จงตามเรามา 2024
22–28 กรกฎาคม: “เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน” แอลมา 32–35


“22–28 กรกฎาคม: ‘เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน’ แอลมา 32–35” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“22–28 กรกฎาคม แอลมา 32–35” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
เมล็ดพืชในมือเด็ก

22–28 กรกฎาคม: “เพาะพระวจนะนี้ไว้ในใจท่าน”

แอลมา 32–35

สำหรับชาวโซรัม การสวดอ้อนวอนประกอบด้วยการยืนตรงจุดที่ทุกคนมองเห็นและการพูดคำซ้ำๆ ที่ตนพอใจโดยไม่ได้แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา ชาวโซรัมขาดศรัทธาในพระเยซูคริสต์—แม้ถึงกับปฏิเสธการดำรงอยู่ของพระองค์—และข่มเหงคนจน (ดู แอลมา 31:9–25) ตรงกันข้ามกับแอลมาและอมิวเล็ค คนทั้งสองสอนว่าการสวดอ้อนวอนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรามากกว่าบนแท่นสาธารณะ และถ้าเราไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจคนขัดสน การสวดอ้อนวอนของเราย่อม “เปล่าประโยชน์, และไม่ช่วยอะไร” (แอลมา 34:28) สำคัญที่สุดคือเราสวดอ้อนวอนเพราะเรามีศรัทธาในพระเยซูคริสต์ผู้ทรงมอบการไถ่ผ่าน “การพลีบูชาอันไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์” ของพระองค์ (แอลมา 34:10) แอลมาอธิบายว่าศรัทธาเช่นนั้นเริ่มจากความนอบน้อมถ่อมตนและความ “ปรารถนาที่จะเชื่อ” (แอลมา 32:27) เมื่อเวลาผ่านไป การบำรุงเลี้ยงอย่างต่อเนื่องจะทำให้พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหยั่งรากในใจเราจนกลายเป็น “ต้นไม้ที่งอกงามไปสู่ชีวิตอันเป็นนิจ” (แอลมา 32:41)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

แอลมา 32:17–43

ฉันใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์โดยเพาะและบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระองค์ในใจฉัน

ขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 32:17–43 ให้จดคำและวลีที่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีใช้ศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ใช่ศรัทธาและสิ่งที่ไม่ใช่ศรัทธา?

การศึกษา แอลมา 32 อีกวิธีหนึ่งคือให้วาดรูปแสดงการเติบโตแต่ละช่วงของเมล็ดพืช จากนั้นให้เขียนกำกับแต่ละรูปโดยใช้คำจาก แอลมา 32:28–43 ที่ช่วยให้ท่านเข้าใจวิธีเพาะและบำรุงเลี้ยงพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจท่าน

ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “พระคริสต์ทรงฟื้น: ศรัทธาในพระองค์จะเคลื่อนภูเขา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 101–104 ด้วย

แอลมา 32:26–43

ฉันสามารถรู้ได้ด้วยตนเอง

แอลมาเสนอ “การทดลอง” (ดู แอลมา 32:26) ให้ชาวโซรัมที่ยังไม่แน่ใจในประจักษ์พยานของแอลมาเกี่ยวกับพระคริสต์ การทดลองต้องอาศัยความปรารถนา ความอยากรู้อยากเห็น การลงมือทำ และศรัทธาเล็กน้อย—สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การค้นพบอันน่าอัศจรรย์! ลองนึกถึงการทดลองที่ท่านเคยเห็นหรือเคยมีส่วนร่วม ตามที่กล่าวไว้ใน แอลมา 32:26–36 การทดลองแบบใดสามารถนำไปสู่ศรัทธาในพระเยซูคริสต์?

ท่านเคย “ทดลอง” พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าจนรู้ว่า “พระวจนะดี” อย่างไร? (แอลมา 32:28)

แอลมา 33:2–11; 34:17–29

ฉันสามารถนมัสการพระผู้เป็นเจ้าในการสวดอ้อนวอนทุกที่และทุกเวลา

คำแนะนำของแอลมาและอมิวเล็คเกี่ยวกับการนมัสการและการสวดอ้อนวอนมุ่งแก้ไขความเข้าใจผิดบางอย่างของชาวโซรัม ท่านอาจจะเขียนความเข้าใจผิดเหล่านี้ออกมาเป็นข้อๆ (ดู แอลมา 31:13–23) และเขียนความจริงเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนใน แอลมา 33:2–11 และ 34:17–29 ไว้ข้างรายการนั้น สิ่งที่ท่านเรียนรู้จากข้อเหล่านี้จะส่งผลต่อวิธีที่ท่านสวดอ้อนวอนและนมัสการอย่างไร?

ท่านสามารถหาข้อคิดได้จากเพลงสวดเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน เช่น “โมงสวดอ้อนวอน” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 63–64)

แอลมา 34:9-16

ภาพ
seminary icon
ฉันต้องการพระเยซูคริสต์และการชดใช้ของพระองค์

สังเกตว่าอมิวเล็คใช้คำว่า ไม่มีขอบเขต และ นิรันดร์ อธิบายการพลีพระชนม์ชีพเพื่อการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดกี่ครั้งใน แอลมา 34:9–14 เหตุใดการรู้ว่าการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์จึงสำคัญ? มองหาคำและวลีในข้อเหล่านี้ที่พูดถึงการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดด้วย: ฮีบรู 10:10; 2 นีไฟ 9:21; โมไซยาห์ 3:13

แม้เมื่อเรารู้ว่าเดชานุภาพของพระเยซูที่จะช่วยให้รอดนั้นไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์ แต่บางครั้งเราอาจสงสัยว่าเดชานุภาพนั้นมีผลต่อเรา—หรือคนที่ทำบาปต่อเราหรือไม่ เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เคยพูดถึงคนที่ “ดูเหมือนว่ามีศรัทธาในพระผู้ช่วยให้รอด แต่พวกเขาไม่เชื่อว่าจะได้พรที่พระองค์ทรงสัญญาไว้” (“ถ้าพวกท่านรู้จักเราแล้ว,” เลียโฮนา, พ.ย. 2016, 104) อะไรอาจจะขัดขวางเราไม่ให้ได้รับเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างเต็มที่? ไตร่ตรองว่าท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าการชดใช้ของพระเยซูคริสต์ไม่มีขอบเขตและเป็นนิรันดร์

เพื่อไตร่ตรองว่าท่านต้องการการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดมากเพียงใด การนึกถึงบางสิ่งที่ท่านต้องการทุกวันอาจช่วยได้ ถามตัวเองว่า “ชีวิตฉันจะเป็นอย่างไรหากไม่มีการชดใช้?” จากนั้น ขณะศึกษา แอลมา 34:9–16 ให้ไตร่ตรองว่าชีวิตท่านจะเป็นอย่างไรหากปราศจากพระเยซูคริสต์ ท่านจะหาข้อคิดอื่นใน 2 นีไฟ 9:7–9 ท่านจะสรุป แอลมา 34:9–10 ในหนึ่งประโยคว่าอย่างไร?

ดู ไมเคิล จอห์น ยู. เทห์, “พระผู้ช่วยให้รอดส่วนตัวของเรา,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 99–101 ด้วย

แอลมา 34:30–41

“บัดนี้คือเวลาและวันแห่งความรอดของท่าน”

สมมติว่าท่านต้องการลงแข่งวิ่งมาราธอนหรือแสดงดนตรี จะเกิดอะไรขึ้นหากท่านรอยจนกระทั่งถึงวันงานค่อยเตรียม? ตัวอย่างนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับคำเตือนของอมิวเล็คใน แอลมา 34:32–35? อะไรคืออันตรายของการผัดวันกลับใจและเปลี่ยนแปลง?

ข้อ 31 มีข่าวสารสำหรับคนที่อาจจะกังวลว่าพวกเขาผัดวันนานเกินไปแล้วและสายเกินกว่าจะกลับใจ ท่านจะบอกว่าข่าวสารนั้นคืออะไร?

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

แอลมา 32:1–16

พระเจ้าทรงสอนฉันได้เมื่อฉันเลือกอ่อนน้อมถ่อมตน

  • แอลมากับอมิวเล็คประสบความสำเร็จในการสอนชาวโซรัมผู้อ่อนน้อมถ่อมตน การอ่อนน้อมถ่อมตนหมายความว่าอย่างไร? ช่วยเด็กหานิยามของ อ่อนน้อมถ่อมตน (ความ) ใน คู่มือพระคัมภีร์ เราพบคำใบ้อะไรอีกบ้างเกี่ยวกับความหมายของคำเหล่านี้ใน แอลมา 32:13–16? ให้เด็กเติมประโยคให้สมบูรณ์ เช่น “ฉันกำลังอ่อนน้อมถ่อมตนเมื่อฉัน ”

แอลมา 32:28–43

ประจักษ์พยานของฉันในพระเยซูคริสต์เติบโตเมื่อฉันบำรุงเลี้ยง

  • เมล็ดพืช ต้นไม้ และผลไม้เป็นสิ่งที่เด็กคุ้นเคยและจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจหลักธรรมที่เป็นนามธรรมอย่างเช่นศรัทธาและประจักษ์พยาน ให้เด็กถือเมล็ดพืชขณะที่ท่านอ่าน แอลมา 32:28 จากนั้นท่านจะขอให้พวกเขาช่วยคิดวิธีที่การทำให้ประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์เติบโตเปรียบเสมือนการเพาะและบำรุงเลี้ยงเมล็ดพืช (ดู “บทที่ 29: แอลมาสอนเรื่องศรัทธาและพระคำของพระผู้เป็นเจ้า,” เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 81) ท่านอาจจะเพาะเมล็ดพืชและพูดคุยกันว่าต้องใช้อะไรช่วยให้เมล็ดพืช—หรือประจักษ์พยาน—เติบโต

  • ท่านอาจจะใช้ภาพต้นไม้ที่มากับโครงร่างนี้อธิบายถ้อยคำของแอลมาใน แอลมา 32:28–43 หรือท่านจะออกไปเดินหาต้นไม้ที่เติบโตแต่ละช่วงและอ่านข้อต่างๆ จาก แอลมา 32 ที่เปรียบเทียบการเติบโตของต้นไม้กับประจักษ์พยานของเรา หรือท่านอาจจะให้เด็กวาดต้นไม้ต้นหนึ่งบนกระดานและเติมใบหรือผลทุกครั้งที่พวกเขานึกถึงสิ่งที่ทำได้เพื่อช่วยให้ประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์เติบโต

  • ท่านจะให้เด็กพยายามดันเมล็ดพืช (แทนพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า) ลงในก้อนหิน (แทนใจที่จองหอง) และลงในดินอ่อน (แทนใจที่อ่อนน้อมถ่อมตน) อ่าน แอลมา 32:27-28 ด้วยกัน พูดคุยกันว่า “ให้ที่” (ข้อ 27) สำหรับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในใจเราหมายความว่าอย่างไร

วาดรูป บางคนเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่อวาดรูปสิ่งที่กำลังเรียนรู้ เด็กอาจจะชอบวาดรูปเมล็ดพืชที่เติบโตเป็นต้นไม้ขณะพวกเขาศึกษา แอลมา 32

แอลมา 33:2–11; 34:17–27

ฉันสามารถสวดอ้อนวอนพระบิดาบนสวรรค์ได้ทุกเมื่อ ทุกเรื่อง

  • ช่วยเด็กหาวลีที่พูดถึงสถานที่ที่เราสวดอ้อนวอนได้ (ใน แอลมา 33:4–11) และสิ่งที่เราสวดอ้อนวอนได้ (ใน แอลมา 34:17–27) ท่านอาจให้เด็กวาดรูปตัวเองกำลังสวดอ้อนวอนในสถานที่เหล่านี้ก็ได้ แบ่งปันประสบการณ์ให้กันเมื่อพระบิดาบนสวรรค์ทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของท่าน ท่านอาจจะร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอน เช่น “การสวดอ้อนวอนของเด็กๆ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 6–7)

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
ผลบนต้น

“เพราะความขยันหมั่นเพียรของท่านและศรัทธาของท่านและความอดทนของท่านต่อพระวจนะขณะบำรุงเลี้ยงมัน … ดูเถิด, ในไม่ช้าท่านจะเก็บผลจากมันได้, ซึ่งมีค่าที่สุด” (แอลมา 32:42)