“แอลมา 59–61: เลือกไม่ขุ่นเคือง” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)
“แอลมา 59–61” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู
แอลมา 59–61
เลือกไม่ขุ่นเคือง
ท่านเคยเข้าใจการกระทำของใครบางคนผิดไปหรือไม่? ความผิดพลาดของคนอื่นเคยทำร้ายท่านหรือไม่? เพโฮรันหัวหน้าผู้พิพากษาของชาวนีไฟต้องประสบความท้าทายนี้และต้องเลือกวิธีตอบสนอง บทเรียนนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านเป็นเหมือนพระเยซูคริสต์มากขึ้นขณะตอบสนองความผิดพลาดของผู้อื่นด้วยความรักและความอดทนเพิ่มขึ้น
ท่านเคยถูกล่อลวงให้รู้สึกขุ่นเคืองเมื่อใด?
บางครั้งเราอาจถูกล่อลวงให้รู้สึกขุ่นเคือง เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองบอกเหตุผลบางประการที่สมาชิกบอกท่านว่าทำให้พวกเขาขุ่นเคือง:
“ผู้ชายคนหนึ่งพูดบางอย่างในโรงเรียนวันอาทิตย์ที่ทำให้ฉันขุ่นเคือง …”
“ไม่มีใครในสาขานี้ทักทายหรือติดต่อฉันเลย ฉันรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก …”
“ฉันไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำที่อธิการให้มา …”
เหตุของความขุ่นเคืองมีอีกมากมาย—ตั้งแต่ความขัดแย้งเรื่องหลักคำสอนในหมู่ผู้ใหญ่ไปจนถึงการเหน็บแนม เย้าแหย่ และกีดกันจากเยาวชน (ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 113)
-
มีเหตุผลอะไรอีกบ้างที่อาจล่อลวงเราให้รู้สึกขุ่นเคือง?
-
ความขุ่นเคืองส่งผลต่อเราอย่างไร?
ไตร่ตรองคำถามต่อไปนี้:
-
ท่านเคยถูกล่อลวงให้รู้สึกขุ่นเคืองเมื่อใด? ท่านมีปฏิกิริยาอย่างไร? เพราะเหตุใด?
-
วิธีที่ท่านรู้สึกและทำส่งผลต่อความสัมพันธ์ของท่านกับผู้อื่นและกับพระเจ้าอย่างไร?
ขณะศึกษาต่อไป ให้แสวงหาการดลใจเพื่อหาข้อคิดและความจริงที่อาจช่วยท่านได้ในสถานการณ์เหล่านี้
จดหมายของโมโรไน
หลังจากทราบว่ากองทัพของฮีลามันขาดคนและขาดเสบียงในการปกป้องชาวนีไฟจากกองทัพขนาดใหญ่ของชาวเลมัน แม่ทัพโมโรไนจึงส่งจดหมายถึงเพโฮรันหัวหน้าผู้พิพากษาชาวนีไฟ โมโรไนขอให้เพโฮรันส่งกำลังเสริมมาให้กองทัพของฮีลามัน แต่ไม่มีความช่วยเหลือส่งมา และกองทัพของฮีลามันทนทุกข์ต่อไป ในระหว่างนี้กองทัพชาวเลมันยึดเมืองนีไฟฮาห์ได้ซึ่งเป็นอีกเมืองหนึ่งที่โมโรไนคาดว่าจะได้รับกำลังเสริม (ดู แอลมา 59:9)
ลองนึกภาพว่าโมโรไนจะรู้สึกอย่างไรขณะต่อสู้เพื่อปกป้องชาวนีไฟแต่ฝ่ายปกครองไม่ให้การสนับสนุนที่ต้องการ
โมโรไนโกรธและเขียนจดหมายอีกฉบับถึงเพโฮรัน อ่าน แอลมา 60:5–11, 30 เพื่อดูข้อความส่วนหนึ่งของโมโรไน
-
ท่านเห็นอะไรในจดหมายของโมโรไนที่อาจทำให้เพโฮรันขุ่นเคืองได้?
การเลือกของเพโฮรัน
สิ่งที่โมโรไนไม่รู้คือชาวนีไฟที่ชั่วร้ายกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นพันธมิตรกับชาวเลมันกบฏต่อเพโฮรันจนทำให้เขาต้องหนีเอาชีวิตรอด พวกกบฏเข้ายึดเมืองหลวงเซราเฮ็มลา เพโฮรันเป็นคนชอบธรรมที่พยายามรวบรวมกำลังคนเพื่อยึดเซราเฮ็มลาคืน (ดู แอลมา 61:1–8)
-
หากท่านเป็นเพโฮรัน ท่านอาจถูกล่อลวงให้ตอบจดหมายของโมโรไนว่าอย่างไร?
-
ปฏิกิริยาของเพโฮรันส่งผลต่อสถานการณ์อย่างไร?
แอลมา 61 พูดถึงการตอบสนองของเพโฮรันต่อโมโรไน อ่าน แอลมา 61:9, 17–21 เพื่อดูว่าเขาตอบสนองอย่างไร
-
ท่านประทับใจอะไรกับการตอบสนองของเพโฮรัน?
-
ท่านเห็นคุณลักษณะอะไรในเพโฮรันที่ทำให้ท่านนึกถึงพระเยซูคริสต์?
เอ็ลเดอร์เบดนาร์แบ่งปันความจริงสำคัญที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องนี้ (ท่านอาจจะต้องการบันทึกคำกล่าวบางส่วนนี้ไว้ในพระคัมภีร์ของท่านข้างๆ แอลมา 61:9)
ความขุ่นเคืองเป็น การเลือก ที่เราทำ ไม่ใช่ สภาพ ที่คนใดหรือสิ่งใดยัดเยียดให้เรา …
… สิ่งที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ หรือการแสดงออกอาจทำให้เราขุ่นเคือง แต่ท่านและข้าพเจ้าเลือกได้ว่าจะไม่ขุ่นเคือง—และพูดพร้อมกับเพโฮรันว่า “ไม่เป็นไร” (ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 113–114)
-
ท่านจะอธิบายความจริงต่อไปนี้กับบางคนว่าอย่างไร? เราเลือกได้ว่าจะไม่ขุ่นเคืองกับคำพูดและการกระทำของผู้อื่น
-
ท่านคิดว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์ทรงต้องการให้เราเข้าใจความจริงนี้?
คำสอนและแบบอย่างของพระเยซูคริสต์
พระผู้ช่วยให้รอดทรงเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ของความจริงนี้
-
อ่านคำสอนของพระเยซูคริสต์ใน 3 นีไฟ 11:29–30 และ มัทธิว 5:43–48 ท่านเรียนรู้อะไรจากคำสอนของพระองค์?
-
นึกถึงแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดขณะตอบสนองความผิดพลาดและความอ่อนแอของผู้อื่นด้วยความอดทนและความรัก เหตุใดการรู้ว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงอดทน รัก และไม่ขุ่นเคืองง่ายจึงสำคัญต่อท่าน?
-
แบบอย่างของเพโฮรันและพระผู้ช่วยให้รอดจะช่วยท่านได้อย่างไรในสถานการณ์ที่มีคนพูดหรือทำร้ายท่านหรือคนที่ท่านรัก?
ความช่วยเหลือของพระเจ้า
การทำตามแบบอย่างการไม่ขุ่นเคืองของพระผู้ช่วยให้รอดจะยาก เอ็ลเดอร์เบดนาร์อธิบายความช่วยเหลือที่มีให้เราเมื่อเรารู้สึกไม่เข้มแข็งพอจะเอาชนะความรู้สึกขุ่นเคือง
โดยผ่านพลังเสริมสร้างความเข้มแข็งของการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ ท่านและข้าพเจ้าจะได้รับพรให้หลีกเลี่ยงและเอาชนะความขุ่นเคืองได้ …
ความสามารถในการเอาชนะความขุ่นเคืองอาจดูเหมือนไกลเกินเอื้อม … ธรรมชาติของการชดใช้ของพระผู้ไถ่และจุดประสงค์ของศาสนจักรที่ได้รับการฟื้นฟูมุ่งหมายจะช่วยให้เราได้รับความเข้มแข็งทางวิญญาณแบบนี้ (ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ไม่มีสิ่งใดทำให้พวกเขาขุ่นเคืองได้” เลียโฮนา, พ.ย. 2006, 113–114)
-
ท่านเรียนรู้อะไรจากความคิดเห็นของเอ็ลเดอร์เบดนาร์?
-
บางคนจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้ช่วยให้รอดเมื่อถูกล่อลวงให้รู้สึกขุ่นเคือง?
ใช้เวลาสองสามนาทีเขียนจดหมายถึงตัวท่านเองในอนาคต ท่านจะแนะนำอะไรตนเองเกี่ยวกับวิธีตอบสนองเมื่อมีคนพูดหรือทำให้ท่านเสียหายหรือขุ่นเคือง? เขียนสิ่งที่ท่านเรียนรู้จากพระผู้ช่วยให้รอดและเพโฮรันที่ท่านจะประยุกต์ใช้ในสถานการณ์นั้นด้วย เขียนด้วยว่าท่านจะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้อย่างไร