ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์
4. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวทางสังคม


“4. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวทางสังคม” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์: หนังสืออ่านประกอบ (2020)

“4. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวทางสังคม” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์

ผู้สอนศาสนาสวมเสื้อกั๊กร่วมมือร่วมใจ

4. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวทางสังคม

ความสัมพันธ์สามารถเป็นบ่อเกิดของความเครียดและเป็นแหล่งช่วยรับมือกับความเครียดได้เช่นกัน งานวิจัยแสดงว่าความสัมพันธ์ที่ดีมีประโยชน์ชั่วชีวิต ความสัมพันธ์เช่นนั้นเชื่อมโยงกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เมื่อเราเครียดมากเกินไป ความสัมพันธ์จะแย่ ลองพิจารณาคำแนะนำต่อไปนี้สำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ดูแนวคิดเพิ่มเติมในหมวด “1 การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด” ด้วย

ก. การสื่อสารกับคนอื่นๆ

  • ค้นหาและใช้จุดแข็งของท่านขณะรับใช้ ท่านมีจุดแข็งที่สามารถช่วยให้ท่านเป็นผู้สอนศาสนาที่มีประสิทธิภาพ จงแสวงหาการดลใจเพื่อช่วยให้ท่านเข้าใจจุดแข็งของท่าน พระเจ้าจะทรงช่วยท่านใช้จุดแข็งเหล่านี้ในการรับใช้พระองค์ ตัวอย่างเช่น บางคนพบว่าการพูดคุยกับคนอื่นๆ ทำให้เกิดพลัง บางคนพบว่าทำให้เหนื่อย แต่คนทั้งสองแบบสามารถเป็นผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์ที่มีประสิทธิภาพได้ ถ้าการพูดคุยกับคนใหม่ๆ ทำให้ท่านเหนื่อยมาก จงค่อยเป็นค่อยไป เป็นเพื่อนที่ดีกับคนที่ท่านรู้จักดี จุดแข็งของท่านอาจได้แก่ความคิดที่สร้างสรรค์ของท่าน ความเข้าใจผู้คนอย่างลึกซึ้ง หรือความสามารถในการวางแผน

  • จงอยากรู้จักคนอื่นๆ เรียนรู้คำถามที่ท่านสามารถใช้กระตุ้นให้ผู้อื่นพูด ถามพวกเขาเรื่องหน้าที่การงาน งานอดิเรก ครอบครัว หรือประวัติส่วนตัว ถามว่าอะไรสำคัญต่อพวกเขามากที่สุดและพวกเขาอยากได้อะไรหรือกังวลเรื่องใด ฟังเพื่อหาโอกาสเป็นพยานถึงหลักธรรมพระกิตติคุณที่จะเกี่ยวข้องกับพวกเขา พยายามแสดงความสนใจผู้อื่น นี่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่หมายถึงการรักเพื่อนบ้านของเรา จงยินดีตอบคำถามของพวกเขาเกี่ยวกับตัวท่านด้วย

  • ตั้งเป้าหมายทำความรู้จักคนใหม่วันละคนทุกวัน เรียกชื่อคนนั้นในนาทีแรกหลังจากท่านพบเขา เรียกชื่ออีกครั้งเมื่อท่านจบการสนทนา จดชื่อเพื่อช่วยให้ท่านจำได้

  • จดจ่ออยู่กับการช่วยเหลือผู้อื่น หันมาสนใจความต้องการของผู้อื่น ขณะทำเช่นนั้นท่านจะนึกถึงความต้องการหรือความไม่ดีพอของตนเองน้อยลง (ดู โมไซยาห์ 2:17)

  • ขอความช่วยเหลือในการเข้าใจผู้อื่น ใช่ว่าทุกคนจะเข้าใจสีหน้าท่าทางของผู้อื่นได้ดี ถ้าท่านสังเกตไม่ออกว่าผู้อื่นกำลังรู้สึกอย่างไร ขอให้บางคนช่วยบอกท่าน

    ผู้ชายกับผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์จับมือทักทายกัน
  • อนุญาตให้ตัวท่านแสดงความมั่นใจแม้ท่านจะรู้สึกไม่มั่นใจ เมื่อประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์เป็นผู้สอนศาสนา คุณพ่อของท่านบอกท่านให้ “ลืมตนเองและไปทำงาน” (ใน “Taking the Gospel to Britain,” Ensign, July 1987, 7) คำแนะนำนี้เป็นประโยชน์กับผู้สอนศาสนาทุกคน พยายามอย่ากลัวว่าท่านจะเป็นอย่างไร แต่จดจ่ออยู่กับการเรียกให้รับใช้คนอื่นๆ

ข. การหลีกเลี่ยงความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่เป็นส่วนหนึ่ง

  • ถามคำถามเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่น ถามผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์และความรู้สึกของพวกเขาเพื่อท่านจะเข้าใจพวกเขามากขึ้น เมื่อเข้าใจผู้อื่นแล้ว ท่านจะรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง

  • แบ่งปันมากขึ้น แบ่งปันความคิดและความรู้สึกของท่านกับคนอื่นๆ เรารู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อเรารู้สึกว่าคนอื่นไม่รู้จักและไม่เห็นค่าของเรา

  • นิยามว่า “รู้สึกโดดเดี่ยว” มีความหมายกับท่านอย่างไร พยายามกำหนดว่าความรู้สึก ความนึกคิด และพฤติกรรมอะไรทำให้ท่านรู้สึกโดดเดี่ยว แล้วพยายามแก้ไขสิ่งเหล่านี้

  • พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่ห่วงใย ให้ผู้ใหญ่เหล่านี้รู้ว่าท่านรู้สึกอย่างไร พวกเขาอาจมีข้อเสนอแนะให้ท่านทำสิ่งที่ทำได้เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกโดดเดี่ยว

    ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์ใช้แม่แรง

ค. การจัดการข้อขัดแย้งหรือคำวิพากษ์วิจารณ์

  • อธิบายด้วยความเคารพว่าอะไรรบกวนใจท่าน ถ้าพฤติกรรมของคนบางคนรบกวนใจท่าน ให้บอกคนนั้นด้วยความเคารพ อธิบายว่าท่านอยากให้เปลี่ยนอะไรบ้าง แต่ไม่วิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของผู้อื่น ถ้าท่านวิพากษ์วิจารณ์หรือโกรธ ผู้อื่นอาจต่อต้านและให้ความร่วมมือน้อยลง ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะพูดว่า “ฉันไม่ชอบให้ทิ้งขยะไว้ในห้องพัก แต่ก็ไม่ชอบทำความสะอาดด้วย ฉันสงสัยว่าเราจะเตือนทุกคนให้เอาขยะของตัวเองไปทิ้งได้ยังไง” หรือ “ฉันเป็นห่วงว่าคุณจะโกรธฉันตอนคุณเงียบๆ พอจะบอกได้มั้ยว่าคุณคิดอะไรอยู่?”

  • ขอความคิดเห็น ขอข้อเสนอแนะจากคนอื่นๆ ว่าท่านจะเอาชนะความอ่อนแอของตนเองได้อย่างไร ทูลขอพระเจ้าให้ทรงช่วยท่านเข้าใจความอ่อนแอของท่านด้วย (ดู อีเธอร์ 12:27)

  • มีเมตตาต่อผู้อื่น เมื่อนึกถึงผู้อื่นให้หลีกเลี่ยงคำตัดสินแง่ลบเกี่ยวกับพวกเขาหรือตั้งฉายาในด้านลบให้พวกเขา อย่าพยายามทำให้ตัวท่านรู้สึกดีขึ้นด้วยการนึกถึงความผิดของผู้อื่น

  • จดจ่ออยู่กับการแก้ปัญหา ไม่ใช่คน เมื่อมีคนทำสิ่งที่รบกวนใจท่าน ให้จดจ่ออยู่กับการค้นหาและแก้ไขปัญหาที่ซ่อนอยู่ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์หรือพยายามแก้ไขพวกเขา เวลาคุยกับคนนั้น พยายามใช้น้ำเสียงที่ไม่แสดงว่าโกรธหรือทำตัวให้น่าสงสาร (ดู เอเฟซัส 4:29–32)

  • อย่าขุ่นเคือง รับข้อเสนอแนะจากคนอื่นด้วยความสุภาพและอารมณ์ขันให้มากเท่าที่จะมากได้ ทำเช่นนี้แม้บางคนหยาบคาย ถ้าท่านรู้สึกว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์ท่าน ให้พูดว่า “ขอบคุณที่บอก ฉันจะพยายามแก้ไข”

  • ชมเชยและรับใช้คนอื่นบ่อยๆ ขอบคุณคนอื่นสำหรับสิ่งที่ท่านชื่นชมและชี้ให้เห็นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดี มองหาวิธีรับใช้และช่วยเหลือคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ ทุกวัน

  • สวดอ้อนวอนขอของประทานแห่งจิตกุศล สวดอ้อนวอน “จนสุดพลังของใจ” (โมโรไน 7:48) ขอให้มีตามองเห็นผู้อื่นเฉกเช่นพระผู้เป็นเจ้าทรงมองเห็นพวกเขา รวมคนที่ไม่ยอมรับท่านและทำร้ายท่านไว้ในคำสวดอ้อนวอนของท่านด้วย (ดู 3 นีไฟ 12:44)

ผู้สอนศาสนาพูดคุยกับผู้นำศาสนจักร

ง. การเข้ากับผู้นำได้ดี

  • จงอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นส่วนสำคัญของการเป็นคนสอนได้และยอมปรับปรุงแก้ไข (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 112:10) ขอข้อเสนอแนะจากผู้นำว่าท่านจะปรับปรุงแก้ไขได้อย่างไร ยอมรับคำแนะนำจากพวกเขา และให้พวกเขารู้ว่าพวกเขาเชื่อใจท่านได้ พูดหรือเขียนขอบคุณผู้นำสำหรับการรับใช้ของพวกเขา

  • พยายามเป็นผู้ตามที่ดี บางคนไม่ไว้ใจผู้มีอำนาจหรือไม่อยากรับคำแนะนำ พวกเขาอาจเคยเป็นเจ้านายของตัวเอง คนอื่นอาจรู้สึกชิงดีชิงเด่นกับผู้ร่วมงาน ให้ผู้นำรู้ว่าท่านมีความท้าทายเหล่านี้หรือไม่ สวดอ้อนวอนขอให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อเป็นผู้ตามที่ดี

  • สวดอ้อนวอนให้ผู้นำทุกคนของท่าน สวดอ้อนวอนให้ผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำที่ท่านมีความรู้สึกไม่ดีต่อพวกเขา

  • ตระหนักว่าผู้นำเป็นมนุษย์ บางครั้งเราคิดว่าผู้นำน่าจะดีกว่าคนอื่นมาก ถ้าคิดอย่างนั้นเราอาจผิดหวังและวิพากษ์วิจารณ์เมื่อพวกเขาทำผิดพลาด ผู้นำอาจใจร้อน วิจารณญาณไม่ดี และเข้าใจเราผิดได้ ถ้าท่านเห็นความบกพร่อง ให้มองหาคุณลักษณะที่ดีด้วย (ดู มอรมอน 9:31)

  • เรียนรู้จากจุดแข็งของผู้นำของท่าน ทำรายการคุณสมบัติของผู้นำที่ท่านต้องการเลียนแบบเมื่อถึงคราวท่านนำ

ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์กำลังช่วยเจ้าหน้าที่ที่คลังของอธิการ

จ. การช่วยให้คนอื่นเข้าใจงานมอบหมายการเผยแผ่ของท่าน

  • อธิบายว่างานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์คืออะไร สมาชิกศาสนจักรบางคนอาจไม่เข้าใจว่างานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์คืออะไร ท่านอาจจะพูดว่า “ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์รับใช้ที่อาคารศาสนจักรหรือสถานที่ชุมชนสูงสุด 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พวกเขามีกฎคณะเผยแผ่และแนวทางแตกต่างจากผู้สอนศาสนาด้านเผยแผ่ศาสนา ตัวอย่างเช่น ฉันจะอาศัยอยู่ที่บ้าน ฉันจะรับใช้ที่ สัปดาห์ละ ชั่วโมง ฉันสามารถเข้าร่วมวอร์ดหนุ่มสาวโสดและกิจกรรมวอร์ดในเวลาว่างได้”

  • อธิบายว่าท่านได้รับการเรียกให้เป็นตัวแทนพระเยซูคริสต์และศาสนจักรของพระองค์ การเรียกนี้เหมือนกันสำหรับผู้สอนศาสนาทุกคนและไม่เปลี่ยนเมื่องานมอบหมายเปลี่ยน แต่งานมอบหมาย ชั่วโมง หรือเวลารับใช้ของท่านอาจเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น ท่านอาจถูกปรับเปลี่ยนงานมอบหมายให้มาทำงานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์เพราะปัญหาสุขภาพ ท่านบอกได้ว่า “ผมยังเป็นผู้สอนศาสนา แต่ถูกปรับเปลี่ยนงานมอบหมายให้ไปคณะเผยแผ่ใหม่ที่ตอนนี้ผมจะจดจ่ออยู่กับการรับใช้ของผมได้”

  • ให้คนรู้ว่าท่านอยากได้และต้องการอะไร ท่านอาจจะเพิ่งเริ่มงานเผยแผ่ด้านบำเพ็ญประโยชน์ ท่านอาจจะเชิญชวนสมาชิกวอร์ดมาเรียนรู้สิ่งที่ท่านทำอยู่ ขอให้พวกเขาสนับสนุน ถ้ามีการปรับเปลี่ยนงานมอบหมายของท่าน ท่านอาจจะขอเวลาสักสองสามนาทีในการประชุมสมาคมสงเคราะห์หรือการประชุมโควรัมเอ็ลเดอร์ อธิบายการเปลี่ยนงานมอบหมายของท่านให้สมาชิกฟังและขอการสนับสนุน ถ้าท่านใกล้จบงานเผยแผ่ ท่านอาจจะขอให้คนอื่นช่วย ขอให้ช่วยเรื่องการหางานหรือการเข้าเรียนในสถานศึกษาขณะท่านอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน