“แนวคิดเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: หลักคําสอนและพันธสัญญา 2025 (2025)
“แนวคิดเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์” จงตามเรามา—สําหรับบ้านและศาสนจักร: 2025
แนวคิดเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ที่บ้านและที่โบสถ์
ขณะที่ท่านศึกษาพระกิตติคุณของพระผู้ช่วยให้รอดที่บ้านและที่โบสถ์ ให้พิจารณาคําถามต่อไปนี้:
-
ท่านจะอัญเชิญพระวิญญาณเข้ามาในการศึกษาของท่านอย่างไร?
-
ท่านจะจดจ่อกับพระผู้ช่วยให้รอดในการศึกษาของท่านได้อย่างไร?
-
ท่านจะใช้ช่วงเวลาการเรียนรู้ทุกวันให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร?
-
ท่านจะกระตุ้นให้สมาชิกครอบครัวและสมาชิกชั้นเรียนศึกษาพระคัมภีร์ด้วยตนเองและแบ่งปันสิ่งที่พวกเขากําลังเรียนรู้ได้อย่างไร?
ต่อไปนี้เป็นวิธีง่ายๆ บางวิธีที่จะยกระดับการศึกษาพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า
สวดอ้อนวอนขอการดลใจ
พระคัมภีร์เป็นพระวจนะของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จงทูลขอให้พระองค์ทรงช่วยให้เข้าใจ
มองหาความจริงเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์
ทุกสิ่งเป็นพยานถึงพระคริสต์ (ดู 2 นีไฟ 11:4; โมเสส 6:63) ฉะนั้นท่านอาจบันทึกหรือทำเครื่องหมายข้อที่เป็นพยานถึงพระผู้ช่วยให้รอด ทำให้ท่านรักพระองค์ลึกซึ้งขึ้น และสอนวิธีติดตามพระองค์ บางครั้งความจริงเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอดและพระกิตติคุณของพระองค์บอกกล่าวโดยตรง และบางคราวบอกเป็นนัยผ่านตัวอย่างหรือเรื่องเล่า ถามตัวท่านเองว่า “ข้อเหล่านี้สอนความจริงนิรันดร์อะไรบ้าง? ความจริงเหล่านี้สอนอะไรฉันเกี่ยวกับพระผู้ช่วยให้รอด?”
ฟังพระวิญญาณ
จงเอาใจใส่ความคิดและความรู้สึกของท่าน แม้ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านกำลังอ่าน ความประทับใจเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่พระบิดาบนสวรรค์ทรงต้องการให้ท่านเรียนรู้
บันทึกความประทับใจของท่าน
มีหลายวิธีที่จะบันทึกความประทับใจที่เกิดขึ้นขณะท่านศึกษา ตัวอย่างเช่น ท่านอาจพบว่าท่านประทับใจบางคําและวลีในพระคัมภีร์ ท่านอาจทําเครื่องหมายและบันทึกความคิดของท่านเป็นหมายเหตุในพระคัมภีร์ของท่าน ท่านอาจจดบันทึกส่วนตัวเกี่ยวกับข้อคิด ความรู้สึก และความประทับใจที่ท่านได้รับ
แบ่งปันสิ่งที่ท่านเรียนรู้ให้กับคนอื่นๆ
การสนทนาข้อคิดจากการศึกษาส่วนตัวของท่านเป็นวิธีที่ดีในการสอนผู้อื่นและยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจของท่านในสิ่งที่ท่านได้อ่าน แบ่งปันสิ่งที่ท่านกําลังเรียนรู้กับสมาชิกครอบครัวและเพื่อนๆ (ด้วยตนเองหรือแบบดิจิทัล) และเชื้อเชิญให้พวกเขาแบ่งปันด้วย
เชื่อมโยงพระคัมภีร์กับชีวิตท่าน
พิจารณาว่าเรื่องเล่าและคำสอนที่ท่านกำลังอ่านจะประยุกต์ใช้กับชีวิตท่านได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ท่านอาจถามตัวเองว่า “ฉันเคยมีประสบการณ์อะไรคล้ายกับที่ฉันกําลังอ่านบ้าง?”
ถามคำถามขณะท่านศึกษา
ขณะท่านศึกษาพระคัมภีร์ คำถามอาจเข้ามาในความคิดท่าน คำถามเหล่านี้อาจจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านกำลังอ่านหรือกับชีวิตท่านโดยรวม ไตร่ตรองคำถามเหล่านี้และหาคำตอบขณะท่านยังคงศึกษาพระคัมภีร์
ใช้สิ่งช่วยศึกษาพระคัมภีร์
เพื่อให้ได้ข้อคิดเพิ่มเติมในข้อที่ท่านอ่าน ให้ใช้เชิงอรรถ คู่มือพระคัมภีร์ และสิ่งช่วยศึกษาอื่นๆ
พิจารณาบริบทของพระคัมภีร์
ท่านจะพบข้อคิดที่มีความหมายเกี่ยวกับข้อความพระคัมภีร์ถ้าท่านพิจารณาบริบทของข้อนั้น รวมถึงสภาวการณ์หรือสภาวะแวดล้อมของพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น การรู้ภูมิหลังและความเชื่อของผู้คนที่พระผู้เป็นเจ้าตรัสถึงจะช่วยให้ท่านเข้าใจเจตนาในพระดำรัสของพระองค์ ท่านสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับพวกเขาใน วิสุทธิชน หัวบทของภาคในหลักคําสอนและพันธสัญญา และแหล่งช่วยอื่นๆ
ศึกษาถ้อยคำของศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคสุดท้าย
อ่านสิ่งที่ศาสดาพยากรณ์และอัครสาวกยุคสุดท้ายสอนเกี่ยวกับหลักธรรมที่ท่านพบในพระคัมภีร์
ดำเนินชีวิตตามสิ่งที่ท่านเรียนรู้
การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ควรสร้างแรงบันดาลใจเราเท่านั้นแต่ควรนำเราให้เปลี่ยนวิธีดำเนินชีวิตของเราด้วย จงฟังสิ่งที่พระวิญญาณกระตุ้นเตือนให้ท่านทำขณะที่ท่านอ่าน และจากนั้นทำตามการกระตุ้นเตือนเหล่านี้
ใช้ดนตรี
เพลงสวดและเพลงสําหรับเด็กที่แนะนํามีอยู่ใน จงตามเรามา ใช้เพลงศักดิ์สิทธิ์อัญเชิญพระวิญญาณ เพิ่มพูนศรัทธาและประจักษ์พยานของท่านในความจริงพระกิตติคุณ
ท่องจำพระคัมภีร์
เลือกพระคัมภีร์หนึ่งข้อที่มีความหมายต่อท่าน ครอบครัว หรือชั้นเรียนของท่าน และท่องซ้ำทุกวันหรือโดยเล่นเกมท่องจำ
แบ่งปันบทเรียนที่ใช้อุปกรณ์จริง
หาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบทและข้อที่ท่านกำลังอ่าน พิจารณาว่าอุปกรณ์แต่ละอย่างเกี่ยวข้องอย่างไรกับคำสอนในพระคัมภีร์
วาด หา หรือถ่ายรูป
อ่านพระคัมภีร์สองสามข้อ แล้ววาดรูปบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านอ่าน หรือท่านอาจจะหาภาพใน หนังสือภาพพระกิตติคุณ หรือที่อื่นในคลังค้นคว้าพระกิตติคุณ ท่านอาจถ่ายรูปที่แสดงถึงสิ่งที่ท่านเรียนรู้ด้วย
สร้างเรื่องราวเป็นละคร
หลังจากอ่านเรื่องเล่า เชื้อเชิญให้สมาชิกครอบครัวหรือชั้นเรียนแสดงเรื่องนั้น หลังจากนั้นให้พูดคุยกันว่าเรื่องเล่าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ท่านกำลังมีประสบการณ์อย่างไร
ยืดหยุ่นที่บ้าน
ถ้าท่านมีสมาชิกครอบครัวที่ไม่ยอมมีส่วนร่วมในการศึกษาพระคัมภีร์กับครอบครัว ให้หาวิธีอื่นเชื่อมสัมพันธ์กับพวกเขา ตัวอย่างเช่น ท่านจะแบ่งปันความจริงนิรันดร์อย่างเป็นธรรมชาติในการสนทนาของท่านหรือแบ่งปันข้อพระคัมภีร์ที่มีความหมายในลักษณะที่ไม่เหมือนสั่งสอนหรือบงการ การศึกษาพระคัมภีร์ไม่ต้องเหมือนกันทุกครอบครัว เด็กบางคนอาจตอบรับได้ดีขึ้นเมื่อศึกษาพระคัมภีร์แบบตัวต่อตัว จงสวดอ้อนวอนและทำตามการกระตุ้นเตือนของพระวิญญาณ