จงตามเรามา 2024
1–7 กรกฎาคม: “เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ” แอลมา 17–22


“1–7 กรกฎาคม: ‘เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ’ แอลมา 17–22” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“1–7 กรกฎาคม แอลมา 17–22” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

ภาพ
แอมันพูดกับกษัตริย์ลาโมไน

แอมันกับกษัตริย์ลาโมไน โดย สก็อตต์ เอ็ม. สโนว์

1–7 กรกฎาคม: “เราจะทำให้พวกเจ้าเป็นเครื่องมือ”

แอลมา 17–22

นึกถึงเหตุผลทั้งหมดที่ผู้คนไม่ยอมแบ่งปันพระกิตติคุณ อาทิ “ฉันรู้ไม่มากพอ” หรือ “ฉันไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะสนใจ” หรือ “ฉันกลัวว่าจะถูกปฏิเสธ” ท่านอาจจะพบว่าตัวท่านคิดทำนองนี้ในบางครั้ง ชาวนีไฟมีเหตุผลเพิ่มเติมสำหรับการไม่แบ่งปันพระกิตติคุณกับชาวเลมัน นั่นคือ ชาวเลมันได้ชื่อว่าเป็น “คนป่าเถื่อนและแข็งกระด้างและดุร้าย; ผู้คนที่เบิกบานในการกระทำฆาตกรรมชาวนีไฟ” (แอลมา 17:14; ดู แอลมา 26:23–25 ด้วย) แต่พวกบุตรของโมไซยาห์มีเหตุผลหนักแน่นกว่านั้นว่าทำไมถึงรู้สึกว่าตน ต้อง แบ่งปันพระกิตติคุณกับชาวเลมัน “พวกท่านปรารถนาจะให้ประกาศความรอดแก่ชาวโลกทั้งปวง, เพราะพวกท่านทนไม่ได้ที่จิตวิญญาณมนุษย์คนใดจะต้องพินาศ” (โมไซยาห์ 28:3) ความรักนี้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้แอมันกับพี่น้องของเขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ท่านแบ่งปันพระกิตติคุณกับครอบครัว มิตรสหาย และคนรู้จักได้เช่นกัน—แม้คนที่อาจดูเหมือนไม่ยอมรับ

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

แอลมา 17:1–4

การกระทำที่เรียบง่ายและสม่ำเสมอของการอุทิศตนต่อพระคริสต์ช่วยให้ฉันได้รับเดชานุภาพของพระองค์

ท่านเรียนรู้อะไรจาก แอลมา 17:1–4 เกี่ยวกับวิธีรักษาประจักษ์พยานและคำมั่นสัญญาที่มีต่อพระเยซูคริสต์ให้เข้มแข็ง? พวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไร และพระเจ้าประทานพรพวกเขาอย่างไร?

ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกบุตรของโมไซยาห์ใน แอลมา 17–22 ให้สังเกตว่าการเตรียมทางวิญญาณของพวกเขาส่งผลต่อการรับใช้ในหมู่ชาวเลมันอย่างไร (ดูตัวอย่างใน แอลมา 18:10–18, 34–36; 20:2–5; 22:12–16) ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรเพื่อทำตามแบบอย่างของพวกเขา?

แอลมา 17:6–12; 19:16–36

ภาพ
ไอคอนเซมินารี
ฉันสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

เรื่องราวการเปลี่ยนใจเลื่อมใสที่เราอ่านในพระคัมภีร์มักจะตื่นตาตื่นใจ แต่แก่นของเรื่องเหล่านั้นคือเรามักจะพบคนที่กล้าพูดและแบ่งปันศรัทธาในพระเยซูคริสต์ ลองไตร่ตรองเรื่องนี้ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับเอบิชและพวกบุตรของโมไซยาห์ในสัปดาห์นี้

ท่านคิดว่าการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร? การนึกถึงเครื่องมือที่ท่านอาจจะใช้ในชีวิตประจำวันอาจช่วยได้ ใน แอลมา 17:6–12 ให้ดูว่าพวกบุตรของโมไซยาห์ทำอะไรจึงสามารถเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าได้ ท่านจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์ได้อย่างไร?

ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับเอบิชใน แอลมา 19:16–36? ท่านเรียนรู้อะไรจากเธอเกี่ยวกับการช่วยผู้อื่นสร้างศรัทธาในพระคริสต์? ตัวอย่างเช่น ท่านรู้สึกว่าอะไรจะช่วยให้คนที่ท่านรัก “เชื่อในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า”? (แอลมา 19:17)

ท่านอาจจะเปรียบเทียบประสบการณ์ของเอบิชกับหลักธรรมที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟสอนใน “งานเผยแผ่ศาสนา: แบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจท่าน” (เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 15–18) เอบิชเป็นแบบอย่างของ “คำแนะนำเรียบง่ายห้าข้อ” ของเอ็ลเดอร์อุคท์ดอร์ฟอย่างไร? พยายามจดบางสิ่งที่ท่านอาจจะพูดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ตัวอย่างเช่น “สำหรับฉัน พระเยซูคริสต์ …” หรือ “พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยฉัน …”

ดู Gospel Topics, “Ministering as the Savior Does,” Gospel Library; “Brightly Beams Our Father’s Mercy,” Hymns, no. 335; “Come and See,” “Come and Help,” “Come and Belong” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

สอนบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนสามารถเห็นหรือสัมผัสบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขากำลังเรียนรู้ พวกเขามักจะจดจำสิ่งนั้นได้นานขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านกำลังสอนเกี่ยวกับ แอลมา 17:11 ท่านอาจจะให้ดูเครื่องดนตรีหรือเครื่องเขียนเพื่อช่วยกระตุ้นการสนทนาเรื่องการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า

แอลมา 17–19

เมื่อเราแสดงความรักต่อผู้อื่น เราสามารถช่วยให้บุคคลนั้นรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

มองหาข้อต่างๆ ใน แอลมา 17–19 ที่แสดงให้เห็นว่าความรักต่อชาวเลมันเป็นแรงบันดาลใจให้แอมันพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์อย่างไร ท่านเรียนรู้ความจริงอะไรอีกบ้างเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณจากแบบอย่างของแอมัน?

ดู “Ammon Serves and Teaches King Lamoni” (วีดิทัศน์), Gospel Library.

ภาพ
แอมันช่วยชีวิตฝูงแกะของกษัตริย์

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976), แอมันช่วยชีวิตฝูงสัตว์ของกษัตริย์ 1949–1951, สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด ขนาด 35 15/16 × 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 1969

แอลมา 19:36

พระเจ้าจะทรงช่วยให้ฉันกลับใจ

หลังจากเล่าเรื่องการเปลี่ยนใจเลื่อมใสของลาโมไนกับผู้คนของเขาแล้ว มอรมอนสรุปเรื่องด้วยข้อสังเกตเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ แอลมา 19:36 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระเจ้า? เรื่องราวใน แอลมา 19:16–36 สอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระองค์อีกบ้าง? ท่านเคยรู้สึกเมื่อใดว่าพระพาหุของพระเจ้าเอื้อมมาหาท่าน?

แอลมา 20:23; 22:15–18

การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าคุ้มกับการเสียสละทุกอย่าง

เปรียบเทียบสิ่งที่บิดาของลาโมไนเต็มใจสละเพื่อช่วยให้ชีวิตเขารอด (ดู แอลมา 20:23) กับสิ่งที่เขาเต็มใจสละในเวลาต่อมาเพื่อรับปีติของพระกิตติคุณและเพื่อรู้จักพระผู้เป็นเจ้า (ดู แอลมา 22:15, 18) ไตร่ตรองว่าท่านเต็มใจเสียสละอะไรเพื่อจะรู้จักพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างเต็มที่มากขึ้น

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

แอลมา 17:2–3

ประจักษ์พยานของฉันเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์เติบโตเมื่อฉันอ่านพระคัมภีร์ สวดอ้อนวอน และอดอาหาร

  • แบบอย่างของพวกบุตรของโมไซยาห์จะช่วยเด็กๆ สร้างประจักษ์พยานในพระเยซูคริสต์ได้อย่างไร? ท่านจะช่วยเด็กหาสิ่งที่พวกบุตรของโมไซยาห์ทำเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิญญาณให้ตนใน แอลมา 17:2–3 จากนั้นให้เด็กวาดรูปหรือหาสิ่งของแทนสิ่งเหล่านี้ ช่วยเด็กวางแผนสิ่งที่จะทำเพื่อเสริมสร้างประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด

แอลมา 17–19

ฉันสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ให้กับผู้อื่น

  • เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นเครื่องมือในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า เหมือนพวกบุตรของโมไซยาห์ ท่านและเด็กๆ จะดูเครื่องดนตรีหรือเครื่องมือชิ้นหนึ่งและพูดคุยกันว่าเครื่องมือชิ้นนี้ใช้ทำอะไร จากนั้นท่านจะอ่าน แอลมา 17:11 และพูดคุยเกี่ยวกับความหมายของการเป็นเครื่องมือของพระบิดาบนสวรรค์เพื่อช่วยให้ผู้คนเรียนรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์

  • หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้มีภาพแสดงความจริงที่แอมันสอนกษัตริย์ลาโมไน ท่านจะช่วยเด็กๆ หาความจริงเหล่านี้ใน แอลมา 18:24–40 เด็กจะแสดงเป็นผู้สอนศาสนาและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขารู้เกี่ยวกับความจริงเหล่านี้

  • หลังจากท่านอ่านเรื่องเอบิชกับเด็กแล้ว (ดู แอลมา 19:16–20, 28–29) เด็กจะแสดงนเหมือนเอบิชโดยวิ่งอยู่กับที่ เคาะประตู และบอกว่าเกิดอะไรขึ้นใน แอลมา 19:1–17 เราจะเป็นเหมือนเอบิชและแบ่งปันสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ได้อย่างไร? เด็กจะวาดรูปตัวเองกำลังแบ่งปันพระกิตติคุณกับบางคนหรือร้องเพลงเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยกัน เช่น “ถูกเรียกให้รับใช้” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 94–95)

แอลมา 17:21–25; 20:8–27; 22:1–3

ฉันสามารถช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระคริสต์โดยแสดงความรักต่อพวกเขา

  • ในตอนแรก ทั้งกษัตริย์ลาโมไนกับบิดาของเขาทำใจแข็งกระด้างต่อพระกิตติคุณ ต่อมาใจพวกเขาอ่อนลงและเชื่อในพระเยซูคริสต์ นี่เกิดขึ้นได้อย่างไร? ช่วยเด็กค้นหาคำตอบของคำถามนี้ขณะที่ท่านกับพวกเขาทบทวนประสบการณ์ของแอมันด้วยกัน เด็กจะทำท่าประกอบ “บทที่ 23: แอมันผู้รับใช้ที่ยิ่งใหญ่” และ “บทที่ 24: แอมันพบบิดาของกษัตริย์ลาโมไน” (เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 64–68, 69–70) หรือจะให้เด็กวาดรูปเรื่องราวแต่ละตอนและใช้รูปเหล่านั้นเล่าเรื่องก็ได้ แอมันทำอะไรเพื่อช่วยให้ลาโมไนกับบิดาเปิดใจรับพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์? (ดู แอลมา 17:21–25; 20:8–27; 22:1–3)

  • ท่านและเด็กๆ อาจจะนึกถึงคนที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ช่วยเด็กคิดหาวิธีที่พวกเขาสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีและแสดงความรักต่อบุคคลนั้น เหมือนแอมันทำกับลาโมไนและบิดาของเขา

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ภาพ
ภาพประกอบของเอบิช

ภาพประกอบของเอบิช โดย ดิลลีน มาร์ช

พิมพ์