เอาชนะการเหยียดเชื้อชาติและอคติ: เราสร้างสะพานเชื่อมสัมพันธ์ได้
ขณะช่วยรวบรวมอิสราเอลและสถาปนาไซอัน เราสามารถส่งเสริมความเคารพบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า
หนึ่งในความจริงที่ทรงพลังของพระกิตติคุณที่ได้รับการฟื้นฟู—อันมีนัยลึกซึ้ง—คือ “เราแต่ละคนมีศักยภาพอันสูงส่งเพราะแต่ละคนเป็นลูกของพระผู้เป็นเจ้า แต่ละคนเท่าเทียมกันในสายพระเนตรของพระองค์”1
ขณะสมาชิกศาสนจักรพยายามทำตามคำแนะนำให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 38:27) ที่จะนำออกมาและสถาปนาอุดมการณ์ของไซอัน (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:6) ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันเชิญให้เรา “ออกมานำในการทิ้งเจตคติและการกระทำที่เป็นอคติ” และแบ่งปันวิธีต่างๆ ที่เราสามารถ “ส่งเสริมความเคารพบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า”2 ท่านกระตุ้นเราว่า ขณะเสริมสร้างไซอัน ให้เราสร้างสะพานเชื่อมสัมพันธ์แห่งมิตรภาพ ความร่วมมือ และความเข้าใจไปด้วย3
“เราทุกคนเชื่อมโยงกัน และเรามีความรับผิดชอบที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เราช่วยทำให้ชีวิตดีขึ้นเพื่อคนที่อยู่รอบตัวเรา” ท่านกล่าว “เราไม่จำเป็นต้องมีนิสัยเหมือนกันหรือหน้าตาเหมือนกันจึงจะรักกันได้ เราไม่แม้แต่ต้องเห็นพ้องต้องกันที่จะรักกันได้ ถ้าเรามีความหวังใดของการทวงคืนไมตรีจิตและสำนึกในมนุษยธรรมที่เราปรารถนา นั่นต้องเริ่มที่เราแต่ละคน ทีละคน”4
มีที่ว่างสำหรับทุกคน
ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันขอให้เรา “ขยายวงความรักให้ครอบคลุมครอบครัวมนุษย์ทั้งหมด”5 ในฐานะสมาชิกศาสนจักรเราจะช่วยได้อย่างไรในการสร้างชุมชนแห่งวิสุทธิชนทั่วโลกให้เป็นที่ซึ่งทุกคนรู้สึกถึงการต้อนรับและพยายามดำเนินชีวิตในสันติและความสมานฉันท์ต่อกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ วัฒนธรรม รสนิยมทางเพศ อายุ เพศ การศึกษา สถานะทางเศรษฐกิจสังคม ระดับความสามารถ หรือความแตกต่างเรื่องอื่นๆ?
แน่นอน คำตอบคือ โดยทางพระผู้ช่วยให้รอดของเรา พระเยซูคริสต์ ดังที่ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ ที่ปรึกษาที่หนึ่งในฝ่ายประธานสูงสุดกล่าวว่า “พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์เท่านั้นสามารถสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและนำสันติมาสู่ผู้คนทุกเชื้อชาติและสัญชาติ”6 พระเยซูคริสต์ทรงเปลี่ยนใจเราได้ (ดู โมไซยาห์ 5:2) ทรงมี “เดชานุภาพที่จะเยียวยา” (มาระโก 3:15)
ขณะเรามาหาพระคริสต์ด้วยตนเอง เราได้รับความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในความจริงอันลึกซึ้งที่ประธานเนลสันสอนว่า พระเจ้า “ทรงเชื้อเชิญให้ ทุกคน มาหาพระองค์”7
ในศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดมีที่ว่างสำหรับทุกคนที่เต็มใจจะทำตามพระองค์และ “ให้พระผู้เป็นเจ้าทรงมีชัย” ในชีวิตพวกเขา สิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงโปรดปรานไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ สีผิว หรือลักษณะเด่นอื่นๆ แต่ขึ้นอยู่กับการอุทิศตนของเราต่อพระองค์และความเต็มใจที่จะรักษาพระบัญญัติ8
เราสามารถออกมานำในการยื่นมือช่วยเหลือ
ถ้าเราพบสิ่งใดสิ่งหนึ่งในตนเองที่สะท้อนเจตคติหรือพฤติกรรมที่มาจากอคติ เราต้องทิ้งสิ่งนั้นในความพยายามที่จะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะถ้าเราไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราย่อมไม่เป็นของพระองค์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 35:2; 38:27) “สมาชิกศาสนจักรควรออกมานำในการส่งเสริมความเคารพบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า … พวกเขาพยายามเป็นบุคคลแห่งไมตรีจิตต่อทุกคน โดยปฏิเสธอคติทุกประเภท”9
ในฐานะอวัยวะแห่ง “กายของพระคริสต์” (1 โครินธ์ 12:27) เราต่างต้องการกัน “เพื่อไม่ให้มีการแตกแยกกันในร่างกาย แต่ให้อวัยวะต่างๆ มีความห่วงใยแบบเดียวกันต่อกันและกัน ถ้าอวัยวะหนึ่งทุกข์ อวัยวะทั้งหมดก็ร่วมทุกข์ด้วย” (1 โครินธ์ 12:25–26)
การสวดอ้อนวอน การศึกษา และการไตร่ตรองอย่างนอบน้อมช่วยให้เห็นวิธีที่เราจะรักพระผู้เป็นเจ้าและบุตรธิดาทุกคนของพระองค์ได้ดีขึ้น การสร้างไมตรีจิตอาจหมายถึงการเอาชนะอคติ สมมติฐาน หรือค่านิยมเหมารวมของตนเองขณะเราปฏิสัมพันธ์กัน ความพยายามเข้าใจประสบการณ์ของคนที่ไม่เหมือนเราสามารถเปิดตาเราให้เห็นมุมมองที่แตกต่างแต่สำคัญ
ประธานโอ๊คส์กล่าวด้วยว่า “การระแวงคนแปลกหน้าหรือแม้แต่ความเป็นศัตรูเปิดทางให้มิตรภาพหรือแม้แต่ความรักเมื่อการติดต่อส่วนตัวสร้างความเข้าใจและความเคารพกัน”10
ในหน้าต่อไป ท่านจะเห็นประสบการณ์ การสะท้อนความคิด และความเข้าใจอันลึกซึ้งเกี่ยวกับการสร้างสะพานเชื่อมสัมพันธ์ขณะเราสร้างไซอัน