จงตามเรามา
20–26 พฤษภาคม: “เราเข้ามาในพันธสัญญากับพระองค์” โมไซยาห์ 18–24


“20–26 พฤษภาคม: ‘เราเข้ามาในพันธสัญญากับพระองค์’ โมไซยาห์ 18–24,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“20–26 พฤษภาคม โมไซยาห์ 18–24,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

ผู้คนของลิมไฮหลบหนี

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976), การหลบหนีของกษัตริย์ลิมไฮกับผู้คนของเขา, 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด ขนาด 35 7/8 x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 1969

โมไซยาห์ 20–26: เราเข้ามาในพันธสัญญากับพระองค์

โมไซยาห์ 18–24

เรื่องราวของแอลมากับผู้คนของเขาใน โมไซยาห์ 18; 23–24 แสดงให้เห็นว่า “มาสู่คอกของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 18:8) หมายความว่าอย่างไร เมื่อผู้คนของแอลมารับบัพติศมา พวกเขาทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าว่าจะ “รับใช้พระองค์และรักษาพระบัญญัติของพระองค์” (โมไซยาห์ 18:10) ถึงแม้จะเป็นคำมั่นสัญญาส่วนตัวกับพระผู้เป็นเจ้า แต่เกี่ยวข้องกับวิธีที่พวกเขาปฏิบัติต่อกันด้วย ใช่ การเดินทางกลับไปหาพระบิดาบนสวรรค์เป็นเอกเทศ และไม่มีใครรักษาพันธสัญญาแทนใครได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราโดดเดี่ยว เราต้องการกันและกัน ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระคริสต์ เราทำพันธสัญญาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าโดยช่วยเหลือและรับใช้กันระหว่างทาง “แบกภาระของกันและกัน” (โมไซยาห์ 18:8–10) ผู้คนของแอลมามีภาระต้องแบกเหมือนเราทุกคน และวิธีหนึ่งที่พระเจ้าทรงช่วยให้เรา “ทนแบกสัมภาระ [ของเรา] ได้โดยง่าย” (โมไซยาห์ 24:15) คือประทานชุมชนของวิสุทธิชนให้เราผู้สัญญาว่าจะโศกเศร้ากับเราและปลอบโยนเรา เราสัญญาจะทำเช่นนั้นกับพวกเขาด้วย

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

ไอคอนเซมินารี

โมไซยาห์ 18:1–17

เมื่อฉันรับบัพติศมา ฉันทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

พิจารณาว่าผู้เชื่อที่บรรยายไว้ใน โมไซยาห์ 18 รู้สึกลึกซึ้งเพียงใดเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ พวกเขาต้องพบกันอย่างลับๆ และอันตรายเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับพระองค์ (ดู ข้อ 3) และเมื่อได้รับโอกาสให้แสดงคำมั่นสัญญาโดยพันธสัญญาแห่งบัพติศมา “พวกเขาปรบมือด้วยปีติ, และร้องว่า: นี่คือความปรารถนาของใจเรา” (โมไซยาห์ 18:11)

การอ่านข้อเหล่านี้อาจเป็นโอกาสที่ดีในการไตร่ตรองว่าพันธสัญญาสำคัญต่อท่านเพียงใด โดยเฉพาะขณะที่ท่านศึกษา โมไซยาห์ 18:8–14 ให้พิจารณาคำถามเหล่านี้:

  • ท่านเรียนรู้อะไรจากข้อเหล่านี้เกี่ยวกับสัญญาที่ท่านทำเมื่อรับบัพติศมา? พระผู้เป็นเจ้าทรงสัญญาอะไรกับท่าน? (ดู ข้อ 10, 13)

  • พันธสัญญาว่าจะรับใช้พระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวข้องกับการพยายามปฏิบัติศาสนกิจต่อกันอย่างไร? (ดู ข้อ 8–9)

  • การ “ยืนเป็น [พยาน] เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า” มีความหมายต่อท่านอย่างไร? (ข้อ 9)

  • การรักษาพันธสัญญาบัพติศมาช่วยให้ท่าน “เปี่ยมด้วยพระวิญญาณ” อย่างไร? (โมไซยาห์ 18:14) พระวิญญาณทรงช่วยให้ท่านรักษาพันธสัญญาของท่านอย่างไร?

การตอบคำถามเหล่านี้อาจช่วยให้ท่านไตร่ตรองว่าเหตุใดพันธสัญญาและศาสนพิธีจึงสำคัญต่อพระผู้เป็นเจ้า ท่านสามารถพบข้อคิดในข่าวสารของเอ็ลเดอร์เกอร์ริท ดับเบิลยู. กองเรื่อง “การเป็นคนในพันธสัญญา” (เลียโฮนา, พ.ย. 2019, 80–83) หรือข่าวสารของประธานจีน บี. บิงแฮมเรื่อง “พันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเพิ่มพลัง คุ้มครอง และเตรียมเราให้พร้อมรับรัศมีภาพนิรันดร์” (เลียโฮนา, พ.ค. 2022, 66–69) เหตุใดท่านจึงสำนึกคุณสำหรับพันธสัญญาของท่าน? ท่านกำลังทำอะไรเพื่อรักษาสัญญาของท่าน?

สอนความจริงจากพระคัมภีร์และศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย ขณะที่ท่านสอน—และเรียนรู้—พึงระลึกว่าวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการเพิ่มพูนศรัทธาในพระคริสต์คือการจดจ่อกับพระคัมภีร์และถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์ยุคสุดท้าย (ดู โมไซยาห์ 18:19)

โมไซยาห์ 18:17–30

พระผู้เป็นเจ้าทรงบัญชาผู้คนของพระองค์ให้รวบรวม จัดระเบียบ และเป็นหนึ่งเดียวกัน

บางคนสงสัยว่าทำไมเราต้องมีศาสนจักร? ค้นคว้า โมไซยาห์ 18:17–31 โดยมองหาคุณค่าที่ผู้คนของแอลมาพบจากการรวมตัวกันใน “ศาสนจักรของพระคริสต์” (โมไซยาห์ 18:17) ท่านเห็นความคล้ายคลึงกันอะไรบ้างในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ในสมัยของแอลมากับสมัยของเรา?

ท่านจะตอบเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวที่ไม่เชื่อว่าศาสนจักรที่มีการจัดระเบียบนั้นมีความสำคัญอย่างไร? เหตุใดท่านจึงรู้สึกขอบคุณที่ได้เป็นผู้คนในศาสนจักรของพระเยซูคริสต์?

นึกดูว่าท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้สมาชิกวอร์ดหรือสาขาของท่าน “ผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรัก” (โมไซยาห์ 18:21)?

ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “ความจำเป็นที่ต้องมีศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2021, 24–26; “จงรักกันและกัน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 155 ด้วย

โมไซยาห์ 21–24

พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยฉันแบกภาระของฉัน

ผู้คนของลิมไฮและผู้คนของแอลมาต่างตกเป็นทาส ถึงแม้จะมีในสภาวการณ์ต่างกัน ท่านสามารถเรียนรู้อะไรจากการเปรียบเทียบเรื่องราวของผู้คนของลิมไฮใน โมไซยาห์ 19–22 กับผู้คนของแอลมาใน โมไซยาห์ 18; 23–24? ขณะทำเช่นนั้น ให้มองหาข่าวสารที่ประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านได้ ตัวอย่างเช่น “รุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ” หมายความว่าอย่างไร? (โมไซยาห์ 21:16) ท่านจะปรับใช้หลักการนี้ได้อย่างไร?

โมไซยาห์ 23:21–24; 24:8–17

ฉันสามารถวางใจพระเจ้า

ถึงแม้กลับใจจากบาปแล้ว แต่แอลมากับผู้คนของเขายังพบตนเองอยู่ในความเป็นทาส ประสบการณ์ของพวกเขาแสดงให้เห็นว่าการวางใจพระเจ้าและการดำเนินชีวิตตามพันธสัญญาของเราไม่ได้ทำให้ความท้าทายของเราหมดสิ้นเสมอไป แต่ช่วยให้เราเอาชนะความท้าทายเหล่านั้นได้ ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 23:21–24 และ 24:8–17 ให้สังเกตคำและวลีที่จะช่วยให้ท่านฝึกวางใจพระเจ้า ไม่ว่าสภาวการณ์ของท่านเป็นเช่นไร

ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ทนแบกสัมภาระได้โดยง่าย,” เลียโฮนา, พ.ค. 2014, 87–90 ด้วย

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

โมไซยา 18:7–17

เมื่อฉันรับบัพติศมา ฉันทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้า

  • วิธีที่สำคัญวิธีหนึ่งที่จะช่วยเด็กเตรียมรับบัพติศมาคือสอนพวกเขาเกี่ยวกับพันธสัญญาที่พวกเขาจะทำเมื่อรับบัพติศมา ซึ่งอาจทำได้ง่ายๆ เช่นการให้ดูภาพที่ท้ายโครงร่างของสัปดาห์นี้และอ่านเกี่ยวกับพันธสัญญาใน โมไซยาห์ 18:9–10 ด้วยกัน ท่านอาจให้เด็กคนหนึ่งที่รับบัพติศมาแล้วมาสอนเด็กเล็ก หรือท่านจะเล่าเกี่ยวกับการรับบัพติศมาของตัวท่านเองก็ได้ การรักษาพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเป็นพรแก่ชีวิตท่านอย่างไร?

  • เด็กที่เคยรับบัพติศมาสามารถใช้ศีลระลึกเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขานึกถึงพันธสัญญาที่พวกเขาทำและต่ออายุในแต่ละสัปดาห์ ท่านอาจช่วยเด็กเปรียบเทียบพันธสัญญาบัพติศมาที่บรรยายไว้ใน โมไซยาห์ 18:8–10 กับคำสวดอ้อนวอนศีลระลึก (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 20:77, 79) เราจะทำให้ศีลระลึกเป็นเวลาพิเศษที่เต็มไปด้วยความคารวะเหมือนบัพติศมาของเราได้อย่างไร?

เด็กสาวรับบัพติศมา

เราทำพันธสัญญากับพระผู้เป็นเจ้าเมื่อเรารับบัพติศมา

โมไซยาห์ 18:17–28

เมื่อฉันรับบัพติศมา ฉันเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

  • เด็กรู้หรือไม่ว่าการเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้ายหมายความว่าอย่างไร? ท่านอาจช่วยพวกเขาหาภาพที่แสดงถึงสิ่งที่สมาชิกศาสนจักรทำใน โมไซยาห์ 18:17–28 ตัวอย่างเช่น รูปภาพการแต่งตั้งฐานะปุโรหิตและการชำระส่วนสิบ (หนังสือภาพพระกิตติคุณ, ภาพที่ 106, 113) อาจแสดงถึงข้อ 18 และ 27–28 บอกพวกเขาว่าเหตุใดท่านจึงรู้สึกขอบคุณที่เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

  • การช่วยให้เด็กรู้สึก “ผูกพันกันไว้ในความเป็นหนึ่งเดียวและในความรัก” (โมไซยาห์ 18:21) ช่วยให้พวกเขาเชื่อมต่อกับศาสนจักรตลอดชีวิต ท่านอาจให้เด็กอ่าน โมไซยาห์ 18:17–28 สมาชิกของศาสนจักรของพระคริสต์ในสมัยของแอลมาทำอะไรเพื่อรักและรับใช้กัน? เราจะทำสิ่งเดียวกันนี้ในวอร์ด สาขา หรือชุมชนของเราได้อย่างไร? เพลงเกี่ยวกับความรัก เช่น “ฉันเดินกับเธอ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 78) อาจเน้นย้ำข้อความนี้

โมไซยาห์ 24:8–17

พระผู้เป็นเจ้าทรงสามารถทำให้ภาระของฉันเบา

  • บทเรียนที่ใช้อุปกรณ์ง่ายๆ สามารถทำให้การเรียนรู้น่าจดจำยิ่งขึ้นได้ ท่านอาจนำของหนักๆ (แทนภาระ) ใส่ถุงให้เต็มและให้เด็กคนหนึ่งถือถุง ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 24:8–17 กับเด็ก ขอให้พวกเขานำของออกจากถุงทุกครั้งที่พวกเขาได้ยินเกี่ยวกับบางสิ่งที่แอลมาและผู้คนของเขาทำเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเกี่ยวกับภาระของพวกเขา จากนั้นท่านอาจพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับวิธีที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงทำให้ภาระของเราเบาลงเมื่อเราขอความช่วยเหลือจากพระองค์

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

คนรับบัพติศมา

ผืนน้ำแห่งมอรมอน โดย จอร์เก ค็อคโค