จงตามเรามา
28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน: “ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ” มอรมอน 1–6


“28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน: ‘ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ’ มอรมอน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน มอรมอน 1–6” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

มอรมอนเขียนบนแผ่นจารึกทองคำ

มอรมอนย่อแผ่นจารึก โดย ทอม โลเวลล์

28 ตุลาคม–3 พฤศจิกายน: “ข้าพเจ้าอยากชักชวนท่านทั้งหลาย … ให้กลับใจ”

มอรมอน 1–6

มอรมอนไม่ได้บันทึก “เรื่องราวไว้โดยครบถ้วน” ของ “ภาพอันน่าพรั่นพรึง” ของความชั่วร้ายและการนองเลือดที่เขาเห็นในบรรดาชาวนีไฟทั้งหมด (มอรมอน 2:18; 5:8) แต่สิ่งที่เขาบันทึกไว้ใน มอรมอน 1–6 มากพอจะเตือนสติเราว่าคนที่เคยชอบธรรมสามารถตกได้ไกลเพียงใด ท่ามกลางความชั่วร้ายที่แพร่ไปทั่ว ไม่มีใครตำหนิมอรมอนที่อ่อนล้าและท้อแท้ได้ แต่ด้วยทุกสิ่งที่เขาเห็นและประสบมา เขาไม่เคยสูญเสียสำนึกในพระเมตตาอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้าและความเชื่อมั่นของเขาที่ว่าการกลับใจเป็นวิธีได้รับพระเมตตานั้น และถึงแม้ผู้คนของมอรมอนเองปฏิเสธคำเชื้อเชิญแกมขอร้องของเขาให้กลับใจ แต่เขารู้ว่าเขามีผู้ฟังกลุ่มใหญ่กว่านั้นให้ชักชวน “ดูเถิด” เขาประกาศ “ข้าพเจ้าเขียนถึงทั่วสุดแดนแผ่นดินโลก” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เขาเขียนถึงท่าน (ดู มอรมอน 3:17–20) และข่าวสารของเขาถึงท่านวันนี้เป็นข่าวสารเดียวกับที่ได้ช่วยให้ชาวนีไฟรอดในยุคสมัยของพวกเขา นั่นคือ “เชื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ … กลับใจและเตรียมยืนอยู่หน้าบัลลังก์พิพากษาของพระคริสต์” (มอรมอน 3:21–22)

ดู “Mormon Preserves the Record to Bring the House of Israel to Christ” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

มอรมอน 1–6

ไอคอนเซมินารี
ฉันสามารถติดตามพระเยซูคริสต์ไม่ว่าคนอื่นจะทำอะไร

ตอนที่อายุเพียง 10 ขวบ มอรมอนแตกต่างจากคนรอบข้างมาก ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 1–6 ให้มองหาด้านต่างๆ ที่ศรัทธาของมอรมอนในพระเยซูคริสต์ทำให้เขาไม่เหมือนใครและเปิดโอกาสให้เขาได้รับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่น ข้อต่อไปนี้อาจจะช่วยท่านเริ่ม:

มอรมอน 1:2–3, 13–17ท่านสังเกตเห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างมอรมอนกับผู้คนของเขา? เขามีคุณสมบัติอะไรบ้างที่ช่วยให้เขาเข้มแข็งทางวิญญาณในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนั้น?

มอรมอน 2:18–19มอรมอนใช้คำพูดใดบรรยายโลกที่เขาอยู่? เขามีความหวังอยู่ได้อย่างไรในสภาพแวดล้อมเช่นนั้น?

มอรมอน 3:12มอรมอนรู้สึกอย่างไรกับคนรอบข้าง? ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อพัฒนาความรักแบบเดียวกับมอรมอน?

ข้อใดอีกบ้างใน มอรมอน 1–6 เน้นศรัทธาของมอรมอนในพระเยซูคริสต์? เขาได้รับโอกาสอะไรเพราะเขาเลือกซื่อสัตย์ต่อไป?

ท่านอาจจะศึกษาข่าวสารของประธานโธมัส เอส. มอนสันเรื่อง “จงเป็นแบบอย่างและแสงสว่าง” (เลียโฮนา, พ.ย. 2015, 86–88) โดยมองหาเหตุผลว่าทำไมจึงสำคัญผู้ติดตามของพระเยซูคริสต์ต้องโดดเด่นหรือแตกต่าง ท่านจะเติมประโยคทำนองนี้ให้สมบูรณ์ว่าอย่างไร? “ เป็นแบบอย่างให้ฉันเมื่อเขา [หรือเธอ] นี่ช่วยให้ฉันอยาก

มอรมอนอาจรู้สึกว่าแบบอย่างของเขาไม่ได้ทำให้ชีวิตผู้คนของเขาดีขึ้น หากท่านมีโอกาสพูดคุยกับมอรมอน ท่านจะบอกเขาอย่างไรว่าแบบอย่างของเขาทำให้ชีวิตท่านดีขึ้น?

ดู เดวิด เอ. เบดนาร์, “ช่างสังเกต,” เลียโฮนา, ธ.ค. 2006, 14–20; “Something Different about Us: Example” (วีดิทัศน์), Gospel Library; Gospel Topics, “Living the Gospel of Jesus Christ,” Gospel Library ด้วย

ช่วยผู้อื่นแบ่งปันสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ เมื่อผู้คนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้ พวกเขากำลังเสริมสร้างศรัทธาของตนและศรัทธาของผู้อื่น (ดู หลักคำสอนและพันธสัญญา 88:122) ลองถามครอบครัวหรือชั้นเรียนว่าพวกเขามีประสบการณ์อะไรบ้างขณะศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า

ชาวนีไฟกับชาวเลมันสู้รบกัน

การสู้รบ โดย จอร์จ ค็อคโค

มอรมอน 2:10–15

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านำฉันมาหาพระคริสต์และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืน

เมื่อมอรมอนเห็นโทมนัสของผู้คน เขาหวังว่าคนเหล่านั้นจะกลับใจ แต่ “โทมนัสของพวกเขาหาใช่เพื่อการกลับใจ” (มอรมอน 2:13)—ไม่ใช่ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า แต่เป็นความเสียใจตามความประสงค์ของโลก เพื่อเข้าใจความแตกต่าง ท่านอาจจะบันทึกสิ่งที่ท่านเรียนรู้จาก มอรมอน 2:10–15 ลงในแผนผังลักษณะนี้:

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ความเสียใจตามความประสงค์ของโลก

มาหาพระเยซู (ข้อ 14)

สาปแช่งพระผู้เป็นเจ้า (ข้อ 14)

ท่านจะรู้ได้อย่างไรว่าความเสียใจของท่านเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือตามความประสงค์ของโลก? ถ้าท่านกำลังประสบความเสียใจตามความประสงค์ของโลก ท่านจะเปลี่ยนให้เป็นไปความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?

ดู 2 โครินธ์ 7:8–11; มิเชลล์ ดี. เครก, “ความไม่พอใจอย่างพระเจ้า,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 52–55 ด้วย

มอรมอน 3:3, 9

“พวกเขาไม่ได้ตระหนักว่าพระเจ้านั่นเองที่ทรงละเว้นพวกเขา”

มอรมอนสังเกตว่าชาวนีไฟไม่ยอมรับวิธีที่พระเจ้าประทานพรแก่พวกเขา ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 3:3, 9 ท่านจะไตร่ตรองว่าท่านกำลังยอมรับอิทธิพลของพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตท่านอย่างไร พรใดเกิดขึ้นเมื่อท่านยอมรับอิทธิพลของพระองค์? อะไรคือผลของการไม่ยอมรับพระองค์? (ดู มอรมอน 2:26; หลักคำสอนและพันธสัญญา 59:21)

ดู เฮนรีย์ บี. อายริงก์, “โอ้จงจำ จงจำไว้,” เลียโฮนา, พ.ย. 2007, 84–88 ด้วย

มอรมอน 5:8–24; 6:16–22

พระเยซูคริสต์ทรงยืนกางพระพาหุรับฉัน

หากท่านเคยรู้สึกท้อแท้กับบาปของตัวเอง คำบรรยายของมอรมอนว่าพระผู้ช่วยให้รอดทรงยืน “กางพระพาหุรับท่านอยู่” จะให้ความมั่นใจแก่ท่านได้ ขณะที่ท่านอ่าน มอรมอน 5:8–24 และ 6:16–22 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความรู้สึกของพระบิดาบนสวรรค์และพระเยซูต่อท่าน แม้เมื่อท่านทำบาป? ท่านเคยรู้สึกว่าพระเยซูคริสต์ทรงกางพระพาหุให้ท่านอย่างไร? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้ทำอะไรอันเนื่องจากความรู้สึกนี้?

ดู “มาหาพระเยซู,” เพลงสวด, บทเพลงที่ 49 ด้วย

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

มอรมอน 1:1–3; 2:1, 23–24; 3:1–3, 12, 17–22

ฉันสามารถติดตามพระเยซูคริสต์เหมือนมอรมอน

  • เนื่องจากมอรมอนอายุน้อยมากตอนที่เขาพัฒนาศรัทธาในพระคริสต์ เขาจึงสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กได้ ท่านอาจจะอ่าน มอรมอน 1:1–3 และให้เด็กฟังว่ามอรมอนอายุเท่าไรตอนที่แอมารอนให้ทำพันธกิจพิเศษ ท่านจะช่วยพวกเขาหาคุณสมบัติที่แอมารอนเห็นในมอรมอนในข้อเหล่านี้เช่นกัน คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้เราติดตามพระเยซูคริสต์อย่างไร?

    มอรมอนเมื่อยังเด็ก

    มอรมอนวัย 10 ขวบ โดย สก็อตต์ เอ็ม. สโนว์

  • เพราะมอรมอนติดตามพระเยซูคริสต์ เขาจึงได้รับโอกาสให้รับใช้และเป็นพรแก่ผู้อื่น ท่านจะเชื้อเชิญให้เด็กอ่านข้อต่อไปนี้หนึ่งข้อหรือมากกว่านั้น และช่วยพวกเขาแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้เกี่ยวกับมอรมอน: มอรมอน 1:1–3; 2:1, 23–24; และ 3:1–3, 12, 20–22 (ดู “บทที่ 49: มอรมอนและคำสอนของท่าน,” เรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 138–142 ด้วย) มอรมอนได้ทำตามพระเยชูคริสต์อย่างไร? ศรัทธาของเขาในพระเยซูคริสต์ช่วยหรือเป็นพรแก่ผู้อื่นอย่างไร? ศรัทธาของเราจะช่วยคนที่เรารู้จักได้อย่างไร?

มอรมอน 2:8–15

ความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านำฉันมาหาพระคริสต์และเกิดการเปลี่ยนแปลงอันยั่งยืน

  • ท่านอาจจะทำแผนผังเหมือนใน “แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์” เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจความแตกต่างระหว่างความเสียใจตามความประสงค์ของโลกและความเสียใจตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าในขณะที่เด็กอ่าน มอรมอน 2:8, 10–15 จากนั้นพวกเขาจะค้นคว้า มอรมอน 2:12 เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมการกลับใจควรทำให้ “ใจ [เรา] … ชื่นชมยินดี” เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าความเสียใจที่เรารู้สึกต่อบาปจะนำเราให้แสวงหาความช่วยเหลือจากพระผู้เป็นเจ้าเพื่อเปลี่ยนแปลง?

มอรมอน 3:3, 9

พระบิดาบนสวรรค์ประทานพรมากมายแก่ฉัน

  • การเชื้อเชิญให้เด็กเขียน (หรือวาดรูป) บางสิ่งที่พวกเขารู้สึกขอบคุณอาจเป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้พวกเขารู้สึกสำนึกคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า หลังจากเขียนเสร็จแล้ว ท่านจะอ่าน มอรมอน 3:3, 9 และอธิบายว่าพระบิดาบนสวรรค์ประทานพรชาวนีไฟด้วย แต่พวกเขาไม่รับรู้ เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแสดงว่าเราขอบพระทัยพระบิดาบนสวรรค์สำหรับพรของเรา?

มอรมอน 3:12

พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ฉันรักทุกคน

  • ถึงแม้ชาวนีไฟจะชั่วร้าย แต่มอรมอนไม่เคยหยุดรักพวกเขา ช่วยเด็กหาคำว่า “รัก” และ “ความรัก” ใน มอรมอน 3:12 ท่านจะร้องเพลงด้วยกันเกี่ยวกับการรักผู้อื่น เช่น “พระเยซูตรัสจงรักทุกคน” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 39) ขณะให้ดูภาพเด็กๆ จากทั่วโลก เป็นพยานถึงความรักของพระผู้เป็นเจ้าต่อลูกๆ ทุกคนของพระองค์

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

แผ่นจารึกทองคำ

พระคัมภีร์มอรมอนเขียนไว้ “เพื่อท่านจะเชื่อพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์” (มอรมอน 3:21)