เซมินารี
แอลมา 36: “พ่อจำความเจ็บปวดของพ่อไม่ได้อีก”


“แอลมา 36: ‘พ่อจำความเจ็บปวดของพ่อไม่ได้อีก’” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู (2024)

“แอลมา 36” พระคัมภีร์มอรมอน คู่มือครู

แอลมา 36

“พ่อจำความเจ็บปวดของพ่อไม่ได้อีก”

เยาวชนหญิงเบิกบาน

การแบ่งปันประสบการณ์ทางวิญญาณที่อ่อนโยนกับคนที่เรารักจะเป็นแหล่งพลังสำหรับพวกเขาและสำหรับเรา ขณะพูดกับฮีลามันบุตรชาย แอลมาเล่าประสบการณ์ที่ได้เห็นทูตสวรรค์ รู้สึกถึงความทรมานจากบาป และค้นพบการปลดปล่อยผ่านพระเยซูคริสต์ บทเรียนนี้มุ่งหมายจะช่วยให้ท่านหันมาหาพระเยซูคริสต์ด้วยความศรัทธาและรู้สึกปีติในการปลดปล่อยของพระองค์

ศึกษาทักษะ—การทำเครื่องหมายข้อความ การทำเครื่องหมายพระคัมภีร์จะช่วยนักเรียนทำการเชื่อมโยงที่มีความหมายและจดจำสิ่งที่เรียนรู้ พวกเขาสามารถขีดเส้นใต้ แรเงา หรือร่างภาพคำหรือวลีสำคัญๆ ได้ พระคัมภีร์เวอร์ชันอิเล็กทรอนิกส์จะมีเครื่องมือช่วยทำเครื่องหมายพระคัมภีร์

การเตรียมของนักเรียน: เชื้อเชิญให้นักเรียนเตรียมมาแบ่งปันตัวอย่างของคนที่พบสันติสุขในพระคริสต์หลังจากทนทุกข์ชั่วระยะเวลาหนึ่ง อะไรช่วยให้บุคคลนี้พบสันติสุข?

กิจกรรมการเรียนรู้ที่ทำได้

สิ่งตรงกันข้าม

เพื่อเริ่มบทเรียนนี้ ให้ช่วยนักเรียนคิดถึงการเปลี่ยนแปลงทางวิญญาณและสิ่งที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ เขียนคำต่อไปนี้บนกระดานและให้นักเรียนเขียนคำตรงข้ามกัน

คัดลอกคำต่อไปนี้ลงในสมุดบันทึกการศึกษาของท่าน หลังลูกศรแต่ละอัน ให้เขียนสิ่งที่ท่านคิดว่าตรงกันข้ามกับคำนั้น

  • ความเจ็บปวด →

  • ความเสียใจ →

  • ความเศร้า →

ไตร่ตรองเวลาท่านทำบาปและประสบความรู้สึกทางซ้าย ความรู้สึกนั้นได้กลายเป็นความรู้สึกที่ท่านเขียนไว้ทางขวาหรือไม่? อะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น?

หลังจากสนทนาข้างต้น ท่านอาจจะชี้ให้เห็นว่าเมื่อเกิดความรู้สึกในแง่ลบเพราะบาป พระเจ้าเท่านั้นทรงสามารถช่วยเราเปลี่ยนความรู้สึกเหล่านั้นให้เป็นความรู้สึกตรงกันข้ามได้

เปิดโอกาสให้นักเรียนไตร่ตรองเงียบๆ ว่าพระเจ้าได้ทรงช่วยพวกเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อทำบาป ให้ดูการประเมินตนเองต่อไปนี้ แล้วขอให้นักเรียนบันทึกความประทับใจลงในสมุดบันทึกขณะไตร่ตรอง จะเป็นคำถาม ความรู้สึก หรือการกระตุ้นเตือนให้ลงมือทำก็ได้

เมื่อเกิดความรู้สึกในแง่ลบเพราะบาป พระเจ้าเท่านั้นทรงสามารถช่วยเราเปลี่ยนความรู้สึกเหล่านั้นให้เป็นความรู้สึกตรงกันข้ามได้

ไตร่ตรองว่าข้อความต่อไปนี้เป็นจริงสำหรับท่านมากน้อยเพียงใด:

  • เมื่อฉันทำบาป ฉันรู้วิธีหันมาหาพระเจ้าเพื่อรับการอภัย สันติ และความหวัง

  • ฉันมีความมั่นใจว่าด้วยความช่วยเหลือของพระเจ้าฉันเปลี่ยนแปลงได้

  • ฉันหันมาขอความช่วยเหลือนี้จากพระเจ้าเป็นประจำ

วันนี้ท่านจะได้ศึกษาว่าความรู้สึกปวดร้าวอย่างยิ่งของแอลมาผู้บุตรเพราะบาปของเขาเปลี่ยนเป็นความรู้สึกปีติและสันติได้อย่างไรขณะที่เขาร้องทูลพระผู้ช่วยให้รอด ขณะศึกษา ให้มองหาว่าท่านจะแสวงหาความช่วยเหลือจากพระเจ้าเพื่อเอาชนะบาปและผลของบาป และประสบปีติผ่านพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงอันลึกล้ำของแอลมา

หลังจากปฏิเสธพระกิตติคุณที่สอน ชาวโซรัมสมทบกับชาวเลมันเพื่อยั่วยุคนเหล่านั้นให้โกรธชาวนีไฟ จากนั้นชาวโซรัมกับชาวเลมันโจมตีชาวนีไฟจนนำไปสู่สงครามครั้งใหญ่ ใจของชาวนีไฟจำนวนมาก “เริ่มแข็งกระด้าง” ต่อพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าด้วย (แอลมา 35:15) ในการตอบสนองต่อความเสื่อมถอยทางวิญญาณของชาวนีไฟ แอลมาเรียกบุตรชายมารวมกันเพื่อ “มอบหน้าที่ของท่านให้พวกเขาทุกคน โดยแยกกันแต่ละคนในเรื่องที่เกี่ยวกับความชอบธรรม” (แอลมา 35:16) เขาพูดกับฮีลามันบุตรชายก่อนแล้วเล่าประสบการณ์การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของเขา

ให้ดูภาพต่อไปนี้ ให้นักเรียนทำงานกับคู่เพื่อตอบคำถามที่ตามมา

อีกทางเลือกหนึ่งคือ เขียนคำต่อไปนี้ไว้บนกระดาน: แอลมา พวกบุตรของโมไซยาห์ ทำลายศาสนจักร เทพ สามวัน แล้วขอให้หลายๆ คู่เล่าเรื่องโดยใช้คำหรือวลีนั้น

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตร
  • ท่านจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับแอลมาผู้บุตรและเห็นอะไรในภาพนี้?

อ่าน แอลมา 36:6–11 และมองหารายละเอียดที่ท่านอาจพลาดไป

  • ท่านคิดว่าเหตุใดคำพูดของเทพจึงมีผลต่อแอลมาอย่างมาก?

  • นอกจากจะเห็นเทพแล้ว อะไรอาจจะทำให้บางคนตระหนักว่าเขาหรือเธอจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง?

ท่านอาจต้องการช่วยให้นักเรียนเข้าใจคุณค่าของการทำเครื่องหมายพระคัมภีร์และกระตุ้นให้พวกเขาฝึกทักษะนี้ระหว่างบทเรียนนี้ หากมีตัวเลือก ท่านอาจจะให้ดูพระคัมภีร์เวอร์ชันอิเล็กทรอนิกส์หรือแบบกระดาษ และสาธิตวิธีทำเครื่องหมายข้อความพระคัมภีร์

สำหรับกิจกรรมต่อไปนี้ ท่านอาจเชื้อเชิญให้นักเรียนทำเครื่องหมายคำและวลีในรูปแบบต่างๆ ท่านอาจจะให้ชั้นเรียนทำเครื่องหมายข้อพระคัมภีร์ชุดแรกเป็นตัวอย่าง แล้วทำเครื่องหมายข้อพระคัมภีร์ชุดที่สองและสามด้วยตนเอง เมื่อทำเสร็จแล้ว พวกเขาจะแบ่งปันสิ่งที่พบและวิธีทำเครื่องหมายให้กับคู่หรือชั้นเรียน

การทำเครื่องหมายข้อความพระคัมภีร์จะช่วยให้ท่านเข้าใจและจดจำสิ่งที่พระคัมภีร์สอนได้ดียิ่งขึ้น จะช่วยให้ท่านเห็นภาพรูปแบบหรือการเปรียบเทียบในพระคัมภีร์ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้จะทำให้หาข้อความสำคัญๆ ได้ง่ายขึ้นในภายหลัง การทำเครื่องหมายจะรวมถึงการขีดเส้นใต้ วงกลม และขีดสีเน้นคำและวลีต่างๆ ด้วย

อ่านคำบรรยายของแอลมาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาประสบและรู้สึกในช่วงสามวันที่ขยับตัวไม่ได้ในข้อพระคัมภีร์ชุดต่อไปนี้ พิจารณาการทำเครื่องหมายสิ่งที่แนะนำ

แอลมา 36:12–16: คำหรือวลีที่บรรยายว่าแอลมารู้สึกอย่างไรกับบาปของตน

แอลมา 36:17–18: คำหรือวลีที่บ่งบอกว่าแอลมาจำได้และทำอะไรที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

แอลมา 36:19–21: คำหรือวลีที่บรรยายว่าแอลมารู้สึกตรงข้ามกับสิ่งที่เขาประสบในตอนแรก

เปิดโอกาสให้นักเรียนแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาสังเกตเห็นหรือเรียนรู้ขณะศึกษา ข้อ 12–21 หากจำเป็น ท่านอาจจะถามคำถาม เช่น “ท่านสังเกตเห็นอะไรจากการเปรียบเทียบอารมณ์ของแอลมาก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลง?” ท่านจะถามคำถามบางข้อต่อไปนี้

  • ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของแอลมา?

  • เราจะเรียนรู้ความจริงอะไรได้บ้างจากประสบการณ์ของเขา?

ความจริงหนึ่งข้อที่เราจะเรียนรู้ได้คือ พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพในการปลดปล่อยเราจากความเจ็บปวดเพราะบาปของเราและทำให้เราเปี่ยมปีติ

  • แอลมาเชื้อเชิญเดชานุภาพแห่งการปลดปล่อยของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?

ข้อความต่อไปนี้จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความจริงที่เน้นชัดเจนขึ้น ท่านจะเชื้อเชิญให้นักเรียนศึกษา ข้อ 24–26 ด้วยเพื่อมองหาวิธีที่แอลมาใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์

อ่านข้อความต่อไปนี้ แล้วคิดว่าข้อความเหล่านี้ช่วยให้ท่านเข้าใจความจริงที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ของแอลมาเพิ่มขึ้นอย่างไร ท่านอาจจะคัดลอกวลีหนึ่งที่ต้องการจำลงในสมุดบันทึกหรือข้างๆ ข้อพระคัมภีร์เหล่านั้นก็ได้

ประธานบอยด์ เค. แพคเกอร์ (1924–2015) แห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองอธิบายว่า:

ท่านไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างก่อนพลังแห่งการชดใช้จะทำงานให้กับท่าน จงมีศรัทธาในพระคริสต์ พลังนั้นจะเริ่มทำงานในวันที่ท่านขอ! (บอยด์ เค. แพคเกอร์, “Washed Clean,” Ensign, May 1997, 10)

เอ็ลเดอร์นีล แอล. แอนเดอร์เซ็นแห่งโควรัมอัครสาวกสิบสองสอนว่า:

เมื่อเราสารภาพบาปอย่างซื่อสัตย์ คืนสิ่งที่เราคืนได้ให้กับคนที่เราทำให้เขาขุ่นเคือง และละทิ้งบาปของเราโดยรักษาพระบัญญัติ เรากำลังอยู่ในกระบวนการของการได้รับการอภัย วันเวลาจะทำให้เรารู้สึกปวดร้าวกับความเศร้าโศกน้อยลง เอา “ความผิดไปจากใจเรา” และทำให้เกิด “ความสงบในมโนธรรม” (ดู นีล แอล. แอนเดอร์เซ็น, “จงกลับใจ … เพื่อเราจะรักษาเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 52)

  • ท่านได้ข้อคิดเพิ่มเติมอะไรบ้างจากข้อความนี้?

อาจเป็นประโยชน์ถ้าชี้ให้เห็นว่าความช่วยเหลือจากพระเยซูคริสต์จะเริ่มต้นทันทีที่เราทูลขอ แต่กระบวนการกลับใจและความรู้สึกได้รับการอภัยจะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า

ท่านอาจจะให้นักเรียนสนทนาเป็นกลุ่มเล็กๆ หรือเป็นคู่ว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรในสถานการณ์ต่อไปนี้

ท่านจะพูดอะไรกับวัยรุ่นที่:

  • รู้สึกเสียใจและเจ็บปวดมากเพราะบาปของตน

  • รู้สึกว่าบาปของพวกเขาไม่ได้ร้ายแรงและจะแก้ไขตัวมันเองเมื่อเวลาผ่านไปโดยไม่ต้องกลับใจ

ใช้เวลาสักครู่ใคร่ครวญสถานการณ์ของท่านเองและวิธีประยุกต์ใช้บทเรียนวันนี้กับชีวิตท่าน พิจารณาหนึ่งอย่างที่ท่านจะทำวันนี้เพื่อหันมาหาพระผู้ช่วยให้รอด และเชื้อเชิญเดชานุภาพการปลดปล่อยของพระองค์เข้ามาในชีวิต

แบ่งปันประจักษ์พยานว่าท่านได้รับพรจากเดชานุภาพการเยียวยาของพระผู้ช่วยให้รอดและความมั่นใจของท่านว่าพระองค์ทรงปรารถนาจะนำสันติและปีติมาสู่ชีวิตนักเรียนของท่านอย่างไร