เลียโฮนา
การประชุมใหญ่สามัญของเรา ‘การพูดและการปฏิบัติ’
มีนาคม 2024


ดิจิทัลเท่านั้น

การประชุมใหญ่สามัญของเรา ‘การพูดและการปฏิบัติ’

ดัดแปลงจาก Sarah Jane Weaver, “Episode 24: Elder Bednar Shares His Pattern for Studying General Conference Messages,” Church News (podcast), Mar. 30, 2021, thechurchnews.com.

เมื่อเราฟัง ดู และอ่านข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญ เอ็ลเดอร์เบดนาร์แนะนําให้เรามองหาหลักคําสอน คําเชื้อเชิญ และพรที่สัญญาไว้

ผู้หญิงรับชมการประชุมใหญ่สามัญทางแท็บเล็ต

ประธานฮาโรลด์ บี. ลี (1899–1973) กระตุ้นให้สมาชิกใช้คำปราศรัยการประชุมใหญ่ “เป็นเครื่องนำทางในการพูดและการปฏิบัติของพวกเขาในช่วงหกเดือนถัดมา” ท่านสอนว่า “นี่เป็นเรื่องสำคัญที่พระเจ้าทรงเห็นเหมาะสมที่จะเปิดเผยต่อคนกลุ่มนี้ในสมัยนี้”1

ประธานสเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์ (1895–1985) เน้นความสําคัญของการฟังและศึกษาข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญเช่นกัน ท่านสอนว่า “ไม่ควรให้ตำราหรือหนังสือเล่มใดวางเด่นสะดุดตาอยู่บนชั้นหนังสือในห้องสมุดส่วนตัวของท่านนอกจากงานมาตรฐานของศาสนจักร”2

ตอนท้ายของการประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม ปี 1977 ประธานคิมบัลล์กล่าวว่า “นี่เป็นการประชุมใหญ่ที่ดีมากและเมื่อมีการให้โอวาทอันยอดเยี่ยมเหล่านี้ในแต่ละครั้งข้าพเจ้าฟังโดยตั้งใจอย่างยิ่ง และข้าพเจ้าตัดสินใจว่าข้าพเจ้าจะกลับบ้านไปและเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าที่ข้าพเจ้าเคยเป็น … ข้าพเจ้าขอให้ท่านคิดอย่างลึกซึ้งเมื่อกลับบ้านจากการประชุมใหญ่ครั้งนี้และนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ท่านสนใจอีกครั้ง”3

การรู้ว่าแม้แต่ประธานศาสนจักรก็เรียนรู้จากข่าวสารที่แบ่งปันในการประชุมใหญ่สามัญทําให้ข้าพเจ้าประทับใจมากเมื่อสมัยเป็นเยาวชนชาย เมื่อข้าพเจ้าเริ่มทําตามคําแนะนําของพวกท่าน ข้าพเจ้าค้นพบสามสิ่ง

1. ผู้นําศาสนจักรเน้นหลักคําสอนและหลักธรรมพื้นฐานในข่าวสารของพวกท่าน

2. แทบทุกครั้ง ข่าวสารของพวกท่านจะรวมถึงคําเชื้อเชิญให้ปฏิบัติตามหลักคําสอนหรือหลักธรรมที่สอนไว้

3. ตามคําเชื้อเชิญนั้น ผู้นําศาสนจักรให้พรที่สัญญาไว้

ข้าพเจ้าวางรูปแบบการวาดภาพสามคอลัมน์บนกระดาษแผ่นหนึ่ง จากนั้นข้าพเจ้าพยายามระบุและสรุปหลักคําสอน คําเชื้อเชิญ และพรที่สัญญาไว้ในข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญพอสังเขป ยิ่งไปกว่านั้น นั่นกลายเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าใช้ในการพูดและการปฏิบัติในช่วงหกเดือนถัดมา

ความสำคัญของการเชื้อเชิญ

หากผู้คนแสวงหาของประทานฝ่ายวิญญาณแห่งศรัทธาในพระเจ้าอย่างเหมาะสม พวกเขาต้องปฏิบัติตามคําสอนของพระองค์ คําเชื้อเชิญเป็นสิ่งสําคัญเพราะศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดคือหลักธรรมแห่งการกระทําและพลังอํานาจ และในฐานะผู้รับใช้ของพระองค์ ข้าพเจ้าพยายามที่จะให้คำเชื้อเชิญที่สามารถช่วยผู้คนเสริมสร้างศรัทธาและความภักดีต่อพระองค์

หลายครั้งในการรับใช้ในศาสนจักรเราอาจพูดหลายสิ่งเช่น “ข้าพเจ้าท้าทายท่านให้ทําสิ่งนี้” แต่ข้าพเจ้าไม่พบภาษาเช่นนั้นในการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอด ในพระคัมภีร์ หรือในคําสอนของผู้นําศาสนจักร พระผู้ช่วยให้รอดทรงทํา และผู้นําศาสนจักรควรเชื้อเชิญ โน้มน้าว ให้กําลังใจ และสัญญาพร—ด้วยวิธีที่เหมือนพระคริสต์มากขึ้นในการช่วยเหลือบุคคลและครอบครัว

ประธานดัลลิน เอช. โอ๊คส์ในฐานะสมาชิกโควรัมอัครสาวกสิบสองให้คำเชื้อเชิญที่สําคัญในข่าวสารถึงผู้ดํารงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรน ท่านยกตัวอย่างหลักธรรมแห่งการไม่เขว ท่านกล่าวว่า “หลักธรรมที่ข้าพเจ้าแนะนำให้ดูแลผู้ปฏิบัติหน้าที่ในศีลระลึก—ไม่ว่าจะเป็นการเตรียม การปฏิบัติ หรือการส่งผ่าน—คือพวกเขาเหล่านั้นไม่ควรทำสิ่งใดก็ตามที่จะทำให้สมาชิกเขวไปจากการนมัสการและการต่อพันธสัญญาของตน”4

ผู้ดํารงฐานะปุโรหิตแห่งอาโรนอาจถามตนเองว่า “เราควรสวมเสื้อผ้าอะไรเมื่อมีส่วนร่วมในพิธีศีลระลึก?” หากเยาวชนชายเข้าใจหลักธรรมอันเรียบง่ายนี้ เขาจะไม่พยายาม “แสดงแนวคิด” ส่วนตัวด้วยการแต่งกายหรือกิริยาท่าทางของเขา แต่เขาจะพยายามสงบเสงี่ยมเพื่อเขาจะไม่รบกวนหรือทําให้ผู้คนเขวขณะกำลังต่อพันธสัญญาในพิธีศีลระลึก—หรือในศาสนพิธีอื่นใด

ประธานโอ๊คส์เสริมว่า “ข้าพเจ้าจะไม่เสนอกฎโดยละเอียด”5 สําหรับข้าพเจ้า นั่นเป็นคำเชื้อเชิญผู้ดํารงฐานะปุโรหิตทุกคนให้นึกถึงการที่หลักธรรมนี้จะนําไปสู่วิธีที่สูงส่งขึ้นและศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในการทําหน้าที่ฐานะปุโรหิต

ประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันให้คำเชื้อเชิญที่คล้ายกันนี้ในการประชุมใหญ่สามัญเดือนเมษายน 2015 เมื่อท่านสอนเราว่า “สะบาโตคือวันปีติยินดี”6 “เราจะรักษาวันสะบาโต ให้บริสุทธิ์ อย่างไร? ในสมัยที่ข้าพเจ้ายังหนุ่ม ข้าพเจ้าศึกษางานของผู้อื่นที่รวบรวมรายการสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ทำ ไม่ได้ ในวันสะบาโต จนภายหลังข้าพเจ้าจึงเรียนรู้จากพระคัมภีร์ว่าพฤติกรรมและเจตคติของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตนั้นเป็นการส่ง สัญญาณ ระหว่างข้าพเจ้ากับพระบิดาบนสวรรค์ [ดู อพยพ 31:13; เอเสเคียล 20:12, 20] ด้วยความเข้าใจนั้น ข้าพเจ้าไม่ต้องใช้รายการสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้อีกต่อไป เมื่อข้าพเจ้าต้องตัดสินใจว่ากิจกรรมนี้เหมาะสมสำหรับวันสะบาโตหรือไม่ ข้าพเจ้าเพียงถามตนเองว่า ‘ข้าพเจ้าต้องการส่ง สัญญาณ อะไรให้พระผู้เป็นเจ้า’ คำถามนั้นทำให้การเลือกของข้าพเจ้าเกี่ยวกับวันสะบาโตชัดเจนอย่างยิ่ง”7

ในคําถามของประธานเนลสันและแบบอย่างของประธานโอ๊คส์ เราสามารถระบุคําเชื้อเชิญให้ลงมือทํา และเมื่อเราลงมือทํา พรอันงดงามจะตามมาเสมอ

ลงมือทําและได้รับพร

วิสุทธิชนยุคสุดท้ายทําหลายสิ่งได้เพื่อเตรียมพร้อมสําหรับการประชุมใหญ่สามัญ ข้าพเจ้าจะเน้นข้อความเพียงสองอย่าง

หนึ่ง เราต้องเตรียมลงมือทํา เมื่อเรากระตือรือร้นในการขอ แสวงหา และเคาะนั้น เราใช้ศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดและอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นครูของเรา พระวิญญาณจะทรงนําความคิดและความรู้สึกมาสู่ใจเรา และพระวิญญาณจะทรงสอนเราแต่ละบุคคลเป็นส่วนตัวถึงสิ่งที่จําเป็น

การรับสิ่งที่เราต้องการจะยากขึ้นถ้ากรอบความคิดของเราคือ “ฉันเพียงจะไปฟังข่าวสารเผื่อว่าพอจะมีอะไรช่วยฉันได้บ้าง” ขั้นตอนการเปิดเผยต้องใช้ความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมโดยไม่ทำอะไรเลยเท่านั้น

การเตรียมพร้อมมาก่อนการกระทําที่มีประสิทธิภาพ และวิธีหนึ่งที่จะเตรียมพร้อมสําหรับการประชุมใหญ่สามัญคือตั้งคําถามหรือมีคําถามในใจขณะที่เราฟังข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญ

องค์ประกอบที่สองของการเตรียมคืออัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นเพื่อนของเราโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดประสงค์ของการสวดอ้อนวอน การมีพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นเพื่อนอยู่เสมอ ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเพียงเพราะมีมือวางบนศีรษะเราและเราได้รับการเตือนให้ “รับพระวิญญาณบริสุทธิ์” เท่านั้น เราต้องทำส่วนของเราเพื่อจะได้รับของประทาน

เราจะอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราสวดอ้อนวอนอย่างจริงใจและด้วยเจตนาที่แท้จริง เราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราดื่มด่ำพระวจนะของพระคริสต์ในพระคัมภีร์ เราอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์เมื่อเราทําตามคําแนะนําที่ให้ไว้โดยผู้นําศาสนจักร การแสดงศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอดเช่นนั้นอัญเชิญพระวิญญาณบริสุทธิ์ให้เป็นเพื่อนของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระองค์ทรงพร้อมเสด็จมามากขึ้นเมื่อเราอัญเชิญพระองค์โดยเฉพาะ

เราต้องเรียนรู้และตระหนักด้วยว่าพรไม่จําเป็นต้องเข้ามาในชีวิตเราก็ต่อเมื่อเราต้องการหรือในแบบที่เราต้องการเท่านั้น แต่พรนั้นประทานไว้ให้เราตามพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระเจ้า

ไม่ว่าตําแหน่งหรือสถานะใด หรือสมาชิกคนใดของศาสนจักรนี้—ตราบใดที่เขาพยายามมีค่าควรและแสวงหาความเป็นเพื่อนของพระวิญญาณบริสุทธิ์—เขาสามารถขอ แสวงหา และเคาะได้ (ดู มัทธิว 7:7; 3 นีไฟ 14:7) และรับคําตอบและการทรงนําทางวิญญาณ

ร้อยเรียงโดยสวรรค์

เมื่อวิสุทธิชนยุคสุดท้ายพิจารณาความเชื่อมโยงและความเป็นหนึ่งเดียวของข่าวสารที่ให้ระหว่างการประชุมใหญ่สามัญ บางคนอาจสงสัยว่ามีการกําหนดหัวข้อหรือไม่และวางแผนหัวข้อหรือไม่ สิ่งเหล่านั้น ถูกวางแผน —โดยสวรรค์ ไม่ใช่โดยบุคคลผู้มีส่วนร่วมในการประชุมใหญ่โดยตรง

ข้าพเจ้ามีส่วนร่วมในการประชุมใหญ่สามัญเกือบ 20 ปี และมีเพียงบางโอกาสเท่านั้นที่มีงานมอบหมายให้ผู้พูดกล่าวถึงหัวข้อนั้นโดยเฉพาะ แต่มีหลายครั้งขณะนั่งอยู่บนแท่นเวที และรู้ว่าข้าพเจ้าจะต้องพูดในเร็วๆ นี้ ที่ข้าพเจ้าได้สังเกตเห็นความต่อเนื่องกันของข้อความที่ถูกนำเสนอ ผู้นำศาสนจักรที่ไม่ได้พูดคุยกันเกี่ยวกับเนื้อหาข่าวสารของแต่ละคน แต่ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยให้การประชุมใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ใช่แล้ว การประชุมใหญ่สามัญนั้นร้อยเรียงขึ้น—แต่โดยสวรรค์ ไม่ใช่จากผู้เข้าร่วม

ในหลักคําสอนและพันธสัญญาภาคที่ 52 พระเจ้าทรงเปิดเผยว่าพระองค์จะประทาน “แบบฉบับในสิ่งทั้งปวง” ให้เรา (ข้อ 14) แบบฉบับอย่างหนึ่งคือการที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงปฏิบัติศาสนกิจต่อเรา เมื่อพระองค์ทรงปรากฏต่อฝูงชน 2,500 คนที่พระวิหารในแผ่นดินอุดมมั่งคั่ง พระองค์ไม่ได้ทรงเชื้อเชิญเพียงหนึ่งหรือสองคนให้มาสัมผัสรอยแผลในพระหัตถ์ พระบาท และพระปรัศว์ของพระองค์ พระองค์ประทานโอกาสนั้นให้คนทั้งปวง “ทีละคน” (3 นีไฟ 11:15)

ในการประชุมใหญ่สามัญ พระเจ้าตรัสกับที่ประชุมทั่วโลกผ่านผู้รับใช้ของพระองค์ และพระองค์ตรัสกับเรา “ทีละคน” โดยอํานาจของพระวิญญาณบริสุทธิ์ แบบฉบับทางวิญญาณนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเราทุกคนเมื่อเราฟัง เรียนรู้ และพยายามเป็นสานุศิษย์ที่ภักดีของพระผู้ช่วยให้รอด

อ้างอิง

  1. ฮาโรลด์ บี. ลี, ใน Conference Report, เม.ย. 1946, 68.

  2. สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, In the World but Not of It, Brigham Young University Speeches of the Year (พ.ค. 14, 1968), 3.

  3. สเป็นเซอร์ ดับเบิลยู. คิมบัลล์, “Jesus the Christ,” Ensign, Nov. 1977, 75.

  4. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “The Aaronic Priesthood and the Sacrament,” Ensign, Nov. 1998, 39.

  5. ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “The Aaronic Priesthood and the Sacrament,” 39.

  6. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “สะบาโตคือวันปีติยินดี,” เลียโฮนา, พ.ค. 2015, 129–132.

  7. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “สะบาโตคือวันปีติยินดี,” 130.