2022
สื่อที่ฉันใช้ส่งผลต่อฉันจริงๆ หรือ?
มิถุนายน 2022


ดิจิทัลเท่านั้น: คนหนุ่มสาว

สื่อที่ฉันใช้ส่งผลต่อฉันจริงๆ หรือ?

ไม่ว่าเราจะตระหนักถึงหรือไม่ สื่อที่เราบริโภคส่งผลต่อเรา ดังนั้นเราจะสามารถเลือกสื่อที่ “กล่าวขวัญกันว่าดี หรือควรค่าแก่การสรรเสริญ” ได้อย่างไร? หลักแห่งความเชื่อ 1:13

ผู้คนที่ถือสัญลักษณ์

เมื่อฉันเล่นเทนนิสในโรงเรียนมัธยม ฉันมักจะได้ยินเสียงผู้เล่นคนอื่นสบถบ่อยๆ ฉันพยายามไม่ปล่อยให้คำพูดของพวกเขามีผลต่อฉัน แต่ในระหว่างการแข่งขันนัดหนึ่ง ฉันหวดพลาดไปและเผลอสบถคำหยาบคายพวกนั้นออกมา ฉันค่อยๆ เปลี่ยนไปเป็นชินชากับคำสบถเหล่านั้นโดยที่ฉันไม่ได้รู้ตัวมาก่อน ราวกับถ้อยคำเหล่านั้นเป็นธรรมชาติสำหรับ “มนุษย์ปุถุชน” (โมไซยาห์ 3:19) ในตัวฉันในการใช้คำพูดพวกนั้นด้วย

สิ่งที่อยู่รอบตัวเราจะส่งผลต่อเราได้ในหลายด้าน และหนึ่งในสิ่งที่มีอิทธิพลมากที่สุดที่อยู่รอบตัวเราทุกวันนี้ก็คือสื่อ ไม่ว่าเราจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม สื่อประเภทต่างๆ ที่เราบริโภคก็อาจจะบิดเบือนความจริงของเราไปอย่างช้าๆ จนเราแทบไม่รู้สึกตัวเลย เราอาจคิดว่าการรับชมสื่อที่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ส่อไปทางเพศ หรือมีความรุนแรงแฝงอยู่ในบางครั้งจะไม่มีผลต่อเรา แต่ความจริงคือมันมีผล เราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง?

การเลือกแสวงหาสื่อที่ดี

เป็นเรื่องสำคัญที่จะจำไว้ว่า แม้เราจะมีสิ่งแย่ต่างๆ มากมายที่เข้าถึงได้ผ่านโทรทัศน์หรือสมาร์ทโฟนของเราแต่ก็มีสื่อที่ดีอยู่ข้างนอกนั้น ผู้สอนศาสนาแบ่งปันพระกิตติคุณผ่านสื่อที่ยกระดับจิตใจของเรา เราอาจติดต่อกับเพื่อนเก่าอีกครั้งหรือพบข้อความที่ยกระดับจิตใจของเราได้จริงๆ บนโซเชียลมีเดีย แต่เราจะแสวงหาจากสื่อที่เป็นคุณธรรม งดงาม หรือกล่าวขวัญกันว่าดีนี้ได้อย่างไร? (ดู หลักแห่งความเชื่อ 1:13)

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองนำเสนอการทดสอบที่ไม่มีวันพลาดนี้ “ถ้าบางสิ่งที่เราคิด เห็น ได้ยิน หรือทำให้เราออกห่างจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราควรหยุดคิด หยุดมอง หยุดฟัง หรือหยุดทำสิ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้าสิ่งที่ให้ความบันเทิงทำให้เราเหินห่างจากพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่าความบันเทิงประเภทนั้นไม่เหมาะกับเรา”1

เมื่อใดก็ตามที่ฉันเลือกสื่อ ฉันชอบถามตนเองแบบนี้ว่า มันช่วยให้ฉันเข้าใกล้พระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นไหม? ฉันยังรู้สึกถึงพระวิญญาณบริสุทธิ์ในชีวิตของฉันอยู่ไหม? คุณอาจต้องการใช้คำถามเหล่านี้เป็นแนวทางในการแสวงหาสื่อที่ดี และถึงเราจะทำผิดพลาดได้ แต่เราก็สามารถเป็นคนดีขึ้นได้—ทีละการเลือก

ฉันไม่ได้เป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบในเรื่องนี้ ฉันได้ดูบรรดารายการยอดนิยมที่ไม่ได้กระตุ้นให้ฉันเป็นคนที่ดีขึ้นเลย และฉันเลื่อนดูวิดีโอบนโซเชียลมีเดียที่บางครั้งก็มีถ้อยคำไม่เหมาะสม แต่ฉันพยายามระวังมากขึ้น ในแต่ละวัน ฉันพยายามเลือกรับสื่อที่ยกระดับจิตใจ

คุณกำลังฟังเสียงของใครอยู่?

ในโลกที่วุ่นวายนี้ ฉันมีช่วงเวลาที่แสนลำบากในการนั่งนิ่งเงียบๆ ฉันรู้สึกว่าต้องหยิบโทรศัพท์ออกมาเพื่อเลื่อนดูโซเชียลมีเดียหรือสตรีมวิดีโอเพื่อเติมเต็มความเงียบนั้น แต่ฉันมักจะรับรู้ถึงพระวิญญาณเมื่ออยู่ในความเงียบ ดังนั้นฉันจึงพยายามตระหนักมากขึ้นถึงเสียงของโลที่ฉันปล่อยให้กลบเสียงสงบแผ่วเบาโดยไม่ตั้งใจ (ดู 1 พงศ์กษัตริย์ 19:11–12)

รายการเหล่านี้คือวิธีการบางอย่างที่เรานำมาใช้เริ่มต้นควบคุมการใช้สื่อของเราได้:

  • เริ่มต้นด้วยการตระหนักรู้มากขึ้น หยุดการรับชมสื่ออย่างไร้สติ ใช้เวลาครุ่นคิดจริงๆ ถึงสิ่งที่คุณกำลังจะนำมาสู่ความคิดของคุณ สิ่งนั้นจะทำให้คุณห่างไกลจากพระวิญญาณบริสุทธิ์หรือไม่?

  • ให้ความสนใจกับเวลาและเหตุผลในการใช้สื่อของคุณ คุณใช้เวลานั่งเงียบๆ และสัมผัสถึงพระวิญญาณหรือไม่? หรือคุณมักจะหยิบโทรศัพท์ของคุณออกมาในเวลาที่อยู่เงียบๆ เหมือนกับที่ฉันทำเป็นบางครั้ง?

  • คุณอาจหยุดพักจากการรับชมสื่อเป็นประจำ อาจถือเป็นส่วนหนึ่งของการนมัสการในวันอาทิตย์ของคุณ การหยุดพักจากการรับชมสื่อจะช่วยให้คุณรู้สึกไวต่อผลกระทบที่มีต่อคุณได้มากขึ้น

เลือกรับชมสื่ออย่างมีสติ

เลือกที่จะตั้งใจและตระหนักถึงอิทธิพลที่คุณเชิญเข้ามาสู่ชีวิตของคุณ เลือกที่จะประเมินใหม่และถามตัวคุณเองจริงๆ ว่าสื่อมีผลต่อคุณอย่างไร คุณอาจจำเป็นต้องออกห่างจากหนังสือ ภาพยนตร์ โซเชียลมีเดีย หรือพอดแคสต์บางรายการ เพื่อให้เห็นถึงผลกระทบอันไม่อาจรับรู้ได้ที่อาจมีอยู่

แต่ต้องใช้เวลา! การเดินทางของเราที่มุ่งมั่นจะอยู่ในโลกแต่ไม่เป็นของโลกถือเป็นกระบวนการของการขัดเกลา (ดู ยอห์น 17:11 14–15) เราสามารถพยายามให้มากขึ้นทีละเล็กละน้อยเพื่อให้ดีขึ้นบ้างเล็กน้อย ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน กล่าวว่า “พระเจ้าทรงรักความพยายาม”2. เมื่อเวลาผ่านไป เราสามารถรับการขัดเกลาให้บริสุทธิ์เฉกเช่นพระผู้ช่วยให้รอด หากเราผิดพลาดไป เราสามารถกลับใจและหันไปพึ่งพาพระองค์ด้วยเจตนาที่แท้จริง และได้รับการขัดเกลายิ่งขึ้น! นั่นคือปาฏิหาริย์แห่งการชดใช้ของพระเยซูคริสต์

เมื่อฉันหมกมุ่นกับสื่อที่เป็นกระแสนิยม นับเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินได้ว่าเสียงของโลกกำลังส่งผลกระทบในทางลบต่อฉันหรือไม่ แต่ฉันรู้ว่าเมื่อฉันใช้เวลาไปกับการก้าวออกจากสื่อที่รายล้อม ฉันก็จะเห็นว่าอะไรที่มีอิทธิพลต่อชีวิตฉัน บางครั้ง อาจเป็นการเลือกที่ยากแต่ก็คุ้มค่า

ฉันจะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า การแข่งขันเทนนิสครั้งนั้นไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่ฉันเคยพูดถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม แต่เมื่อฉันรู้ว่าสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลกระทบต่อฉันอย่างไร ฉันจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอย่างรอบคอบว่าวฉันจะอยู่ท่ามกลางใคร เราสามารถตั้งใจเลือกแบบเดียวกันกับสื่อที่เราบริโภค

อ้างอิง

  1. เดวิด เอ. เบดนาร์, “เพื่อเราจะมีพระวิญญาณของพระองค์อยู่กับเราตลอดเวลา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2006, 30.

  2. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, ใน จอย ดี. โจนส์, “การเรียกที่สูงส่งเป็นพิเศษเลียโฮนา, พ.ค. 2020, 16.