จงตามเรามา
13–19 พฤษภาคม: “แสงสว่าง … ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย” โมไซยาห์ 11–17


“13–19 พฤษภาคม: ‘แสงสว่าง … ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย’ โมไซยาห์ 11–17,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“13–19 พฤษภาคม โมไซยาห์ 11–17,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

อบินาไดเป็นพยานต่อกษัตริย์โนอาห์

อบินาไดต่อหน้ากษัตริย์โนอาห์ โดย แอนดรูว์ บอสลีย์

13–19 พฤษภาคม: “แสงสว่าง … ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย”

โมไซยาห์ 11–17

ไฟกองโตเกิดจากประกายไฟลูกเดียว อบินาไดเป็นคนเดียวที่เป็นพยานยืนยันความผิดของกษัตริย์ผู้เรืองอำนาจกับคนในราชสำนัก ถ้อยคำของเขาถูกคนส่วนใหญ่ปฏิเสธ และเขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ประจักษ์พยานของเขาในพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็น “แสงสว่าง … ซึ่งจะไม่มีวันทำให้มืดได้เลย” (โมไซยาห์ 16:9) จุดประกายบางอย่างในตัวแอลมาปุโรหิตหนุ่ม และประกายไฟของการเปลี่ยนใจเลื่อมใสค่อยๆ ขยายวงกว้างขณะแอลมานำคนอื่นๆ มาสู่การกลับใจและศรัทธาในพระเยซูคริสต์ เปลวเพลิงที่ฆ่าอบินาไดมอดดับในที่สุด แต่ไฟแห่งศรัทธาที่ถ้อยคำของเขาก่อไว้จะมีอิทธิพลยั่งยืนต่อชาวนีไฟ—และต่อคนที่อ่านถ้อยคำของเขาวันนี้ พวกเราส่วนใหญ่จะไม่เผชิญกับสิ่งที่อบินาไดเผชิญมาแล้วเพราะประจักษ์พยานของเรา แต่เราทุกคนมีชั่วขณะที่การติดตามพระเยซูคริสต์เป็นการทดสอบความกล้าหาญและศรัทธาของเรา การศึกษาประจักษ์พยานของอบินาไดอาจจะพัดโหมเปลวเพลิงแห่งประจักษ์พยานและความกล้าในใจเราเช่นกัน

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

ไอคอนเซมินารี

โมไซยาห์ 11–13; 17

ฉันสามารถยืนหยัดเพื่อพระเยซูคริสต์แม้เมื่อฉันยืนเดียวดาย

ขณะที่ท่านกำลังศึกษา โมไซยาห์ 11–13; 17 ให้ดูภาพของอบินาไดในโครงร่างนี้ ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับการยืนเป็นพยานเพื่อพระคริสต์? ท่านสามารถเน้นการศึกษาไปที่ข้อความและคำถามเหล่านี้เป็นพิเศษ:

  • ท่านจะอธิบายเกี่ยวกับโนอาห์และผู้คนของเขาว่าอย่างไร? เหตุใดอบินาไดจึงต้องการความกล้าหาญที่จะแบ่งปันข่าวสารของพระผู้เป็นเจ้ากับพวกเขา? (ดู โมไซยาห์ 11:1–19, 27–29; 12:9–15)

  • ท่านจะอธิบายเกี่ยวกับอบินาไดว่าอย่างไร? อบินาไดเข้าใจอะไรที่ช่วยให้เขากล้าแสดงประจักษ์พยาน? (ดู โมไซยาห์ 13:2–9, 28, 33–35; 17:8–10, 20)

ท่านเคยรู้สึกเหมือนยืนเดียวดายเพื่อปกป้องพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์เมื่อใด? พระองค์ช่วยให้ท่านรู้สึกอย่างไรว่าพระองค์ทรงอยู่กับท่าน? ขณะที่ท่านไตร่ตรองเรื่องนี้ ท่านสามารถอ่านเรื่องราวของเอลีชากับคนใช้หนุ่มของเขาใน 2 พงศ์กษัตริย์ 6:14–17 ได้เช่นกัน เรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจอะไรให้กับท่าน?

ท่านสามารถค้นคว้า เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน: คู่มือแนะแนวการเลือก หน้า 31–33 เพื่อค้นหาวลีที่ทำให้ท่านกล้าปกป้องความจริง หรือท่านอาจทำเช่นเดียวกับคำร้องของเพลงสวดเช่นเพลง “ทำแต่ความดี” หรือ “ขอให้เรารุดไป” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 117, 124)

ท่านจะประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้จากอบินาไดอย่างไร?    

2:3

กล้ายืนคนเดียว

ประธานโธมัส เอส. มอนสันแบ่งปันประสบการณ์ที่ท่านมีในกองทัพเรือเมื่อท่านต้องยืนคนเดียวและเตือนเราว่า “เราไม่มีวันโดดเดี่ยวเมื่อเรายืนกับพระบิดาในสวรรค์ของเรา”

ดู โรม 1:16; 2 ทิโมธี 1:7–8 ด้วย

สอนโดยพระวิญญาณ “การสอนพระกิตติคุณที่เปี่ยมด้วยพลังไม่ได้ต้องการเพียงการเตรียมบทเรียนเท่านั้นแต่ต้องการให้ท่านเตรียมตนเองทางวิญญาณเป็นอย่างดี [เพื่อ] ฟังและทำตามการนำทางของพระวิญญาณขณะที่สอนด้วย” (การสอนในวิธีของพระผู้ช่วยให้รอด, 17)

โมไซยาห์ 12:19–37

ฉันต้องปรับใจให้เข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

ปุโรหิตของกษัตริย์โนอาห์คุ้นเคยกับพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาสามารถอ้างข้อพระคัมภีร์และมีสิทธิ์สอนพระบัญญัติ แต่ดูเหมือนชีวิตของพวกเขาจะไม่ได้รับผลจากพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอด เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

นึกถึงคำถามนี้ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 12:19–37 ท่านคิดว่าการปรับใจเพื่อให้เข้าใจพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าหมายความว่าอย่างไร? คำหรือวลีใดเป็นแรงบันดาลใจให้ท่านเปลี่ยนแปลงวิธีเรียนรู้พระกิตติคุณ?

โมไซยาห์ 13:11–26

ควรเขียนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าไว้ในใจข้าพเจ้า

ไตร่ตรองข้อสังเกตของอบินาไดที่ว่าพระบัญญัติ “ไม่มีเขียนอยู่ในใจ” ของปุโรหิต (โมไซยาห์ 13:11) ประโยคนี้น่าจะหมายความว่าอย่างไร? ขณะที่ท่านอ่าน โมไซยาห์ 13:11–26 ให้พิจารณาว่าพระบัญญัติเหล่านี้มีเขียนอยู่ในใจท่านหรือไม่

ดู เยเรมีย์ 31:31–34; 2 โครินธ์ 3:3 ด้วย

โมไซยาห์ 14–15

พระเยซูคริสต์ทรงทนทุกข์เพื่อฉัน

ใน โมไซยาห์ 14–15 ให้สังเกตคำและวลีที่พูดถึงพระผู้ช่วยให้รอดและสิ่งที่พระองค์ทรงทนทุกข์เพื่อท่าน ข้อใดช่วยให้ความรักและความสำนึกคุณที่ท่านมีต่อพระองค์ลึกซึ้งขึ้น?

โมไซยาห์ 15:1–12

พระเยซูคริสต์ทรงเป็นทั้งพระบิดาและพระบุตรอย่างไร?

อบินาไดสอนว่าพระผู้เป็นเจ้าพระบุตร—พระเยซูคริสต์—จะทรงเป็นพระผู้ไถ่ (ดู โมไซยาห์ 15:1) สถิตอยู่ในเนื้อหนัง กลายเป็นทั้งมนุษย์และพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 2–3) พระองค์ทรงยอมตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดาทุกประการ (ข้อ 5–9) เพราะเหตุนี้ พระเยซูคริสต์จึงทรงเป็นทั้งพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและตัวแทนทางโลกที่สมบูรณ์แบบของพระผู้เป็นเจ้าพระบิดา (ดู ยอห์น 14:6–10)

นอกจากนี้ พระเยซูคริสต์ยังทรงเป็นพระบิดาในแง่ที่ว่าเมื่อเรายอมรับการไถ่ของพระองค์ เราจะกลายเป็น “พงศ์พันธุ์ของพระองค์” และ “ทายาทแห่งอาณาจักรของพระผู้เป็นเจ้า” (โมไซยาห์ 15:11–12) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเราเกิดใหม่ทางวิญญาณผ่านพระองค์ (ดู โมไซยาห์ 5:7)

เหตุใดท่านจึงรู้สึกว่าการรู้ความจริงเหล่านี้เกี่ยวกับพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์จึงเป็นเรื่องสำคัญ? ประจักษ์พยานของอบินาไดเสริมสร้างศรัทธาของท่านในพระองค์อย่างไร?

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

โมไซยาห์ 11–13; 17

ฉันสามารถยืนหยัดเพื่อพระเยซูคริสต์แม้เมื่อฉันยืนเดียวดาย

  • เราทุกคนเผชิญแรงกดดันให้เลือกสิ่งที่ขัดต่อศรัทธาของเราในพระเยซูคริสต์ในบางช่วงของชีวิต เด็กสามารถเรียนรู้อะไรจากอบินาไดเกี่ยวกับการยืนเป็นพยานของพระเยซูคริสต์ แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะไม่เป็นที่นิยม? งานศิลปะในโครงร่างนี้หรือ “บทที่ 14: อบินาไดและกษัตริย์โนอาห์” (ใน เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 38–42) จะช่วยให้พวกเขาเห็นภาพเรื่องราวใน โมไซยาห์ 11–13; 17 ได้ ถามพวกเขาว่าชอบอะไรเกี่ยวกับอบินาได

  • ท่านอาจให้เด็กแสดงบทบาทสมมติจากเรื่องราวบางส่วนของอบินาได จากนั้นท่านอาจให้แสดงบทบาทสมมติจากสถานการณ์ในชีวิตจริงเพื่อฝึกสิ่งที่อาจทำหากคนอื่นต้องการให้พวกเขาทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือให้เล่าประสบการณ์เมื่อพวกเขากล้าหาญในการติดตามพระเยซูคริสต์ อบินาไดติดตามพระเยซูคริสต์อย่างไร? (ดู โมไซยาห์ 13:2–9; 17:7–10) เหตุใดกษัตริย์โนอาห์จึงไม่ทำสิ่งที่พระองค์รู้ว่าถูกต้อง? (ดู โมไซยาห์ 17:11–12)

โมไซยาห์ 12:33–36; 13:11–24

ฉันควรเชื่อฟังพระบัญญัติสิบประการ

  • ปุโรหิตของกษัตริย์โนอาห์รู้พระบัญญัติแต่ไม่มีพระบัญญัตินั้น “เขียนอยู่ในใจ [ของพวกเขา]” (โมไซยาห์ 13:11) ท่านจะช่วยให้เด็กรู้และรักพระบัญญัติอย่างไร? ท่านอาจให้เด็กเขียนพระบัญญัติจาก โมไซยาห์ 12:33–36 และ 13:11–24 ลงบนกระดาษรูปหัวใจ ขณะที่ทำ ให้พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับความหมายของพระบัญญัติเหล่านี้และวิธีปฏิบัติตาม เราจะเขียนพระบัญญัติเหล่านี้ในใจได้อย่างไร?

  • ท่านอาจร้องเพลงด้วยกันหนึ่งเพลงเกี่ยวกับพระบัญญัติ เช่น “รักษาพระบัญญัติ” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 68–69) พรใดมาจากการรักษาพระบัญญัติ?

พ่อกับลูกชายอ่านพระคัมภีร์

พระคัมภีร์สอนพระบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าให้เรา

โมไซยาห์ 14; 16:4–9

พระบิดาบนสวรรค์ทรงส่งพระเยซูคริสต์เพื่อนำฉันกลับไปหาพระองค์

  • แม้จะเป็นบทสั้นๆ แต่ โมไซยาห์ 14 มีคำและวลีหลายคำที่พูดถึงพระเยซูคริสต์ ท่านและเด็กอาจเขียนรายการคำและวลีขณะที่ท่านอ่านบทนี้ด้วยกัน จากนั้นท่านอาจจะพูดว่าท่านรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดขณะที่ท่านศึกษาคำและวลีเหล่านี้

  • เพื่อสอนเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ อบินาไดจึงอ้างคำพูดของศาสดาพยากรณ์อิสยาห์ผู้เปรียบเทียบเรากับแกะที่หลงทาง ท่านอาจให้เด็กแบ่งปันประสบการณ์เมื่อพวกเขาทำของบางอย่างหายหรือพวกเขาหลงทาง พวกเขารู้สึกอย่างไร? พวกเขาทำอะไร? จากนั้นท่านอาจจะอ่าน โมไซยาห์ 14:6 และ 16:4–9 ด้วยกัน เราเป็นเหมือนแกะที่หลงทางจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร? พระเยซูคริสต์ทรงช่วยเรากลับมาอย่างไร?

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

อบินาไดเป็นพยานต่อกษัตริย์โนอาห์

หน้าของท่านส่องสว่างด้วยความผ่องใสยิ่ง โดย เจเรมีย์ วินเบิร์ก