จงตามเรามา
6–12 พฤษภาคม: “ด้วยกำลังจากพระเจ้า” โมไซยาห์ 7–10


“6–12 พฤษภาคม: ‘ด้วยกำลังจากพระเจ้า’ โมไซยาห์ 7–10,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“6–12 พฤษภาคม โมไซยาห์ 7–10,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

แอมันสอนกษัตริย์ลิมไฮ

มิเนอร์วา ไทเชิร์ต (1888–1976), แอมันต่อหน้ากษัตริย์ลิมไฮ, 1949–1951 สีน้ำมันบนแผ่นไม้อัด ขนาด 35 15/16 x 48 นิ้ว พิพิธภัณฑ์ศิลปะ มหาวิทยาลัยบริคัมยังก์, 1969

6–12 พฤษภาคม: “ด้วยกำลังจากพระเจ้า”

โมไซยาห์ 7–10

ขณะที่ผู้คนของกษัตริย์โมไซยาห์มี “สันติติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง” ในเซราเฮ็มลา (โมไซยาห์ 7:1) พวกเขานึกถึงชาวนีไฟอีกกลุ่มหนึ่งผู้จากไปอาศัยอยู่ในแผ่นดินแห่งลีไฮ-นีไฟเมื่อหลายปีก่อน คนหลายรุ่นผ่านไป และผู้คนของโมไซยาห์ไม่ทราบข่าวคราวจากพวกเขาเลย โมไซยาห์จึงขอให้แอมันนำคนกลุ่มหนึ่งไปค้นหาชาวนีไฟเหล่านั้น กลุ่มค้นหาพบว่าชาวนีไฟเหล่านี้ตกเป็นเชลยของชาวเลมัน “เพราะความชั่วช้าสามานย์” (โมไซยาห์ 7:24) แต่เมื่อแอมันกับพี่น้องของเขามาถึง พวกเขามีความหวังว่าจะได้รับการปลดปล่อยทันที

บางครั้งเราเหมือนชาวนีไฟที่เป็นเชลยเหล่านี้ ทนทุกข์เพราะบาปของเรา พลางสงสัยว่าเราจะพบสันติอีกครั้งได้อย่างไร บางครั้งเราเหมือนแอมัน รู้สึกได้รับการกระตุ้นเตือนให้ยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่นและพบในท้ายที่สุดว่าความพยายามของเราเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขา “เงยหน้าขึ้น, ชื่นชมยินดีเถิด, และมอบความไว้วางใจ [ของพวกเขา] ในพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 7:19) ไม่ว่าสภาวการณ์ของเราเป็นเช่นไร เราทุกคนต้องกลับใจและ “หันมาสู่พระเจ้าด้วยความตั้งใจเด็ดเดี่ยว” โดยมีศรัทธาว่า “พระองค์จะทรง … ปลดปล่อย [เรา]” (โมไซยาห์ 7:33)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

โมไซยาห์ 7:14–33

พระเยซูคริสต์ทรงมีเดชานุภาพในการปลดปล่อยฉัน

การได้พบแอมันมอบความหวังให้กับกษัตริย์ลิมไฮ และเขาต้องการส่งต่อความหวังนั้นให้แก่ผู้คนของเขา คำพูดของเขาอาจทำให้ท่านมีความหวังได้เช่นกัน ท่านอาจทบทวนสถานการณ์ของผู้คนของลิมไฮใน โมไซยาห์ 7:20–25 เพื่อให้รู้บริบท จากนั้นให้ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 7:14–33:

  • ลิมไฮพูดอะไรเพื่อเสริมสร้างศรัทธาและความหวังในพระคริสต์แก่ผู้คน?

  • วลีใดที่ช่วยให้ท่านรู้สึกมีความหวัง? (ดู ข้อ 19, 33)

  • ประสบการณ์ใดที่ช่วยให้ท่านวางใจว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยท่านได้และจะทรงปลดปล่อยท่าน?

ดู “พระผู้ไถ่แห่งอิสราเอล,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 5 ด้วย

โมไซยาห์ 7:26–27

ฉันถูกสร้างขึ้น “ตามรูปลักษณ์ของพระผู้เป็นเจ้า”

ลิมไฮอธิบายความจริงบางประการที่อบินาไดสอนไว้ใน โมไซยาห์ 7:26–27 เราสามารถระบุความจริงอะไรในข้อเหล่านี้? ความจริงเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อวิธีที่ท่านมองพระผู้เป็นเจ้าและตัวท่านเอง?

ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ร่างกายของท่าน: ของประทานอันงดงามที่พึงหวงแหน,” เลียโฮนา, ส.ค. 2019, 50–55 ด้วย

ไอคอนเซมินารี

โมไซยาห์ 8:13–19

พระเจ้าทรงจัดเตรียมศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ

เมื่อลิมไฮได้ยินประจักษ์พยานของแอมันว่าพระเจ้าทรงยกผู้หยั่งรู้คนหนึ่งขึ้น ลิมไฮ “ชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง, และน้อมขอบพระทัยพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 8:19) ท่านคิดว่าเหตุใดเขาจึงรู้สึกเช่นนั้น? ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับผู้หยั่งรู้จากคำพูดของแอมันใน โมไซยาห์ 8:13–19?

ปัจจุบันเราสนับสนุนฝ่ายประธานสูงสุดและโควรัมอัครสาวกสิบสองในฐานะศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผย คนเหล่านี้เป็น “ประโยชน์อันใหญ่หลวง” ต่อท่านอย่างไร? (โมไซยาห์ 8:18) พวกเขาสอนอะไรท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์?

ท่านจะพูดอย่างองอาจเหมือนแอมันเกี่ยวกับความจำเป็นของการมีศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยได้อย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 8:13–18) ตัวอย่างเช่น ท่านสามารถแบ่งปันเรื่องต่อไปนี้กับครอบครัวของท่านหรือบนสื่อสังคมออนไลน์ได้:

  • ความจริงที่ได้รับการฟื้นฟูในสมัยของเราโดยโจเซฟ สมิธและศาสดาพยากรณ์คนอื่นๆ ของพระเจ้า (เช่น พระลักษณะของพระผู้เป็นเจ้า อัตลักษณ์อันสูงส่งของเรา หรือธรรมชาตินิรันดร์ของครอบครัว) การทบทวนเรื่อง “การฟื้นฟูความสมบูรณ์แห่งพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” หรือ “ครอบครัว: ถ้อยแถลงต่อโลก” (คลังค้นคว้าพระกิตติคุณ) อาจช่วยให้ท่านนึกถึงความจริงบางประการเหล่านี้

  • พรจากพระบัญญัติหรือศาสนพิธี (เช่น พระคำแห่งปัญญา กฎแห่งความบริสุทธิ์ทางเพศ หรือการผนึกกับครอบครัว)

เมื่อเดือนที่แล้ว เราได้ฟังจากศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยในการประชุมใหญ่สามัญ ข่าวสารใดบ้างที่สร้างแรงบันดาลใจให้ท่าน? ท่านจะทำอะไรที่แตกต่างออกไปตามสิ่งที่ท่านได้เรียนรู้? ผู้หยั่งรู้ของพระเจ้ากล่าวอะไรเกี่ยวกับ “เหตุการณ์ที่จะมาถึง”? (โมไซยาห์ 8:17)

โมไซยาห์ 9–10

ฉันสามารถเผชิญความท้าทายได้ “ด้วยกำลังจากพระเจ้า”

ซีนิฟฟ์ยอมรับว่าความผิดพลาดของเขาทำให้ผู้คนของเขาตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก แต่ต่อมา ระหว่างการสู้รบกับชาวเลมัน เขาช่วยให้ผู้คนของเขาเผชิญความท้าทายด้วยศรัทธาในพระเจ้า ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 9–10 ให้ดูว่าผู้คนของซีนิฟฟ์ทำอะไรเพื่อแสดงศรัทธาของพวกเขา พระผู้เป็นเจ้าทรงเสริมกำลังให้พวกเขาอย่างไร? พระองค์ทรงเสริมกำลังให้ท่านอย่างไร? ออกไป “ด้วยกำลังจากพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร? (โมไซยาห์ 9:17; 10:10–11)

โมไซยาห์ 10:11–17

การเลือกของฉันมีผลต่อคนหลายรุ่น

ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 10:11–17 ให้ระบุว่าการกระทำและเจตคติของชาวเลมันรุ่นก่อนส่งผลต่อคนรุ่นต่อๆ ไปอย่างไร สิ่งนี้บ่งชี้ว่าการเลือกของท่านอาจส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร ทั้งดีและไม่ดี รวมถึงคนที่ยังไม่เกิดด้วย?

สอนบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง การสอนโดยใช้อุปกรณ์จริงจะทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกและน่าจดจำ ท่านอาจเรียงโดมิโนเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเลือกของผู้คนส่งผลต่อลูกหลานของพวกเขาอย่างไร (ดู โมไซยาห์ 10:11–17)

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

โมไซยาห์ 7:19

พระผู้เป็นเจ้าทรงช่วยผู้คนในพระคัมภีร์ และพระองค์ทรงช่วยฉันได้

  • เมื่อผู้คนของเขาประสบปัญหา กษัตริย์ลิมไฮทรงแบ่งปันพระคัมภีร์เพื่อสร้างศรัทธาของผู้คนเหล่านั้น ถามเด็กเกี่ยวกับเรื่องราวในพระคัมภีร์หรือตัวละครที่ช่วยให้พวกเขามีศรัทธา จากนั้นท่านอาจจะอ่าน โมไซยาห์ 7:19 ให้พวกเขาฟังและทบทวนเรื่องราวที่กล่าวถึงในข้อนี้ (ดู “ปัสกา” และ “คนอิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร” ใน เรื่องราวในพันธสัญญาเดิม, 70–76) ท่านอาจให้เด็กแสดงบทบาทสมมติได้เช่นกัน พระเจ้าทรงช่วยผู้คนในเรื่องราวเหล่านี้อย่างไร? พระองค์จะทรงช่วยเราได้อย่างไร?

  • สำหรับตัวอย่างเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงช่วยเรา ท่านอาจเลือกบางท่อนจากเพลง “เรื่องในพระคัมภีร์มอรมอน” หรือ “ความกล้าหาญของนีไฟ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 62–63, 64–65) เพื่อร้องเพลงกับเด็ก ช่วยให้พวกเขาค้นพบว่าพระเจ้าทรงช่วยเหลือผู้คนในพระคัมภีร์มอรมอนอย่างไร—และพระองค์ทรงช่วยเราได้อย่างไร

โมไซยาห์ 8:16–18

พระผู้เป็นเจ้าประทานศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยแก่เรา

  • วิธีหนึ่งที่จะสอนเกี่ยวกับผู้หยั่งรู้คือการเปรียบเทียบสิ่งเหล่านั้นกับสิ่งที่ช่วยให้เรามองเห็นได้ดีขึ้น เช่น แว่นตา กล้องส่องทางไกล หรือกล้องจุลทรรศน์ จากนั้นขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 8:17 ให้เด็กฟัง ท่านอาจให้เด็กยกมือขึ้นมาที่ดวงตาเหมือนกำลังมองผ่านกล้องส่องทางไกลทุกครั้งที่ได้ยินคำว่า “ผู้หยั่งรู้” (ดู โมเสส 6:35–36 ด้วย) พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับสิ่งที่พระเจ้าทรงช่วยให้ศาสดาพยากรณ์ “เห็น” สิ่งที่เราไม่เห็น ศาสดาพยากรณ์หรือผู้หยั่งรู้ของเรา เช่น โจเซฟ สมิธ เปิดเผยอะไรแก่เรา?

  • หลังจากอ่าน โมไซยาห์ 8:16–18 กับเด็กแล้ว ท่านสามารถช่วยเด็กคิดวิธีเติมประโยคให้สมบูรณ์ เช่น ผู้หยั่งรู้เป็นเหมือน … ที่ช่วยให้เรา … ตัวอย่างเช่น ผู้หยั่งรู้เป็นเหมือนป้ายจราจรที่ช่วยให้เราไปหาพระเยซู

  • ท่านอาจสร้างรอยเท้าบนกระดาษและให้เด็กวาดรูปสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์ ผู้หยั่งรู้ และผู้เปิดเผยแนะนำให้เราทำ วางรอยเท้าไว้ตามทางเดินรอบห้อง และให้เด็กเดินบนรอยเท้าเหล่านี้ ผู้หยั่งรู้จะเป็น “ประโยชน์อันใหญ่หลวง” แก่เราได้อย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 8:17–18)

โมไซยาห์ 9:14–18; 10:10–11

เมื่อฉันอ่อนแอ พระเจ้าทรงสามารถทำให้ฉันเข้มแข็ง

  • เมื่อเด็กประสบความท้าทาย บางครั้งพวกเขารู้สึกอ่อนแอและหมดหนทาง ท่านจะช่วยให้เด็กพึ่งพากำลังของพระเจ้าได้อย่างไร? ท่านอาจจะถามพวกเขาว่าเราทำอะไรเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มี “พละกำลังของมนุษย์” หมายความว่าอย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 10:11) มี “กำลังจากพระเจ้า” หมายความว่าอย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 9:17–18; 10:10) เราได้รับกำลังจากพระเจ้าอย่างไร? เด็กอาจวาดภาพสิ่งที่ช่วยให้พวกเขาได้รับกำลังจากพระเจ้า

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

โจเซฟ สมิธกับโมโรไน

นิมิตต่อโจเซฟ สมิธ โดย คลาร์ก เคลลีย์ ไพรซ์