สังคมที่ยั่งยืน
ถ้าเราและเพื่อนบ้านของเราจำนวนมากพอพากเพียรนำทางชีวิตด้วยความจริงของพระผู้เป็นเจ้า เราจะอุดมไปด้วยคุณธรรมทางศีลธรรมที่จำเป็นในทุกสังคม
คณะนักร้องประสานเสียงที่งดงามร้องเพลงถึงพระผู้ช่วยให้รอดผู้งดงาม
ในปี 2015 สหประชาชาติลงมติยอมรับสิ่งที่เรียกว่า “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” วาระดังกล่าวเป็น “พิมพ์เขียวที่ใช้ร่วมกันเพื่อความสงบสุขและความรุ่งเรืองของประชาชนและโลกทั้งปัจจุบันและในอนาคต” วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนมี 17 เป้าหมายให้บรรลุก่อนปี 2030 เช่น ไม่มีความยากจน ขจัดความหิวโหย การศึกษาเท่าเทียม ความเท่าเทียมทางเพศ การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และการจ้างงานที่มีคุณค่า1
แนวคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นแนวคิดที่สำคัญและน่าสนใจ แต่เร่งด่วนกว่านั้นคือคำถามที่กว้างขึ้นถึงสังคมที่ยั่งยืน อะไรเป็นรากฐานค้ำจุนสังคมที่เจริญรุ่งเรือง สังคมที่ส่งเสริมความสุข ความก้าวหน้า ความสงบ และความผาสุกในหมู่สมาชิกของสังคมนั้น? เรามีบันทึกพระคัมภีร์เกี่ยวกับสังคมที่เฟื่องฟูเช่นนั้นอย่างน้อยสองสังคม เราสามารถเรียนรู้อะไรจากสังคมเหล่านี้?
สมัยโบราณ เอโนคผู้ประสาทพรและศาสดาพยากรณ์ผู้ยิ่งใหญ่สั่งสอนความชอบธรรม และ “สร้างนครหนึ่งที่เรียกว่านครแห่งความบริสุทธิ์, แม้ไซอัน”2 มีรายงานว่า “พระเจ้าทรงเรียกผู้คนของพระองค์ว่าไซอัน, เพราะพวกเขามีจิตใจเดียวและความคิดเดียว, และดำรงอยู่ในความชอบธรรม; และไม่มีคนจนในบรรดาพวกเขา”3
“และพระเจ้าทรงอวยพรแผ่นดิน, และพวกเขาได้รับพรบนภูเขา, และบนสถานที่สูง, และเจริญรุ่งเรือง”4
ผู้คนศตวรรษที่หนึ่งและที่สองในซีกโลกตะวันตกซึ่งรู้จักกันว่าเป็นชาวนีไฟกับชาวเลมันให้ตัวอย่างที่โดดเด่นอีกตัวอย่างหนึ่งของสังคมที่เจริญรุ่งเรือง หลังจากการปฏิบัติศาสนกิจอันน่าทึ่งในบรรดาคนเหล่านั้นของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ฟื้นคืนพระชนม์ “พวกเขาดำเนินตามพระบัญญัติซึ่งพวกเขาได้รับจากพระเจ้าของพวกเขาและพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา, ด้วยการอดอาหารและสวดอ้อนวอนต่อไป, และประชุมกันบ่อยครั้งทั้งเพื่อสวดอ้อนวอนและฟังพระวจนะของพระเจ้า …
“และไม่มีความริษยา, หรือการวิวาท, หรือความวุ่นวาย, หรือการผิดประเวณี, หรือการพูดเท็จ, หรือการกระทำฆาตกรรม, หรือกามตัณหาอย่างใด; และแน่แท้แล้วไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ในบรรดาผู้คนทั้งปวงที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา”5
สังคมในสองตัวอย่างนี้ยั่งยืนเพราะพรจากสวรรค์อันเนื่องมาจากแบบอย่างการอุทิศตนที่พวกเขามีต่อพระบัญญัติสำคัญสองข้อ: “จงรักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่านด้วยสุดใจของท่าน ด้วยสุดจิตของท่าน และด้วยสุดความคิดของท่าน” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”6 พวกเขาเชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตส่วนตัว และดูแลสวัสดิภาพทางกายและทางวิญญาณของกันและกัน ในถ้อยคำจากหลักคำสอนและพันธสัญญา นี่เป็นสังคมที่ “มนุษย์ทุกคนหมายมั่นประโยชน์สุขของเพื่อนบ้านตน, และทำสิ่งทั้งปวงด้วยดวงตาที่เห็นแก่รัศมีภาพของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเดียว”7
ดังที่เอ็ลเดอร์เควนทิน แอล. คุก ให้ข้อสังเกตไว้เมื่อเช้านี้ น่าเสียดายที่สังคมในอุดมคติดังบรรยายไว้ใน 4 นีไฟของพระคัมภีร์มอรมอนอยู่ไม่พ้นศตวรรษที่สอง ไม่มีหลักประกันความยั่งยืน และสังคมที่เฟื่องฟูพังครืนได้ทันทีถ้าสังคมนั้นทิ้งคุณธรรมหลักที่ค้ำจุนความสงบสุขและความรุ่งเรือง ในกรณีนี้ ผู้คนยอมต่อการล่อลวงของมาร พวกเขาจึง “เริ่มแบ่งชนชั้น; และพวกเขาเริ่มสร้างศาสนจักรให้ตนเพื่อหาผลประโยชน์, และเริ่มปฏิเสธศาสนจักรที่แท้จริงของพระคริสต์”8
“และเหตุการณ์ได้บังเกิดขึ้นคือเมื่อสามร้อยปีผ่านไป, ทั้งผู้คนของนีไฟและชาวเลมันกลับกลายเป็นคนชั่วร้ายยิ่งเหมือนๆ กัน”9
ในตอนปลายอีกศตวรรษหนึ่ง หลายล้านคนเสียชีวิตจากการฆ่าฟันกันเองและชาติที่เคยปรองดองกันกลายเป็นชนเผ่าที่ทำสงครามกัน
ขณะใคร่ครวญตัวอย่างนี้และตัวอย่างอื่นของสังคมที่เคยเจริญรุ่งเรืองแล้วพังทลายในเวลาต่อมา ข้าพเจ้าคิดว่าปลอดภัยที่จะพูดว่าเมื่อผู้คนปฏิเสธสำนึกรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า และเริ่มวางใจใน “แขนแห่งเนื้อหนัง” ภัยพิบัติย่อมรออยู่ การวางใจในแขนแห่งเนื้อหนัง คือการละเลยพระผู้ทรงลิขิตสิทธิ์และศักดิ์ศรีของมนุษย์และการให้ความสำคัญสูงสุดกับความร่ำรวย อำนาจ และการสรรเสริญของโลก (ในขณะที่มักจะเยาะเย้ยและข่มเหงคนที่ทำตามมาตรฐานที่แตกต่าง) ขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมที่ยั่งยืนกำลังแสวงหาสิ่งที่กษัตริย์เบ็นจามินพูดไว้ คือ “เติบโตในความรู้เรื่องรัศมีภาพของพระองค์ผู้ทรงสร้าง [พวกเขา], หรือในความรู้ของสิ่งซึ่งเที่ยงธรรมและจริง.”10
สถาบันครอบครัวและศาสนาสำคัญยิ่งต่อการทำให้ทั้งบุคคลและชุมชนมีคุณธรรมค้ำจุนสังคมที่ยั่งยืน คุณธรรมเหล่านี้ที่หยั่งรากลึกในพระคัมภีร์ได้แก่ ความสุจริต ความรับผิดชอบและสำนึกรับผิดชอบ ความเห็นอกเห็นใจ การแต่งงานและความซื่อสัตย์ต่อคู่ครอง ความเคารพผู้อื่นและทรัพย์สินของผู้อื่น การรับใช้ ความจำเป็นและศักดิ์ศรีของการทำงาน และอื่นๆ
เจอราร์ด เบเกอร์ บรรณาธิการอิสระเขียนคอลัมน์หนึ่งเมื่อต้นปีใน เดอะวอลสตรีทเจอร์นัล ยกย่องเฟรเดอริค เบเกอร์บิดาของเขาเนื่องในวันเกิดครบรอบ 100 ปี เบเกอร์คาดเดาเหตุผลที่บิดาของเขาอายุยืนแล้วกล่าวเสริมด้วยความคิดเหล่านี้:
“แม้เราทุกคนอาจจะอยากรู้เคล็ดลับของการมีชีวิตยืนยาว แต่ผมรู้สึกอยู่บ่อยๆ ว่าเราน่าจะทุ่มเทเวลาขบคิดมากขึ้นว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตดี ไม่ว่าเราจะมีชีวิตอยู่ได้นานเท่าใดก็ตาม ในเรื่องนี้ ผมมั่นใจว่าผมรู้เคล็ดลับของคุณพ่อ
“ท่านมาจากยุคที่หลักๆ แล้วชีวิตถูกนิยามโดยหน้าที่ ไม่ใช่โดยสิทธิ์อันพึงมี โดยความรับผิดชอบทางสังคม ไม่ใช่สิทธิพิเศษส่วนตัว หลักจูงใจเบื้องต้นในการดำเนินชีวิตตลอดศตวรรษของท่านคือสำนึกในภาระหน้าที่—ต่อครอบครัว พระผู้เป็นเจ้า ประเทศชาติ
“ในยุคที่เศษซากของครอบครัวที่แตกแยกเข้าครอบงำ คุณพ่อเป็นสามีที่ภักดีต่อภรรยาตลอด 46 ปี เป็นคุณพ่อที่มีความรับผิดชอบต่อลูกหกคน ท่านอยู่เคียงข้างและมีความสำคัญอย่างที่สุดเมื่อท่านกับคุณแม่ทนทุกข์กับเรื่องเศร้าจากการสูญเสียลูกคนหนึ่งไปอย่างไม่คาดคิด …
“และในยุคที่ศาสนาเป็นเรื่องแปลกมากขึ้นเรื่อยๆ คุณพ่อของผมดำเนินชีวิตแบบชาวคาทอลิกที่ซื่อสัตย์ด้วยความเชื่ออันไม่สั่นคลอนในสัญญาของพระคริสต์ บางครั้งผมคิดว่าท่านมีชีวิตนานขนาดนั้นเพราะท่านพร้อมจะตายมากกว่าใครที่ผมเคยพานพบ
“ผมเป็นคนโชคดี—เพราะมีการศึกษาที่ดี มีครอบครัวที่ดี และมีความสำเร็จทางโลกที่ผมไม่สมควรได้รับ แต่ไม่ว่าจะรู้สึกภาคภูมิใจและปลาบปลื้มเพียงใด ก็ยังเทียบไม่ได้กับความภาคภูมิใจและความปลาบปลื้มที่ผมมีต่อชายผู้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบพื้นๆ แต่มีปีติในการดำเนินชีวิตที่ดีงาม—มาได้ถึงหนึ่งร้อยปี—โดยไม่เอะอะโวยวาย ไม่คาดหวังถึงรางวัลหรือแม้กระทั่งความขอบคุณ”11
หลายชาติปฏิเสธความสำคัญของศาสนาและความเชื่อทางศาสนาในมุมมองเช่นนั้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าความเชื่อและความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต่อความเที่ยงตรงทางศีลธรรมในบุคคลหรือสังคมในโลกทุกวันนี้12 ข้าพเจ้าคิดว่าเราทุกคนคงเห็นด้วยว่าผู้ที่อ้างตนไม่มีความเชื่อทางศาสนาสามารถเป็นและมักจะเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่เราคงไม่เห็นด้วยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยปราศจากอิทธิพลสวรรค์ ข้าพเจ้ากำลังพูดถึงแสงสว่างของพระคริสต์ พระผู้ช่วยให้รอดทรงประกาศว่า “เราคือแสงสว่างที่แท้จริงซึ่งให้ความสว่างทุกคนที่มาในโลก”13 ไม่ว่าจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม ชาย หญิง และเด็กทุกคนจากทุกความเชื่อ ทุกที่ และทุกสมัย ล้วนเต็มไปด้วยแสงสว่างของพระคริสต์ และด้วยเหตุนี้จึงมีสำนึกผิดชอบชั่วดีที่เรามักจะเรียกกันว่ามโนธรรม14
แต่กระนั้น เมื่อโลกิยานุวัติแยกคุณธรรมส่วนตัวและคุณธรรมพลเมืองออกจากสำนึกรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าย่อมเป็นการตัดต้นออกจากราก การพึ่งวัฒนธรรมและประเพณีเพียงอย่างเดียวไม่มากพอจะค้ำจุนคุณธรรมในสังคม เมื่อคนหนึ่งไม่มีพระเป็นเจ้าสูงกว่าตนและไม่แสวงหาความดีที่ยิ่งใหญ่กว่าการสนองความอยากและความพึงใจของตนเอง ผลลัพธ์จะประจักษ์เมื่อถึงเวลา
ตัวอย่างเช่น สังคมใดที่ความยินยอมของบุคคลเป็นข้อจำกัดเดียวของกิจกรรมทางเพศ สังคมนั้นกำลังเสื่อม การล่วงประเวณี ความสำส่อนทางเพศ การเกิดนอกสมรส15 และการเลือกทำแท้งเป็นเพียงผลขมบางอย่างอันเกิดจากการปฏิวัติทางเพศอย่างต่อเนื่อง ผลพวงที่ตามมาซึ่งต่อต้านความยั่งยืนของสังคมอันดี ได้แก่ เด็กจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกเลี้ยงดูในความยากจนโดยปราศจากอิทธิพลดีของบิดา บางครั้งหลายชั่วอายุคน; ผู้หญิงคนเดียวต้องแบกรับสิ่งที่ควรรับผิดชอบร่วมกัน; และการศึกษาที่บกพร่องอย่างรุนแรงเช่นสถานศึกษาต่างๆ ต้องทำหน้าที่ชดเชยความล้มเหลวภายในบ้านเช่นเดียวกับสถาบันอื่นๆ16 นอกจากพยาธิสภาพทางสังคมเหล่านี้แล้วยังมีตัวอย่างอีกนับไม่ถ้วนของความชอกช้ำใจและความสิ้นหวัง—หายนะทางใจและทางอารมณ์มาเยือนทั้งคนผิดและคนบริสุทธิ์
นีไฟประกาศว่า:
“วิบัติจงมีแก่เขาที่สดับฟังกฎเกณฑ์ของมนุษย์, และปฏิเสธเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า, และของประทานแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์! …
“… วิบัติจงมีแก่คนทั้งปวงที่ตัวสั่น, และโกรธเพราะความจริงแห่งพระผู้เป็นเจ้า!”17
ในทางกลับกัน ข่าวสารอันน่ายินดีของเราต่อบุตรธิดาของเราและต่อมวลมนุษย์คือ “ความจริงของพระผู้เป็นเจ้า” ชี้ทางที่ดีกว่า หรือดังที่เปาโลกล่าวว่าคือ “ทางที่ดีที่สุด”18 ทางไปสู่ความสุขส่วนตัวและความผาสุกของชุมชนในตอนนี้ และสู่ความสงบสุขและปีติอันเป็นนิจหลังจากนี้
ความจริงของพระผู้เป็นเจ้าหมายถึงแก่นความจริงที่รองรับแผนแห่งความสุขสำหรับบุตรธิดาของพระองค์ ความจริงเหล่านี้คือพระผู้เป็นเจ้าทรงพระชนม์; พระองค์ทรงเป็นพระบิดาบนสวรรค์ของวิญญาณเรา; เพื่อแสดงความรักของพระองค์ พระองค์ได้ประทานพระบัญญัติที่นำไปสู่ความบริบูรณ์แห่งปีติกับพระองค์; พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระบุตรของพระผู้เป็นเจ้าและพระผู้ไถ่ของเรา; พระองค์ทรงทนทุกข์และสิ้นพระชนม์เพื่อชดใช้บาปโดยมีเงื่อนไขว่าเราต้องกลับใจ; พระองค์ทรงลุกขึ้นจากบรรดาคนตาย ทำให้เกิดการฟื้นคืนชีวิตของมนุษยชาติ; และเราทุกคนจะยืนอยู่เบื้องพระพักตร์พระองค์เพื่อรับการพิพากษา นั่นคือการชี้แจงชีวิตของเรา19
เก้าปีในสิ่งที่เรียกว่า “การปกครองของเหล่าผู้พิพากษา” ในพระคัมภีร์มอรมอน ศาสดาพยากรณ์แอลมาลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าผู้พิพากษาเพื่อให้เวลาเต็มที่กับการเป็นผู้นำศาสนจักร จุดประสงค์ของท่านคือแก้ไขความจองหอง การข่มเหง และความละโมบที่กำลังเพิ่มขึ้นในบรรดาผู้คน โดยเฉพาะในบรรดาสมาชิกศาสนจักร20 ดังที่เอ็ลเดอร์สตีเฟน ดี. เนดอลด์กล่าวไว้ว่า “การตัดสินใจด้วยการดลใจ [ของแอลมา] คือไม่ใช้เวลามากขึ้นกับการพยายามตั้งกฎเกณฑ์และบังคับใช้มากขึ้นเพื่อแก้ไขพฤติกรรมของผู้คน แต่พูดพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้ากับพวกเขา สอนหลักคำสอน และให้ความเข้าใจในแผนแห่งการไถ่นำพวกเขาไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม”21
มีมากมายที่เราทำได้ในฐานะเพื่อนบ้านและพลเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อความยั่งยืนและความสำเร็จของสังคมที่เราอยู่ และแน่นอนว่าการรับใช้พื้นฐานและยั่งยืนที่สุดของเราคือการสอนและดำเนินชีวิตตามความจริงที่อยู่ในแผนอันสำคัญยิ่งแห่งการไถ่ของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่กล่าวไว้ในเนื้อร้องของเพลงสวดว่า:
ศาสนาบรรพบุรุษเราสอนให้รัก
ทั้งมิตรและศัตรูในการต่อสู้ทุกยาม
สั่งสอนศาสนาด้วยความรัก
ผ่านคำพูดอ่อนโยนและชีวิตที่ดีงาม22
ถ้าเราและเพื่อนบ้านของเราจำนวนมากพอพยายามทำการตัดสินใจและนำทางชีวิตด้วยความจริงของพระผู้เป็นเจ้า เราจะอุดมไปด้วยคุณธรรมทางศีลธรรมที่จำเป็นในทุกสังคม
ในความรักของพระองค์ พระบิดาบนสวรรค์ประทานพระเยซูคริสต์ พระบุตรองค์เดียวที่ถือกำเนิดของพระองค์ เพื่อให้เรามีชีวิตอันเป็นนิจ23
“[พระเยซูคริสต์] ย่อมไม่ทรงกระทำสิ่งใดเว้นแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของโลก; เพราะพระองค์ทรงรักโลก, จนพระองค์ทรงยอมพลีพระชนม์ชีพของพระองค์เองเพื่อจะทรงจูงใจมนุษย์ทั้งปวงมาหาพระองค์. ดังนั้น, พระองค์ไม่ทรงบัญชาผู้ใดไม่ให้รับส่วนความรอดของพระองค์.
“ดูเถิด, พระองค์ทรงร้องบอกผู้ใดหรือ, โดยตรัสว่า: จงไปจากเรา? ดูเถิด, ข้าพเจ้ากล่าวแก่ท่าน, ไม่เลย; แต่พระองค์ตรัส: จงมาหาเราเถิดเจ้าทั้งหลายสุดแดนแผ่นดินโลก, จงซื้อนมและน้ำผึ้ง, โดยไม่เสียเงินตราและโดยไม่คิดราคา”24
เราประกาศเช่นนี้ “ในความสำรวมแห่งใจ, ในวิญญาณแห่งความอ่อนโยน”25 และในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน