“วิธีที่เราสามารถเอาชนะโลกที่เต็มไปด้วยตัณหาราคะ,” เลียโฮนา, มิ.ย. 2022
วิธีที่เราสามารถเอาชนะโลกที่เต็มไปด้วยตัณหาราคะ
แดน (นามสมมติ) มาหาผมเพื่อขอคำปรึกษาเฉพาะทาง “ผมพยายามดำเนินชีวิตตามพระบัญญัติ” เขาบอก “แต่ผมถูกกิเลสตัณหาล่อลวงให้เขวตลอด ผมทำผิดซ้ำจนอ่อนล้าและบางครั้งก็ลงเอยด้วยการปล่อยเลยตามเลย ผมจะไม่เข้าเว็บไซต์ลามก แต่หลงใหลภาพไม่เหมาะสมที่ดูเหมือนจะอยู่ทุกหนทุกแห่ง ภรรยาผมเจ็บปวด และผมเหนื่อยหน่ายกับการพยายาม”
บางทีคุณอาจจะเคยรู้สึกคล้ายๆ กัน ปัญหาของแดนพบเห็นได้ทั่วไป พวกเราหลายคนอยู่ในวัฒนธรรมที่หมกมุ่นกับเรื่องเพศและซึมซับภาพ เสียง ตลอดจนความคิดที่บิดเบือนความศักดิ์สิทธิ์ของร่างกายและจุดประสงค์อันสูงส่งของเพศ (ดู 1 โครินธ์ 6:19) เพราะอินเทอร์เน็ตการใช้สื่อลามกจึงสูงขึ้นทั้งใช้เป็นครั้งคราวและแบบย้ำทำ1 ปัญหาที่เกี่ยวข้องทางศีลธรรมก็สูงตามไปด้วย
ในฐานะนักบำบัด ผมเคยทำงานกับหลายคนที่พยายามเอาชนะการล่อลวงให้หลงระเริงไปกับความคิดที่เต็มไปด้วยตัณหาราคะ การมองคนอื่นเหมือนเป็นวัตถุสิ่งของ สื่ออนาจาร หรือหลากหลายรูปแบบของสิ่งที่พระคัมภีร์เรียกว่า “กามตัณหา” (เจคอบ 3:12; 4 นีไฟ 1:16) แม้โลกจะโน้มลงต่ำ แต่พระเจ้าทรงขอให้สานุศิษย์ของพระองค์ดำเนินชีวิตตามมาตรฐานของความดีงามทางศีลธรรม (ดู 3 นีไฟ 12:27–29; หลักคำสอนและพันธสัญญา 42:23)
เราจะพยายามรักษามาตรฐานสูงขณะเผชิญความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร? เราจะลดความท้อแท้และเพิ่มความมุ่งมั่นได้อย่างไร?
การล่อลวง ความละอายใจ และกามตัณหา
การแยกแยะการล่อลวงจากบาป เข้าใจความละอายใจกับพลังของสิทธิ์เสรี และฝึกพึ่งพระคุณของพระผู้ช่วยให้รอดมากขึ้นช่วยแดนได้มาก
แดนมีความปรารถนาอันชอบธรรม แต่เขารู้สึกว่าตนกำลังล้มเหลว เขาละอายใจ ส่วนหนึ่งเพราะการล่อลวงอย่างต่อเนื่องของเขา เขาคิดเหมือนหลายๆ คนคิดว่าเพราะเขายอมต่อการล่อลวงบางอย่าง เขาจึงน่าจะยอมแพ้ไปเลย2 แม้ความรู้สึกผิดเป็นความรู้สึกสำคัญที่ผลักดันเราให้กลับใจ แต่ความละอายใจจะมีผลตรงข้ามได้ ทำให้เรายอมแพ้ได้ ทั้งนี้อาจจะส่งผลเสียอย่างยิ่งเมื่อเราเชื่ออย่างผิดๆ ว่าการล่อลวงเป็นสัญญาณของความอ่อนแอ
การถูกล่อลวงหรือประสบความรู้สึกทางกายไม่ใช่บาป3 ความรู้สึกทางเพศเป็นของประทานอันสูงส่ง4 เมื่อใช้อย่างเหมาะสมในชีวิตแต่งงานจะทำให้สามีภรรยามีความสุขและความผูกพันกัน5 การตอบสนองทางกายเหล่านี้รุนแรง บางครั้งถูกกระตุ้นโดยทรวดทรงหรือพฤติกรรมของร่างกาย ธรรมชาติเรียกสิ่งนี้ว่ารีเฟล็กซ์ทางพฤติกรรม ซึ่งท่าทางหรือการแสดงออกเป็นสาเหตุให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ ตัวอย่างเช่น เมื่อคนหนึ่งกำลังเดินผ่านคนบนท้องถนน การจ้องหน้าหาเรื่องจะยั่วยุให้เกิดการตอบสนองทางสรีระต่างจากการยิ้มด้วยอัธยาศัยไมตรี ภาพเย้ายวนกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยารุนแรงเช่นกัน ความรู้สึกเหล่านี้และการล่อลวงให้ทำตามความรู้สึกดังกล่าวไม่ใช่บาป และถ้าเพิกเฉยต่อการเชิญชวนนั้น ความรู้สึกจะผ่านไปในที่สุด แต่ถ้าไล่ตาม ความรู้สึกจะรุนแรงขึ้น
บาปเกิดขึ้นเมื่อเราเลือกเพลิดเพลิน ปลูกฝัง หรือทำตามการล่อลวงให้ทำบางอย่างที่เรารู้ว่าไม่ควรทำ เพราะสิทธิ์เสรีทางศีลธรรมเราจึงสามารถเลือกไม่ทำตามการล่อลวงได้แม้จะยากก็ตาม นี่คือสิ่งที่แอลมาสอนบุตรชายให้ทำเมื่อท่านบอกเขาว่าต้อง “ไม่หลงอยู่กับตัณหาราคะในสิ่งที่เห็นอีกต่อไป แต่จงห้ามตนเอง” (แอลมา 39:9) กษัตริย์ดาวิดอาจเลือกเบือนหน้าหนีเมื่อเห็นบัทเชบาก็ได้ แต่เขากลับอยู่กับการล่อลวงนั้นแล้วทำให้การประพฤติผิดศีลธรรมบานปลาย (ดู 2 ซามูเอล 11:1–16) แม้แต่พระเยซูก็ถูกล่อลวง (ดู ฮีบรู 4:15) แต่พระองค์ “มิทรงเอาพระทัยใส่” การล่อลวง (หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:22) ดังคำโบราณว่าไว้ ท่านอาจจะห้ามนกเกาะบนหัวท่านไม่ได้ แต่ท่านห้ามมันทำรังได้
ด้วยความช่วยเหลือ แดนเรียนรู้ที่จะไม่ตื่นตระหนกเมื่อถูกล่อลวงแต่ยอมรับความรู้สึกของตนแล้วเลือกประพฤติตัวให้เหมาะสม
ความเสียหายของบาปทางศีลธรรม
พระเจ้าทรงสรุปภัยของกามตัณหาดังนี้ “คนที่มองดูหญิงด้วยตัณหาราคะในนาง, หรือหากคนหนึ่งคนใดจะประพฤติล่วงประเวณีในใจพวกเขา, พวกเขาจะไม่มีพระวิญญาณ, แต่จะปฏิเสธความเชื่อและจะกลัว” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 63:16) การจดจ่ออยู่กับโลกจนเป็นนิสัยก่อให้เกิด “ความมืดบอด” ทางวิญญาณ (1 นีไฟ 15:24) ซึ่งเป็นคำที่บอกได้ดีว่าวิจารณญาณแย่ลงอย่างไรเมื่อเราไล่ตามตัณหาราคะ ถ้าขืนเป็นแบบนี้ต่อไป ร่างกายจะพัฒนานิสัยที่กลายเป็น “เชือกอันแข็งแรง” ได้ (2 นีไฟ 26:22) เชือกที่ขาดยากเนื่องจากพึงพอใจที่ได้ทำบาปและได้ปลดเปลื้องความอยาก6
การป้อนความอยากทางกามารมณ์ทำให้การรับรู้ทางวิญญาณลดลงและศรัทธาหมดไป สานุศิษย์ที่ถูกดึงเข้าไปในกามตัณหาซ้ำๆ มักกลัวว่าตนจะไม่มีค่าควรรับใช้และขาดความมั่นใจทางวิญญาณ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45) การมีใจฝักใฝ่ทางโลกสามารถกัดกร่อนรักแท้และทำให้คู่สมรสรู้สึกว่าตนถูกใช้หรือถูกเมิน
การเลือกกระทำแทนที่จะถูกกระทำ
ด้วยความช่วยเหลือของพระวิญญาณเราสามารถรับรู้อันตรายแต่เนิ่นๆ และเลือกสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมที่สอดคล้องกับคุณค่าของพันธสัญญา (ดู 2 นีไฟ 2:14; 4:18) เอ็ลเดอร์เจฟฟรีย์ อาร์. ฮอลแลนด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองแนะนำคนที่ต่อสู้กับตัณหาราคะให้ “เริ่มต้นด้วยการแยกตัวเองออกจากคน วัตถุ และสภาวการณ์ที่จะเป็นอันตรายต่อท่าน ดังเช่นการต่อสู้บางอย่างเช่นผู้ที่ติดแอลกอฮอล์รู้ว่าการพาตนเองเข้าไปใกล้เกินไปทำให้ถึงตายได้ เรื่องทางศีลธรรมก็เช่นเดียวกัน”7
แดนเริ่มหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเวลาที่เขาหวั่นไหวต่อการล่อลวงได้ง่าย เช่นเมื่อเขาอยู่คนเดียว เหนื่อย หรือเครียด เขาไม่ดูรายการทีวีและความบันเทิงอื่นๆ ที่เป็นปัญหา และใช้เวลาเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่นๆ แทน เขาทำให้วิญญาณตนเข้มแข็งโดยใช้เวลามากขึ้นกับพระคัมภีร์ จดบันทึกส่วนตัว ปรับปรุงการนอนหลับ และออกกำลังกาย (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:124)8 หลักธรรมสำคัญเหล่านี้จะช่วยเราแต่ละคนลดการล่อลวงและเพิ่มความเข้มแข็งได้ โดยเฉพาะเมื่อปฏิบัติสม่ำเสมอ
การเยียวยาทางวิญญาณและพระคุณ
งานของการเป็นสานุศิษย์เป็นงานยาก แม้แต่คนมีความตั้งใจแรงกล้าก็แตกเหมือนฟองสบู่ได้เมื่อชนเข้ากับสิ่งล่อใจทางโลก เมื่อเกิดความพลาดพลั้ง การกลับเนื้อกลับตัวช่วยได้มากกว่าการจมปลักอยู่กับความท้อแท้
พระเมตตาของพระเจ้ามหาศาล และทรงสัญญาจะให้อภัย “จะกี่ครั้งก็ตามที่ผู้คน [ของพระองค์] กลับใจ” (โมไซยาห์ 26:30) เอ็ลเดอร์เดล จี. เรนลันด์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายผลกระทบทันทีของการหันมาหาพระเจ้าว่า “ถึงแม้เราจะจงใจทำบาปทั้งที่ยังมีสติสัมปชัญญะ หรือเผชิญความล้มเหลวและความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ในชั่วขณะที่เราตัดสินใจพยายามอีกครั้ง การชดใช้ของพระคริสต์ช่วยเราได้”9
พระเจ้าทรงต้องการช่วยเราทุกคนในกระบวนนี้ของการ “เกิดจากพระผู้เป็นเจ้า, เปลี่ยนจากสภาพทางเนื้อหนังและสภาพที่ตกของ [พวกเรา], มาสู่สภาพแห่งความชอบธรรม” (โมไซยาห์ 27:25) ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันสัญญาว่า
“[พระเยซู] ทรงยืนกางพระพาหุ ทรงหวังและเต็มพระทัยเยียวยา ให้อภัย ชำระล้าง เสริมสร้างความเข้มแข็ง ทำให้บริสุทธิ์ และชำระเราให้บริสุทธิ์ …
“ไม่มีสิ่งใดเป็นอิสระ มีเกียรติ หรือสำคัญต่อความก้าวหน้าของเรามากไปกว่าการมุ่งเน้นที่การกลับใจทุกวันอย่างสม่ำเสมอ การกลับใจไม่ใช่เหตุการณ์ แต่เป็นกระบวนการ เป็นกุญแจสู่ความสุขและจิตใจที่สงบ”10
วิสุทธิชนสามารถเอาชนะโลกและความท้าทายทางศีลธรรมของโลกผ่านการมาหาพระผู้ช่วยให้รอดและทำงานของการเป็นสานุศิษย์