จงตามเรามา
27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน: “จึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า” โมไซยาห์ 25–28


“27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน: ‘จึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า’ โมไซยาห์ 25–28,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน โมไซยาห์ 25–28,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

เทพปรากฏต่อแอลมาและพวกบุตรของโมไซยาห์

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตร โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

27 พฤษภาคม–2 มิถุนายน: “จึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า”

โมไซยาห์ 25–28

หลังจากที่แยกกันอยู่คนละแผ่นดินเกือบสามชั่วอายุคน ชาวนีไฟเป็นกลุ่มเดียวอีกครั้ง ผู้คนของลิมไฮ ผู้คนของแอลมา และผู้คนของโมไซยาห์—แม้กระทั่งผู้คนของเซราเฮ็มลาที่ไม่ได้สืบตระกูลมาจากนีไฟ—เวลานี้ทั้งหมด “นับอยู่กับชาวนีไฟ” (โมไซยาห์ 25:13) พวกเขาจำนวนมากต้องการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเจ้าเช่นเดียวกับผู้คนของแอลมา ด้วยเหตุนี้ทุกคนที่ “ปรารถนาจะน้อมรับพระนามของพระคริสต์” จึงรับบัพติศมา “และจึงเรียกคนเหล่านั้นว่าผู้คนของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 25:23–24) หลังจากความขัดแย้งและการเป็นเชลยหลายปี ดูเหมือนในที่สุดชาวนีไฟจะมีช่วงเวลาของความสงบสุข

แต่ไม่นาน ผู้ไม่เชื่อก็เริ่มข่มเหงวิสุทธิชน สิ่งที่น่าปวดร้าวใจอย่างยิ่งคือผู้ไม่เชื่อมากมายเหล่านี้เป็น— “อนุชนรุ่นหลัง” (โมไซยาห์ 26:1) ลูกหลานของผู้เชื่อรวมทั้งพวกบุตรของโมไซยาห์และบุตรคนหนึ่งของแอลมาด้วย เรื่องราวเล่าถึงการมาเยี่ยมอย่างน่าอัศจรรย์ของเทพ แต่ปาฏิหาริย์ที่แท้จริงของเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเทพมาปรากฏต่อบุตรชายที่ดื้อรั้นเท่านั้น การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นปาฏิหาริย์ที่ต้องเกิดขึ้นกับเราทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

โมไซยาห์ 26:1–6

ฉันสามารถช่วยให้ผู้อื่นมาหาพระเยซูคริสต์ได้

การเปลี่ยนใจเลื่อมใสเป็นเรื่องส่วนบุคคล—หมายความว่าไม่สามารถส่งต่อให้ลูกหลานเหมือนมรดกได้ ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 26:1–6 ให้ไตร่ตรองเหตุผลที่เป็นไปได้ที่ “อนุชนรุ่นหลัง” ละทิ้ง และสังเกตเห็นผลของการไม่เชื่อของพวกเขา ท่านอาจจะนึกถึงคนที่ท่านประสงค์จะนำพวกเขามาหาพระคริสต์ได้เช่นกัน ตลอดการศึกษา โมไซยาห์ 25–28 พระวิญญาณอาจกระซิบสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อช่วยให้พวกเขาเสริมสร้างศรัทธาในพระเยซูคริสต์

โมไซยาห์ 26:6–39

ผู้รับใช้ที่ซื่อสัตย์ของพระผู้เป็นเจ้าหมายมั่นทำตามพระประสงค์ของพระองค์

บางครั้งเราอาจจะคิดว่าผู้นำศาสนจักรเช่นแอลมารู้สิ่งที่ต้องทำเสมอ ใน โมไซยาห์ 26 เราอ่านเกี่ยวกับปัญหาในศาสนจักรที่แอลมาไม่เคยต้องรับมือ แอลมาทำอะไรในสถานการณ์นี้? (ดู โมไซยาห์ 26:13–14, 33–34, 38–39) ประสบการณ์ของแอลมาบอกอะไรเกี่ยวกับวิธีที่ท่านจะแก้ไขปัญหายากๆ ในครอบครัวท่านหรือการรับใช้ในศาสนจักร?

พระเจ้าทรงสอนอะไรแอลมาใน โมไซยาห์ 26:15–32? สังเกตว่าคำตอบของพระเจ้าบางข้อไม่ได้เป็นการตอบคำถามของแอลมาโดยตรง สิ่งนี้บอกอะไรเกี่ยวกับการสวดอ้อนวอนและการได้รับการเปิดเผยส่วนตัว?

หลักการเป็นสิ่งนิรันดร์ พิจารณาว่าเรื่องเล่าและคำสอนในพระคัมภีร์ประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจจะถามตัวเองว่า “ฉันเคยมีประสบการณ์อะไรที่เหมือนกับแอลมาบ้าง?” หรือ “ความจริงอะไรที่แอลมาสอนสามารถช่วยฉันได้?”

โมไซยาห์ 26:15–31

พระผู้เป็นเจ้าทรงยกโทษให้ฉันเมื่อฉันกลับใจและให้อภัยผู้อื่น

การกลับใจและการให้อภัยเป็นหัวข้อที่กล่าวซ้ำใน โมไซยาห์ 26–27 มองหาคำและวลีที่สอนเกี่ยวกับการกลับใจและการให้อภัยใน โมไซยาห์ 26:22–24, 29–31; 27:23–37

บางคนอาจสงสัยว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานอภัยพวกเขาจริงหรือไม่ ท่านจะนึกภาพว่าแอลมาผู้บิดาแนะนำสมาชิกของศาสนจักรในเซราเฮ็มลาที่มีข้อกังวลนั้นอย่างไร? แอลมาเรียนรู้อะไรจากพระเจ้าใน โมไซยาห์ 26:15–31 ที่สามารถช่วยสมาชิกศาสนจักรคนนี้ได้? (ดู โมโรไน 6:8; หลักคำสอนและพันธสัญญา 19:16–18; 58:42–43 ด้วย)

ไอคอนเซมินารี

โมไซยาห์ 27:8–37; 28:1–4

ฉันเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้โดยผ่านพระเยซูคริสต์

เห็นได้ชัดว่าแอลมาผู้บุตรต้องการการเกิดใหม่ทางวิญญาณ เขาและพวกบุตรของโมไซยาห์เป็น “คนบาปที่ชั่วช้าที่สุดจริงๆ” (โมไซยาห์ 28:4) แต่หลังจากเปลี่ยนใจเลื่อมใสไม่นาน แอลมาเป็นพยานว่าการเปลี่ยนใจเลื่อมใสจำเป็น—สำหรับทุกคน: “อย่าประหลาดใจ” ท่านกล่าว “ที่มนุษย์ ทั้งปวง … ต้องเกิดใหม่” (โมไซยาห์ 27:25; เน้นตัวเอน)

ขณะที่ท่านอ่านประสบการณ์ของแอลมาใน โมไซยาห์ 27:8–37 ท่านอาจจะลองนำตัวท่านเข้าไปอยู่ในเรื่องราวของเขา ท่านมีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวท่านเองหรือไม่? ใครอาจสวดอ้อนวอนให้ท่าน “ด้วยศรัทธามาก” เช่นเดียวกับบิดาของแอลมา? ประสบการณ์ใดช่วย “ทำให้ [ท่าน] เชื่อมั่นถึงเดชานุภาพและอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า”? (โมไซยาห์ 27:14) “สิ่งสำคัญยิ่ง” อะไรบ้างที่พระเจ้าทรงทำให้ท่านหรือครอบครัวท่านที่ท่านควร “นึกถึง”? (โมไซยาห์ 27:16) ท่านเรียนรู้อะไรจากคำพูดและการกระทำของแอลมาผู้บุตรเกี่ยวกับความหมายของการเกิดใหม่? ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไร?

ใช้เวลาสักครู่เพื่อบันทึกวิธีที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงช่วยท่านเปลี่ยนแปลง—หรือเกิดใหม่อีกครั้ง—แม้ว่าประสบการณ์ของท่านจะไม่น่าทึ่งหรือกะทันหันเหมือนของแอลมา มีเพลงสวดอะไรบ้างที่ท่านสามารถร้องหรือฟังซึ่งแสดงถึงความรู้สึกของท่าน เช่น “ฉันเฝ้าพิศวง”? (เพลงสวด, บทเพลงที่ 89) ใครจะได้ประโยชน์จากการฟังประสบการณ์ของท่าน?

เอ็ลเดอร์เดวิด เอ. เบดนาร์เปรียบเทียบการเกิดใหม่กับกระบวนการที่ทำให้แตงกวาสดกลายเป็นแตงกวาดอง (ดู “พวกท่านต้องเกิดใหม่,” เลียโฮนา, พ.ค. 2007, 19–22) การเปรียบเทียบนี้สอนอะไรท่านเกี่ยวกับการเปลี่ยนใจเลื่อมใส?

โมไซยาห์ 27:8–24

พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ยินคำสวดอ้อนวอนของเราและจะทรงตอบตามพระประสงค์และจังหวะเวลาของพระองค์

ท่านอาจเคยอยู่ในสถานการณ์ของแอลมาผู้บิดากับสมาชิกครอบครัวที่ตัดสินใจทำการเลือกที่เป็นภัย ท่านพบอะไรใน โมไซยาห์ 27:8–24 ที่ให้ความหวังแก่ท่าน? ข้อเหล่านี้จะมีผลต่อการสวดอ้อนวอนของท่านเพื่อผู้อื่นอย่างไร?

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

โมไซยาห์ 26:30–31

พระเจ้าทรงต้องการให้ฉันให้อภัย

  • เพื่อช่วยให้เด็กค้นพบสิ่งที่พระเจ้าทรงสอนแอลมาเกี่ยวกับการให้อภัย ท่านอาจให้พวกเขาอ่าน โมไซยาห์ 26:29–31 และนับจำนวนครั้งที่คำว่า “ให้อภัย” ปรากฏขึ้น ข้อเหล่านี้สอนอะไรเกี่ยวกับการให้อภัยผู้อื่น? (ดู “พระบิดาโปรดช่วยฉัน,” หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 52 ด้วย)

  • เพื่อเน้นแบบอย่างการให้อภัยของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านอาจให้ดูภาพพระองค์บนไม้กางเขนและอ่าน ลูกา 23:33–34 ด้วยกัน พระเยซูทรงขอให้พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำอะไรเพื่อคนที่ตรึงพระองค์บนไม้กางเขน? หลังจากการสนทนานี้ เด็กสามารถแสดงบทบาทสมมติเกี่ยวกับการให้อภัยกัน

  • บางครั้งก็ยากที่จะให้อภัยตัวเราเองเมื่อเราทำผิดพลาด พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าที่ประทานแก่แอลมาช่วยได้อย่างไร? ท่านอาจให้เด็กแสร้งทำเป็นว่ากำลังคุยกับคนที่ไม่คิดว่าพระผู้เป็นเจ้าจะให้อภัยพวกเขา ให้เด็กหาบางสิ่งใน โมไซยาห์ 26:22–23, 29–30 ที่อาจช่วยคนนั้นได้

โมไซยาห์ 27:8–37

พระเยซูคริสต์ทรงช่วยให้ฉันเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้น

  • การเปลี่ยนใจเลื่อมใสของแอลมาผู้บุตรและพวกบุตรของโมไซยาห์สามารถแสดงให้เด็กเห็นว่าใครๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยเดชานุภาพของพระผู้ช่วยให้รอด ท่านหรือเด็กสามารถใช้ภาพวาดในโครงร่างนี้ หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ และพระคัมภีร์สำคัญสองสามข้อจาก โมไซยาห์ 27:8–37 เพื่อเล่าเรื่อง (ดู “บทที่ 18: แอลมาผู้บุตรกลับใจ” ใน เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 49–52 ด้วย) เน้น ข้อ 24 เป็นพิเศษเพื่อสอนว่าแอลมากลับใจและพระเยซูคริสต์ทรงช่วยเขาเปลี่ยนแปลง ให้เด็กแสดงบทบาทสมมติตามเรื่องราวหากต้องการ

แอลมาผู้บุตรถูกแบกมายังบ้านของบิดา

บิดาของเขาชื่นชมยินดี โดย วอลเตอร์ เรน

โมไซยาห์ 27:8–24

ฉันสามารถสวดอ้อนวอนและอดอาหารเพื่อให้พระผู้เป็นเจ้าประทานพรคนที่ฉันรัก

  • อ่าน โมไซยาห์ 27:8–24 ด้วยกัน และขอให้เด็กบอกสิ่งที่แอลมากับผู้คนของเขาทำเพื่อช่วยแอลมาผู้บุตร ท่านเคยอดอาหารและสวดอ้อนวอนเผื่อใครสักคนไหม? แบ่งปันประสบการณ์ของท่านกับเด็กและให้พวกเขาแบ่งปันเรื่องของตนเอง

  • ท่านหรือเด็กรู้จักคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าหรือไม่? ทำตามแบบอย่างของแอลมา โดยท่านอาจจะสวดอ้อนวอนเพื่อคนคนนั้นด้วยกัน รวมถึงอดอาหารเพื่อพวกเขาด้วย หากทำได้

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

เทพปรากฏต่อแอลมาผู้บุตร

ภาพประกอบของเทพปรากฏต่อแอลมาผู้บุตร โดย เควิน คีลี