ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์
1. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด


“1. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์: หนังสืออ่านประกอบ (2020)

“1. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์: หนังสืออ่านประกอบ

ภาพ
ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์กำลังทำงานกับอาหาร

1. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด

หมวดนี้ประกอบด้วยข้อเสนอแนะทั่วไปสำหรับป้องกันไม่ให้มีความเครียดมากเกินไปและรับมือเวลาเกิดความเครียด ข้อเสนอแนะเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สอนศาสนาทุกคน

ก. การตอบสนองความเครียดในทางบวก

  • สวดอ้อนวอนบ่อยๆ ด้วยศรัทธาแรงกล้า บอกความรู้สึก ประสบการณ์ แผนการ และข้อกังวลของท่านกับพระเจ้า ทูลขอให้พระวิญญาณสถิตกับท่านในทุกเรื่อง จดความประทับใจที่ท่านได้รับขณะสวดอ้อนวอนและศึกษาพระคัมภีร์ พร้อมรับการทรงนำทางวิญญาณที่ท่านอาจได้รับตลอดวัน สดับฟังสุรเสียงของพระวิญญาณ ขณะทำเช่นนั้นท่านจะได้รับการทรงนำ การปลอบโยน และความช่วยเหลือต่อเนื่อง “เพราะดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่านอีกว่าหากท่านจะเข้าไปโดยทางนั้น, และรับพระวิญญาณบริสุทธิ์, พระองค์จะทรงแสดงแก่ท่านถึงสิ่งทั้งปวงที่ท่านควรทำ” (2 นีไฟ 32:45) ทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยท่านรับรู้และทำตามการกระตุ้นเตือนทางวิญญาณ

  • สงบนิ่ง ความสงบนิ่งไม่ได้หมายถึงร่างกายอยู่นิ่งๆ เท่านั้น แม้จะหมายรวมเช่นนั้นก็ตาม การสงบนิ่งเป็นเจตคติภายใน คือสภาพของความเงียบสงบในใจที่อัญเชิญการประทับของพระผู้เป็นเจ้า “จงนิ่งเสีย และรู้เถิดว่า เราคือพระเจ้า” (สดุดี 46:10) ฝึกสงบนิ่ง แล้วท่านจะรู้สึกไวต่อการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณมากขึ้น ท่านจะสามารถทำตามข้อเรียกร้องของงานเผยแผ่ได้มากขึ้น ทุกครั้งที่รู้สึกเครียดมากเกินไป ท่านสามารถฝึกสงบนิ่งได้ แทนที่จะจดจ่ออยู่กับความคิดในจิตท่าน จงเอาใจใส่ความรู้สึกทั้งหลายในร่างกายท่าน สังเกตว่ากล้ามเนื้อของท่านตึงหรือผ่อนคลาย สังเกตเสียงและกลิ่นรอบตัว การเอาใจใส่ลมหายใจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง (ดู การฝึกหายใจ) ท่านไม่ได้กำลังพยายามเลิกคิดหรือไม่คิด แค่เบนความสนใจออกจากความกังวลและความกลัวทั้งหลายก็พอ นี่จะทำให้จิตท่านมีที่ว่างให้พระวิญญาณมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้ท่านรู้สึกสงบมากขึ้นด้วย

  • รับรู้พระหัตถ์ของพระเจ้าในทุกสิ่ง ท่านได้รับสิทธิพิเศษให้มีส่วนร่วมในงานน่าอัศจรรย์ของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเป็นพรแก่ลูกๆ ของพระองค์ ฝึกจดจ่อทุกวันอยู่กับพรที่ท่านรู้สึกสำนึกคุณ สังเกตอิทธิพลของพระวิญญาณในชีวิตท่าน และเขียนเกี่ยวกับอิทธิพลนั้นในบันทึกส่วนตัว (ดู โมโรไน 10:3)

  • รับใช้จากจุดแข็งและพรสวรรค์ของท่าน เขียนจุดแข็ง พรสวรรค์ และของประทานฝ่ายวิญญาณของท่านออกมาเป็นข้อๆ จุดแข็งของท่านเป็นคลังส่วนหนึ่งของพระเจ้า พระองค์ทรงดึงจุดแข็งเหล่านั้นมาใช้เป็นพรแก่ลูกๆ ของพระองค์และสร้างอาณาจักรของพระองค์ ส่วนสำคัญยิ่งของงานเผยแผ่ของท่านคือพัฒนาของประทานของท่าน ใช้จุดแข็งของท่านช่วยเหลือผู้อื่นเหมือนอย่างพระคริสต์ ลองพิจารณาสิ่งที่พระวิญญาณทรงกระซิบกับผู้สอนศาสนาคนหนึ่ง: “เราไม่ได้เรียกเจ้าเพราะจุดอ่อนของเจ้า เราเรียกเจ้าเพราะจุดแข็งของเจ้า” จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ท่านทำได้ดีมากกว่าสิ่งที่ท่านทำผิด วางแผนวิธีพัฒนาและใช้พรสวรรค์ของท่านรับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่นในแต่ละสัปดาห์ (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 82:18–19)

  • ระบุและท่องจำข้อพระคัมภีร์ที่ปลอบประโลม ขณะที่ท่านศึกษาพระคัมภีร์ ให้ยกข้อที่เพิ่มพลังและปลอบประโลมท่านขึ้นมาเป็นข้อๆ ท่านจะอ่าน ฟัง หรือท่องจำก็ได้

  • จดจ่ออยู่กับความต้องการของคนที่ท่านกำลังรับใช้ คิดดูว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเป็นพรแก่คนที่ท่านกำลังรับใช้ แสวงหาการดลใจให้รู้ว่าท่านจะช่วยพวกเขาได้ดีขึ้นอย่างไร พยายามเพิ่มพลังศรัทธาของพวกเขา

  • เชื่อมโยงงานของท่านกับคนที่ท่านรู้จัก คิดดูว่าการรับใช้ของท่านช่วยคนที่ท่านรู้จักแก้ปัญหาจริงๆ อย่างไร เขียนตัวอย่างในบันทึกส่วนตัวของท่านว่าการรับใช้ของท่านทำให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างไร

    ภาพ
    ผู้นำศาสนจักรกำลังพูดคุยกับเยาวชนชาย
  • สำรวจความคาดหวังของท่าน งานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ของท่านอาจไม่เป็นอย่างที่ท่านคาดหวังเสมอไป บางครั้งสิ่งต่างๆ จะไม่ออกมาตามที่ท่านหวัง งานมอบหมายของท่านอาจไม่ท้าทายหรือน่าทำเสมอไป และท่านอาจทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบไม่ได้ แต่จงจำพระดำรัสที่พระเจ้าทรงแนะนำโจเซฟ สมิธในคุกลิเบอร์ตี้: “สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์แก่เจ้า, และจะเกิดขึ้นเพื่อความดีของเจ้า … ฉะนั้น, จงยึดมั่นวิถีทางของเจ้า” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:7, 9)

  • ขออนุญาตพักจากสิ่งที่ท่านทำอยู่ ท่านอาจจะพักทันทีไม่ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นให้บอกตัวเองว่า “รอหน่อยเดี๋ยวก็ได้พัก”

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นประจำเป็นวิธีจัดการความเครียดที่ได้ผลวิธีหนึ่ง พยายามมีส่วนร่วมในกิจกรรมหลายๆ แบบที่ทั้งทำให้เพลิดเพลินและท้าทายทางร่างกาย เมื่อท่านจดจ่ออยู่กับกิจกรรมเหล่านี้ท่านอาจจะพบว่าตัวท่านมีพลัง ท่านจะสามารถลืมความกังวลของวันนั้นได้ การออกกำลังกายวิธีใดก็ตามจะช่วยเพิ่มกำลังวังชาและความสามารถให้ท่านรับใช้พระเจ้าได้ หาวิธีให้รางวัลตัวเองเพราะพบวิธีเพิ่มการออกกำลังกายของท่าน

  • อย่าพยายามควบคุมสิ่งที่ท่านควบคุมไม่ได้ ผลของความพยายามอันชอบธรรมของท่านอาจขึ้นอยู่กับสิทธิ์เสรีของผู้อื่น ท่านจะควบคุมคนหรือบีบบังคับให้พวกเขาทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้ “ไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดสามารถหรือจะธำรงไว้ได้โดยอาศัยฐานะปุโรหิต, นอกจากโดยการชักชวน, โดยความอดกลั้น, โดยความสุภาพอ่อนน้อมและความอ่อนโยน, และโดยความรักที่ไม่เสแสร้ง” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:41) “ฉะนั้น, พี่น้องที่รักยิ่ง, ให้เราทำสิ่งทั้งปวงที่อยู่ในอำนาจของเราอย่างรื่นเริงเถิด; และจากนั้นขอให้เรายืนนิ่ง, ด้วยความมั่นใจอย่างที่สุด, เพื่อเห็นความรอดแห่งพระผู้เป็นเจ้า, และเพื่อพระองค์จะทรงเผยพระพาหุของพระองค์” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 123:17)

  • ฝึกสติ การมีสติเป็นเทคนิคหนึ่งสำหรับจัดการกับความเครียด เกี่ยวข้องกับการเอาใจใส่ประสบการณ์ในขณะปัจจุบัน ใช้สติเมื่อท่านรู้สึกเครียดหรือกลัวเกินเหตุ พยายามรับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวท่าน จดจ่ออยู่กับตอนนี้และที่นี่ ไม่ใช่อนาคต สังเกตว่าสติของท่านตอบสนองอย่างไรต่อการรับรู้นี้

    • สูดลมหายใจลึกๆ หลับตาถ้าจำเป็น และพยายามผ่อนคลาย

    • เดินเล่นสักหน่อยถ้าช่วยได้

    • สังเกตเกือบจะเหมือนว่าท่านเป็นคนนอกว่าท่านกำลังกังวลเรื่องอะไร ท่านกำลังรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น?

    • ปล่อยผ่านสิ่งที่กวนใจท่าน จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ท่านทำได้หรือควรทำในสองสามนาทีข้างหน้า

    • ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ให้บอกหัวหน้าเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ทราบ

  • ผูกมิตรผู้ร่วมงานและผู้สอนศาสนาคนอื่นๆ แบ่งปันความคิด รับใช้กัน ช่วยเหลือกัน และให้อภัยกัน

    ภาพ
    ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์เดินด้วยกัน
  • ใช้ดนตรี หวนนึกถึงเนื้อร้องเพลงสองสามเพลงหรือพระคัมภีร์สองสามข้อที่ท่านชอบ เมื่อรู้สึกเครียดหรือท้อแท้ ให้นึกถึงเนื้อร้อง ถามว่าท่านจะใช้หูฟังตอนทำงานมอบหมายด้านบำเพ็ญประโยชน์ได้หรือไม่ ฟังเพลงเย็นๆ ถ้าไม่รบกวนงานมอบหมายของท่าน ท่านอาจจะใช้แอป “Calm” หรือแอปคล้ายกันบนสมาร์ทโฟนของท่าน

  • จดจำสิ่งที่ท่านเรียนรู้แล้ว ท่านจัดการกับการเปลี่ยนแปลงและความยุ่งยากมาทั้งชีวิต เขียนสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้จากช่วงมีความเครียดสูงในอดีต (การย้ายที่อยู่ การสูญเสีย หรือโรงเรียนใหม่หรืองานใหม่) ตอนนี้ท่านจะใช้ทักษะเหล่านี้ได้อย่างไร?

ข. การตอบสนองต่อ “ภาวะเครียดฉับพลัน”

ภาวะเครียดฉับพลันเกิดขึ้นเมื่อท่านย้ายเข้าไปอยู่ในโซนเครียดสีส้มหรือสีแดงกะทันหัน ถ้าท่านอยู่ในอันตรายทางร่างกายหรือทางอารมณ์ ให้โทรบอกพ่อแม่หรือหัวหน้าเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ทันที ส่วนสถานการณ์อื่นให้ลองทำตามข้อเสนอแนะต่อไปนี้:

  • พักสักครู่ ถ้ารู้สึกอารมณ์เสียมากหรือเครียดมาก ให้หยุดพัก หายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ หลายๆ ครั้ง และผ่อนคลายร่างกาย เมื่อร่างกายและจิตใจสงบแล้ว ท่านจะคิดชัดเจนขึ้น ไปเดินเล่น หรือกินอาหารหรือเครื่องดื่ม หรือแค่นั่งเฉยๆ สักสองสามนาที แค่บอกว่าท่านรู้สึกอย่างไร (ตัวอย่างเช่น รู้สึกคับข้องใจหรือถูกปฏิเสธ) ก็ช่วยให้สมองท่านเริ่มแก้ปัญหาแล้ว

  • ใจดีกับตัวเอง พูดกับตัวเองด้วยคำพูดที่นุ่มนวลฟังแล้วสบายใจเหมือนท่านจะใช้พูดกับคนอื่น ทุกคนคับข้องใจหรือทำผิดพลาดบางครั้ง จงรู้ว่าพระเจ้าเข้าพระทัย นึกภาพว่าพระองค์ทรงนั่งอยู่ใกล้ท่าน กำลังฟังและให้กำลังใจท่าน จำไว้ว่าความคิดสิ้นหวัง หมดหวัง หรือตำหนิรุนแรงไม่ได้มาจากพระเจ้า

  • จงจดจ่ออยู่กับความสำนึกคุณอีกครั้ง สังเกตสิ่งรอบตัว จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ถูกต้อง ดี และเป็นด้านบวกเกี่ยวกับตัวท่านและโลก สวดอ้อนวอนด้วยความสำนึกคุณต่อห้าสิ่งเป็นอย่างน้อย บอกตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นสานุศิษย์ของพระเยซูคริสต์, พระบุตรของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้รับการเรียกจากพระองค์ให้ประกาศพระวจนะในบรรดาผู้คนของพระองค์” (3 นีไฟ 5:13)

  • ทีละขั้นทีละตอน ระบุปัญหาเฉพาะหน้า แล้วแก้ทีละขั้นทีละตอน เตือนสติตัวเองว่า “ทั้งหมดที่ฉันต้องทำตอนนี้คือ

  • ช่วยเหลือใครบางคน จดจ่ออยู่กับพลังงานของท่านอีกครั้งโดยรับใช้ใครบางคน ยิ้มให้ผู้คน ช่วยเหลือ และรับใช้พวกเขา เริ่มสนทนากับคนนั้นคนนี้เพื่อนำความคิดคุณกลับมาที่ปัจจุบัน

  • พูดแย้งความคิดลบ ตอนนี้ หรือก่อนเข้านอนคืนนี้ ให้เขียนความคิดลบๆ ของวันนั้นลงบนกระดาษ แล้วเขียนใหม่ให้มีความหวัง ความจริง และกำลังใจมากขึ้น (ดูตัวอย่างต่อไปนี้)

ภาพ
ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์คุยกัน

ค. การช่วยเหลือคนที่เครียดมากเกินไป

  • สังเกตคนอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหา ให้พวกเขารู้ว่าท่านเข้าใจ เสนอตัวช่วยเหลือ ใช้เวลาฟังความทุกข์ของพวกเขา เสนอแนะให้พวกเขาพักสักครู่

  • นึกถึงพันธสัญญาบัพติศมาของท่าน เราสัญญาไว้ว่า “จะแบกภาระของกันและกัน, เพื่อมันจะได้เบา; … จะโศกเศร้ากับคนที่โศกเศร้า; แท้จริงแล้ว, และปลอบโยนคนที่ต้องการการปลอบโยน, และยืนเป็นพยานเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าทุกเวลาและในทุกสิ่ง” (โมไซยาห์ 18:8–9) ประยุกต์ใช้พันธสัญญานี้โดย (1) แบ่งเบาภาระของกันและกัน (2) ทำความเข้าใจและปลอบโยน และ (3) เป็นพยานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้า

  • ถามคำถามสักสองสามข้อ แต่ไม่บังคับให้คนนั้นพูด ลองพูดว่า “คุณอารมณ์ไม่ค่อยดี เกิดอะไรขึ้นคะ?” หรือ “คุณอยากจะเล่าให้ฉันฟังหรือเปล่า?” ความคิดเห็นที่ดีอื่นๆ อาจได้แก่:

    • “ฉันไม่รู้จะพูดอะไรดีตอนนี้ แต่ฉันดีใจที่คุณเล่าให้ฟัง”

    • “บอกหน่อยสิคะว่าตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไร”

    • “ฉันเป็นห่วงคุณ”

    • “ฉันอยู่ตรงนี้นะ”

    • “การรู้สึกแบบนี้ไม่เป็นไร ไม่เสียหาย”

  • เตือนคนอื่นให้นึกถึงสิ่งที่เขาทำได้ดี ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะพูดว่า “ฉันชื่นชมความซื่อสัตย์สุจริตของคุณและความปรารถนาจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าของคุณจริงๆ”

  • ฟังให้เข้าใจ ให้การสนับสนุนและกำลังใจ การให้คำแนะนำและเสนอทางออกมักไม่เกิดประโยชน์จนกว่าบุคคลนั้นจะรู้สึกว่าท่านเข้าใจเขา ถามคำถามและช่วยให้เขาค้นหาคำตอบของตนเอง ท่านไม่ควรสวมบทเป็นผู้ให้คำปรึกษาคนอื่นๆ แต่ท่านสามารถเป็นผู้ฟังที่เห็นอกเห็นใจผู้คอยช่วยเหลือและสนับสนุนพวกเขา

  • แสดงประจักษ์พยานของท่าน แบ่งปันความเชื่อมั่นของท่านในความรักและความเต็มพระทัยช่วยเหลือของพระผู้เป็นเจ้า

  • จงใช้ปัญญาขณะท่านดูแลช่วยเหลือผู้อื่น การเรียกของท่านศักดิ์สิทธิ์ จงเป็นคนที่ไว้ใจได้และรักษาความลับ

    ภาพ
    ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์ทำงานด้วยกัน
  • จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ต้องตัดสินใจตอนนี้ ช่วยคนที่เครียดเกินไปให้หลีกเลี่ยงปัญหาใหญ่และจดจ่ออยู่กับการตัดสินใจเฉพาะหน้าที่ต้องทำ เสนอตัวช่วยเหลือพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขากลับมาแก้ปัญหาใหญ่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย แล้วช่วยพวกเขาหาวิธีแก้ เตือนสติพวกเขาว่าพระเจ้าทรงสามารถช่วยแก้ปัญหาได้เมื่อเวลาล่วงไป เราควรทำสิ่งที่เราทำได้แล้วมอบปัญหาให้พระองค์ดูแล

ง. การจัดการกับความท้าทายส่วนตัว

ท่านเป็นคนพิเศษที่มีจุดแข็งจุดอ่อนเฉพาะตัว ถ้ามีความท้าทายส่วนตัวที่ท่านประสงค์จะแก้ไข ให้เขียนไว้ที่นี่:

เขียนสิ่งที่ท่านเรียนรู้แล้วออกมาเป็นข้อๆ ที่ช่วยท่านรับมือกับความท้าทายนั้น:

เขียนสิ่งใหม่ๆ ที่จะลองทำด้วย ท่านสามารถเรียนรู้จากคนรอบข้าง ผู้เชี่ยวชาญ หรือการค้นคว้าส่วนตัว คิดหาวิธีการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา หรือวิญญาณที่อาจจะช่วยได้ จำไว้ว่าท่านอาจจะต้องฝึกวิธีใหม่หลายสัปดาห์ จึงจะรู้ว่าวิธีนั้นได้ผลดีเพียงใด

ฝึกอธิบายความท้าทายของท่านให้คนอื่นฟังและขอความช่วยเหลือขณะจัดการความท้าทายนั้น ฝึกกับพ่อแม่หรือหัวหน้าเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์

พิมพ์