“24–30 มิถุนายน: ‘เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า’ แอลมา 13–16,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)
“24–30 มิถุนายน แอลมา 13–16,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)
24–30 มิถุนายน: “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า”
แอลมา 13–16
ชีวิตในแอมันไนฮาห์ดีทั้งสำหรับอมิวเล็คและซีเอสรอมในหลายๆ ด้าน อมิวเล็คเป็น “ที่นับถือไม่น้อย” มี “ญาติพี่น้องและเพื่อนอยู่มาก” และได้ “ความมั่งคั่งไว้มาก” (แอลมา 10:4) ซีเอสรอมเป็นทนายความผู้เชี่ยวชาญที่สนุกกับ “ธุรกิจมากมาย” (แอลมา 10:31) จากนั้นแอลมาจึงมาถึงพร้อมคำเชื้อเชิญให้กลับใจและ “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า” (แอลมา 13:16) สำหรับอมิวเล็ค ซีเอสรอม และคนอื่นๆ การยอมรับคำเชื้อเชิญนี้เรียกร้องการเสียสละแม้ถึงขั้นนำไปสู่ความยากลำบากจนสุดจะทนไหว
แต่เรื่องราวไม่จบตรงนั้น ใน แอลมา 13–16 เราเรียนรู้ว่าสุดท้ายแล้วเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เชื่อ “ในเดชานุภาพของพระคริสต์ที่ส่งผลสู่ความรอด” (แอลมา 15:6) บางครั้งมีการปลดปล่อย บางครั้งมีการเยียวยา—และบางครั้งสถานการณ์ไม่ได้ง่ายขึ้นในชีวิต แต่ “พระเจ้าทรงรับ [คนของพระองค์] ขึ้นไปสู่พระองค์แล้ว, ในรัศมีภาพ” เสมอ (แอลมา 14:11) พระเจ้าประทาน “พลังความสามารถให้ [พวกท่านเสมอ], ตามศรัทธาที่ [พวกท่าน] มีอยู่ … ในพระคริสต์” (แอลมา 14:28) และศรัทธานั้นให้ “ความหวัง [เสมอ] ว่า [เรา] จะได้รับชีวิตนิรันดร์” (แอลมา 13:29) ขณะที่ท่านอ่านบทเหล่านี้ ท่านสามารถรับการปลอบโยนในสัญญาเหล่านี้ และท่านจะเข้าใจดีขึ้นว่าแอลมาหมายถึงอะไรเมื่อเขาพูดถึงการเข้าสู่ “สถานพักผ่อนของพระเจ้า” (แอลมา 13:16)
แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
ศาสนพิธีฐานะปุโรหิตชี้ทางให้ฉันไปหาพระเยซูคริสต์เพื่อการไถ่
คำพูดของแอลมาใน แอลมา 13 เปิดเผยความจริงอันทรงพลังเกี่ยวกับอำนาจฐานะปุโรหิตของพระผู้เป็นเจ้าและจุดประสงค์—เพื่อเตรียมเราให้พร้อมเข้าสู่ “สถานพักผ่อนของพระเจ้า” หรือชีวิตนิรันดร์ (แอลมา13:16) ท่านอาจจดความจริงอย่างน้อยข้อละหนึ่งประการใน แอลมา 13:1–19 แนวคิดต่อไปนี้จะช่วยท่านเริ่มต้น:
-
ข้อ 1ฐานะปุโรหิตมีอีกชื่อหนึ่งว่า “ระเบียบของพระบุตร [ของพระผู้เป็นเจ้า]” (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 107:1–4 ด้วย)
-
ข้อ 2พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งปุโรหิตให้ช่วยผู้คนที่หวังพึ่งการไถ่จากพระบุตรของพระองค์
ท่านพบอะไรอีกบ้าง? ท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับฐานะปุโรหิตขณะท่านไตร่ตรองความจริงเหล่านี้?
ท่านเคยคิดว่าศาสนพิธีฐานะปุโรหิตเป็นของประทานจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อช่วยให้ท่าน “ตั้งตารอพระบุตรของพระองค์เพื่อการไถ่” หรือไม่? (ข้อ 2; ดู ข้อ 16 ด้วย) ท่านอาจจะเขียนศาสนพิธีที่เคยได้รับออกมาเป็นข้อๆ เช่น บัพติศมา การยืนยัน ศีลระลึก การวางมือมอบหน้าที่สำหรับการเรียก พรแห่งการปลอบโยนหรือการเยียวยา ปิตุพร และศาสนพิธีพระวิหาร ไตร่ตรองประสบการณ์ของท่านเกี่ยวกับศาสนพิธีดังกล่าว นึกถึงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องและพระวิญญาณที่ท่านรู้สึก ศาสนพิธีแต่ละอย่างนำท่านไปหาพระเยซูคริสต์เพื่อรับการไถ่อย่างไร?
บางคนมีความเชื่อผิดๆ ว่าศาสนพิธี—และสิทธิอำนาจฐานะปุโรหิตในการประกอบศาสนพิธี—เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ท่านจะตอบสนองต่อแนวคิดนี้อย่างไร? ต่อไปนี้เป็นข่าวสารการประชุมใหญ่สามัญสองฉบับที่สามารถใช้ประกอบการคิดของท่าน ให้ท่านเลือกหนึ่งข้อและเขียนคำตอบที่ท่านนึกถึง: รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ทรัพย์สมบัติทางวิญญาณ,” เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 76–79; เดล จี. เรนลันด์, “ฐานะปุโรหิตและเดชานุภาพแห่งการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอด,” เลียโฮนา, พ.ย. 2017, 64–67
ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 84:19–22 ด้วย
พระเจ้าทรงเชื้อเชิญให้ฉันเข้าไปในสถานพักผ่อนของพระองค์
คำเชื้อเชิญให้ “เข้าไปในสถานพักผ่อนของพระเจ้า” (แอลมา 13:16) มีการกล่าวซ้ำใน แอลมา 13 อยู่บ่อยครั้ง ท่านอาจจะมองหาทุกข้อที่มีคำว่า “พักผ่อน” ปรากฏขึ้นและไตร่ตรองว่าแต่ละข้อสอนอะไรท่านเกี่ยวกับความหมายของ “สถานพักผ่อนของพระเจ้า” การพักผ่อนนั้นต่างจากการพักผ่อนทางร่างกายอย่างไร? เราจะหาการพักผ่อนนั้นให้เจอได้อย่างไร?
ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ชนะโลกและหยุดพัก,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 95–98; “มาหาพระเยซู,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 49 ด้วย
ในยามทุกข์ เราต้องวางใจพระเจ้า
ท่านอาจสงสัยเช่นเดียวกับหลายๆ คนว่าเหตุใดเรื่องร้ายๆ จึงเกิดกับคนที่พยายามดำเนินชีวิตอย่างชอบธรรม ท่านอาจไม่พบคำตอบทั้งหมดของคำถามที่ตอบยากนี้ใน แอลมา 14 แต่มีให้เรียนรู้มากจากวิธีที่แอลมากับอมิวเล็คตอบสนองต่อเหตุการณ์สลดใจ คำพูดและการกระทำของพวกเขาสอนอะไรท่านถึงสาเหตุที่บางครั้งพระเจ้าทรงยอมให้คนชอบธรรมทนทุกข์? แอลมากับอมิวเล็คจะให้คำแนะนำอะไรแก่เราเมื่อเรากำลังประสบกับการทดลองยากๆ?
ดู โรม 8:35–39; 1 เปโตร 4:12–14; หลักคำสอนและพันธสัญญา 122:5–9; เดล จี. เรนลันด์, “ความอยุติธรรมอันน่าเดือดดาล,” เลียโฮนา, พ.ค. 2021, 41–45 ด้วย
การเป็นสานุศิษย์เรียกร้องการเสียสละ
อาจจะน่าสนใจถ้าเขียนสิ่งที่อมิวเล็คเสียสละเพื่อน้อมรับพระกิตติคุณออกมาเป็นข้อๆ (ดู แอลมา 10:4–5; 15:16) และเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาได้รับ (ดู แอลมา 15:18; 16:13–15; 34:8) ท่านเต็มใจเสียสละอะไรเพื่อจะเป็นสานุศิษย์ที่ซื่อสัตย์มากขึ้นของพระเยซูคริสต์?
แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก
เพราะวันอาทิตย์นี้เป็นวันอาทิตย์ที่ห้าของเดือน เราจึงขอให้ครูปฐมวัยใช้กิจกรรมการเรียนรู้ใน “ภาคผนวก ข: การเตรียมเด็กให้อยู่บนเส้นทางพันธสัญญาของพระผู้เป็นเจ้าไปตลอดชีวิต”
อำนาจฐานะปุโรหิตช่วยให้ฉันเข้าใกล้พระคริสต์มากขึ้น
-
วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเห็นว่าอำนาจฐานะปุโรหิตนำเราไปหาพระคริสต์อย่างไร คือการแสดงให้พวกเขาเห็นภาพวิธีใช้อำนาจฐานะปุโรหิต (ดู หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 103–110) เด็กสามารถช่วยท่านนึกถึงวิธีที่พระเยซูทรงใช้อำนาจของพระองค์ (ดู มัทธิว 26:26–28; มาระโก 5:22–24, 35–43; หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 38–41 เป็นตัวอย่าง) จากนั้นท่านอาจจะอ่าน แอลมา 13:2 ด้วยกันและพูดคุยเกี่ยวกับวิธีที่อำนาจฐานะปุโรหิตช่วยให้เรา “ตั้งตารอพระบุตร [ของพระผู้เป็นเจ้า]” และเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น
-
เหตุใดพระผู้เป็นเจ้าจึงประทานศาสนพิธีฐานะปุโรหิตแก่เรา? ช่วยเด็กค้นหาคำตอบใน แอลมา 13:16 หากพวกเขาต้องการความช่วยเหลือในการรู้ว่าศาสนพิธีคืออะไร มีรายการคำอธิบายใน คู่มือทั่วไป, 18.1 และ 18.2 ท่านและเด็กอาจพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์ของการได้รับศาสนพิธีเหล่านี้ ศาสนพิธีเหล่านี้ช่วยให้เรา “ตั้งตารอ [พระเยซูคริสต์] เพื่อการปลดบาปของ [เรา]” อย่างไร? เพลงอย่างเช่น “เมื่อฉันรับบัพติศมา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 53) สามารถช่วยให้เด็กนึกถึงเหตุผลอื่นๆ ที่จะขอบคุณศาสนพิธีฐานะปุโรหิต
พระเยซูคริสต์ทรงทำให้ฉันสะอาดได้
-
หลังจากอ่านข้อเหล่านี้ด้วยกันแล้ว ให้นึกถึงวิธีที่จะช่วยให้เด็กเห็นภาพสิ่งที่สอน ท่านอาจล้างบางสิ่งด้วยกัน เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราสกปรก? เรารู้สึกอย่างไรเมื่อเราสะอาดอีกครั้ง? ความรู้สึกเหล่านี้คล้ายกับที่เรารู้สึกเมื่อเราทำบาปแล้วกลับใจและกลับสะอาดผ่านการชดใช้ของพระผู้ช่วยให้รอดอย่างไร?
พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำให้ฉันเข้มแข็งขึ้นเมื่อฉันมีศรัทธาในพระเยซูคริสต์
-
หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้จะช่วยให้ท่าน—หรือเด็ก—เล่าเรื่องใน แอลมา 14:18–29 (ดู “บทที่ 22: งานเผยแผ่ของแอลมาในแอมันไนฮาห์,” เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 58–63 ด้วย) เน้นย้ำว่าแอลมากับอมิวเล็คได้รับพลังเพราะ “ศรัทธาที่ [มี] อยู่ในพระคริสต์” (แอลมา 14:26) ท่านยังสามารถพูดถึงเวลาที่พระผู้เป็นเจ้าประทานกำลังแก่ท่าน “ตามศรัทธา [ของท่าน]” ได้เช่นกัน เราจะซื่อสัตย์เหมือนแอลมากับอมิวเล็คได้อย่างไร?
พระเยซูคริสต์สามารถเปลี่ยนใจได้
-
การเปลี่ยนใจของซีเอสรอมผ่านพระเยซูคริสต์เป็นแรงบันดาลใจ ลองทบทวนกับเด็กว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับซีเอสรอม จากนั้นท่านอาจจะอ่าน แอลมา 15:3–12 ด้วยกันเพื่อค้นหาว่าซีเอสรอมเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราเรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ของซีเอสรอมเกี่ยวกับเดชานุภาพของพระเจ้า?