จงตามเรามา
3–9 มิถุนายน: “พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว” โมไซยาห์ 29–แอลมา 4


“3–9 มิถุนายน: ‘พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว’ โมไซยาห์ 29–แอลมา 4,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2024)

“3–9 มิถุนายน โมไซยาห์ 29–แอลมา 4,” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2024)

แอลมาผู้บุตรสั่งสอน

แอลมาผู้บุตรสั่งสอน โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์

3–9 มิถุนายน: “พวกเขายังแน่วแน่และไม่หวั่นไหว”

โมไซยาห์ 29แอลมา 4

บางคนอาจมองว่าข้อเสนอของโมไซยาห์ให้เลือกผู้พิพากษาแทนกษัตริย์เป็นเพียงการปฏิรูปการเมืองที่ชาญฉลาด แต่สำหรับชาวนีไฟ โดยเฉพาะคนที่เคยอยู่ใต้กษัตริย์โนอาห์ที่ชั่วร้าย การเปลี่ยนแปลงนี้มีความสำคัญทางวิญญาณด้วย พวกเขาเห็นว่ากษัตริย์ที่ไม่ชอบธรรมมีอิทธิพลต่อประชาชนของเขาอย่างไร และพวกเขา “กระตือรือร้นอย่างยิ่ง” ที่จะเป็นอิสระจากอิทธิพลเช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้พวกเขารับผิดชอบต่อความชอบธรรมของตนและ “รับผิดชอบต่อบาปของตน” (โมไซยาห์ 29:38)

แน่นอนว่าจุดจบของการปกครองระบอบกษัตริย์ไม่ได้หมายถึงจุดจบของปัญหาในสังคมชาวนีไฟ คนเจ้าเล่ห์เช่นนีฮอร์กับแอมลิไซส่งเสริมความคิดผิดๆ ผู้ไม่เชื่อข่มเหงวิสุทธิชน และสมาชิกจำนวนมากของศาสนจักรกลายเป็นคนจองหองและตกไป ทว่า “ผู้ติดตามซึ่งถ่อมตนของพระผู้เป็นเจ้า” ยังคง “แน่วแน่และไม่หวั่นไหว” แม้รอบตัวจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม (แอลมา 4:15; 1:25)

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

โมไซยาห์ 29:26–27; แอลมา 2:1–7

ฉันสามารถเป็นอิทธิพลดีในชุมชน

ผู้พิพากษาปกครองได้เพียงห้าปีก็เกิดวิกฤติซึ่งทดสอบคำประกาศของโมไซยาห์ที่ว่าโดยปกติเสียงของผู้คนจะเลือกสิ่งถูกต้อง (ดู โมไซยาห์ 29:26) ศึกษา แอลมา 2:1–7 เพื่อค้นหาว่าปัญหาคืออะไรและชาวนีไฟรับมือกับปัญหานี้อย่างไร อาจเกิดอะไรขึ้นถ้า “ผู้คนของศาสนจักร” ไม่ได้ออกเสียงของตน? ท่านเรียนรู้อะไรอีกบ้างจากเรื่องนี้เกี่ยวกับวิธีที่พระเจ้าทรงต้องการให้ท่านมีส่วนร่วมในชุมชน? (ดู โมไซยาห์ 29:26–27 ด้วย)

ปัญหาสำคัญที่ชุมชนของท่านกำลังเผชิญอยู่คืออะไร? พิจารณาว่าท่านจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเสียงของท่านรวมอยู่ใน “เสียงของผู้คน” เช่นเดียวกับชาวนีไฟ ในฐานะผู้ติดตามพระเยซูคริสต์ ท่านสามารถมีอิทธิพลต่อชุมชนของท่านในทางที่ดีด้วยวิธีใดอีกบ้าง?

ดู ดัลลิน เอช. โอ๊คส์, “รักศัตรูของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 26–29 ด้วย

แอลมา 1

พระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าช่วยให้ฉันแยกแยะหลักคำสอนเท็จได้

แม้ว่าในที่สุดนีฮอร์จะสารภาพว่าสิ่งที่เขาสอนเป็นเท็จ แต่คำสอนของเขายังคงมีอิทธิพลต่อชาวนีไฟเป็นเวลาหลายปี ท่านคิดว่าเหตุใดผู้คนจึงชอบสิ่งที่นีฮอร์สอน? ใน แอลมา 1:2–6 ให้มองหาคำโกหกในคำสอนของนีฮอร์—และความจริงที่เขาใช้เพื่อปกปิดคำโกหกเหล่านั้น

กิเดียนทัดทานนีฮอร์ “ด้วยพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า” (แอลมา 1:7, 9) ต่อไปนี้คือข้อพระคัมภีร์บางข้อที่หักล้างความเท็จของนีฮอร์: มัทธิว 7:21–23; 2 นีไฟ 26:29–31; โมไซยาห์ 18:24–26; และ ฮีลามัน 12:25–26 ลองสรุปข้อพระคัมภีร์แต่ละข้อ ท่านเรียนรู้อะไรจากศาสดาพยากรณ์ที่มีชีวิตซึ่งหักล้างคำสอนเท็จในสมัยของเรา?

แอลมา 1:19–31; 4:6–15

สานุศิษย์ที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์คือ “ผู้ติดตามซึ่งถ่อมตนของพระผู้เป็นเจ้า”

แอลมา บทที่ 1 และ 4 อธิบายช่วงเวลาที่ศาสนจักรรุ่งเรือง แต่สมาชิกศาสนจักรตอบรับความรุ่งเรืองนั้นต่างกัน ตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบ แอลมา 1:19–30 กับ แอลมา 4:6–15 เพื่อดูว่าสมาชิกศาสนจักรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในเวลาเพียงไม่กี่ปี จากสิ่งที่ท่านได้อ่าน ผู้ติดตามที่แท้จริงของพระเยซูคริสต์รู้สึกอย่างไรกับคนต่างศาสนา? ผู้ติดตามที่แท้จริงของพระคริสต์มีเจตคติอย่างไรต่อความร่ำรวยและความรุ่งเรือง? ท่านรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจให้เปลี่ยนแปลงอะไรเกี่ยวกับเจตคติของท่าน?

เปรียบพระคัมภีร์กับตัวท่าน พิจารณาว่าเรื่องเล่าและคำสอนในพระคัมภีร์ประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านอย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจพบความคล้ายคลึงกันระหว่างปัญหาที่ท่านสังเกตเห็นในยุคปัจจุบันกับปัญหาที่ชาวนีไฟประสบใน แอลมา 1–4

ไอคอนเซมินารี

แอลมา 4:6–20

แบบอย่างและประจักษ์พยานของฉันสามารถเปลี่ยนใจได้

ท่านอาจจะนึกถึงความเศร้าที่แอลมารู้สึกเมื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางผู้คนของเขา มองหาปัญหาที่เขาพบเห็นใน แอลมา 4:6–15 ท่านสังเกตเห็นปัญหาที่คล้ายกันหรือไม่? ท่านอาจกังวลเกี่ยวกับคนที่ท่านรักซึ่งต้องต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ท่านเคยสงสัยไหมว่าท่านจะช่วยอะไรได้บ้าง?

บางคนอาจกล่าวว่าแอลมาในฐานะหัวหน้าผู้พิพากษาเป็นคนที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่แอลมารู้สึกว่ามีวิธีที่ดีกว่านั้น ขณะที่ท่านอ่าน ข้อ 16–20 ท่านประทับใจอะไรเกี่ยวกับวิธีช่วยเหลือผู้คนของเขา?

แอลมามีศรัทธาอย่างยิ่งในพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้าและมี “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” (ข้อ 19) ท่านเคยเห็นตัวอย่างอะไรบ้างของพลังแห่งประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์? ท่านอาจอ่าน แอลมา 4:6–14 อีกครั้งขณะที่ท่านไตร่ตรองวิธีต่างๆ ที่ท่านสามารถแบ่งปันประจักษ์พยานของท่านเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์และพระกิตติคุณของพระองค์ การกระทำของสมาชิกศาสนจักรในข้อเหล่านี้เปิดเผยอะไรเกี่ยวกับประจักษ์พยานของพวกเขาถึงพระเยซูคริสต์และคำสอนของพระองค์? ท่านสังเกตเห็นอะไรเกี่ยวกับผลของการกระทำของพวกเขา—ต่อตนเองและต่อผู้อื่น? ท่านอาจนึกถึงวิธีที่ท่านได้รับพรจากประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์ของผู้อื่น ไม่ว่าจะบอกเล่าผ่านคำพูดหรือการกระทำ

นึกถึงวิธีที่ท่านจะแบ่งปันประจักษ์พยานถึงพระเยซูคริสต์—ในคำพูดหรือการกระทำ ใครจะได้รับประโยชน์จากคำยืนยันของท่าน?

ดู แกรีย์ อี. สตีเวนสัน, “การบำรุงเลี้ยงและการแสดงประจักษ์พยานของท่าน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2022, 111–114; “ประจักษ์พยาน,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 60 ด้วย

ท่านสามารถดูแนวคิดเพิ่มเติมได้ในนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

แอลมา 1:2–9

พระเจ้าทรงช่วยให้ฉันแยกแยะคำสอนเท็จได้

  • วิธีหนึ่งในการศึกษา แอลมา 1:2–4 กับเด็กคือช่วยพวกเขาสร้างแบบทดสอบที่ให้ตอบแบบถูกหรือผิดโดยใช้ข้อความที่สอนโดยนีฮอร์ ผู้สอนเท็จ จากนั้นท่านสามารถพูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับสาเหตุที่ซาตานมักรวมความจริงเข้ากับความเท็จ ช่วยให้เด็กนึกถึงตัวอย่างบางเรื่อง ใน ข้อ 7–9 กิเดียนต้านทานคำโกหกของนีฮอร์อย่างไร? (ดู “บทที่ 20: แอลมาและนีฮอร์,” เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 54–55 ด้วย)

แอลมา 1:19–25

ในฐานะสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์ ฉันรักและรับใช้ผู้อื่น

  • สมาชิกบางคนของศาสนจักรของพระเจ้าในสมัยของแอลมามีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่บางคนก็ใจร้ายและจองหอง เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านี้ ท่านอาจอ่าน แอลมา 1:27, 30 ด้วยกันและเขียนประเภทของคนที่สมาชิกในศาสนจักรของพระเจ้าช่วยเหลือออกมาเป็นข้อๆ เรารู้จักใครบ้างที่อาจ “ขัดสน” (แอลมา 1:30) ในความรักและความช่วยเหลือของเรา? ท่านอาจร้องเพลงๆ หนึ่งด้วยกันเกี่ยวกับความรักและการรับใช้ เช่น “ความเมตตาเริ่มที่เรา” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 83) และช่วยเด็กคิดท่าประกอบเพลง

  • เราควรทำอย่างไรเมื่อมีคนใจร้ายกับเรา? ท่านอาจจะอ่านพร้อมกับเด็กว่าผู้ติดตามพระคริสต์ได้รับการปฏิบัติอย่างไรใน แอลมา 1:19–20 พูดคุยเกี่ยวกับปฏิกิริยาของพวกเขาใน ข้อ 22 และ 25 ท่าน​อาจ​ฝึก​วิธี​รับมือเมื่อ​คน​อื่น​ใจร้ายกับเรา

แอลมา 4:8–20

ประจักษ์พยานของฉันสามารถทำให้ผู้อื่นเข้มแข็ง

  • บ่อยครั้ง “ประจักษ์พยานอันบริสุทธิ์” (แอลมา 4:19) ของเด็กสามารถมีอิทธิพลแรงกล้าต่อผู้อื่น เพื่อช่วยให้เด็กค้นพบสิ่งนี้ ท่านอาจจะอ่าน แอลมา 4:8–12, 15 กับพวกเขา เพื่อช่วยให้พวกเขาระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในศาสนจักร แอลมาจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร? ช่วยให้พวกเขารู้ว่าแอลมาตัดสินใจทำอะไรใน แอลมา 4:16–20 ท่านอาจจะแบ่งปันกันว่าประจักษ์พยานเกี่ยวกับพระคริสต์ของผู้อื่นทำให้ท่านเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร

  • หากเด็กต้องการตัวอย่างว่าประจักษ์พยานคืออะไร ท่านอาจให้ดูวีดิทัศน์ของผู้พูดที่แสดงประจักษ์พยานในการประชุมใหญ่สามัญ ท่านสามารถใช้หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้หรือร้องเพลง เช่น “ประจักษ์พยาน” (เพลงสวด, บทเพลงที่ 60) ด้วยกัน เราเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับประจักษ์พยานจากแหล่งช่วยเหล่านี้? ให้เด็กฝึกแบ่งปันประจักษ์พยานของตนเอง

สำหรับแนวคิดเพิ่มเติม โปรดดูนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

ชาวนีไฟสู้รบกับชาวแอมลิไซ

แอลมากับแอมลิไซ โดย สก็อตต์ เอ็ม. สโนว์