by Our Constitution (1973), 7; Ezra Taft Benson, “Our Divine Constitution,” Ensign, Nov. 1987, 4–7; and Ezra Taft Benson, “The Constitution—A Glorious Standard,” Ensign, Sept. 1987, 6–11. ดูโดยรวมใน Noel B. Reynolds, “The Doctrine of an Inspired Constitution” ใน By the Hands of Wise Men, 1–28.

  5. United States Constitution, amendment 10.

  6. ดู United States Constitution, article 6.

  7. ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:12.

  8. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 98:10.

  9. ดู David B. Magleby, “The Necessity of Political Parties and the Importance of Compromise,” BYU Studies, vol. 54, no. 4 (2015), 7–23.