2022
การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในพันธสัญญาเดิม
เมษายน 2022


“การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ในพันธสัญญาเดิม” เลียโฮนา, เม.ย. 2022

การชดใช้ของ พระเยซูคริสต์ ในพันธสัญญาเดิม

พันธสัญญาเดิมเป็นผลงานพระคัมภีร์ที่เปิดเผยพระเจ้าในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด พระผู้ไถ่ และพระผู้ชดใช้ที่ยิ่งใหญ่

ภาพ
การตรึงกางเขนพระเยซูคริสต์

สดุดี 22 แบ่งปันถ้อยคำที่ตรงกันกับที่พระเยซูจะตรัสขณะอยู่บนกางเขน: “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?”

การตรึงกางเขน โดย แฮร์รีย์ แอนเดอร์สัน

พันธสัญญาเดิมเป็นพระคัมภีร์ไบเบิลของพระผู้ช่วยให้รอด เล่มที่พระองค์ทรงอ่านและอ้างอิงถึงระหว่างความเป็นมรรตัย พันธสัญญาเดิมเป็นชุดข้อความพระคัมภีร์ที่งดงามล้ำเลิศ (และยังคงเป็นเช่นนั้น) มีเอกลักษณ์และไม่มีสิ่งใดเทียบเทียม เพราะเหตุใด? เนื่องจาก:

  • “พันธสัญญาแรกของพระคริสต์” 1

  • เป็นคู่มือสำคัญเกี่ยวกับการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด

  • เป็นเอกสารพื้นฐานที่ออกแบบมาเพื่อเตรียมโลกให้พร้อมรับการเสด็จมาของพระผู้ช่วยให้รอดในเนื้อหนัง เมื่อพระองค์จะสิ้นพระชนม์เพื่อเรา

  • เป็นระเบียนที่มีสัญลักษณ์หลายร้อยซึ่งเปิดเผยถึงพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

  • เป็นระเบียนที่นำเสนอบันทึกของคำพยากรณ์เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

กล่าวโดยสรุปคือ พันธสัญญาเดิมเป็นผลงานพระคัมภีร์ที่เปิดเผยพระเจ้าในฐานะพระผู้ช่วยให้รอด พระผู้ไถ่ และพระผู้ชดใช้ที่ยิ่งใหญ่ เมื่อพระเยซูคริสต์ทรงบัญชาว่า “ค้นดูในพระคัมภีร์; … พระคัมภีร์นั้นเองเป็นพยานให้กับเรา”(ยอห์น 5:39) พระองค์ทรงหมายถึงพันธสัญญาเดิม บทความนี้สาธิตให้เห็นวิถีทางบางอย่างที่พันธสัญญาเดิมเป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอดและการชดใช้ของพระองค์

สีสัน เมฆ และทะเล: พลังอำนาจของพระองค์ในการให้อภัย

พันธสัญญาเดิมนำเสนอสัญลักษณ์หลายร้อยแห่งที่เปิดเผยถึงพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างสั้นๆ:

ตะวันออกและตะวันตก “ตะวันออกไกลจากตะวันตกเท่าใด พระองค์ทรงปลดการละเมิดไปไกลจากเราเท่านั้น” (สดุดี 103:12) แน่นอนว่าระยะห่างระหว่างตะวันออกกับตะวันตกไม่มีที่สิ้นสุดและวัดไม่ได้ฉันใด พระปรีชาสามารถของพระผู้เป็นเจ้าที่จะทรงขจัดการล่วงละเมิดของเราก็ฉันนั้น

เมฆหนา “เรา [พระเจ้า] ได้ลบล้างการทรยศของเจ้าเสียเหมือนเมฆ และลบล้างบาปของเจ้าเหมือนหมอก จงกลับมาหาเรา เพราะเราได้ไถ่เจ้าแล้ว” (อิสยาห์ 44:22) เมฆหนาทึบที่ก่อตัว เปลี่ยนรูป หายไป และปรากฏขึ้นใหม่บนท้องฟ้าอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นแนวคิดของความไม่มีที่สิ้นสุดฉันใด พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงให้อภัยผู้ที่กลับใจและกลับมาหาพระองค์ฉันนั้น

การเหวี่ยงบาป พระผู้เป็นเจ้า “ทรงมองข้ามการทรยศและ … [จะ] เหวี่ยงบาปทั้งสิ้นของเราลงไปในที่ลึกของทะเล” (มีคาห์ 7:18–19) พระองค์ทรงเหวี่ยงบาปลงไปในที่ลึกของทะเล ที่ซึ่งบาปจะอันตรธานหายไปตลอดกาล หลังจากเฮเซคียาห์ฟื้นจากประชวร พระองค์เขียนไว้ว่า เพราะพระองค์ [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงเหวี่ยงบาปทั้งหมดของข้าพระองค์ ไว้ข้างหลังของพระองค์” (อิสยาห์ 38:17) เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงโยนบาปของเราไว้ข้างหลังพระองค์ พระองค์จะไม่ดูบาปเหล่านั้นอีก

สีผ้าแดงและสีขาว พระเจ้าตรัสว่า “ถึงบาปของเจ้าเป็นเหมือนสีแดงเข้ม ก็จะขาวอย่างหิมะ ถึงมันจะแดงเหมือนผ้าแดงก็จะเป็นอย่างขนแกะ” (อิสยาห์ 1:18) สีที่แทบจะเหมือนกันทั้งสามสี—คือสีแดงเข้ม สีแดง และสีผ้าแดง—หมายถึงโลหิตและความชั่วช้าสามานย์ของมนุษย์ (ดู อิสยาห์ 59:3; มีคาห์ 3:10; ฮาบากุก 2:12) พระโลหิตของพระคริสต์ทรงชำระให้บริสุทธิ์ (ดู โมเสส 6:59–60), ให้ชีวิตนิรันดร์ (ดู ยอห์น 6:53–54) และเปลี่ยนความชั่วช้าสามานย์สีแดงโลหิตของมนุษย์ให้เป็นสีขาวซึ่งแทนความบริสุทธิ์

คำพยากรณ์ของพระคริสต์

พันธสัญญาเดิมนำเสนอคำพยากรณ์นับร้อยของพระเยซูคริสต์ ซึ่งหลายคำพยากรณ์เกี่ยวข้องกับการชดใช้ของพระองค์โดยตรง ตัวอย่างเช่น อิสยาห์เคยพยากรณ์ไว้ว่า:

  • “ท่านแบกความเจ็บไข้ของพวกเราและหอบความเจ็บปวดของเราไป” (อิสยาห์ 53:4)

  • “พระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บเพื่อการล่วงละเมิดของเรา, พระองค์ทรงฟกช้ำเพื่อความชั่วช้าสามานย์ของเรา” (อิสยาห์ 53:5)

  • “ที่ท่านถูกตีนั้นเพราะการทรยศของชนชาติของข้าพเจ้า” (อิสยาห์ 53:8)

  • “เขาจะแบกความบาปผิดทั้งหลายของพวกเขา” (อิสยาห์ 53:11)

  • “เขาเองแบกบาปของคนจำนวนมาก” (อิสยาห์ 53:12)

สดุดี 22 คือคำพยากรณ์ที่โดดเด่นเกี่ยวกับโมงยามสุดท้ายบนแผ่นดินโลกของพระผู้ช่วยให้รอด เมื่อพระองค์ทรงต้องเผชิญกับการกระทำทารุณกรรมอย่างแสนสาหัสและจากนั้นจึงถูกตรึงกางเขน ปวงประชาจะเยาะเย้ยและกระทำทารุณกรรมพระองค์ (ดู ข้อที่ 4–8; และดูเพิ่มเติมที่ มัทธิว 27:30–31, 39–43; ลูกา 23:35) บทสดุดีนี้แบ่งปันถ้อยคำตรงกันกับที่พระเยซูจะตรัสขณะอยู่บนกางเขน: “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ไฉนทรงทอดทิ้งข้าพระองค์เสีย?” (ข้อที่ 1; และดูเพิ่มเติมที่ มัทธิว 27:46) สดุดี 22 ยังมีการอ้างอิงอย่างชัดแจ้งถึงการตรึงกางเขนด้วยว่า: “พวกเขาแทงมือแทงเท้าข้าพระองค์” (ข้อที่ 16; และดูเพิ่มเติมที่ มัทธิว 27:35) ถ้อยคำใน ข้อที่ 18 “พวกเขาเอาเสื้อผ้าของข้าพระองค์มาแบ่งกัน ส่วนเครื่องนุ่งห่มของข้าพระองค์นั้นเขาก็จับฉลากกัน” กระทำอย่างแม่นยำโดยผู้ที่ตรึงกางเขนพระเยซู (ดู มัทธิว 27:35)

บุคคลในฐานะสัญลักษณ์ของพระคริสต์

บุคคลที่ชอบธรรมจำนวนมากจากพันธสัญญาเดิมมีหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ที่ยังมีชีวิตของพระเยซูคริสต์ ความคู่ขนานกันระหว่างบุคคลเหล่านี้กับพระเยซูคริสต์โดดเด่นมากจนเอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองเขียนไว้ดังนี้:

“พระเยโฮวาห์ทรงใช้ต้นแบบและสัญลักษณ์ที่มากมาย แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะที่เห็นได้ชัดเจนอยู่เสมอจากคำแนะนำของพระเจ้าที่มีต่อบุตรธิดาของพระองค์ ตัวอย่างของบุคคลเหล่านั้น—โดยเฉพาะภาพพจน์ของพระคริสต์—ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดบันทึกช่วงก่อนพระเมสสิยาห์…

“… โมเสส (เช่นเดียวกับ อิสอัค โยเซฟ และอีกหลายคนในพันธสัญญาเดิม) เป็นสัญลักษณ์ของพระคริสต์ผู้จะเสด็จมา” 2

นี่คือตัวอย่าง 3 เรื่องของสัญลักษณ์ที่มีชีวิตเหล่านี้:

  • โยบประสบกับการสูญเสียบุตรธิดาและทรัพย์สินของตน และต้องทนทุกข์ทรมานอย่างยิ่งในเนื้อหนัง (ดู โยบ 1–2) ขณะที่รอคอยพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นผู้รับใช้ที่ทุกข์ทรมานและผู้มีความโศกเศร้า (ดู อิสยาห์ 53)

  • โยนาห์เป็นรูปแบบของพระเยซู ผู้ทรงเปรียบเทียบเวลาสามวันสามคืนในท้องปลาของโยนาห์ (ดู โยนาห์ 1:17) กับการ “อยู่ในท้องแผ่นดินสามวันสามคืนอย่างนั้น” ของพระองค์ (มัทธิว 12:40)

  • อับราฮัมเต็มใจจะมอบอิสอัคบุตรผู้เป็นที่รักของเขาเป็นการพลีบูชา เช่นเดียวกับการประทานของพระผู้เป็นเจ้าด้วยพระเยซูผู้ทรงเป็นพระบุตรที่รักของพระองค์ การเชื่อฟังของอับราฮัม “ในการถวายอิสอัคบุตรของท่าน … อันเป็นรูปแบบที่เหมือนกับพระผู้เป็นเจ้าและพระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์” (ยาโคบ 4:5; และดูเพิ่มเติมที่ ฮีบรู 11:17–19)

ภาพ
โยบกำลังคุกเข่าบนพื้นดิน

โยบทนทุกข์ทรมานอย่างยิ่งในเนื้อหนัง ขณะรอคอยพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นผู้รับใช้ที่ทุกข์ทรมานและผู้มีความโศกเศร้า

โยบ โดย แกรีย์ แอล. เคพพ์

พระผู้ช่วยให้รอด พระผู้ไถ่ และพระผู้ชดใช้ของเรา

พันธสัญญาเดิมปรากฏชื่อและพระสมัญญานามของพระเยโฮวาห์ประมาณ 100 ชื่อ ซึ่งหลายชื่อมีความสำคัญต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับการชดใช้ของพระองค์ ตัวอย่างเช่น พระเยโฮวาห์ทรงได้รับแต่งตั้งเป็น พระผู้ช่วยให้รอด: “เพราะเราคือยาห์เวห์เป็นพระเจ้าของเจ้า องค์บริสุทธิ์ของอิสราเอลผู้ช่วยให้รอดของเจ้า” (อิสยาห์ 43:3; ดูข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ด้วย 43:11; 45:15, 21; 49:26; 2 ซามูเอล 22:3; สดุดี 106:21; โฮเซยา 13:4)

พระเยโฮวาห์ยังทรงมีนามอีกว่า พระผู้ไถ่ “พระยาห์เวห์ พระผู้ไถ่และองค์บริสุทธิ์ของอิสราเอล ตรัส” (อิสยาห์ 49:7; ดูเพิ่มเติมที่ 44:6; 47:4; 54:5; เยเรมีย์ 50:34)

พันธสัญญาเดิมเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าพระเยโฮวาห์ทรงเป็นผู้ชดใช้ที่ยิ่งใหญ่: “ข้าแต่พระเจ้าแห่งความรอด ขอทรงช่วยข้าพระองค์ทั้งหลายเพราะเห็นแก่พระสิริแห่งพระนามของพระองค์ ขอทรงช่วยกู้และ [ทำการชดใช้ให้] 3 บาปของข้าพระองค์ทั้งหลาย เพราะเห็นแก่พระนามของพระองค์” (สดุดี 79:9)

พระเยโฮวาห์ทรงบัญชาซ้ำๆ กับบรรดาศาสดาพยากรณ์และปุโรหิตของพระองค์ให้ทำการชดใช้ให้ผู้คน อันที่จริง คำภาษาอังกฤษของคำว่า การชดใช้ พบได้ถึง 69 ครั้งในพันธสัญญาเดิมฉบับคิงเจมส์ แต่ละข้อความเหล่านี้จะเพิ่มความเข้าใจของเราเกี่ยวกับความหมายและความสำคัญของการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระเยซู

เทศกาลอันศักดิ์สิทธิ์—สัญญาณบอกเหตุล่วงหน้าแก่การชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เทศกาลอันเป็นที่เคารพสักการะเป็นพิเศษซึ่งบอกเหตุล่วงหน้าถึงการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น วันแห่งการชดใช้ที่มุ่งเน้นกับหลายพิธีกรรมเพื่อรอคอยการชดใช้ของพระเยซู (ดู เลวีนิติ 16; ฮีบรู 7–9) ปัสกาก็เป็นอีกเทศกาลหนึ่งสำหรับการตั้งตารอการพลีบูชาของพระเยซูคริสต์ (ดู อพยพ 12) ลูกแกะพิธีปัสกาถือเป็นการทำนายล่วงหน้าเรื่องพระเยซูคริสต์ ดังที่พระเมษโปดกทรงเสียสละเพื่อบาปของโลก (ดู อพยพ 12:3–6, 46) ลูกแกะจะต้องปราศจากตำหนิ (ดู อพยพ 12:5) เหมือนกับที่พระเยซูคริสต์ทรงปราศจากตำหนิ (ดู 1 เปโตร 1:18–19)

ความโดดเด่นของเลือดลูกแกะบนวงกบประตูได้ช่วยชีวิตชาวอิสราเอลโบราณจากความตาย (ดู อพยพ 12:13) เหมือนพระโลหิตแห่งการชดใช้ของพระคริสต์ที่ช่วยเราจากหลุมศพและความตายทางวิญญาณ (ดู ฮีลามัน 5:9) ความเหมือนกันระหว่างปัสกาและการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์นั้นชัดเจนมากจนเปาโลขนานนามพระเยซูว่า “ปัสกาของเรา” (1 โครินธ์ 5:7)

ประตูสู่พระคริสต์

พระเยโฮวาห์ทรงแต่งตั้งและเปิดเผยกฎของโมเสสเพื่อสอนเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระองค์ในฐานะพระเมสสิยาห์ที่สัญญาไว้ พระเยซูคริสต์ และการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระองค์ (ดู กาลาเทีย 3:24; 2 นีไฟ 11:4; เจรอม 1:11; โมไซยาห์ 13:30–33; แอลมา 25:15)

เอ็ลเดอร์ฮอลแลนด์สรุปเกี่ยวกับจุดประสงค์ของกฎของโมเสสดังนี้: “พันธสัญญาในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้ด้วยพระองค์เองและเป็นรองเฉพาะความสมบูรณ์ของพระกิตติคุณเท่านั้นอันเป็นถนนหลวงสู่ความชอบธรรม ควรถูกมองว่า … เป็นการรวบรวมรูปแบบ รูปลักษณ์ สัญลักษณ์ และภาพพจน์ของพระคริสต์ที่ไม่อาจหาสิ่งใดมาเทียบได้” ด้วยเหตุนี้พันธสัญญาจึงเคยเป็น (และยังคงเป็นอยู่โดยแก่นแท้และความบริสุทธิ์) แนวทางสู่ความเข้มแข็งทางวิญญาณ เป็นประตูสู่พระคริสต์” 4

ดังที่อมิวเล็คเป็นพยานว่า “นี่คือความหมายทั้งหมดของกฎ [ของโมเสส], ถ้วนทุกตอนชี้ถึงการพลีบูชาครั้งสุดท้ายและสำคัญยิ่ง; และการพลีบูชาครั้งสุดท้ายและสำคัญยิ่งจะเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 34:14)

ผมกล่าวคำพยานว่าพระคัมภีร์ไบเบิล—ทั้งภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่—ล้วนประกาศพระเยซูคริสต์ด้วยความชัดเจน มีพลังอำนาจและสิทธิอำนาจอย่างยิ่ง ผมหวังว่าทั้งคนรุ่นปัจจุบันและอนุชนรุ่นหลังจะรักและเข้าใจพระคัมภีร์ไบเบิลและข้อความสำคัญในนั้นเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

อ้างอิง

  1. เอ็ม. รัสเซลล์ บัลลาร์ด, “ปาฏิหาริย์ของพระคัมภีร์ไบเบิลศักดิ์สิทธิ์,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 82.

  2. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, Christ and the New Covenant: The Messianic Message of the Book of Mormon (1997), 137.

  3. คำแปลตรงตัวของศัพท์ภาษาฮิบรูคำนี้คือ “ทำการชดใช้” (ดูเดวิด เจ. เอ. ไคลนส์, The Dictionary of Classical Hebrew [1998], 4:553).

  4. เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์, Christ and the New Covenant, 137.

พิมพ์