2021
“หลักธรรมแห่งกิตติคุณของเรา”
พฤษภาคม 2021


15:0

“หลักธรรมแห่งกิตติคุณของเรา”

(หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:12)

หลักธรรมพระกิตติคุณคือแนวทางตามหลักคำสอนสำหรับการใช้สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมอย่างชอบธรรม

ในการประชุมใหญ่สามัญของศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายเดือนตุลาคมปี 1849 เอ็ลเดอร์จอห์น เทย์เลอร์ แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองได้รับเรียกให้ไปเปิดประเทศฝรั่งเศสเพื่อการสั่งสอนพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ การรับใช้ของท่านรวมถึงการตรวจแก้วารสารทางการฉบับแรกของศาสนจักรในประเทศนั้นด้วย เอ็ลเดอร์เทย์เลอร์จัดเตรียมและตีพิมพ์บทความหนึ่งในปี 1851 เพื่อตอบคำถามที่มีคนถามท่านบ่อยครั้งเกี่ยวกับศาสนจักร และช่วงท้ายบทความนั้น เอ็ลเดอร์เทย์เลอร์เล่าเหตุการณ์ต่อไปนี้:

“หลายปีก่อนในนอวู ข้าพเจ้าได้ยินสุภาพบุรุษคนหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติถามโจเซฟ สมิธว่าท่านสามารถปกครองผู้คนมากมายและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างไร้ที่ติแบบนั้นได้อย่างไร พร้อมกับบอกว่าเป็นเรื่องสุดวิสัยที่พวกเขาจะทำเช่นนั้นที่อื่น คุณสมิธตอบว่าเป็นเรื่องง่ายมาก ‘อย่างไรครับ?’ สุภาพบุรุษคนนั้นถาม ‘สำหรับเราแล้วมันยากมาก’ คุณสมิธตอบว่า ‘ผมสอนหลักธรรมที่ถูกต้องแก่พวกเขา และให้พวกเขาปกครองตนเอง’”1

ข้าพเจ้าสวดอ้อนวอนขอให้พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงสอนและจรรโลงใจเราแต่ละคนขณะข้าพเจ้าเน้นบทบาทสำคัญของหลักธรรมในพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์

หลักธรรม

พระเจ้าทรงเปิดเผยต่อศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธว่า “เอ็ลเดอร์, ปุโรหิตและผู้สอนของศาสนจักรนี้พึงสอนหลักธรรมแห่งกิตติคุณของเรา, ซึ่งมีอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลและพระคัมภีร์มอรมอน, ซึ่งในนั้นคือความสมบูรณ์แห่งกิตติคุณ”2 พระองค์ทรงประกาศเช่นกันว่าวิสุทธิชนยุคสุดท้ายควร “ได้รับการแนะนำอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทฤษฎี, ในหลักธรรม, ในหลักคำสอน, ในกฎแห่งพระกิตติคุณ, ในเรื่องทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า, อันเป็นการสมควรที่เจ้าจะเข้าใจ”3

กล่าวโดยสังเขปคือ หลักธรรมพระกิตติคุณคือแนวทางตามหลักคำสอนสำหรับการใช้สิทธิ์เสรีทางศีลธรรมอย่างชอบธรรม หลักธรรมได้มาจากความจริงพระกิตติคุณที่กว้างกว่า ให้ทิศทางและมาตรฐานขณะเรามุ่งหน้าบนเส้นทางพันธสัญญา

ตัวอย่างเช่น หลักแห่งความเชื่อสามข้อแรกระบุแง่มุมพื้นฐานของหลักคำสอนแห่งพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟูของพระเยซูคริสต์: ธรรมชาติของพระผู้เป็นเจ้าสามพระองค์ใน หลักแห่งความเชื่อข้อหนึ่ง, ผลจากการตกของอาดัมและเอวาใน หลักแห่งความเชื่อข้อสอง, และพรที่เป็นไปได้ผ่านการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ใน หลักแห่งความเชื่อข้อสาม4, และ หลักแห่งความเชื่อข้อสี่ วางหลักธรรมเบื้องต้น—แนวทางของการใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์และการกลับใจ—และศาสนพิธีฐานะปุโรหิตเบื้องต้นที่เปิดทางให้การชดใช้ของพระเยซูคริสต์มีผลในชีวิตเรา5

พระคำแห่งปัญญาเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของหลักธรรมที่เป็นแนวทาง ขอให้สังเกตข้อเกริ่นนำเหล่านี้ในหลักคำสอนและพันธสัญญา ภาค 89

“ประทานให้เป็นหลักธรรมพร้อมด้วยสัญญา, ซึ่งปรับให้เข้ากับความสามารถของคนอ่อนแอและคนอ่อนแอที่สุดจากวิสุทธิชนทั้งปวง, ผู้ที่เป็นหรือจะเรียกได้ว่าเป็นวิสุทธิชน.

“ดูเถิด, ตามจริงแล้ว, พระเจ้าตรัสกับเจ้าดังนี้: เนื่องจากความชั่วและแผนซึ่งมีและจะมีอยู่ในใจคนช่างคบคิดในวันเวลาสุดท้าย, เราเตือนเจ้าแล้ว, และเตือนเจ้าล่วงหน้า, โดยให้คำแห่งปัญญานี้แก่เจ้าโดยการเปิดเผย”6

คำแนะนำจากการดลใจหลังจากคำเกริ่นนำนี้จะให้แนวทางที่ยั่งยืนสำหรับความผาสุกทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณและเป็นพยานถึงพรเฉพาะด้านที่ขึ้นอยู่กับความซื่อสัตย์ต่อหลักธรรมของเรา

การเรียนรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตตามหลักธรรมพระกิตติคุณจะเสริมสร้างศรัทธาของเราในพระผู้ช่วยให้รอด ทำให้การอุทิศตนของเราต่อพระองค์ลึกซึ้งขึ้น เชื้อเชิญพรและของประทานฝ่ายวิญญาณมากมายเข้ามาในชีวิตเรา หลักธรรมแห่งความชอบธรรมช่วยให้เรามองข้ามความชอบส่วนตัวและความปรารถนาที่เห็นแก่ตัวเช่นกัน โดยให้มุมมองล้ำค่าของความจริงนิรันดร์ขณะเราฟันฝ่าสภาวการณ์ ความท้าทาย การตัดสินใจ และประสบการณ์ต่างๆ ของความเป็นมรรตัย

ตัวอย่างร่วมสมัยของการสอนหลักธรรมที่ถูกต้อง

คำกล่าวของศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธเกี่ยวกับการสอนหลักธรรมที่ถูกต้องน่าจะเป็นหนึ่งในคำสอนของท่านที่มีคนนำมาอ้างบ่อยที่สุด และเราพบตัวอย่างอันทรงพลังของรูปแบบคำแนะนำจากการดลใจนี้ในคำประกาศของผู้รับใช้ที่มีสิทธิอำนาจของพระเจ้าในปัจจุบัน

หลักธรรมเรื่องการไม่เบี่ยงเบนความสนใจ

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์พูดในการประชุมใหญ่สามัญปี 1998 เกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนอันเกี่ยวข้องกับการเตรียมและการปฏิบัติศีลระลึก ท่านอธิบาย หลักธรรมเรื่องการไม่เบี่ยงเบนความสนใจ และบอกว่าผู้ดำรงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนจะต้องไม่ให้รูปลักษณ์หรือพฤติกรรมใดของตนมาทำให้สมาชิกคนใดในศาสนจักรเบนความสนใจจากการนมัสการและการต่อพันธสัญญา ประธานโอ๊คส์เน้นย้ำหลักธรรมที่เกี่ยวข้องเรื่องความมีระเบียบ ความสะอาด ความคารวะ และความสง่างามด้วย

น่าสนใจที่ประธานโอ๊คส์ไม่ได้ให้รายการยืดยาวของสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำแก่เยาวชนชาย แต่อธิบายหลักธรรมด้วยความคาดหวังว่าเยาวชนชาย บิดามารดาและผู้นำของพวกเขาจะสามารถและควรใช้วิจารณญาณและการดลใจของตนในการทำตามแนวทางดังกล่าว

ท่านอธิบายว่า: “ข้าพเจ้าจะไม่แนะนำกฎโดยละเอียด เนื่องจากสภาวการณ์ในวอร์ดและสาขาต่างๆ ของศาสนจักรทั่วโลกต่างกันมากจนกฎที่ดูเหมือนว่าจำเป็นในที่หนึ่งอาจไม่เหมาะกับอีกที่หนึ่ง แต่จะแนะนำหลักธรรมที่ยึดตามหลักคำสอน ถ้าทุกคนเข้าใจหลักธรรมนี้และปฏิบัติให้สอดคล้องกัน ก็แทบไม่จำเป็นต้องมีกฎ ถ้าจำเป็นต้องมีกฎหรือการให้คำปรึกษาในแต่ละกรณี ผู้นำในท้องที่สามารถให้ได้ตามหลักคำสอนนั้นๆ และหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง”7

หลักธรรมเรื่องวันสะบาโตเป็นสัญญาณ

ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายนปี 2015 ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสอนเราว่า “สะบาโตคือวันปีติยินดี”8 ท่านอธิบายด้วยว่าตัวท่านเองเข้าใจหลักธรรมพื้นฐานเกี่ยวกับการให้เกียรติวันสะบาโตอย่างไร:

“เราจะรักษาวันสะบาโต ให้บริสุทธิ์ อย่างไร? ในสมัยที่ข้าพเจ้ายังหนุ่ม ข้าพเจ้าศึกษางานของผู้อื่นที่รวบรวมรายการสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ทำ ไม่ได้ ในวันสะบาโต ภายหลังข้าพเจ้าจึงเรียนรู้จากพระคัมภีร์ว่าพฤติกรรมและเจตคติของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตเป็น สัญญาณ ระหว่างข้าพเจ้ากับพระบิดาบนสวรรค์ ด้วยความเข้าใจนั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องใช้รายการสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้อีกต่อไป เมื่อข้าพเจ้าต้องตัดสินใจว่ากิจกรรมนี้เหมาะสมสำหรับวันสะบาโตหรือไม่ ข้าพเจ้าเพียงถามตนเองว่า ‘ข้าพเจ้าต้องการส่งสัญญาณอะไรให้พระผู้เป็นเจ้า?’ คำถามนั้นทำให้การเลือกของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตกระจ่างชัด”9

คำถามเรียบง่ายแต่ทรงพลังของประธานเนลสันเน้นย้ำหลักธรรมหนึ่งที่ฝ่าความเคลือบคลุมใดๆ เรื่องความหมายและสิ่งที่เราควรทำในการให้เกียรติวันสะบาโต คำถามของท่านสรุปแนวทางและมาตรฐานที่จะเป็นพรแก่เราทุกคนได้ในสภาวการณ์ต่างๆ

หลักธรรมเรื่องการเต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย

หกเดือนก่อนในการประชุมใหญ่สามัญ ประธานเนลสันอธิบายว่าท่านตื่นเต้นดีใจเมื่อได้ความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความหมายของคำว่า อิสราเอล ท่านบอกเราว่าจิตวิญญาณท่านลิงโลดขณะเรียนรู้ว่า “ชื่อ อิสราเอล หมายถึงคนที่ เต็มใจ ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตตน”10 จากนั้นประธานเนลสันระบุนัยสำคัญหลายอย่างที่มาจากความเข้าใจดังกล่าว

ข่าวสารของท่านเกี่ยวกับ การเต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการสอนหลักธรรมที่ถูกต้องเพื่อให้เราปกครองตนเองได้ เหมือนที่ท่านทำในข่าวสารเรื่องการทำให้สะบาโตเป็นวันปีติยินดี ประธานเนลสันตั้งคำถามบนหลักธรรมที่ใช้เป็นแนวทางและมาตรฐานสำหรับเราแต่ละคน

ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตท่านหรือไม่? ท่าน เต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอิทธิพลสำคัญที่สุดในชีวิตท่านหรือไม่?”

ท่านกล่าวต่อไปว่า:

“ลองพิจารณาว่าความเต็มใจเช่นนั้นจะเป็นพรแก่ท่านอย่างไร ถ้าท่านยังไม่แต่งงานและกำลังหาคู่นิรันดร์ ความปรารถนาจะเป็น ‘เชื้อสายอิสราเอล’ จะช่วยท่านตัดสินใจว่าจะออกเดทกับใครและอย่างไร

“ถ้าท่านแต่งงานกับคู่ที่ละเมิดพันธสัญญาของตน ความเต็มใจจะให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตท่านจะช่วยให้พันธสัญญาที่ท่านทำไว้กับพระผู้เป็นเจ้ายังคงเดิม พระผู้ช่วยให้รอดจะทรงเยียวยาใจที่ชอกช้ำของท่าน สวรรค์จะเปิดขณะท่านพยายามรู้วิธีเดินหน้าต่อไป ท่านไม่ต้องร่อนเร่หรือสงสัย

“ถ้าท่านมีคำถามจริงใจเกี่ยวกับพระกิตติคุณหรือศาสนจักร เมื่อท่านเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย พระองค์จะทรงนำท่านไปพบและเข้าใจความจริงนิรันดร์อันสมบูรณ์ที่จะนำทางชีวิตและช่วยให้ท่านอยู่อย่างมั่นคงบนเส้นทางพันธสัญญา

“เมื่อท่านเผชิญการล่อลวง—ถึงแม้การล่อลวงมาเมื่อท่านหมดแรงหรือรู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกเข้าใจผิด—ลองนึกภาพความกล้าหาญที่ท่านจะรวบรวมได้เมื่อท่านเลือกให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยในชีวิตท่านและเมื่อท่านทูลขอให้พระองค์ทรงเสริมกำลัง

“เมื่อความปรารถนาสูงสุดของท่านคือให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล การตัดสินใจหลายเรื่องจะง่ายขึ้น ปัญหามากมายจะไม่ใช่ปัญหา! ท่านรู้ว่าจะแต่งตัวให้ดีที่สุดอย่างไร ท่านรู้ว่าจะดูและอ่านอะไร ใช้เวลากับอะไร และคบหากับใคร ท่านรู้ว่าท่านต้องการทำอะไรให้สำเร็จ ท่านรู้ว่าท่านต้องการเป็นคนแบบไหนจริงๆ”11

สังเกตว่าหลักธรรมเรื่อง การเต็มใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสำคัญๆ และประสบการณ์ชีวิตได้มากเพียงใด: การออกเดทและการแต่งงาน คำถามและข้อกังวลในพระกิตติคุณ การล่อลวง การแต่งตัว จะดูและอ่านอะไร จะใช้เวลากับอะไร จะคบหากับใคร และอื่นๆ อีกมากมาย คำถามจากการดลใจของประธานเนลสันเน้นย้ำหลักธรรมเรียบง่ายที่ให้ทิศทางในชีวิตทุกด้านและเปิดทางให้เราปกครองตนเอง

หางเสืออันเล็กๆ

เมื่อโจเซฟ สมิธถูกคุมขังในคุกลิเบอร์ตี้ ท่านเขียนจดหมายแนะนำสมาชิกกับผู้นำศาสนจักรและเตือนพวกเขาว่า “เรือลำมหึมาได้รับประโยชน์มากยิ่งจากหางเสืออันเล็กๆ ในยามเกิดพายุใหญ่, โดยที่รักษาทิศทางไปพร้อมกับลมและคลื่น”12

หางเสือเรือ

“หางเสือ” คือพวงมาลัยหรือด้ามพังงาและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้คัดท้ายเรือ และ “รักษาทิศทางไปพร้อมกับลมและคลื่น” หมายถึงการเลี้ยวเรือให้เรือสมดุลและไม่คว่ำระหว่างเกิดพายุ

เรือเลี้ยวในพายุ

หลักธรรมพระกิตติคุณเป็นเหมือนหางเสือเรือสำหรับท่านและข้าพเจ้า หลักธรรมที่ถูกต้องเปิดทางให้เราพบหนทางตนเองและยืนหยัดมั่นคงไม่หวั่นไหวเพื่อเราจะไม่เสียสมดุลและล้มลงในพายุคำรามยุคสุดท้ายของความมืดและความสับสน

เราได้รับพรมากมายในการประชุมใหญ่สามัญครั้งนี้ให้เรียนรู้หลักธรรมนิรันดร์จากผู้รับใช้ที่มีสิทธิอำนาจของพระเจ้า เวลานี้ความรับผิดชอบของเราแต่ละคนคือปกครองตนเองตามความจริงที่ผู้รับใช้เหล่านั้นเป็นพยานถึง13

ประจักษ์พยาน

ประธานเอสรา แทฟท์ เบ็นสันสอนว่า “หกเดือนต่อจากนี้ [เลียโฮนา] ฉบับการประชุมใหญ่ของท่านควรวางอยู่ข้างงานมาตรฐานและได้รับการอ้างอิงบ่อยๆ”14

ข้าพเจ้าเชื้อเชิญเราทุกคนด้วยสุดพลังของจิตวิญญาณให้เรียนรู้ ดำเนินชีวิต และรักหลักธรรมแห่งความชอบธรรม ความจริงพระกิตติคุณเท่านั้นที่สามารถเปิดทางให้เรา “ทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริง” เพื่อมุ่งหน้าบนเส้นทางพันธสัญญาและ “เห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์”15

ข้าพเจ้าทราบว่าหลักคำสอนและหลักธรรมพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เป็นแหล่งกำเนิดพื้นฐานของทิศทางชีวิตเราและปีติอันยั่งยืนในมรรตัยและนิรันดร และในวันอาทิตย์อีสเตอร์อันเรืองโรจน์นี้ ข้าพเจ้าเป็นพยานอย่างเบิกบานใจว่าพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงพระชนม์ทรงเป็นแหล่งน้ำพุซึ่งความจริงเหล่านี้หลั่งไหลออกมา และเป็นพยานเช่นนั้นในพระนามอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าพระเยซูคริสต์ เอเมน