“โมไซยาห์ 21–24, ตอนที่ 1: ค้นหาพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับการทดลองและความทุกข์ของเรา” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)
“โมไซยาห์ 21–24, ตอนที่ 1” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู
โมไซยาห์ 21–24, ตอนที่ 1
ค้นหาพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับการทดลองและความทุกข์ของเรา
ท่านจะอธิบายกับผู้อื่นอย่างไรว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงทรงให้เราประสบกับการทดลองและความทุกข์? โมไซยาห์ 21–24 อธิบายประสบการณ์ของผู้คนของลิมไฮและผู้คนของแอลมา ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ต่างเผชิญกับความท้าทายที่ยากลำบาก บทเรียนนี้มีเจตนาจะช่วยให้ท่านวางใจในพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์มากขึ้นเมื่อท่านเผชิญการทดลองและความทุกข์ในชีวิต
แบกภาระ
จินตนาการว่าการทดลอง ภาระ และความทุกข์ของท่านหมายถึงก้อนหินในกระเป๋าหรือกระเป๋าเป้ที่ท่านต้องแบก
-
การทดลองหรือภาระที่วัยรุ่นอาจพบซึ่งอาจรู้สึกเหมือนก้อนหินหนักๆ ในกระเป๋าเป้มีอะไรบ้าง?
-
ผู้คนอาจมีคำถามอะไรเกี่ยวกับภาระที่พวกเขาแบกรับ?
ใช้เวลาสักครู่นึกถึงการทดลองและภาระที่ท่านกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้หรือในชีวิตท่าน ท่านอาจทำรายการคำถามเหล่านี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษา ท่านอาจต้องการเขียนคำถาม ข้อกังวล หรือความปรารถนาที่เกี่ยวข้องกับการทดลองและภาระของท่าน
ขณะที่ท่านศึกษาวันนี้ ให้มองหาความจริงที่จะช่วยให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงทรงให้ท่านประสบกับการทดลองเหล่านี้
ผู้คนของลิมไฮและผู้คนของแอลมา
ใน โมไซยาห์ 21–24 เราเรียนรู้เกี่ยวกับผู้คนสองกลุ่มที่ประสบกับการทดลองและความทุกข์แสนสาหัส กลุ่มแรกอาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งนีไฟและนำโดยลิมไฮบุตรของกษัตริย์โนอาห์ กลุ่มที่สองอาศัยอยู่ในแผ่นดินของฮีลัมและนำโดยแอลมา
ต่อไปนี้เป็นบทสรุปโดยย่อของเหตุการณ์การเป็นเชลยของแต่ละกลุ่ม:
ผู้คนของลิมไฮ
หลังจากปฏิเสธคำสอนและคำเตือนของอบินาได ชาวนีไฟซึ่งตอนนี้นำโดยกษัตริย์ลิมไฮ ถูกชาวเลมันในแผ่นดินแห่งนีไฟจับไปเป็นเชลยและต้องจ่ายภาษีอย่างหนัก (ดู โมไซยาห์ 19:15) ตามที่ศาสดาพยากรณ์อบินาไดพยากรณ์ไว้ (ดู โมไซยาห์ 12:5) ชาวเลมันบังคับให้ผู้คนของลิมไฮรับใช้พวกเขาและบรรทุกของหนัก (ดู โมไซยาห์ 21:3)
ผู้คนของแอลมา
หลังจากอบินาไดสิ้นชีวิต แอลมาและผู้ติดตามของท่านหนีไปยังผืนน้ำแห่งมอรมอน ที่ซึ่งพวกเขารับบัพติศมา (ดู โมไซยาห์ 17:1–4; 18:1–14) ต่อมาพวกเขาหลบหนีและตั้งถิ่นฐานโดยชอบธรรมในแผ่นดินของฮีลัม (ดู โมไซยาห์ 18:32–34; 23:1–4, 19–20) ในที่สุดชาวเลมันเจอผู้คนของแอลมาและถูกจับไปเป็นเชลย (ดู โมไซยาห์ 23:25–29, 36–37) อมิวลอน ปุโรหิตที่ชั่วร้ายคนหนึ่งของโนอาห์ได้รับอำนาจเหนือพวกเขาและเริ่มข่มเหงแอลมากับผู้คนของท่าน (ดู โมไซยาห์ 24:8–9)
เหตุใดพระเจ้าทรงยอมให้มีการทดลอง
อ่านข้อพระคัมภีร์ต่อไปนี้ โดยมองหาคำสอนที่จะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าเพราะเหตุใดพระเจ้าจึงทรงให้เราประสบกับการทดลองและความทุกข์ ท่านอาจต้องการทำเครื่องหมายที่คำพูดและวลีที่โดดเด่นสำหรับท่าน
-
ผู้คนของลิมไฮ: โมไซยาห์ 21:5–16
-
ผู้คนของแอลมา: โมไซยาห์ 23:21–24; 24:8–14
-
ท่านเห็นความคล้ายคลึงและความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างผู้คนสองกลุ่มและประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับ?
-
ท่านเห็นหลักฐานอะไรที่แสดงถึงความรักและความห่วงใยของพระเจ้าที่มีต่อผู้คนจากเรื่องราวเหล่านี้?
-
ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับเหตุผลที่พระเจ้าทรงให้ผู้คนเผชิญกับการทดลองและความทุกข์?
เรื่องราวเหล่านี้เปิดเผยความจริงหลายประการเกี่ยวกับเหตุผลที่พระเจ้าทรงให้ผู้คนประสบกับการทดลอง ในเรื่องราวอื่นๆ ท่านอาจสังเกตเห็นสิ่งต่อไปนี้:
-
พระเจ้าทรงยอมให้เราประสบกับการทดลองที่จะช่วยให้เราอ่อนน้อมถ่อมตนและพึ่งพาพระองค์มากขึ้น (ดู โมไซยาห์ 21:5–14)
-
การทดลองและความทุกข์บางอย่างเกิดจากการไม่เชื่อฟัง (ดู โมไซยาห์ 21:15)
-
การทดลองจะให้โอกาสเราในการแสวงหาและรู้สึกถึงเดชานุภาพของพระเจ้าในชีวิตเรา (ดู โมไซยาห์ 21:15–16; 24:14)
-
พระเจ้าทรงตีสอนผู้คนของพระองค์และทรงทดลองความอดทนและศรัทธาของพวกเขา (ดู โมไซยาห์ 23:21)
หลายคนคิดว่าการถูกตีสอน (ดู โมไซยาห์ 23:21) มีความหมายเช่นเดียวกับการถูกลงโทษ เอ็ลเดอร์ลินน์ จี. รอบบินส์ แห่งสาวกเจ็ดสิบอธิบายว่า “คำว่า ตีสอน (chasten) มาจากคำภาษาละติน castus หมายถึง ‘ปราศจากมลทินหรือบริสุทธิ์’ และ ตีสอน หมายถึง ‘ทำให้บริสุทธิ์’ [ดู Merriam-Webster’s Collegiate Dictionary, 11th ed. (2003), “chasten”]” (“ผู้พิพากษาที่ชอบธรรม,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 97) ไตร่ตรองสักครู่ว่าพระเจ้าทรงทำให้ท่านบริสุทธิ์ผ่านการทดลองและความทุกข์อย่างไร
-
การเข้าใจความจริงเหล่านี้อาจส่งผลต่อวิธีที่ท่านตอบสนองต่อการทดลองอย่างไร?
-
ประสบการณ์ใดช่วยให้ท่านเห็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้ท่านเผชิญกับการทดลอง?
-
วันนี้ท่านได้เรียนรู้อะไรบ้างที่อาจช่วยให้ท่านเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทดลองที่เผชิญ?