ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์
6. การพัฒนาความสามารถในการปรับความรู้สึกทางวิญญาณ


“6. การพัฒนาความสามารถในการปรับความรู้สึกทางวิญญาณ” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์: หนังสืออ่านประกอบ (2020)

“6. การพัฒนาความสามารถในการปรับความรู้สึกทางวิญญาณ” การปรับตัวให้เข้ากับชีวิตผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์

ผู้สอนศาสนากำลังสวดอ้อนวอน

6. การพัฒนาความสามารถในการปรับความรู้สึกทางวิญญาณ

บางครั้งผู้สอนศาสนาตอบสนองต่อความเครียดที่มากเกินไปโดยสงสัยความจริงของพระกิตติคุณ ผู้สอนศาสนามักตอบสนองวิธีนี้เพราะพวกเขาขาดแหล่งช่วยจัดการกับความเครียดที่มากเกินไป ถ้าท่านรู้สึกแบบนี้ ให้ลองทำข้อเสนอแนะด้านล่าง เลือกข้อเสนอแนะที่น่าจะเหมาะกับท่าน ดูแนวคิดเพิ่มเติมในหมวด “1 การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด

ก. การทำให้ประจักษ์พยานของท่านเข้มแข็ง

  • ตระหนักว่าคำถามมีประโยชน์ ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธได้รับการเปิดเผยมากมายเพื่อตอบคำถามที่สุจริตใจของท่าน การมีคำถามเกี่ยวกับพระกิตติคุณเป็นเรื่องดี ขณะท่านพยายามหาคำตอบ จำไว้ว่าพระคัมภีร์ ศาสดาพยากรณ์ ครู และความสามารถในการให้เหตุผลของท่านเองจะช่วยได้ แต่พระวิญญาณเท่านั้นสามารถยืนยันความจริง พระวิญญาณทรงบอกเราว่าพระเยซูคือพระคริสต์และศาสนจักรเป็นความจริง

  • เข้าใจว่าศรัทธาคืออะไร การมีศรัทธาคือการวางใจพระคุณความดี ความรัก พระปรีชาญาณ และความยุติธรรมอันสมบูรณ์ของพระผู้เป็นเจ้า คือการวางใจแม้เมื่อเราไม่เข้าใจถ่องแท้ แอลมาสอนว่า “ศรัทธาไม่ใช่การมีความรู้อันสมบูรณ์ของสิ่งต่างๆ; ฉะนั้นหากท่านมีศรัทธาท่านย่อมหวังในสิ่งที่ไม่เห็น, ซึ่งจริง” (แอลมา 32:21) ท่านไม่ต้องมี “ความรู้อันสมบูรณ์” จึงจะมีศรัทธา ศึกษา แอลมา 32 เพื่อช่วยสร้างศรัทธาของท่าน

  • มีศรัทธาเมื่อดูเหมือนจะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ ท่านอาจรู้สึกกังวลกับสภาพการณ์หรือผลลัพธ์บางอย่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ให้ฝึกสงบนิ่งและจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน (ดู “1. การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวขณะเกิดความเครียด”) สังเกตอารมณ์ที่ท่านมีเมื่อท่านรู้สึกควบคุมไม่ได้ ถึงแม้ความรู้สึกเหล่านี้จะทำให้ไม่สบายใจ แต่ไม่สามารถทำร้ายท่านได้ เมื่อเวลาผ่านไปท่านจะเรียนรู้ว่าต้องมีศรัทธามากขึ้นเรื่อยๆ ท่านสามารถมีศรัทธาในการเผชิญความไม่แน่นอนและความท้าทาย

  • รักษาพระบัญญัติ เราเกิดความไว้วางใจในพระเจ้าเมื่อเราเรียนรู้คุณค่าคำสอนของพระองค์ เพื่อเกิดความไว้วางใจนี้เราต้องทำตามพระประสงค์ของพระองค์ “ถ้าใครตั้งใจประพฤติตามพระประสงค์ของพระองค์ คนนั้นก็จะรู้ว่าคำสอนนี้มาจากพระเจ้า หรือว่าเราพูดตามใจชอบเอง” (ยอห์น 7:17)

  • จงอดทน เวลาและประสบการณ์จะช่วยให้ท่านเข้าใจบางอย่างที่สับสนตอนนี้ จงจดจำคำสอนของนีไฟ: “ข้าพเจ้ารู้ว่า [พระผู้เป็นเจ้า] ทรงรักลูกๆ ของพระองค์; กระนั้นก็ตาม, ข้าพเจ้าไม่รู้ความหมายของเรื่องทั้งหมด” (1 นีไฟ 11:17) ต่อยอดจากสิ่งที่ท่านรู้โดยพระวิญญาณว่าเป็นความจริงเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า

ข. การเรียนรู้ที่จะกลับใจ

การกลับใจเกี่ยวข้องกับการทำให้ความประสงค์ของเราสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระผู้ช่วยให้รอด หลักธรรมต่อไปนี้จะช่วยท่านขณะท่านพยายามกลับใจ

  • จงซื่อสัตย์กับประธานสเตคของท่าน ถ้าท่านมีบาปร้ายแรงที่ยังไม่ได้แก้ไข ให้พูดคุยกับประธานสเตค จงเปิดใจและพูดความจริง พระองค์จะทรงช่วยท่านทำสิ่งเหล่านี้ให้ถูกต้อง

  • ให้อภัยตนเองหลังจากกลับใจ บางครั้งคนเราจะยังรู้สึกผิดและอายหลังจากกลับใจ จำไว้ว่าเราทุกคนเสียใจกับบาปและความผิดพลาดในอดีต จงวางใจว่าการชดใช้ของพระคริสต์เพียงพอสำหรับท่านด้วย จำไว้ว่าการกลับใจไม่ใช่แค่แผนสำรอง การกลับใจคือแผนแห่งความสุขสำหรับทุกคน

  • จดจ่ออยู่กับสิ่งสำคัญจริงๆ ทำสุดความสามารถเพื่อกลับใจทุกวัน แล้วแน่ใจว่าสิ่งที่ท่านกังวลคือสิ่งที่สำคัญจริงๆ ตัวอย่างอาจได้แก่การรับใช้ด้วยความรัก อย่ากังวลเรื่องความจองหองส่วนตัว เช่น คนอื่นจะคิดอย่างไรกับท่าน

  • เข้าใจบทบาทของการสารภาพ ท่านไม่จำเป็นต้องสารภาพบาปที่ไม่ร้ายแรงหรือสารภาพบาปเดิมซ้ำๆ ผู้นำฐานะปุโรหิตจะบอกท่านว่าเมื่อใดท่านสารภาพพอแล้ว การที่ยังรู้สึกเสียใจและเศร้าใจกับบาปในอดีตเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านต้องสารภาพบาปเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีก เบนความสนใจจากความคิดเช่นนั้นด้วยการทำกิจกรรมอื่นๆ จงตั้งใจเลือกเชื่อในการให้อภัยของพระเจ้า อย่าสนใจการล่อลวงให้วิตกกังวลหรือละอายใจ

  • พูดคุยกับประธานสเตคหรืออธิการถ้าท่านยังมีปัญหาเหมือนเดิม

ค. การเรียนรู้ที่จะสวดอ้อนวอนด้วยเจตนาแท้จริง

  • พยายามสวดอ้อนวอนออกเสียงแม้จะแค่กระซิบก็ตาม พยายามเตรียมตัวสวดอ้อนวอนโดยเขียนคำถามหรือข้อกังวลของท่าน นึกภาพว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงอยู่ใกล้ ทูลถามว่าวันนี้ท่านจะทำอะไรเพื่อพระองค์ได้บ้าง แล้วทำตามความคิดที่เข้ามาในจิตใจท่าน บางครั้งให้ใช้คำสวดอ้อนวอนขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ขอบพระทัยสำหรับสิ่งดีๆ มากมายที่พระองค์ประทานแก่ท่าน

    ผู้สอนศาสนาบำเพ็ญประโยชน์กำลังสวดอ้อนวอน

ง. การเรียนรู้ที่จะรักพระคัมภีร์

  • สวดอ้อนวอนโดยเจาะจงขอความช่วยเหลือในการเข้าใจและชื่นชอบพระคัมภีร์ ใช้เวลาศึกษาบางส่วนเขียนความรู้สึกของท่านเกี่ยวกับพระคัมภีร์และปฏิกิริยาของท่านต่อพระคัมภีร์ เขียนสิ่งที่ท่านเรียนรู้หรือความประทับใจทางวิญญาณที่ได้รับ

จ. การเรียนรู้ที่จะพึ่งพาพระวิญญาณ

  • ฝึกฝนด้วยความอดทน การฝึกรับรู้สุรเสียงของพระวิญญาณเหมือนกับการฝึกภาษามาก ต้องใช้การฝึกฝน ความอดทน และความอ่อนน้อมถ่อมตน พยายามเรียนรู้จากความผิดพลาดโดยไม่ยอมแพ้

  • เรียนรู้จากการประชุมใหญ่สามัญ ศึกษาคำปราศรัยการประชุมใหญ่สามัญเพื่อทราบแนวคิดเกี่ยวกับวิธีได้รับการเปิดเผยส่วนตัว