การประชุมใหญ่สามัญ
รักศัตรูของท่าน
การประชุมใหญ่สามัญเดือนตุลาคม 2020


16:19

รักศัตรูของท่าน

การรู้ว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้มุมมองต่อคุณค่าของคนอื่น และให้ความสามารถที่จะอยู่เหนืออคติ

คำสอนของพระเจ้าดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์และมีไว้สำหรับบุตรธิดาทุกคนของพระผู้เป็นเจ้า ในข่าวสารนี้ ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างบางเรื่องจากสหรัฐ แต่หลักธรรมที่ข้าพเจ้าสอนประยุกต์ใช้ได้กับทุกที่

เราอยู่ในยุคที่มีความโกรธความเกลียดในความสัมพันธ์และนโยบายทางการเมือง เรารู้สึกเช่นนั้นในฤดูร้อนปีนี้เมื่อบางคนไปไกลเกินกว่าการประท้วงโดยสันติและแสดงพฤติกรรมบ่อนทำลาย เรารู้สึกเช่นนั้นในการรณรงค์หาเสียงในปัจจุบันเพื่อตำแหน่งของรัฐ น่าเสียดายที่บางอย่างนั้นเข้ามาในถ้อยแถลงทางการเมืองและคำพูดพาดพิงที่ไร้เมตตาในการประชุมศาสนจักรของเรา

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยเราจะมีความเห็นต่างอยู่เสมอเรื่องผู้สมัครและนโยบายที่นำเสนอ แต่ในฐานะผู้ติดตามพระคริสต์เราต้องเลิกใช้ความโกรธความเกลียดในการถกเถียงหรือประณามตัวเลือกทางการเมืองในสถานการณ์ต่างๆ

คำเทศนาบนภูเขา

ต่อไปนี้เป็นคำสอนหนึ่งของพระผู้ช่วยให้รอดที่รู้จักกันดีแต่ไม่ค่อยมีใครนำมาปฏิบัติ:

“ท่าน‍ทั้ง‍หลายได้‍ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า จงรักเพื่อนบ้านของท่าน และเกลียด‍ชังศัตรูของท่าน

“แต่เราบอกพวก‍ท่านว่า จงรักศัตรูของท่าน [อวยพรคนที่แช่งด่าท่าน ทำดีต่อคนที่เกลียดชังท่าน] และจงอธิษ‌ฐานเพื่อบรร‌ดาคนที่ [หลอกใช้ท่านด้วยเจตนาร้ายและ] ข่ม‍เหงพวก‍ท่าน” (ดู มัทธิว 5:43–44)1

ชาวยิวถูกสอนกันมาหลายชั่วคนให้เกลียดชังศัตรู และเวลานั้นพวกเขาทนทุกข์อยู่ภายใต้อำนาจปกครองและความโหดร้ายจากการยึดครองของโรมัน แต่พระเยซูทรงสอนให้พวกเขา “รักศัตรู” และ “ทำดีต่อคนที่หลอกใช้ท่านด้วยเจตนาร้าย”

พระเยซูทรงสอนในทวีปอเมริกา

ช่างเป็นคำสอนที่ออกแนวปฏิวัติสำหรับความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวและทางการเมือง! แต่นั่นยังคงเป็นสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงบัญชา ในพระคัมภีร์มอรมอนเราอ่านว่า “เพราะตามจริงแล้ว, ตามจริงแล้วเรากล่าวแก่เจ้า, คนที่มีวิญญาณของความขัดแย้งย่อมไม่เป็นของเรา, แต่เป็นของมาร, ผู้เป็นบิดาแห่งความขัดแย้ง, และเขายั่วยุใจมนุษย์ให้ขัดแย้งด้วยความโกรธ, ต่อกัน” (3 นีไฟ 11:29)

การรักศัตรูและปฏิปักษ์ของเราไม่ใช่เรื่องง่าย “พวกเราส่วนใหญ่มี … ความรักและการให้อภัยไม่ถึงขั้นนั้น” ประธานกอร์ดอน บี. ฮิงค์ลีย์กล่าวโดยเสริมว่า “เราต้องมีวินัยในตนเองแทบจะมากกว่าที่เราสามารถมีได้”2 แต่นั่นต้องจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระบัญญัติสำคัญสองข้อของพระผู้ช่วยให้รอดที่ให้ “รักองค์พระผู้เป็นเจ้าของท่าน” และ “รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” (มัทธิว 22:37, 39) และต้องเป็นไปได้ เพราะพระองค์ทรงสอนเช่นกันว่า “จง​ขอ​แล้ว​จะ​ได้ จง​หา​แล้ว​จะ​พบ” (มัทธิว 7:7)3

เราจะรักษาพระบัญญัติศักดิ์สิทธิ์สองข้อนี้ในโลกที่เราอยู่ภายใต้กฎของมนุษย์ได้อย่างไร? โชคดีที่เรามีแบบอย่างของพระผู้ช่วยให้รอดถึงวิธีทำให้กฎนิรันดร์ของพระองค์สมดุลกับการปฏิบัติตามกฎที่มนุษย์ตั้งไว้ เมื่อปฏิปักษ์พยายามหลอกล่อพระองค์ด้วยคำถามว่าชาวยิวควรจ่ายภาษีให้โรมหรือไม่ พระองค์ทรงชี้ไปที่รูปซีซาร์บนเหรียญและทรงประกาศว่า: “ของของซีซาร์จงถวายแก่ซีซาร์ และของของพระเจ้าจงถวายแด่พระเจ้า” (ลูกา 20:25)4

ให้แก่ซีซาร์

ดังนั้นเราจึงต้องทำตามกฎของมนุษย์ (ถวายแก่ซีซาร์) เพื่ออยู่อย่างสันติภายใต้รัฐบาลพลเรือน และเราทำตามกฎของพระผู้เป็นเจ้าเพื่อมุ่งสู่จุดหมายนิรันดร์ของเรา แต่เราจะทำอย่างไร—โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราจะเรียนรู้วิธีรักปฏิปักษ์และศัตรูของเราอย่างไร?

คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดไม่ให้ “ขัดแย้งด้วยความโกรธ” เป็นขั้นแรกที่ดี มารเป็นบิดาของความขัดแย้ง และเขานั่นเองที่ล่อลวงมนุษย์ให้ขัดแย้งด้วยความโกรธ เขาส่งเสริมความเป็นอริและความสัมพันธ์ที่เกลียดชังกันในแต่ละคนและในกลุ่ม ประธานโธมัส เอส. มอนสันสอนว่าความโกรธเป็น “เครื่องมือของซาตาน” เพราะ “การโกรธคือการยอมต่ออิทธิพลของซาตาน ไม่มีใครจะ ทำให้ เราโกรธได้ นี่คือการเลือกของเรา”5 ความโกรธเป็นหนทางสู่ความแตกแยกและความเป็นอริ เรามาสู่การรักปฏิปักษ์เมื่อเราหลีกเลี่ยงความโกรธและเจตนาร้ายต่อคนที่เราเห็นต่าง จะช่วยได้เช่นกันถ้าเรายอมเรียนรู้จากพวกเขา

หนึ่งในวิธีพัฒนาพลังที่จะรักผู้อื่นคือวิธีเรียบง่ายที่บรรยายในละครเพลงเมื่อนานมาแล้ว เมื่อเราพยายามจะเข้าใจและเชื่อมโยงกับผู้คนจากวัฒนธรรมอื่น เราควรพยายามทำความรู้จักพวกเขา ในสภาวการณ์นับไม่ถ้วน การระแวงคนแปลกหน้าหรือแม้แต่ความเป็นศัตรูเปิดทางให้มิตรภาพหรือแม้แต่ความรักเมื่อการติดต่อส่วนตัวสร้างความเข้าใจและความเคารพกัน6

สิ่งที่ช่วยให้เรียนรู้มากขึ้นในการรักปฏิปักษ์และศัตรูของเราคือการพยายามเข้าใจพลังความรัก ต่อไปนี้เป็นสามคำสอนจากหลายๆ คำสอนของศาสดาพยากรณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้

ศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธสอนว่า “มีภาษิตเก่าแก่สอนว่าความรักก่อให้เกิดความรัก ขอให้เราทุ่มเทความรักออกมา—แสดงความเมตตาของเราต่อมวลมนุษย์”7

ประธานฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์สอนว่า: “โลกที่เราอาศัยอยู่จะได้ประโยชน์มากถ้าชายหญิงทุกแห่งหนจะแสดงความรักอันบริสุทธิ์ของพระคริสต์ ซึ่งมีความเมตตา ความอ่อนโยน และความอ่อนน้อม … ปราศจากความอิจฉาหรือความจองหอง … … ไม่แสวงหาสิ่งตอบแทน … ไม่มีที่ให้แก่ทิฐิ ความเกลียดชัง หรือความรุนแรง … … กระตุ้นให้คนต่างกันอยู่ด้วยกันในความรักแบบชาวคริสต์โดยไม่คำนึงถึงความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ สัญชาติ ฐานะการเงิน การศึกษา หรือวัฒนธรรม”8

และประธานรัสเซลล์ เอ็ม. เนลสันขอให้เรา “ขยายวงความรักให้ครอบคลุมครอบครัวมนุษย์ทั้งหมด”9

ส่วนที่จำเป็นอย่างยิ่งของการรักศัตรูคือการถวายแก่ซีซาร์โดยทำตามกฎหมายของแต่ละประเทศ แม้คำสอนของพระเยซูจะออกแนวปฏิวัติ แต่พระองค์ไม่ได้ทรงสอนให้ปฏิวัติหรือทำผิดกฎหมาย พระองค์ทรงสอนวิธีที่ดีกว่านั้น การเปิดเผยยุคปัจจุบันสอนเช่นเดียวกันว่า:

“อย่าให้มนุษย์คนใดฝ่าฝืนกฎของแผ่นดิน, เพราะคนที่รักษากฎของพระผู้เป็นเจ้าไม่จำเป็นต้องฝ่าฝืนกฎของแผ่นดิน.

“ดังนั้น, จงขึ้นอยู่กับอำนาจที่ดำรงอยู่” (หลักคำสอนและพันธสัญญา 58:21–22)

หลักแห่งความเชื่อของเราที่เขียนโดยศาสดาพยากรณ์โจเซฟ สมิธหลังจากวิสุทธิชนยุคแรกทนทุกข์ต่อการข่มเหงอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐมิสซูรีประกาศว่า: “เราเชื่อในการอยู่ใต้อาณัติของกษัตริย์, ประธานาธิบดี, ผู้ปกครอง, และ​ฝ่ายปกครองของรัฐ, ในการเชื่อฟัง, การยกย่อง, และการสนับสนุนกฎหมาย” (หลักแห่งความเชื่อ 1:12)

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นด้วยกับการกระทำทั้งหมดของผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่หมายความว่าเราเชื่อฟังกฎหมายฉบับปัจจุบันและใช้สันติวิธีทำการเปลี่ยนแปลง หมายความด้วยว่าเรายอมรับผลการเลือกตั้งอย่างสันติ เราจะไม่มีส่วนในความรุนแรงที่ผู้ผิดหวังกับผลการเลือกตั้งใช้ข่มขู่10 ในสังคมประชาธิปไตย เรามีโอกาสเสมอและมีหน้าที่ยืนหยัดอย่างสันติจนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป

คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดให้รักศัตรูของเรามีพื้นฐานบนความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนเป็นบุตรธิดาที่รักของพระผู้เป็นเจ้า หลักธรรมนิรันดร์ดังกล่าวและหลักธรรมพื้นฐานบางประการของกฎหมายถูกทดสอบในการประท้วงในหลายเมืองของอเมริกา

การประท้วงโดยสันติ

ขั้วหนึ่งเหมือนบางคนลืมไปว่าบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐรับประกัน “สิทธิ์ของประชาชนในการชุมนุมและยื่นคำร้องโดยสันติให้รัฐบาลบรรเทาความเดือดร้อน” นั่นเป็นวิธีที่ได้รับอนุญาตในการสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนและพุ่งเป้าไปที่ความอยุติธรรมในเนื้อหาหรือการบริหารกฎหมาย มีความอยุติธรรมเสมอมา ในการกระทำโดยส่วนรวมและในเจตคติส่วนตัวของเรา เรามีการเหยียดเชื้อชาติและมีความทุกข์ในเรื่องนี้มาตลอด ในเรียงความส่วนตัวเชิงโน้มน้าว ท่านสาธุคุณเธเรซา เอ. เดียร์จากสมาคมแห่งชาติเพื่อความก้าวหน้าของชนผิวสี (NAACP) เตือนสติเราว่า “การเหยียดเชื้อชาติเฟื่องฟูในความเกลียดชัง การกดขี่ การสมรู้ร่วมคิด ความเฉยเมย ความไม่แยแส และการปิดปากเงียบ”11 ในฐานะพลเมืองและสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งวิสุทธิชนยุคสุดท้าย เราต้องทำให้ดีขึ้นในการช่วยขุดรากถอนโคนการเหยียดเชื้อชาติ

การจราจลที่ผิดกฎหมาย

อีกขั้วหนึ่ง ส่วนน้อยของผู้เข้าร่วมและผู้สนับสนุนการประท้วงเหล่านี้และการทำผิดกฎหมายที่ตามมาดูเหมือนจะลืมไปว่าการประท้วงที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองคือการประท้วง โดยสันติ ผู้ประท้วงไม่มีสิทธิ์ทำลาย ก่อความเสียหาย หรือขโมยทรัพย์สิน หรือบ่อนทำลายอำนาจการรักษาความสงบตามกฎหมายของรัฐบาล รัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่มีการเชิญชวนให้ปฏิวัติหรือใช้หลักอนาธิปไตย เราทุกคน—ตำรวจ ผู้ประท้วง ผู้สนับสนุน และผู้สังเกตการณ์—ควรเข้าใจขีดจำกัดในสิทธิ์ของเราและความสำคัญของหน้าที่ของเราที่จะอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่ อับราฮัม ลินคอล์นกล่าวได้อย่างถูกต้องว่า “ไม่มีความเดือดร้อนใดที่เหมาะกับการบรรเทาแก้ไขด้วยกฎหมู่”12 การบรรเทาแก้ไขความเดือดร้อนด้วยกฎหมู่คือการบรรเทาแก้ไขด้วยวิธีผิดกฎหมาย นั่นคืออนาธิปไตย สภาพที่ไม่มีการปกครองที่มีประสิทธิภาพและไม่มีการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายแทนที่จะคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล

เหตุผลหนึ่งที่การประท้วงเมื่อเร็วๆ นี้ในสหรัฐทำให้คนจำนวนมากตกใจก็คือความเป็นศัตรูและสภาพนอกกฎหมายที่เกิดขึ้นกับบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศอื่นไม่ควรจะเกิดขึ้นในสหรัฐ ประเทศนี้ควรขจัดการเหยียดเชื้อชาติให้ดีกว่านี้ ไม่เฉพาะการเหยียดคนอเมริกันผิวดำที่เราเห็นมากที่สุดในการประท้วงเร็วๆ นี้เท่านั้น แต่คนลาติน คนเอเชีย และคนกลุ่มอื่นๆ ด้วย ประวัติการเหยียดเชื้อชาติของประเทศนี้ไม่ดีนักและเราต้องทำให้ดีขึ้น

เอลลิส ไอแลนด์
ผู้อพยพ

สหรัฐก่อตั้งโดยผู้อพยพจากหลายสัญชาติและหลายชาติพันธุ์ จุดประสงค์ร่วมของประเทศนี้ไม่ใช่เพื่อสถาปนาศาสนาใดเป็นการเฉพาะหรือเพื่อรักษาวัฒนธรรมใดหรือสังคมกลุ่มใดของบรรดาประเทศเดิมซึ่งมีความหลากหลายให้คงอยู่ตลอดไป คนรุ่นก่อตั้งมุ่งหมายให้ประเทศเป็นหนึ่งเดียวกันโดยใช้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมาย นั่นไม่ใช่การบอกว่าเอกสารร่วมของเราหรือความเข้าใจของพวกเขาในตอนนั้นสมบูรณ์ ประวัติศาสตร์สองศตวรรษแรกของสหรัฐแสดงให้เห็นว่าต้องมีการขัดเกลามากมาย เช่น สิทธิการออกเสียงสำหรับสตรี และโดยเฉพาะการเลิกทาส ตลอดจนกฎหมายที่รับรองว่าคนที่เคยเป็นทาสจะมีความเป็นไทในทุกๆ ด้าน

เมื่อเร็วๆ นี้นักวิชาการมหาวิทยาลัยเยลสองท่านย้ำเตือนเราว่า:

“แม้จะมีข้อบกพร่องมากมาย แต่สหรัฐมีความพร้อมแบบพิเศษในการทำให้สังคมที่แตกแยกและแตกต่างเป็นหนึ่งเดียวกัน …

“… พลเมืองสหรัฐไม่ต้องเลือกระหว่างเอกลักษณ์ประจำชาติกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม คนอเมริกันมีได้ทั้งสองอย่าง แต่กุญแจคือความรักชาติตามรัฐธรรมนูญ เราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันโดยและผ่านรัฐธรรมนูญ โดยไม่คำนึงถึงความขัดแย้งทางอุดมการณ์”13

หลายปีก่อน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษให้คำแนะนำที่ยอดเยี่ยมนี้ในการอภิปรายที่สภาผู้แทนราษฎรว่า: “เราไม่มี พันธมิตร นิรันดร์และเราไม่มีศัตรู ถาวร แต่ ความต้องการ ของเราต่างหากที่นิรันดร์และถาวร หน้าที่ของเราคือไล่ตามความต้องการเหล่านี้”14

นั่นเป็นเหตุผล ทางโลก ที่ดีสำหรับการทำตามความต้องการที่ “นิรันดร์และถาวร” ในเรื่องทางการเมือง นอกจากนี้ หลักคำสอนในศาสนจักรของพระเจ้าสอนเราถึงความต้องการนิรันดร์อีกอย่างที่ควรนำทางเรา: คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดผู้ทรงดลใจให้เกิดรัฐธรรมนูญของสหรัฐและกฎหมายหลักของหลายประเทศ ความภักดีต่อกฎหมายที่มีสถาปนาไว้แทนการภักดีต่อ “พันธมิตร” ชั่วคราว เป็นวิธีดีที่สุดในการรักปฏิปักษ์และศัตรูของเราขณะแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวกันในความหลากหลาย

การรู้ว่าเราทุกคนเป็นบุตรธิดาของพระผู้เป็นเจ้าให้มุมมองสวรรค์ต่อคุณค่าของทุกคน และให้ปณิธานและความสามารถที่จะอยู่เหนืออคติและการเหยียดเชื้อชาติ เนื่องจากข้าพเจ้าเคยอาศัยอยู่ในที่ต่างๆ ของประเทศนี้มาหลายปี พระเจ้าทรงสอนข้าพเจ้าว่าเป็นไปได้ที่จะเชื่อฟังและพยายามปรับปรุงกฎหมายของประเทศเราและรักปฏิปักษ์กับศัตรูของเราไปด้วย แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้าพระเยซูคริสต์ของเรา พระองค์ประทานพระบัญชาให้รัก และทรงสัญญาจะช่วยเหลือเมื่อเราพยายามเชื่อฟังพระบัญชา ข้าพเจ้าเป็นพยานว่าพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูคริสต์พระบุตรของพระองค์ทรงรักเราและจะทรงช่วยเรา ในพระนามของพระเยซูคริสต์ เอเมน

อ้างอิง

  1. ดู ลูกา 6:27–28, 30 ด้วย.

  2. Gordon B. Hinckley, “The Healing Power of Christ,” Ensign, Nov. 1988, 59; ดู Teachings of Gordon B. Hinckley (1997), 230 ด้วย.

  3. ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 6:5 ด้วย.

  4. ดู มัทธิว 22:21; มาระโก 12:17 ด้วย.

  5. โธมัส เอส. มอนสัน, “จงฝึกความรู้สึกของท่าน โอ พี่น้องข้าพเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2009, 78.

  6. ดู Becky and Bennett Borden, “Moving Closer: Loving as the Savior Did,” Ensign, Sept. 2020, 24.

  7. โจเซฟ สมิธ, ใน History of the Church, 5:517. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (1929-68) กล่าวทำนองเดียวกันว่า: “การตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงจะทวีความรุนแรง ทำให้คืนที่ไม่มีดวงดาวอยู่แล้วมืดยิ่งกว่าเดิม ความมืดจะไล่ความมืดออกไปไม่ได้ ความสว่างเท่านั้นที่ไล่ความมืดได้ ความเกลียดจะไล่ความเกลียดไม่ได้ ความรักเท่านั้นที่ไล่ความเกลียดได้” (Where Do We Go from Here: Chaos or Community? [2010], 64–65).

  8. คำสอนของประธานศาสนจักร: ฮาเวิร์ด ดับเบิลยู. ฮันเตอร์ (2015), 264.

  9. รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “บุคคลผู้ใดสร้างสันติผู้นั้นเป็นสุข,” เลียโฮนา, พ.ย. 2002, 51; ดู Teachings of Russell M. Nelson (2018), 83 ด้วย.

  10. ดู “A House Divided,” Economist, Sept. 5, 2020, 17–20.

  11. Theresa A. Dear, “America’s Tipping Point: 7 Ways to Dismantle Racism,” Deseret News, June 7, 2020, A1.

  12. อับราฮัม ลินคอล์น, ปราศรัยที่ Young Men’s Lyceum สปริงฟิลด์ อิลลินอยส์ (27 ม.ค. 1838); อ้างใน John Bartlett, Bartlett’s Familiar Quotations (2012), 444.

  13. Amy Chua and Jed Rubenfeld, “The Threat of Tribalism,” Atlantic, Oct. 2018, 81, theatlantic.com.

  14. Henry John Temple, Viscount Palmerston, คำกล่าวใน the House of Commons, 1 มี.ค. 1848; ใน Bartlett, Bartlett’s Familiar Quotations, 392; เน้นตัวเอน.