จงตามเรามา
17–23 มิถุนายน: “พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์” แอลมา 8–12


“17–23 มิถุนายน: ‘พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์’ แอลมา 8–12,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“17–23 มิถุนายน แอลมา 8–12,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

แอลมาสั่งสอน

สอนหลักคำสอนที่แท้จริง โดย ไมเคิล ที. มาล์ม

17–23 มิถุนายน: พระเยซูคริสต์จะเสด็จมาไถ่ผู้คนของพระองค์

แอลมา 8–12

งานของพระผู้เป็นเจ้าจะไม่ล้มเหลว แต่การที่เราพยายามช่วยงานของพระองค์บางครั้งอาจดูเหมือนล้มเหลว—อย่างน้อยเราอาจไม่เห็นผลที่เราหวังทันที เราอาจจะรู้สึกเหมือนแอลมาเล็กน้อยเมื่อเขาสั่งสอนพระกิตติคุณในแอมันไนฮาห์—ถูกปฏิเสธ ถูกถ่มน้ำลายรด และถูกขับไล่ ทว่าเมื่อเทพแนะนำให้เขากลับไปและพยายามอีกครั้ง แอลมา “กลับไปโดยเร็ว” อย่างกล้าหาญ (แอลมา 8:18) และพระผู้เป็นเจ้าทรงเตรียมทางตรงหน้าเขา พระองค์ไม่เพียงทรงจัดเตรียมอาหารและที่พักให้แอลมาเท่านั้น แต่ทรงเตรียมอมิวเล็คไว้ด้วย ผู้กลายเป็นเพื่อนร่วมงาน ผู้ปกป้องพระกิตติคุณอย่างจริงจังมาก และเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ เมื่อเราประสบอุปสรรคหรือความผิดหวังขณะเรารับใช้ในอาณาจักรของพระเจ้า เราสามารถจดจำวิธีที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสนับสนุนและนำแอลมา เราวางใจได้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงสนับสนุนและนำเราแม้ในสภาวการณ์ยากๆ เช่นกัน

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

ไอคอนเซมินารี

แอลมา 8

ความพยายามของฉันในการแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ต้องใช้ความอดทน

ท่านเคยพยายามแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์กับผู้อื่น แต่ถูกปฏิเสธการเชื้อเชิญนั้นหรือไม่? แอลมาเคยประสบเหตุการณ์เช่นนั้นเหมือนกัน ท่านเรียนรู้อะไรจากเขาใน แอลมา 8:13–16 เกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณแม้จะมีความท้าทายและการต่อต้าน? อ่าน ข้อ 17–32 ต่อไปและมองหาวลีที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่านไม่หยุดแบ่งปันพระกิตติคุณ แม้จะดูเหมือนท่านไม่ประสบความสำเร็จ

ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกเป็นพยานพิเศษของพระคริสต์ ดังนั้นพวกเขาจึงมีคำแนะนำที่สร้างแรงบันดาลใจมากมายให้แบ่งปันเกี่ยวกับการเป็นพยานถึงพระองค์ ดูสิ่งที่เอ็ลเดอร์ดีเทอร์ เอฟ. อุคท์ดอร์ฟกล่าวใน “แต่จะเป็นอย่างไรถ้ายาก” (ส่วนหนึ่งใน “งานเผยแผ่ศาสนา: แบ่งปันสิ่งที่อยู่ในใจท่าน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2019, 18) หรือสิ่งที่เอ็ลเดอร์แกรีย์ อี. สตีเวนสันแบ่งปันใน “รัก แบ่งปัน เชื้อเชิญ,” (เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 84–87) ท่านพบอะไรในข่าวสารนี้ที่จะเป็นประโยชน์แก่คนที่เริ่มรู้สึกท้อแท้เกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณ?

ท่านจะสรุปทุกสิ่งที่ได้ศึกษาจากข่าวสารนี้ออกมาเป็นหนึ่งหรือสองข้อความที่ให้กำลังใจเกี่ยวกับการแบ่งปันพระกิตติคุณอย่างไร? ท่านอาจสร้างโปสเตอร์หรือมีมที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน (และคนอื่นๆ) พยายามต่อไป

ดู “ช่วยข้าสอนได้ด้วยการดลใจ,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 141 ด้วย

แอลมา 9:14–23

พรของพระผู้เป็นเจ้ามาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่

เมื่ออ่านเกี่ยวกับวิธีที่ชาวนีไฟในแอมันไนฮาห์ปฏิบัติต่อผู้รับใช้ของพระเจ้า เราอาจลืมไปว่าพวกเขาเคยดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณและเป็น “ที่โปรดปรานยิ่งของพระเจ้า” (แอลมา 9:20) ขณะที่ท่านอ่านเกี่ยวกับพรมากมายที่พระผู้เป็นเจ้าประทานแก่ผู้คนของนีไฟ (ดู แอลมา 9:14–23 เป็นพิเศษ) ให้ไตร่ตรองพรมากมายที่พระองค์ประทานแก่ท่าน พรเหล่านี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบใดบ้าง? ท่านกำลังทำอะไรเพื่อซื่อตรงต่อความรับผิดชอบเหล่านี้?

ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 50:24; 82:3; 93:39 ด้วย

แอลมา 11–12

แผนของพระผู้เป็นเจ้าคือแผนแห่งการไถ่

ใน แอลมา 11–12 แอลมากับอมิวเล็คเรียกแผนของพระผู้เป็นเจ้าว่าแผนแห่งการไถ่ ขณะท่านอ่านบทเหล่านี้ ให้ไตร่ตรองว่าเหตุใดจึงใช้คำว่า การไถ่ อธิบายแผนของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอาจเขียนสรุปสั้นๆ ว่าแอลมาและอมิวเล็คสอนอะไรเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ต่อไปนี้ของแผน:

  • การตก

  • พระผู้ไถ่

  • การกลับใจ

  • ความตาย

  • การฟื้นคืนชีวิต

  • การพิพากษา

สังเกตผลของคำพูดที่อมิวเล็คกล่าวแก่ผู้คน (ดู แอลมา 11:46) การรู้แผนของพระผู้เป็นเจ้าส่งผลต่อท่านอย่างไร?

ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “แผนอันสำคัญยิ่ง,” เลียโฮนา, พ.ค. 2020, 93–96 ด้วย

แอลมา 12:8–18

ถ้าฉันไม่ทำใจแข็งกระด้าง ฉันจะได้รับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้น

บางคนอาจสงสัยว่าเหตุใดพระบิดาบนสวรรค์ไม่ทรงทำให้เรารู้ทุกอย่าง แอลมาอธิบายเหตุผลหนึ่งที่เป็นไปได้ใน แอลมา 12:9–14 คำถามเหล่านี้อาจจะช่วยให้ท่านไตร่ตรองสิ่งที่แอลมาสอน:

  • ทำใจท่านแข็งกระด้างหมายความว่าอย่างไร? ผลของการมีใจแข็งกระด้างเป็นอย่างไร? (ดู แอลมา 8:9–11; 9:5, 30–31; และ 10:6, 25 ด้วย)

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหันใจไปหาพระผู้เป็นเจ้า? (ดู เยเรมีย์ 24:7; แอลมา 16:16; ฮีลามัน 3:35)

  • ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้แน่ใจว่า “พบพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าใน [ตัวท่าน]”? (แอลมา 12:13) เมื่อท่านมีพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าในตัวท่าน จะมีผลอะไรต่อ “ถ้อยคำ” “งาน” และ “ความนึกคิด” ของท่าน? (แอลมา 12:14)

ประสบการณ์ของอมิวเล็คสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพรของการมีใจอ่อนโยน? (ดู แอลมา 10:1–11)

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

แอลมา 8–10

ฉันสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์

  • หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้จะช่วยให้ท่านสรุปเหตุการณ์ใน แอลมา 8–10 ให้เด็กฟังได้ ท่านอาจต้องการช่วยให้พวกเขาพบหลักธรรมที่ทำให้แอลมากับอมิวเล็คเป็นผู้สอนศาสนาที่ดี ตัวอย่างเช่น พวกเขาไม่ยอมแพ้ (ดู แอลมา 8:8–13) พวกเขาเป็นพยานถึงพระคริสต์ (ดู แอลมา 9:26–27) และพวกเขาร่วมมือกัน (ดู แอลมา 10:12)

  • เพลงเกี่ยวกับงานเผยแผ่ศาสนา เช่น “ฉันอยากเป็นผู้สอนศาสนาเดี๋ยวนี้” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 90) อาจให้แนวคิดแก่เด็กเกี่ยวกับวิธีแบ่งปันพระกิตติคุณกับเพื่อนๆ ให้เด็กเขียนแนวคิดที่พวกเขาพบและคนที่พวกเขาสามารถแบ่งปันพระกิตติคุณด้วยได้ หรือท่านจะให้เด็กแสดงบทบาทสมมติในสิ่งที่พวกเขาอาจพูดหรือทำได้เช่นกัน

ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ขณะที่ท่านเตรียมสอน แทนที่จะวางแผนสิ่งที่จะพูด ให้ถามตนเองว่า “เด็กจะทำอะไรเพื่อเรียนรู้ได้บ้าง?” เด็กจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นและจดจำได้นานขึ้นเมื่อพวกเขามีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น

แอลมา 11–12

แผนของพระผู้เป็นเจ้าคือแผนแห่งการไถ่

  • ท่านอาจให้เด็กวาดภาพแทนหลักธรรมของแผนแห่งการไถ่ เช่น การตกของอาดัมและเอวา การชดใช้ของพระเยซูคริสต์ การกลับใจ ความตาย การฟื้นคืนชีวิต และการพิพากษา จากนั้นท่านอาจช่วยพวกเขาจับคู่รูปภาพกับข้อต่างๆ ใน ​​แอลมา 11–12 ที่สอนเกี่ยวกับหลักธรรมเหล่านี้

แอลมา 8:18–22

ฉันสามารถเป็นเพื่อนที่ดี

  • ท่านอาจเชิญให้เด็กคนหนึ่งแสดงเป็นอมิวเล็คและอีกคนแสดงเป็นแอลมาขณะท่านเล่าเรื่องใน แอลมา 8:18–22 อมิวเล็คเป็นเพื่อนที่ดีของแอลมาอย่างไร? จากนั้นท่านอาจให้เด็กแบ่งปันว่าคนอื่นเป็นเพื่อนกับพวกเขาอย่างไรและประสบการณ์นั้นทำให้พวกเขารู้สึกอย่างไร

  • ท่านอาจสร้างจิ๊กซอว์มิตรภาพ โดยค้นหาหรือวาดภาพที่แสดงถึงมิตรภาพแล้วตัดออกมาเป็นชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ เขียนบางสิ่งที่เราทำได้เพื่อเป็นเพื่อนที่ดี รวมถึงสิ่งที่แอลมากับอมิวเล็คทำไว้ที่ด้านหลังของจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น ท่านอาจให้เด็กผลัดกันเลือกหนึ่งชิ้นและต่อภาพปริศนาขณะท่านอ่านสิ่งที่เขียนไว้ด้านหลังแต่ละชิ้น ใครต้องการมิตรภาพของเรา?

เด็กหญิงสองคนหัวเราะ

เราสามารถเป็นเพื่อนที่ดีของคนอื่นๆ

แอลมา 11:43–44

เพราะพระเยซูคริสต์ เราจึงจะฟื้นคืนชีวิต

  • ใช้บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์อย่างบทเรียนนี้เพื่อสอนเกี่ยวกับการฟื้นคืนชีวิต ท่านอาจใช้มือของท่านแทนวิญญาณของตนเอง และถุงมือแทนร่างกายของท่าน ถอดถุงมือเพื่อแสดงให้เห็นว่าวิญญาณกับร่างกายของเราจะแยกจากกันเมื่อสิ้นชีวิต จากนั้นให้สวมถุงมือเหมือนเดิมเพื่อแสดงว่าวิญญาณกับร่างกายของเราจะรวมกันอีกครั้งเมื่อฟื้นคืนชีวิต ให้เด็กผลัดกันสวมถุงมือและถอดถุงมือขณะท่านอ่าน แอลมา 11:43 ให้พวกเขาฟัง ให้ดูภาพพระผู้ช่วยให้รอดที่ฟื้นคืนพระชนม์ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 59) และเป็นพยานว่าพระเยซูคริสต์ทรงทำให้ทุกคนฟื้นคืนชีวิต

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

แอลมารับประทานอาหารกับอมิวเล็ค

ภาพประกอบของแอลมารับประทานอาหารกับอมิวเล็ค โดย แดน เบอร์