“3. การพัฒนาความสามารถในการปรับอารมณ์” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์: หนังสืออ่านประกอบ (2020)
“3. การพัฒนาความสามารถในการปรับอารมณ์” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์
3. การพัฒนาความสามารถในการปรับอารมณ์
อารมณ์ที่รุนแรง เช่น กลัวและกังวลช่วยให้เรารู้ว่าเราเครียดมากเกินไป อ่าน “1. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด” เพื่อทราบข้อเสนอแนะโดยรวมสำหรับจัดการกับข้อเรียกร้องทางอารมณ์ นอกจากนี้ข้อเสนอแนะด้านล่างอาจช่วยเรื่องอารมณ์เฉพาะอย่างได้ ถ้าอารมณ์ของท่านรุนแรงเกินต้านหรืออยู่นาน ให้พูดคุยกับพ่อแม่หรือหัวหน้าเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์เกี่ยวกับการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
ก. การปรับตัวให้เข้ากับงานมอบหมายใหม่ของท่าน
-
ทบทวนเหตุผลที่ท่านรับใช้งานเผยแผ่ คิดว่างานเผยแผ่ของท่านเป็นของขวัญที่ท่านถวายแด่พระผู้ช่วยให้รอดเพื่อขอบพระทัยพระองค์ เขียนพรของท่านออกมาเป็นข้อๆ เตือนตัวเองให้นึกถึงสิ่งที่ผู้นำและคนที่ท่านรักอยากบอกท่านเกี่ยวกับการรับใช้งานเผยแผ่ของท่าน
-
จงอดทน ปกติแล้วจะใช้เวลาประมาณหกสัปดาห์จึงจะเริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้ อย่าเพิ่งตัดสินใจใดๆ จนกว่าท่านให้เวลาตนเองปรับตัว ค่อยๆ ปรับไปทีละวัน
-
วางรูปที่ให้แรงบันดาลใจ โพสต์พระคัมภีร์ ข้อความอ้างอิง หรือรูปภาพที่ช่วยให้ท่านจดจำคุณค่าของท่าน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ท่านจดจ่ออยู่กับการรับใช้และความปรารถนาอันชอบธรรมของท่าน
-
ทบทวนข้อพระคัมภีร์และเรื่องราวที่ยกระดับจิตใจ รวบรวมข้อพระคัมภีร์ ประสบการณ์ส่วนตัว ข้อความอ้างอิง และเรื่องราวครอบครัวที่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ท่าน เมื่ออ่านข้อพระคัมภีร์ที่ยกระดับจิตใจ ให้ใส่ชื่อท่านลงไป ท่านอาจจะลองใส่ชื่อท่านในข้อพระคัมภีร์ดังต่อไปนี้: สุภาษิต 3:5–6; 2 นีไฟ 4:28–35; โมไซยาห์ 24:13–14; แอลมา 36:3; ฮีลามัน 5:12; และหลักคำสอนและพันธสัญญาภาค 4, 6 และ 31 (ดู “ความทุกข์ยาก,” ใน แน่วแน่ต่อศรัทธา [2004], 108–112 ด้วย)
-
ทบทวนปิตุพรของท่านบ่อยๆ เพื่อเป็นการนำทาง มองหาวิธีที่ของประทานและข้อดีของท่านจะเอื้อประโยชน์ต่องานของท่าน
ข. การเอาชนะความรู้สึกเศร้าหรือท้อแท้
-
อย่าผัดวันประกันพรุ่ง การเลื่อนเวลาทำสิ่งต่างๆ ออกไปจะทำให้เกิดความเครียดได้ จงแบ่งงานใหญ่ให้เป็นงานย่อย แล้วเริ่มทำทีละงาน เตือนสติตนเองว่า “ทั้งหมดที่ฉันต้องทำตอนนี้คือ ” หรือ “ฉันจะทำงานนี้แค่ไม่กี่นาทีแล้วพักถ้าฉันอยากพัก”
-
ฟังเพลงหรือร้องเพลง เลือกเพลงเย็นๆ ที่ฟังแล้วสบายใจถ้าท่านวิตกกังวล เพลงที่คึกคักร่าเริงอาจช่วยได้ถ้าท่านรู้สึกหดหู่ (ท่านต้องไม่ใส่หูฟังขณะทำงานมอบหมายเว้นแต่ได้รับอนุญาต)
-
ปล่อยวางสิ่งที่ท่านควบคุมไม่ได้ ท่านไม่สามารถควบคุมอดีตหรือการเลือกหรือบุคลิกภาพของผู้อื่น ท่านไม่สามารถควบคุมขีดจำกัดบางอย่างของท่านเอง จงจดจ่ออยู่กับบางสิ่งที่ท่านทำได้ แล้วปล่อยที่เหลือไว้กับพระเจ้า
-
ยอมรับความเป็นจริงว่ากิจวัตรบางอย่างน่าเบื่อ ใช่ว่าชีวิตจะมีความหมายลึกซึ้งและน่าตื่นเต้นไปเสียทั้งหมด จงหลีกเลี่ยงการสร้างสถานการณ์เกินจริง ความตึงเครียด หรือความขัดแย้งเพื่อจัดการกับความเบื่อหน่าย แต่เห็นคุณค่าและชื่นชมสิ่งดีรอบตัว มองหาวิธีปรับปรุงและรับใช้
-
ฝึกสมองให้มองหาสิ่งดี จดจ่ออยู่กับสิ่งดีรอบตัว ใช้เวลาคืนละสองสามนาทีเขียนหรือแบ่งปันคำตอบของท่านสำหรับคำถามหนึ่งข้อต่อไปนี้:
-
เรื่องประหลาดใจอะไรวันนี้ที่ทำให้สุขใจ? ใครช่วยทำให้เกิดขึ้น และพวกเขาทำอย่างไร?
-
พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยเหลือฉันวันนี้อย่างไร?
-
สิ่งใหม่ๆ สามสิ่งที่ฉันสำนึกคุณวันนี้คืออะไร?
-
ฉันจะจดจำและเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?
-
ใครช่วยเหลือฉันวันนี้ หรือฉันช่วยเหลือใคร?
-
วันนี้ฉันเสี่ยงทำสิ่งที่ช่วยให้ฉันเติบโตตอนไหน? ฉันเรียนรู้อะไรจากความเสี่ยงนี้? นี่จะช่วยให้ฉันทำดีขึ้นในอนาคตได้อย่างไร?
-
วันนี้ฉันทำเรื่องยากบางอย่างสำเร็จตอนไหน? ฉันทำอย่างไร? ฉันจะฉลองความสำเร็จได้อย่างไร?
-
-
ท้าทายความคิดของท่าน ความกังวลและความเศร้าเสียใจสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบความคิดของท่านได้ ถ้าท่านกำลังมีอารมณ์ด้านลบ ให้ถามตัวท่านเองว่า:
-
มีสิ่งใดสนับสนุนความจริงที่ฉันคิดอยู่หรือไม่?
-
นี่เป็นสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงต้องการให้ฉันคิดหรือรู้สึกไหม?
-
ความคิดนี้สุดขั้วหรือเปล่า—ไม่ดำก็ขาว ไม่ชนะก็แพ้ ไม่จริงก็เท็จ?
-
การคิดแบบนี้มีประโยชน์ต่อฉันไหม?
-
ความคิดนี้ทำให้ฉันรู้สึกอย่างไร?
-
ฉันรู้อะไรเกี่ยวกับตัวเองและคนอื่นๆ ที่บอกฉันว่านี้ไม่จริง?
-
ฉันจะบอกเพื่อนสนิทที่สุดว่าอย่างไรถ้าพวกเขาคิดแบบนี้?
-
-
หาอะไรทำเพลินๆ แม้จะเคารพความมีเกียรติของการเรียกของท่าน แต่จงค้นหาอารมณ์ขันให้เจอ ลิ้มรสความงามในโลกและสังเกตความมีน้ำใจของผู้อื่น ยินดีกับการรู้สึกถึงพระวิญญาณในชีวิตท่าน
-
ทำสิ่งพื้นฐาน: สวดอ้อนวอน ศึกษาพระคัมภีร์ และรับใช้ เมื่ออ่านพระคัมภีร์พึงหลีกเลี่ยงการตัดสินตนเองแรงเกินไป จดจ่ออยู่กับข้อที่ประยุกต์ใช้กับท่านได้มากที่สุดในฐานะผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระผู้เป็นเจ้า
-
อ่าน แอลมา 26 และค้นหาว่าแอมันทำอะไรเมื่อเขาท้อแท้ อ่าน หลักคำสอนและพันธสัญญา 127:2 และสังเกตว่าโจเซฟ สมิธป้องกันไม่ให้ตนเองท้อแท้อย่างไร อย่ากังวลกับความกังวลอันก่อให้เกิดวงจรอุบาทว์ได้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะมีวันรู้สึกท้อแท้ เครียด หรือโดดเดี่ยว ส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกเหล่านี้จะผ่านไป
-
จงเอาใจใส่การออกกำลังกายและการนอนหลับ การออกกำลังกายสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการความกลัวและความกังวล แม้ท่านไม่ชอบ แต่การออกกำลังกายจะช่วยให้ท่านรู้สึกดีขึ้นและริเริ่มสร้างสรรค์มากขึ้น เริ่มทีละนิดและค่อยๆ เพิ่มทีละหน่อย การเข้านอนเวลาเดิมทุกคืนและการนอนหลับให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
-
พูดคุยกับสมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือหัวหน้าเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ บอกความรู้สึกของท่านกับคนที่ห่วงใยท่าน ท่านจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเข้าใจว่ามีคนรู้จักและห่วงใยท่าน ท่านจะมีมุมมองใหม่ บุคคลนี้อาจฟังเฉยๆ หรืออาจมีข้อเสนอแนะที่ท่านลองทำได้
-
พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ความเศร้าเสียใจของท่านอยู่นานเกินสองสัปดาห์หรือไม่? มันรบกวนชีวิตท่านหรือไม่? ที่ปรึกษามืออาชีพมักจะช่วยได้ บางครั้งความเศร้าเสียใจเรื้อรังเกิดจากอาการของโรคบางอย่าง เช่น โรคไธรอยด์หรือโรคเบาหวาน โรคเหล่านี้ต้องให้แพทย์รักษา บางคราวยารักษาโรคซึมเศร้าจะช่วยให้ท่านรู้สึกดีขึ้น
-
ขอความช่วยเหลือถ้าท่านรู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ท่านสงสัยบ้างไหมว่าการมีชีวิตอยู่คุ้มค่าหรือไม่? ท่านมีความคิดจะทำร้ายตัวเองบ้างหรือไม่? บางครั้งท่านคิดหรือไม่ว่าท่านตายเสียดีกว่า? ความคิดแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ถ้าความคิดเหล่านี้ทำให้ท่านอารมณ์เสียหรือคิดอยู่นานหลายวัน อย่ารอ บอกความคิดเหล่านี้กับบางคนและขอความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าท่านเริ่มวางแผนจะจบชีวิตตนเอง
ค. การเอาชนะความรู้สึกตำหนิตนเอง
-
จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ท่านทำถูกต้องและไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น คนที่มีความคาดหวังในตัวเองสูงมากอาจจดจ่ออยู่กับความอ่อนแอและความล้มเหลวของตนมากเกินไป แทนที่จะปรับปรุง พวกเขากลับรู้สึกสิ้นหวัง เมื่ออ่านพระคัมภีร์ให้จดจ่ออยู่กับข้อที่ประยุกต์ใช้กับท่านได้มากที่สุด ท่านเป็นผู้รับใช้ที่รักของพระผู้เป็นเจ้า มองหาหลักฐานยืนยันความอดทน พระคุณ ความหวัง และพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงมอบพรเหล่านี้ให้คนที่รักพระองค์และปรารถนาจะรับใช้พระองค์
-
พูดบวกกับตัวท่านเอง ดู “การพูดแย้งความคิดลบ”
-
ตระหนักว่าท่านไม่สามารถทำทุกอย่างได้เกินค่าเฉลี่ย ท่านต้องขวนขวายปรับปรุง และท่านอาจจะเก่งมากบางอย่าง แต่ท่านไม่สามารถทำเกินค่าเฉลี่ยได้ทุกอย่าง นี่เป็นเพียงคณิตศาสตร์ ไม่ได้เป็นเหตุให้หวาดกลัว
-
ชมเชยตนเองมากขึ้น ชมเชยตนเองมากขึ้นเมื่อทำสิ่งที่ท่านทำได้ไม่ดีหรือไม่ค่อยชอบทำ จำไว้ว่าแม้จะทำได้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่ท่านก็ยังทำ เมื่อท่านทำสิ่งเหล่านี้เก่งขึ้น ท่านจะพบว่าท่านชอบทำ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นต้องใช้เวลาและการฝึกฝน การสนับสนุนและประสบการณ์
-
ฝึกสงบนิ่ง เพ่งความสนใจไปที่อื่นไม่ใช่ความคิดในจิตใจท่าน และฝึกสงบนิ่ง ยอมรับว่าท่านมีความคิดตำหนิตนเอง แต่ความคิดเหล่านี้ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของท่าน (ดู “การตอบสนองความเครียดในทางบวก” ด้วย)
-
ทำเป้าหมายหลักๆ ทีละหนึ่งหรือสองเป้าหมาย อย่าพยายามปรับปรุงหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตท่านพร้อมกัน เพราะมันจะถาโถมจนทำให้รู้สึกล้มเหลวได้
-
วางใจในพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์ ขีดจำกัดและความไม่ดีพอของเราไม่ใช่บาป สิ่งเหล่านี้มักจะไม่กีดกันเราไม่ให้สะอาดและมีค่าควรรับพระวิญญาณ พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อเราจะเข้มแข็งขึ้น ถูกยกขึ้น และได้รับการให้อภัย เดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดช่วยเราเอาชนะความอ่อนแอและบาป
-
จดสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจลงในสมุดบันทึกหรือสมุดวางแผน ท่านอาจจะบันทึก:
-
พระคัมภีร์ข้อโปรด
-
เป้าหมายที่ท่านต้องการทำให้สำเร็จ
-
เรื่องราวส่วนตัวหรือเรื่องราวครอบครัวเกี่ยวกับการกลับสู่สภาวะปกติหลังเกิดอุปสรรคหรือความยากลำบาก
-
-
ฟังพระวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ไม่คิดลบ ถ้าท่านกำลังมีความคิดดูถูก ความคิดเหล่านั้นไม่ได้มาจากพระเจ้า ความคิดเย้ยหยัน โกรธ ประชดประชัน หรือตำหนิ การพร่ำบ่น และการตั้งฉายาล้อเลียนผู้อื่นไม่ได้มาจากพระเจ้าเช่นกัน ถ้าท่านมีความคิดดังกล่าว พยายามจดให้หมด แล้วฉีกกระดาษที่จด หรือเขียนความคิดใหม่ทีละอย่างเพื่อบอกความคิดที่เป็นบวกและจริง เพิ่มข้อความตามจริงที่บอกด้วยความรักว่าพระเจ้าทรงรู้สึกอย่างไรกับท่าน พูดออกมาว่า “พระคริสต์ทรงเป็นพระผู้วิงวอนแทนฉัน พระองค์ทรงรักฉันและเชื่อใจฉันเสมอ”
-
ขอคำแนะนำที่ดี ขอให้หัวหน้าเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์และคนอื่นๆ ช่วยให้ท่านรู้ว่าท่านกำลังพยายามมากพอหรือไม่ ถามพวกเขาว่าท่านพยายามมากเกินไปหรือไม่ ยอมรับคำแนะนำของพวกเขา คนที่ชอบตำหนิตนเองหลายคนแยกแยะไม่ออกระหว่างการพยายามมากพอกับการพยายามมากเกินไป
ง. การเอาชนะความรู้สึกวิตกกังวลหรือไม่ดีพอ
-
สนุกกับการเป็นมือใหม่เมื่อท่านเริ่มทำสิ่งใหม่ เราไม่ได้คาดหวังให้ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญเมื่อกำลังเรียนรู้บางอย่าง แค่อยากรู้ สนใจ ถ่อมตน และยินดีพยายามก็พอแล้ว จงสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่!
-
ทำสิ่งที่ท่านทำได้อย่างร่าเริง และวางใจให้พระผู้เป็นเจ้าทรงชดเชยส่วนที่ขาด บางครั้งผู้สอนศาสนารู้สึกไร้ประโยชน์หรืออับอายเมื่อคนอื่นดูเหมือนจะประสบความสำเร็จมากกว่า ซาตานล่อลวงเราให้สงสัยตัวเองหรือเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่น จำไว้ว่านี่คืองานของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงเลือกคนอ่อนแอและต่ำต้อยให้ทำงานนี้ พระองค์ทรงเลือกท่าน! จงวางใจพระองค์ เพราะพระองค์ทรงวางใจท่าน
-
คิดถึงความสำเร็จ การกังวลกับสิ่งที่อาจผิดพลาดเป็นความล้มเหลวด้านหนึ่งของการฝึกจิต แทนที่จะกังวล ให้พยายามฝึกจิตจนเกิดผลดี อย่ากังวลกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น แต่จงวางแผนให้บรรลุความสำเร็จ ถ้าสถานการณ์ไม่ออกมาตามที่ท่านหวัง ให้สมมติว่าตัวท่านกำลังเรียนรู้จากอุปสรรค คิดว่าตัวท่านกำลังก้าวหน้าขึ้น
-
ดำเนินชีวิตตามค่านิยมของท่าน ท่านไม่ต้องขจัดความกังวลหรือความกลัว ท่านสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้เหมือนเดิม ท่านสามารถเลือกดำเนินชีวิตตามค่านิยมของท่านท่ามกลางความกังวลและความกลัว ท่านควบคุมทุกอย่างไม่ได้ แต่คิดหนึ่งอย่างหรือสองอย่างที่สามารถทำได้เพื่อดำเนินชีวิตตามค่านิยมของท่าน วางแผนว่าท่านจะรับใช้ผู้อื่นหรือแสดงความกล้าหาญอย่างไรในสถานการณ์ที่ทำให้ท่านกังวล
-
อย่าพยายามควบคุมสิ่งที่ท่านควบคุมไม่ได้ การพยายามควบคุมสิ่งที่ท่านควบคุมไม่ได้รังแต่จะทำให้ท่านรู้สึกควบคุมไม่ได้มากขึ้น และกังวลเพิ่มขึ้น ทุ่มเทพลังงานให้กับสิ่งที่ท่านทำบางอย่างได้
-
ถามว่า “อะไรคือสิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้?” บ่อยครั้งผู้คนพบว่าผลร้ายที่สุดที่พวกเขานึกภาพออกคือสิ่งที่พวกเขาอยู่กับมันได้ แล้วเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พระผู้ช่วยให้รอดทรงสามารถช่วยท่านเอาชนะได้ ท่านจะได้รู้สึกกลัวน้อยลง
-
พยายามช้าลงถ้าท่านมีแนวโน้มจะรีบมาก ถ้าใจเย็นลงแล้ว ท่านอาจจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความสุขมากขึ้นด้วย การช้าลงจะต้องฝึก ท่านจะต้องมีวิธีเตือนตนเองให้ช้าลง ติดข้อความไว้บนกระจกหรือผนัง ตั้งเตือนในโทรศัพท์ หรือสวดอ้อนวอนทุกเช้าขอให้ทรงช่วยท่านจดจำว่าต้องช้าลง ประเมินความก้าวหน้าของท่านหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์
-
อย่ากังวลกับความกังวล ความกังวลเป็นเรื่องปกติของทุกชีวิต การกังวลกับความกลัวของท่านจะไม่ช่วย ความกังวลไม่น่าอภิรมย์ แต่จะผ่านไป เมื่อท่านกังวล ให้นั่งเงียบๆ แล้วปล่อยให้ตัวท่านรู้สึกกลัว และไม่นานเกินรอความรู้สึกเหล่านี้จะลดลงเอง
-
อย่ากลัวอุปสรรคเมื่อท่านทำเรื่องยากๆ เพื่อให้ชีวิตมีความหมาย ท่านต้องเสี่ยงบ้าง บางครั้งท่านต้องทำโดยไม่ทราบว่าผลจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่ยากที่สุด แต่เรียนรู้ได้ผ่านการฝึกฝน อย่าปล่อยให้ความกลัวหยุดยั้งท่านไม่ให้ทำเรื่องยากๆ และพยายามอย่ามองอุปสรรคเป็นความล้มเหลว ความกลัวและอุปสรรคหมายความได้ว่าท่านกำลังทำเรื่องยากๆ และกล้าหาญ
-
เก็บบันทึกเรื่องราวต่างๆ จดจำ บันทึก และแบ่งปันเรื่องราว เรื่องราวเหล่านี้อาจมาจากชีวิตท่านหรือจากชีวิตคนที่ท่านชื่นชม และควรบอกว่าคนๆ นั้นไปต่ออย่างไรเมื่อเกิดเรื่องยากๆ หรือเรื่องน่ากลัว ควรบอกด้วยว่าท่านหรือคนอื่นๆ ตอบสนองอย่างไรต่ออุปสรรคหรือความกลัวในแบบที่ท่านชื่นชม คนเรามักทำสิ่งเล็กน้อยและเรียบง่ายเพื่อไปต่อหรือแสดงความกล้าหาญ
-
อ้าแขนรับความคลุมเครือ บางครั้งคนเราไม่ต้องการอยู่กับความคลุมเครือหรือความไม่แน่นอน พวกเขายอมล้มเหลวดีกว่าเสี่ยงโดยไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ วันนี้ท่านไม่รู้หรอกว่าท่านจะดำเนินชีวิตตามเป้าหมายและคุณค่าของท่านอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่านไม่รู้หรอกว่าจะประสบปัญหาอะไรบ้างในอนาคต แต่ท่านตัดสินใจตอนนี้ได้ว่าจะดำเนินชีวิตอย่างกล้าหาญ สำนึกคุณ เห็นใจ และอ่อนน้อมถ่อมตน ท่านสามารถดำเนินชีวิตสอดคล้องกับเป้าหมายและความฝันของท่านได้เลย นั่นคือทั้งหมดที่เราทุกคนทำได้และนั่นพอแล้ว พยายามหันเหความสนใจออกจากการล่อลวงให้สิ้นหวังและกังวล จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้
-
รับใช้ ขณะรับใช้ผู้อื่นท่านจะคิดถึงตัวเองน้อยลงและมีความสุขมากขึ้น
จ. การเอาชนะความรู้สึกหงุดหงิดง่ายหรือโกรธง่าย
-
ให้เวลาสมองข่มอารมณ์ของท่าน สมองของท่านสามารถคิดอย่างมีเหตุผลและตัดสินได้ดี ถ้าท่านโกรธหรือหงุดหงิด ให้เดินออกมาจากสถานการณ์นั้นสักสองสามนาที สูดลมหายใจลึกๆ และให้เวลาสมองใช้เหตุผลคิดหาคำอธิบายเรื่องต่างๆ ท่านอาจจะนับถึง 10 ออกกำลังกาย ออกไปข้างนอก หรือเลือกคิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ท่านอาจจะฟังเพลงเย็นๆ ตรึกตรอง หรือสวดอ้อนวอน
-
อย่ายุตัวเองให้โกรธ ท่านอาจจะเลือกมองว่าผู้อื่นกำลังข่มขู่ ไม่ยุติธรรม หรือไม่เคารพท่าน ถ้าอย่างนั้น ท่านอาจจะรู้สึกโกรธมากขึ้น แทนที่จะเป็นเช่นนั้น จงดูว่าท่านสามารถคิดหาคำอธิบายที่อารีอารอบมากขึ้นให้กับพฤติกรรมของพวกเขาได้หรือไม่ พวกเขาอาจจะเหนื่อย ไม่รู้ ไม่มั่นใจ หรือกำลังพยายามช่วยก็เป็นได้ จงเลือกที่จะไม่ยุให้โกรธ
-
พยายามเข้าใจผู้อื่น อยากรู้ว่าคนอื่นกำลังคิดและรู้สึกอย่างไร ถามคำถาม แล้วฟังพวกเขาอย่างใจเย็นและถ้วนถี่ บอกคนอื่นในสิ่งที่ท่านคิดว่าตนเองได้ยิน ถามว่าท่านเข้าใจถูกต้องไหม ถ้าไม่ ให้พยายามฟังอีกครั้ง
-
อย่ามีนิสัยชอบตำหนิผู้อื่นหรือตนเอง ถ้ามีอะไรผิดพลาด พยายามคิดให้ออกว่าปัญหาคืออะไร ขอให้คนอื่นช่วยแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความผิดของใครก็ตาม พยายามอย่าโทษคนที่ก่อปัญหา
-
จงยอมขอโทษและถามว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขให้ถูกต้อง การขอโทษเป็นสัญญาณของความเข้มแข็งทางวิญญาณ ไม่ใช่ความอ่อนแอ เมื่อท่านทำผิด ให้รับผิดชอบความผิดนั้น ถามว่าท่านจะทำให้ถูกต้องหรือหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคตได้อย่างไร เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
-
พร้อมจะหัวเราะกับตัวเองเวลาทำผิดพลาด การสามารถหัวเราะกับตัวเองได้จะช่วยให้ท่านเผชิญความคับข้องใจของชีวิตได้ดีขึ้น อารมณ์ขันที่ยกระดับจิตใจจะช่วยท่านปรับปรุงเจตคติ ความสัมพันธ์ และสุขภาพของท่าน แม้ไม่ควรหัวเราะตลอดเวลา แต่ทุกคนได้ประโยชน์จากการหัวเราะมากขึ้น เมื่อท่านเริ่มโกรธ ลองหัวเราะตัวเองและความโกรธของท่าน การหัวเราะตัวเองเป็นยารักษาความโกรธได้ดี!
-
รับใช้คนที่ท่านโกรธ นำคำแนะนำของพระผู้ช่วยให้รอดให้ “รักศัตรู” มาใช้ พระองค์ตรัสว่า “จงรักศัตรูของเจ้า, จงอวยพรคนที่สาปแช่งเจ้า, จงทำดีต่อคนที่เกลียดเจ้า, และสวดอ้อนวอนให้คนที่ใช้เจ้าอย่างดูหมิ่นและข่มเหงเจ้า” (3 นีไฟ 12:44) ท่านจะรับใช้หรือสวดอ้อนวอนให้คนที่ท่านโกรธได้อย่างไร?
-
ดูแลตัวท่านให้ดี พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกาย และสวดอ้อนวอน การทำสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ท่านมีแหล่งช่วยจัดการกับความคับข้องใจ
-
แต่งเรื่องใหม่ คิดหาคำอธิบายให้ใจกว้างที่สุดว่าทำไมคนอื่นทำตัวแบบนั้น จดไว้
-
ให้อภัย ศึกษา มัทธิว 18:23–35 ดูวีดิทัศน์เรื่อง “Forgive Every One Their Trespasses: The Parable of the Unmerciful Servant” ถ้ามี (ChurchofJesusChrist.org) คิดดูว่าจะประยุกต์ใช้ข่าวสารของอุปมากับตัวท่านอย่างไร
6:6
ฉ. การเอาชนะความรู้สึกขาดแรงจูงใจ
-
จดจ่ออยู่กับข้อดีของท่าน ท่านนำคุณค่า พรสวรรค์ ประสบการณ์ และของประทานอะไรมารับใช้บ้าง? เขียนวิธีที่ท่านจะใช้ข้อดีหนึ่งอย่างของท่านอย่างสร้างสรรค์สัปดาห์นี้ ถ้าท่านมองไม่เห็นข้อดีของตนเอง ให้ขอคนอื่นช่วย
-
ทำทีละอย่าง เขียนสิ่งที่ท่านต้องทำ แล้วจัดลงไปในปฏิทินของท่าน เตือนสติตนเองว่า “ทั้งหมดที่ฉันต้องทำตอนนี้คือ ”
-
ทำให้มันสนุก! ตั้งเป้าหมายที่น่าสนใจเพื่อช่วยท่านกับการรับใช้เป็นผู้สอนศาสนา ทำเกมจากการบรรลุเป้าหมายของท่าน! จงสร้างสรรค์ และยินดีกับความสำเร็จของตัวท่านเอง
-
อย่าตั้งเป้าหมายส่วนตัวพร้อมกันหลายข้อมากจนท่านทำไม่ไหว ตั้งเป้าหมายทีละหนึ่งหรือสองข้อ (เช่น ร่าเริงมากขึ้นหรือสกปรกน้อยลง) อย่าคาดหวังความสมบูรณ์แบบ มีแผนด้วยว่าท่านจะกลับมาสู่เป้าหมายได้อย่างไรเมื่อท่านมีวันแย่ๆ เตือนสติตนเองบ่อยๆ ว่าทำไมท่านต้องการเปลี่ยนแปลง
-
บอกเป้าหมายของท่านกับพ่อแม่หรือผู้นำ พวกเขาจะสนับสนุนท่านและเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์
-
ตระหนักว่าแรงจูงใจเกิดหลังจากลงมือทำ การเริ่มต้นมักเป็นส่วนที่ยากที่สุด บอกตัวท่านเองว่า “ลองทำสัก 10 นาที” แล้วเริ่มทำ บ่อยครั้งท่านจะรู้สึกมีแรงจูงใจมากขึ้น
ช. การจัดการความรู้สึกทางเพศหรือความรู้สึกรักใคร่
-
ฝึกเอาชนะใจตนเอง ความนึกคิดและความรู้สึกทางเพศหรือความรู้สึกรักใคร่เป็นเรื่องปกติที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้ แต่เราต้องควบคุมความนึกคิด ความสัมพันธ์ และพฤติกรรมให้เหมาะสม ถ้าท่านทำเช่นนี้เมื่อเป็นผู้สอนศาสนา ท่านจะมีความเข้มแข็งมากขึ้นและได้รับพรมากมาย ศึกษา 1 โครินธ์ 9:24–27; โมไซยาห์ 3:19; แอลมา 38:12; และ หลักคำสอนและพันธสัญญา 121:45 ร่วมกับการสวดอ้อนวอน ค้นดูคำว่า “คุณธรรม” และ “ความบริสุทธิ์ทางเพศ” ในคู่มือพระคัมภีร์ (scriptures.ChurchofJesusChrist.org) เขียนพรและข้อได้เปรียบที่จะมาถึงท่านเมื่อท่านพัฒนาคุณลักษณะเหล่านี้
-
คิดอย่างอื่นแทน พยายามอย่าหมกมุ่นกับความคิดและความรู้สึกทางเพศหรือความรู้สึกรักใคร่ หันเหความสนใจไปทำสิ่งอื่น พยายามผ่อนคลาย ร้องเพลงสวด ท่องจำพระคัมภีร์และท่องออกเสียง จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ท่านรู้สึกขอบคุณ คิดเกี่ยวกับแผนสำหรับวันนั้น ออกกำลังกาย ตั้งใจทำงานของท่านอีกครั้ง สนุกสนานและสร้างสรรค์
-
หลีกเลี่ยงการล่อลวง หลีกเลี่ยงสถานที่ สถานการณ์ การสนทนา หรือคนที่ก่อให้เกิดการล่อลวง ถ้าท่านเห็นภาพหรือมีความคิดอนาจาร อย่ามัวแต่คิดเรื่องนั้น เปลี่ยนช่องความคิดไปคิดเรื่องอื่น ออกจากสถานการณ์นั้นทันทีที่ทำได้
-
ดำเนินต่อไปในความหวังและศรัทธา ถ้าท่านจัดการความรู้สึกทางเพศอย่างเหมาะสมไม่ได้ พระผู้เป็นเจ้ายังคงรักท่าน อย่าทิ้งความสัมพันธ์กับพระองค์เพราะท่านรู้สึกไม่มีค่าควร แม้จะจัดการความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้ แต่พระองค์จะไม่ทรงปฏิเสธท่าน พระองค์เข้าพระทัยสิ่งที่ท่านประสบอยู่ ทรงเห็นค่าความพยายามของท่านเพื่อต่อต้านการล่อลวง เรียนรู้จากความผิดพลาด และกลับใจ ขอคำแนะนำจากหัวหน้าเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ และพยายามเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ต่อไป
-
อย่าปล่อยให้หิว โดดเดี่ยว เหนื่อย เบื่อ หรือเครียดจนเกินไป ทั้งหมดนี้จะทำให้ต่อต้านการล่อลวงได้ยากขึ้น กินขนม พักสักครู่จากสิ่งที่ท่านทำอยู่ หรือทำอย่างอื่นสักพัก มีการสนทนาที่ดี หรือฝึกผ่อนคลายทีละส่วน (ดู การฝึกผ่อนคลายทีละส่วน)
-
รักษาตัวให้ปลอดภัย เข้าใจกฎเกณฑ์และแนวทางการเข้าสังคมกับผู้อื่นที่ประยุกต์ใช้กับท่านได้ ถ้ารู้สึกว่าตัวท่านเสน่หาบางคนทางเพศ ให้ติดต่ออธิการหรือประธานสเตคและขอคำแนะนำจากเขา
-
อดอาหารและสวดอ้อนวอนขอความเข้าใจและความเข้มแข็ง เมื่ออดอาหารท่านไม่สนใจความหิวอาหารที่เกิดขึ้นตามปกติและดีต่อสุขภาพ ท่านอดอาหารช่วงเวลาหนึ่งเพื่อแสวงหาความเข้มแข็งทางวิญญาณ การอดอาหารจะพัฒนาทักษะ เช่น การควบคุมตนเองและความรู้สึกไวต่อพระวิญญาณ (ดู อิสยาห์ 58:6) และจะทำให้ท่านเห็นใจคนหิวโหย ทักษะเดียวกันนี้จะช่วยท่านควบคุมความรู้สึกทางเพศหรือความรู้สึกรักใคร่ได้อย่างถูกวิธีขณะเป็นผู้สอนศาสนา การอดอาหารจะไม่ขจัดความรู้สึกทางเพศ แต่การอดอาหารทุกเดือนจะช่วยให้ท่านมีความเข้มแข็งและรู้ตัว จะจูงใจท่านให้จัดการความรู้สึกเหล่านี้อย่างเหมาะสม
ซ. การจัดการการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่าน
-
รู้จักตนเอง การเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านยากสำหรับบางคนมากกว่าคนอื่น ถ้าการเปลี่ยนแปลงยากเป็นพิเศษสำหรับท่าน จงให้คนอื่นรู้ว่าพวกเขาจะช่วยได้อย่างไร
-
ลองนึกถึงการเปลี่ยนผ่านที่ท่านเคยประสบ ท่านเรียนรู้อะไร? อะไรช่วยท่านรับมือกับครั้งอื่นๆ ที่ผ่านมา? รับรู้ความสำเร็จและความสามารถของท่าน ความสำเร็จหรือความสามารถใดจะช่วยได้ตอนนี้? ท่านจะลองทำอะไรได้อีกบ้าง?
-
จดเหตุผล จดสิ่งที่ท่านรู้ว่าเหตุใดการเปลี่ยนแปลงนี้จึงจำเป็น ย้อนกลับไปดูสิ่งที่จดไว้บ่อยๆ การเข้าใจเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงอาจช่วยให้ท่านรู้สึกคับข้องใจน้อยลง
-
จดจำสิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยน ทำรายการสิ่งที่เปลี่ยนแล้วและสิ่งที่ไม่ได้เปลี่ยน พยายามทำรายการที่สองให้ยาวเท่าที่จะยาวได้
-
ทำแผน สร้างแผนการช่วยตัวท่านจัดการการเปลี่ยนแปลง จดขั้นตอนของแผน พูดคุยกับคนอื่นๆ ที่รู้จักท่านดีด้วย พวกเขาสามารถสนับสนุนท่านได้ขณะท่านลงมือทำตามแผน
-
คิดหาวิธีทำให้รู้สึกใจเย็นลง ทำรายการสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อรู้สึกใจเย็นลง อ่านทวนสิ่งเหล่านี้ก่อน ระหว่าง และหลังการเปลี่ยนแปลง
-
ทำทีละขั้น เมื่อท่านกำลังประสบการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ จำไว้ว่าท่านไม่จำเป็นต้องคิดทุกอย่างออกทันที เรื่องแรกที่ต้องตัดสินใจคืออะไร? อะไรน่าจะเป็นขั้นแรก? ขั้นต่อไปคืออะไร?