จงตามเรามา
21–27 ตุลาคม: “ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้” 3 นีไฟ 27–4 นีไฟ


“21–27 ตุลาคม: ‘ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้’ 3 นีไฟ 27–4 นีไฟ” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: พระคัมภีร์มอรมอน 2024 (2023)

“21-27 ตุลาคม 3 นีไฟ 27–4 นีไฟ” จงตามเรามา—สำหรับบ้านและศาสนจักร: 2024 (2023)

พระเยซูที่ฟื้นคืนพระชนม์ทรงสอนผู้คน

21–27 ตุลาคม: “ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้”

3 นีไฟ 274 นีไฟ

คำสอนของพระเยซูคริสต์ไม่ใช่แค่ปรัชญาสวยงามให้ไตร่ตรอง แต่มีไว้สร้างแรงบันดาลใจให้เราเป็นเหมือนพระองค์ หนังสือ 4 นีไฟ แสดงให้เห็นว่าพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเปลี่ยนแปลงผู้คนได้อย่างสมบูรณ์เพียงใด หลังจากพระเยซูทรงปฏิบัติศาสนกิจช่วงสั้นๆ ความขัดแย้งหลายศตวรรษระหว่างชาวนีไฟกับชาวเลมันก็สิ้นสุดลง สองประชาชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องความแตกแยกและความจองหองกลายเป็น “หนึ่งเดียว, เป็นลูกของพระคริสต์” (4 นีไฟ 1:17) และพวกเขาเริ่มมี “สิ่งของทั้งหมดเพื่อใช้ร่วมกันในบรรดาพวกเขา” (4 นีไฟ 1:3) “ความรักของพระผู้เป็นเจ้า … อยู่ในใจผู้คน” และ “ไม่มีผู้คนใดมีความสุขยิ่งกว่านี้ได้ในบรรดาผู้คนทั้งปวงที่พระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าสร้างขึ้นมา” (4 นีไฟ 1:15–16) นี่คือวิธีที่คำสอนของพระผู้ช่วยให้รอดเปลี่ยนชาวนีไฟกับชาวเลมัน คำสอนเหล่านั้นกำลังเปลี่ยนท่านอย่างไร?

แนวคิดสำหรับการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์

3 นีไฟ 27:1–12

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์มีชื่อเรียกตามพระนามของพระองค์

เมื่อสานุศิษย์ของพระผู้ช่วยให้รอดเริ่มสถาปนาศาสนจักรของพระองค์ทั่วแผ่นดิน มีคำถามเกิดขึ้นซึ่งกับบางคนอาจดูเหมือนไม่สำคัญ—คำถามนั้นคือศาสนจักรควรชื่ออะไร? (ดู 3 นีไฟ 27:1–3) ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความสำคัญของชื่อนี้จากพระดำรัสตอบของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ 27:4–12?

พระผู้ช่วยให้รอดทรงเปิดเผยชื่อศาสนจักรของพระองค์ในปัจจุบันไว้ใน หลักคำสอนและพันธสัญญา 115:4 ไตร่ตรองแต่ละคำในชื่อนั้น คำเหล่านี้ช่วยให้เรารู้อย่างไรว่าเราเป็นใคร เราเชื่ออะไร และเราควรประพฤติตนอย่างไร?

ดู รัสเซลล์ เอ็ม. เนลสัน, “ชื่อที่ถูกต้องของศาสนจักร,” เลียโฮนา, พ.ย. 2018, 87–89; “Jesus Christ Declares the Name of His Church and His Doctrine” (วีดิทัศน์), Gospel Library ด้วย

3 นีไฟ 27:10–22

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์สร้างบนพระกิตติคุณของพระองค์

หลังจากอธิบายว่าศาสนจักรของพระองค์ต้อง “สร้างบนกิตติคุณ [ของพระองค์]” (3 นีไฟ 27:10) พระผู้ช่วยให้รอดทรงบรรยายว่าพระกิตติคุณของพระองค์คืออะไร ท่านจะสรุปสิ่งที่พระองค์ตรัสใน 3 นีไฟ 27:13–22 ว่าอย่างไร? ตามคำจำกัดความนี้ สร้างบนพระกิตติคุณของพระองค์หมายความว่าอย่างไรสำหรับศาสนจักร—และสำหรับท่าน?

บันทึกสิ่งที่ท่านกำลังเรียนรู้ สังเกตสิ่งที่พระผู้ช่วยให้รอดทรงสอนสานุศิษย์ของพระองค์ใน 3 นีไฟ 27:23–26 เหตุใดการจดบันทึกประสบการณ์ทางวิญญาณจึงสำคัญ? ท่านรู้สึกได้รับการดลใจให้บันทึกอะไรเมื่อได้ศึกษาการปฏิบัติศาสนกิจของพระผู้ช่วยให้รอดใน 3 นีไฟ?

3 นีไฟ 28:1–11

“เจ้าปรารถนาอะไร?”

ท่านจะทูลว่าอย่างไรถ้าพระผู้ช่วยให้รอดตรัสถามท่านเช่นเดียวกับที่ตรัสถามสานุศิษย์ของพระองค์ว่า “เจ้าปรารถนาอะไรจากเรา?” (3 นีไฟ 28:1) ตรึกตรองคำถามนี้ขณะท่านอ่าน 3 นีไฟ 28:1–11 ท่านเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับความปรารถนาในใจสานุศิษย์จากคำตอบของพวกเขาต่อพระดำรัสถามของพระองค์? ความปรารถนาของท่านเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อท่านดำเนินชีวิตตามพระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์?

เพลงสวดมักแสดงความปรารถนาจากใจจริง—“เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ให้ฉัน” เป็นตัวอย่างที่ดี (เพลงสวด, บทเพลงที่ 56) ท่านอาจจะหาเพลงสวดที่สะท้อนความปรารถนาของท่าน

3 นีไฟ 29–30

พระคัมภีร์มอรมอนเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่างานยุคสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้ากำลังเกิดสัมฤทธิผล

ให้นึกถึงเครื่องหมายที่บอกให้ท่านรู้ว่าจะมีบางอย่างเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ท่านรู้ได้อย่างไรว่าฝนกำลังจะตกหรือฤดูกาลกำลังเปลี่ยน? ตามที่กล่าวไว้ใน 3 นีไฟ 29:1–3 ท่านรู้ได้อย่างไรว่างานของพระผู้เป็นเจ้าในการรวบรวมผู้คนของพระองค์ “กำลังเริ่มเกิดสัมฤทธิผลแล้ว”? (ดู 3 นีไฟ 21:1–7 ด้วย) ท่านอาจจะสังเกตสิ่งที่ผู้คนปฏิเสธในยุคสมัยของเราใน 3 นีไฟ 29:4–9 ด้วย พระคัมภีร์มอรมอนเสริมสร้างศรัทธาของท่านในสิ่งเหล่านี้อย่างไร?

4 นีไฟ 1:1–18

ไอคอนเซมินารี
การทำตามคำสอนของพระเยซูคริสต์นำไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสุข

การมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาหลังการเสด็จเยือนของพระผู้ช่วยให้รอดจะเป็นอย่างไร? ขณะที่ท่านศึกษา 4 นีไฟ 1:1–18 ท่านอาจจะเขียนพรที่ผู้คนได้รับ อาจจะทำเครื่องหมายหรือสังเกตการเลือกของพวกเขาซึ่งช่วยนำไปสู่ชีวิตที่เป็นพรนี้ พระเยซูทรงสอนอะไรพวกเขาซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาเลือกทำสิ่งชอบธรรม? ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน แต่ท่านสามารถค้นหาตัวอย่างอื่นได้เช่นกัน: 3 นีไฟ 11:28–30; 12:8–9, 21–24, 40–44; 13:19–21, 28–33; 14:12; 18:22–25

ไตร่ตรองสิ่งที่ท่านทำได้เพื่อช่วยให้ครอบครัว วอร์ด หรือชุมชนของท่านอยู่กันด้วยความเป็นหนึ่งเดียวและมีความสุขมากขึ้น ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเอาชนะความแตกแยกและเป็น “หนึ่งเดียว” จริงๆ กับลูกคนอื่นๆ ของพระผู้เป็นเจ้า? คำสอนใดของพระเยซูคริสต์ช่วยให้ท่านบรรลุเป้าหมายนี้?

น่าเศร้าที่สังคมไซอันซึ่งอธิบายไว้ใน 4 นีไฟตกอยู่ในความชั่วร้ายในท้ายที่สุด ขณะที่ท่านอ่าน 4 นีไฟ 1:19–49 ให้มองหาเจตคติและพฤติกรรมที่ทำให้ความสุขและความเป็นหนึ่งเดียวกันสิ้นสุดลง ท่านจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยขจัดเจตคติหรือพฤติกรรมเหล่านี้?

ดู โมเสส 7:18; ดี. ทอดด์ คริสทอฟเฟอร์สัน, “สังคมที่ยั่งยืน,” เลียโฮนา, พ.ย. 2020, 32–35; เรย์นา ไอ. อะบูร์โต, “พร้อมใจกัน,” เลียโฮนา, พ.ค. 2018, 78–80 ด้วย

ดูแนวคิดเพิ่มเติมได้จากนิตยสาร เลียโฮนา และ เพื่อความเข้มแข็งของเยาวชน ฉบับเดือนนี้

แนวคิดสำหรับการสอนเด็ก

3 นีไฟ 27:3–8

ฉันเป็นสมาชิกศาสนจักรของพระเยซูคริสต์

  • เพื่อแนะนำความสำคัญของชื่อศาสนจักรของพระเยซู ให้พูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับชื่อของพวกเขาเอง เหตุใดชื่อของเราจึงสำคัญ? จากนั้นท่านจะอ่าน 3 นีไฟ 27:3 ด้วยกันโดยมองหาคำถามที่สานุศิษย์ของพระเยซูมี ช่วยเด็กหาคำตอบใน 3 นีไฟ 27:5–8 เหตุใดชื่อของศาสนจักรจึงสำคัญ?

  • ท่านจะช่วยให้เด็กนึกถึงกลุ่มต่างๆ ที่พวกเขาเป็นสมาชิกด้วย เช่น ครอบครัวหรือชั้นเรียนปฐมวัย ถามว่าพวกเขาชอบอะไรเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกของแต่ละกลุ่ม จากนั้นท่านจะร้องเพลง “ศาสนาจักรของพระเยซูคริสต์” (หนังสือเพลงสำหรับเด็ก, 48) ด้วยกันและพูดคุยกันว่าเหตุใดท่านจึงรู้สึกขอบคุณที่ได้เป็นสมาชิกศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอด

3 นีไฟ 27:13–16

ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์สร้างบนพระกิตติคุณของพระองค์

  • พระผู้ช่วยให้รอดทรงสรุปพระกิตติคุณของพระองค์ไว้ใน 3 นีไฟ 27 ท่านอาจจะอธิบายให้เด็กฟังว่าคำว่า พระกิตติคุณ หมายถึง “ข่าวประเสริฐ” เราพบข่าวประเสริฐอะไรใน 3 นีไฟ 27:13–16 ใช้ หน้ากิจกรรมของสัปดาห์นี้ สอนว่าศาสนจักรของพระผู้ช่วยให้รอดสร้างบนพระกิตติคุณของพระองค์

3 นีไฟ 27:30–31

พระบิดาบนสวรรค์ทรงชื่นชมยินดีเมื่อลูกๆ กลับมาหาพระองค์

  • ท่านอาจจะเล่นเกมที่มีคนซ่อนแอบและให้คนอื่นพยายามหาเขาให้พบ วิธีนี้จะนำไปสู่การสนทนาเรื่องปีติที่เรารู้สึกเมื่อพบคนที่หายไป หลังจากอ่าน 3 นีไฟ 27:30–31 ท่านจะพูดถึงวิธีช่วยเหลือกันให้อยู่ใกล้ชิดพระบิดาบนสวรรค์เพื่อจะ “ไม่มีผู้ใด … หายไป”

4 นีไฟ

การติดตามพระเยซูคริสต์ทำให้ฉันเกิดปีติ

  • เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับความสุขของคนที่บรรยายไว้ใน 4 นีไฟ ท่านจะให้พวกเขาดูภาพคนที่มีความสุข จากนั้นขณะที่ท่านอ่าน ข้อ 2–3 และ 15–17 ด้วยกัน (หรือ “บทที่ 48: สันติในอเมริกาเรื่องราวจากพระคัมภีร์มอรมอน, 136–137) เด็กจะชี้ไปที่รูปภาพเมื่อท่านอ่านถึงตอนที่ทำให้มีความสุขในเรื่อง

  • เพื่อช่วยให้เด็กปฏิบัติสิ่งที่สอนไว้ใน 4 นีไฟ 1:15–16 ท่านจะนำเสนอสถานการณ์ต่างๆ ที่คนโกรธกัน ให้เด็กแสดงบทบาทสมมติว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรถ้าเรามี “ความรักของพระผู้เป็นเจ้า” ในใจเรา

ดูแนวคิดเพิ่มเติมจากนิตยสาร เพื่อนเด็ก ฉบับเดือนนี้

พระเยซูตรัสกับสานุศิษย์ชาวนีไฟสามคน

พระคริสต์กับสานุศิษย์ชาวนีไฟสามคน โดย แกรีย์ แอล. แคพพ์